ซุนจู
ซุนจู หรือ ซุนจู้ (เสียชีวิต 29 กันยายน ค.ศ. 251) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า ซุน จือ (จีน: 孫資; พินอิน: Sūn Zī) ชื่อรอง เยี่ยนหลง (จีน: 彥龍; พินอิน: Yànlóng) เป็นขุนนางของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีน ประวัติช่วงต้นซุนจูเป็นชาวอำเภอจงตู (中都縣 จงตูเซี่ยน) เมืองไท่หยวน (太原郡 ไท่ยฺเหวียนจฺวิน) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในนครไท่หยวน มณฑลชานซี บิดามารดาของซุนจูเสียชีวิตตั้งแต่ซุนจูอายุ 3 ปี ซุนจูจึงได้รับการเลี้ยงดูจากพี่ชายและพี่สะใภ้ ซุนจูเป็นคนฉลาดและอ่านหนังสือเก่งตั้งแต่อยู่ในวัยเด็ก ได้รับการชื่นชมจากอ้องอุ้นที่เป็นชาวเมืองเดียวกัน เมื่อโจโฉขึ้นมามีตำแหน่งเป็นเสนาบดีโยธาธิการ (司空 ซือคง) ได้เชิญซุนจูมารับราชการ แต่เกิดเหตุที่พี่ชายของซุนจูถูกสังหารโดยคนเมืองเดียวกัน ซุนจูจึงสังหารฆาตกรเพื่อแก้แค้นแล้วหนีความผิดไปยังเมืองฮอตั๋ง (河東 เหอตง) จึงไม่ได้ตอบรับคำเชิญของโจโฉ ภายหลังซุนจูตอบรับคำเชิญของกากุ๋ยที่เป็นสหายให้เข้ารับราชการ ช่วงแรกซุนจูมีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่บัญชี (計吏 จี้ลี่) ต่อมาโจโฉแต่งตั้งให้ซุนจูเป็นขุนนางสำนักราชเลขาธิการ (尚書郎 ช่างชูหลาง) แต่ภายหลังซุนจูกลับไปยังฮอตั๋งเนื่องจากปัญหาครอบครัว ภายหลังจากการก่อตั้งรัฐวุยก๊ก ซุนจูมีตำแหน่งหลักเป็นหัวหน้าสำนักราชเลขาธิการราชวัง (中書令 จงชูลิ่ง) และได้รับมอบหมายความรับผิดชอบร่วมกับเล่าฮอง (劉放 หลิว ฟ่าง) ในการจัดการราชการ ซุนจูเป็นที่โปรดปรานของจักรพรรดิโจผีและโจยอย ศักดิ์ของซุนจูอยู่ระดับรองลงมาจากเล่าฮอง[1] เสนอแผนการป้องกันเพื่อโจมตีในปี ค.ศ. 228 จูกัดเหลียงอัครมหาเสนาบดีแห่งรัฐจ๊กก๊กซึ่งเป็นรัฐอริของวุยก๊กเดินทางไปยังเมืองฮันต๋งเพื่อเตรียมการสำหรับการบุกขึ้นเหนือ จักรพรรดิโจยอยทำตามคำแนะนำของเหล่าขุนนาง เตรียมการจะยกทัพไปยังลำเต๋ง (南鄭 หนานเจิ้ง) เพื่อโจมตีจ๊กก๊ก โจยอยจึงตรัสขอความเห็นจากซุนจู ซุนจูเห็นว่าเส้นทางที่จะไปโจมตีจ๊กก๊กนั้นยากลำบาก ด้านทางใต้เองรัฐง่อก๊กก็อาจฉวยโอกาสยกทัพมา ซึ่งจะทำให้สิ้นเปลืองทรัพยากรในการทำศึกเป็นอย่างมาก จึงควรสั่งให้ขุนพลไปรักษาจุดยุทธศาสตร์สำคัญ รัฐวุยก๊กก็จะมีกำลังมากขึ้นภายในไม่กี่ปี ในขณะที่จ๊กก๊กและง่อก๊กได้แต่นั่งรอการล่มจม โจยอยจึงทำตามคำแนะนำของซุนจู กลยุทธ์ต้านง่อก๊กราวปี ค.ศ.226[2] เผิง ฉี่ (彭绮) ชาวง่อก๊กก่อกบฏขึ้นทางใต้ของแม่น้ำแยงซี ขุนนางวุยก๊กบางคนเห็นว่าควรใช้โอกาสนี้เข้าปราบง่อก๊ํกจะได้ชัยชนะเป็นแน่ แต่ซุนจูเห็นว่าในอดีตจักรพรรดิโจผียกไปตีง่อก๊ก แต่ก็ไม่สามารถยึดอำเภอกังเหลง (江陵 เจียงหลิง) ที่มีกำลังป้องกันเพียงพันคนได้ เผิง ฉี่จึงไม่น่าภัยคุกคามต่อง่อก๊ก จึงไม่แนะนำให้โจยอยเข้าโจมตีง่อก๊ก หลังจากนั้นไม่นาน เผิง ฉี่ก็ถูกง่อก๊กตีแตกพ่ายจริง ๆ ช่วงปลายศักราชไท่เหอ (ค.ศ. 227-233) ง่อก๊กเกลี้ยกล่อมกองซุนเอี๋ยนแห่งเลียวตั๋ง (遼東 เหลียวตง) ให้สวามิภักดิ์ โจยอยต้องการจะยกทัพไปปราบ ขุนนางหลายคนคัดค้าน มีเพียงซุนจูที่เห็นด้วย ผลก็คือทัพของง่อก๊กพ่ายแพ้ ซุนจูจึงได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นจั่วเซียงโหว (左鄉侯) ช่วยเหลือเตียวอี้เตียวอี้ผู้เป็นนายกองพิทักษ์ชนเผ่าออหวนเข้าโจมตีห่อปี หลังเตียวอี้ได้รับชัยชนะแล้วก็ถอยทัพกลับไปประจำที่อำเภอหม่าอี้ (馬邑) ห่อปีนำทหารม้า 30,000 นายมาล้อมเตียวอี้ไว้ จักรพรรดิโจยอยตรัสถามแผนจากซุนจู ซุนจูทูลว่า "เหยียน จื้อ (閻志) เจ้าเมืองช่างกู่ (上谷) เป็นน้องชายของเหยียน โหรว (閻柔) ได้รับความเชื่อถือจากห่อปีมาโดยตลอด ขอทรงมีพระราชการให้เหยียน จื้อไปเกลี้ยกล่อมห่อปี ก็จะสามารถแก้ปัญหาได้โดยไม่ต้องระดมกำลัง" โจยอยทำตามคำแนะนำของซุนจู ห่อปีจึงล่าถอยและยกเลิกการปิดล้อมเตียวอี้่ เป็นเสนาบดีคนสนิทของโจยอยซุนจูมักจะทูลเสนอแก่จักรพรรดิโจยอยว่า "เพื่อระดมมวลชนในการทำการใหญ่ ควรที่จะร่วมมือกับปวงชน เพื่อแสดงความแจ่มแจ้ง และยังเป็นการขยายอาณาเขตด้วย" หมันทองผู้เป็นขุนพลบุกภาคตะวันออก (征東將軍 เจิงตงเจียงจฺวิน) และสฺวี เหมี่ยว (徐邈) ผู้เป็นข้าหลวงมณฑลเลียงจิ๋ว (涼州刺史 เหลียงโจวชื่อฉื่อ) นำทัพทภศึกภายนอกโดยมีอำนาจสูง ทั้งคู่จึงมักถูกใส่ร้าย ซุนจูจึงพยายามช่วยแก้ต่างอธิบายการกระทำของทั้งคู่เพื่อไม่ให้ถูกสงสัย หมันทองและสฺวี เหมี่ยวจึงสามารถรักษาชื่อเสียงของตนไว้ได้โดยความช่วยเหลือของซุนจู เถียน ยฺวี่[a] (田豫) ผู้เป็นขุนนางสำนักเสนาบดีโยธาธิการ (司空掾 ซือคงเยฺวี่ยน) และเป็นชาวตำบลเดียวกันซุนจู เคยร่วมคนอื่น ๆ ในการใส่ร้ายซุนจู แต่ซุนจูไม่ได้สนใจเรื่องนี้ หลังจากนั้นเถียน ยฺวี่และคนอื่น ๆ รู้สึกละอายใจและขอคืนดี ซุนจูยอมรับและให้ซุน หง (孫宏) บุตรชายคนโตของตนแต่งงานกับบุตรสาวของเถียน ยฺวี่ คอยดูแลเถียน ยฺวี่ที่แก่ชราอยู่ที่บ้าน ในปี ค.ศ. 238 ซุนจูได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นจงตูเซี่ยนโหว (中都縣侯) จากการมีส่วนร่วมในการบุกเลียวตั๋ง[3] ในปีเดียวกันนี้ จักรพรรดิโจยอยประชวรหนักและต้องการแต่งตั้งโจฮูผู้เป็นเอี๋ยนอ๋อง (燕王 เยียนหวาง) ให้ขึ้นเป็นมหาขุนพล (大將軍 ต้าเจียงจฺวิน) โดยมีเซี่ยโหว เซี่ยน (夏侯獻), โจซอง, เฉา เจ้า (曹肇) และจีนล่ง (秦朗 ฉิน หล่าง) บุตรบุญธรรมของโจโฉคอยช่วยเหลือราชการ โจฮูเป็นคนถ่อมตนและมีจิตใจดีจึงปฏิเสธอย่างหนักแน่น โจยอยเรียกเล่าฮองและซุนจูมาตรัสถามว่า "เหตุใดเอี๋ยนอ๋องจึงทำเช่นนี้" เล่าฮองและซุนจูทูลตอบว่า "เอี๋ยนอ๋องรู้ว่าตนไม่คู่ควรกับความรับผิดชอบอันใหญ่หลวงเช่นนี้" โจยอยตรัสถามอีกครั้งว่า "สามารถแต่งตั้งโจซองแทนได้หรือไม่” เล่าฮองและซุนจูเห็นด้วย และเสนอให้เรียกสุมาอี้กลับมาสนับสนุนราชวงศ์ โจยอยเห็นด้วยในตอนแรก แต่หลังจากนั้นไม่นานก็เฉา เจ้าก็ทูลทัดทาน โจยอยจึงเรียกเล่าฮองและซุนจูมาอีกครั้งแล้วตรัสว่า "ข้าอยากจะเรียกสุมาอี้กลับมา แต่เฉา เจ้าและคนอื่น ๆ ทัดทาน ซึ่งเกือบทำลายการใหญ่ของข้า" โจยอยจึงกีดกันโจฮู, เซี่ยโหว เซี่ยน, เฉา เจ้า, จีนล่ง และพระญาติคนอื่น ๆ จากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการ หลังจากสุมาอี้มารับตำแหน่งตามรับสั่ง โจยอยก็สวรรคต ในเว่ย์จิ้นชื่อยฺหวี่ระบุว่าเซี่ยโหว เซี่ยนและเฉา เจ้าไม่ลงรอยกับเล่าฮองและซุนจูอยู่แล้ว ดังนั้นความเคลื่อนไหวของเล่าฮองและซุนจูจึงน่าจะเป็นไปเพื่อกำจัดศัตรูทางการเมืองของพวกตน เผย์ ซงจือให้ความเห็นว่าเล่าฮองและซุนจูยกย่องโจซองและแนะนำให้เรียกสุมาอี้เข้ามา แท้จริงแล้วเป็นจุดเริ่มต้นของความเสื่อมถอยของวุยก๊ก โจฮองผู้เป็นเจอ๋อง (齊王 ฉีหวาง) ขึ้นสืบราชบัลลังก์เป็นจักรพรรดิถัดจากโจยอย ซุนจูได้ศักดินาเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 ครัวเรือน ในปี ค.ศ. 240 ซุนจูได้เลือนตำแหน่งเป็นขุนนางที่ปรึกษาผู้ใหญ่ฝ่ายขวา (右光祿大夫 โย่วกวางลู่ต้าฟู) ได้รับตราประจำตำแหน่งทองคำผูกแถบสีม่วง มีศักดิ์เทียบเท่าเสนาบดีระดับซันกง (三公) ในปี ค.ศ. 250 ซุนจูได้รับการแต่งตั้งเป็นขุนพลม้าทะยาน (驃騎將軍 เพี่ยวฉีเจียงจฺวิน)[4] ซุนจูเสียชีวิตในวันที่ 29 กันยายน ค.ศ. 251 (วันเกิงจื่อ เดือน 8 ศักราชเจิ้งฉื่อปีที่ 3)[5] และได้รับสมัญญานามว่าเจินโหว (貞侯)[6] ดูเพิ่มหมายเหตุอ้างอิง
บรรณานุกรม
|
Portal di Ensiklopedia Dunia