จง ยฺวี่
จง ยฺวี่ (จีน: 鍾毓; พินอิน: Zhōng Yù; คริสต์ทศวรรษ 210 หรือ ค.ศ. 224[a] – 263) ชื่อรอง จื้อชู (จีน: 稚叔; พินอิน: Zhìshū) เป็นขุนพลและขุนนางของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีน จง ยฺวี่เป็นบุตรชายของจงฮิวผู้ดำรงตำแหน่งเป็นราชครู (太傅 ไท่ฟู่) ในราชสำนักวุยก๊ก และเป็นพี่ชายของจงโฮยขุนพลของรัฐวุยก๊ก ประวัติบ้านเกิดบรรพบุรุษของจง ยฺวี่คือในอำเภอฉางเช่อ (長社縣 ฉางเช่อเซี่ยน) เมืองเองฉวน (潁川郡 อิ่งชฺวานจฺวิ้น) ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของนครฉางเก่อ มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน[2] จงโฮยเป็นบุตรชายคนโตของจงฮิว (鍾繇 จง เหยา) ผู้ดำรงตำแหน่งเป็นราชครู (太傅 ไท่ผู่) ในราชสำนักวุยก๊ก เมื่อจง ยฺวี่อายุ 14 ปี (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก) ได้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าพนักงานทหารม้ามหาดเล็ก (散騎侍郎 ซ่านฉีชื่อหลาง) จง ยฺวี่เป็นคนฉลาดมีไหวพริบ ชอบพูดคุยและหัวเราะ และมีลักษณะนิสัยเหมือนจงฮิวผู้บิดา[3] ในปี ค.ศ. 228 จง ยฺวี่เขียนฎีกาถวายโจยอยจักรพรรดิแห่งวุยก๊กเพื่อทูลทัดทานไม่ให้พระองค์นำทัพด้วยพระองค์เองไปรบกับจูกัดเหลียงอัครมหาเสนาบดีแห่งจ๊กก๊กรัฐอริของวุยก๊กที่กิสาน (祁山 ฉีชาน; พื้นที่ภูเขาบริเวณอำเภอหลี่ มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน)[4] หลังจากนั้น จง ยฺวี่ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าพนักงานสำนักประตูเหลือง (黃門侍郎 หฺวางเหมินชื่อหลาง)[5] ในปี ค.ศ. 230 จงฮิวบิดาของจง ยฺวี่เสียชีวิต จง ยฺวี่ได้สืบทอดบรรดาศักดิ์ติ้งหลิงโหว (定陵侯) ของบิดา[6] ในช่วงศักราชเจิ้งฉื่อ (正始; ค.ศ. 240-249) ในรัชสมัยของจักรพรรดิโจฮอง จง ยฺวี่ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นนายทหารม้ามหาดเล็ก (散騎常侍 ซ่านฉีฉางชื่อ)[7] ในปี ค.ศ. 244 โจซองมหาขุนพล (大將軍 ต้าเจียงจฺวิน) แห่งวุยก๊กยกทัพโจมตีจ๊กก๊ก แต่ทัพจ๊กก๊กป้องกันได้อย่างมั่นคง ทัพวุยก๊กไม่สามารถรุกคืบได้ อีกทั้งยังประสบปัญหาด้านการขนส่งเสบียง ในช่วงเวลาเดียวกัน กำลังเสริมของจ๊กก๊กที่นำโดยบิฮุยและคนอื่น ๆ ก็ยกมาหนุนช่วย โจซองจึงขอกำลังเสริมเพิ่ม จง ยฺวี่มีความเห็นว่าไม่ควรโจมตีด้วยกำลัง หากโจมตีได้ก็ควรโจมตี แต่หากเอาชนะไม่ได้ก็ควรล่าถอยเพื่อเลี่ยงภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก จง ยฺวี่จึงทัดทานเรื่องการส่งกำลังเสริม ในที่สุดโจซองก็ล่าถอยไป[8] เนื่องจากจง ยฺวี่คัดค้านคำขอของโจซองที่ต้องการกำลังเสริม จง ยฺวี่จึงถูกย้ายไปดำรงตำแหน่งขุนนางมหาดเล็ก (侍中 ชื่อจง) และถูกส่งไปเป็นเจ้าเมือง (太守 ไท่โฉ่ว) ของเมืองเว่ย์จฺวิ้น (魏郡)[9] ในปี ค.ศ. 249 สุมาอี้ก่อรัฐประหารในอุบัติการณ์สุสานโกเบงเหลงและจับโจซองพร้อมครอบครัวประหารชีวิต จง ยฺวี่ได้รับการเรียกตัวกลับมารับราชการในราชสำนักในตำแหน่งผู้ช่วยขุนนางตรวจสอบ (御史中丞 ยฺหวี่ฉื่อจงเฉิง) และเสนาบดีตุลาการ (廷尉 ถิงเว่ย์)[10] ในปี ค.ศ. 254 ลิฮอง (李豐 หลี่ เฟิง) ขุนนางตำแหน่งหัวหน้าสำนักราชเลขาธิการราชวัง (中書令 จงชูลิ่ง) วางแผนจะสังหารสุมาสูผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งวุยก๊ก แต่ลิฮองกลับถูกสุมาสูสังหารเสียก่อน ภายหลังซู ชั่ว (蘇鑠), เยฺว่ ตุน (樂敦) หลิว เสียน (劉賢) รวมถึงแฮเฮาเหียนถูกส่งไปยังกรมตุลาการ จง ยฺวี่ผู้เป็นเสนาบดีตุลาการถวายฎีกาว่า "ลิฮองและคนอื่น ๆ วางแผนจะบีบบังคับเบื้องสูง หวังจะสังหารอัครมหาเสนาบดี ก่อกบฏใหญ่หลวงโดยไร้ความชอบธรรม ขอให้ตัดสินโทษตามกฎหมาย" ท้ายที่สุดทั้ง 5 คนต่างถูกลงโทษโดยการประหารชีวิตสามชั่วโคตร[11] ในปี ค.ศ. 255 บู๊ขิวเขียมและบุนขิมขุนพลของวุยก๊กก่อกบฏที่ฉิวฉุน (壽春 โช่วชุน; ปัจจุบันคืออำเภอโช่ว นครลู่อาน มณฑลอานฮุย) จง ยฺวี่ได้รับมอบอาญาสิทธิ์ให้เดินทางไปยังมณฑลยังจิ๋วและอิจิ๋วเพื่อประกาศพระราชโองการนิรโทษกรรมให้กับเหล่าทหารที่เข้าร่วมในการก่อกบฏ หลังจากจง ยฺวี่กลับมาราชสำนักก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นราชเลขาธิการ (尚書 ช่างชู)[12] ในปี ค.ศ. 257 จูกัดเอี๋ยนขุนพลของวุยก๊กก่อกบฏที่ฉิวฉุน สุมาเจียวผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งวุยก๊กคิดจะยกพลไปปราบกบฏด้วยตนเอง ในช่วงเวลานั้น ซุน อี (孫壹) ขุนพลของรัฐง่อก๊กนำทหารมาขอสวามิภักดิ์ต่อวุยก๊ก บางคนมีความเห็นว่าง่อก๊กคงมีความขัดแย้งภายในอีก จึงน่าจะไม่สามารถส่งกำลังพลไปสนับสนุนการก่อกบฏที่ฉิวฉุนได้ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องรีบกำจัดจูกัดเอี๋ยน แต่จง ยฺวี่มีความเห็นว่าการตีจากของซุน อีเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยสำหรับง่อก๊ก และหากปัญหาที่ฉิวฉุนไม่ได้รับการแก้ไขเป็นเวลานานประกอบกับสถานการณ์ภายในง่อก๊กมั่นคงแล้ว ง่อก๊กก็จะส่งกำลังทหารไปหนุนช่วยเป็นแน่ สุมาเจียวเห็นด้วยกับจง ยฺวี่แล้วจึงเริ่มยกทัพไปปราบกบฏ[13] หลังการปราบกบฏจูกัดเอี๋ยนสำเร็จในปี ค.ศ. 258 จง ยฺวี่ได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าหลวงมณฑล (刺史 ชื่อฉื่อ) ของมณฑลเฉงจิ๋ว และได้รับยศเป็นขุนพลหลัง (後將軍 โฮ่วเจียงจฺวิน) ต่อมาย้ายไปเป็นแม่ทัพของมณฑลชีจิ๋ว ได้รับมอบอาญาสิทธิ์ ภายหลังย้ายไปเป็นแม่ทัพของมณฑลเกงจิ๋ว[14] ในปี ค.ศ. 263 ฤดูหนาว จง ยฺวี่เสียชีวิต ได้รับสมัญญานามว่า "ฮุ่ยโหว" (惠侯) จง จฺวิ้น (鍾峻) บุตรชายของจง ยฺวี่ได้สืบทอดบรรดาศักดิ์ติ้งหลิงโหว[15] ต้นปี ค.ศ. 264 จงโฮยน้องชายของจง ยฺวี่ถูกสังหารระหว่างพยายามก่อกบฏต่อวุยก๊กในอาณาเขตของอดีตจ๊กก๊กที่เพิ่งล่มสลาย เหล่าบุตรชายของจง ยฺวี่ต่างถูกจับกุมขังคุกและควรได้รับโทษประหารชีวิต แต่สุมาเจียวถวายฎีกาทูลจักรพรรดิโจฮวนให้ออกพระราชโองการนิรโทษกรรมให้กับเหล่าบุตรชายของจง ยฺวี่ รวมถึงคืนตำแหน่งและบรรดาศักดิ์เดิมให้ มีเพียงจง อี้ (鍾毅) บุตรชายของจง ยฺวี่ที่ไปเป็นบุตรบุญธรรมของจงโฮย และจง ยง (鍾邕) ที่ติดตามจงโฮยไปจ๊กก๊กเท่านั้นที่ถูกสังหาร[16] เชื่อกันว่าที่สุมาเจียวไว้ชีวิตเหล่าบุตรชายของจง ยฺวี่เพราะจง ยฺวี่เคยเตือนสุมาเจียวว่าจงโฮยเป็นคนเจ้าเล่ห์และไม่ควรตั้งให้อยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจมาก[17] สุมาเจียวหัวเราะและชมจง ยฺวี่ที่แนะนำอย่างซื่อตรง และให้คำมั่นว่าตนจะไว้ชีวิตครอบครัวของจง ยฺวี่หากจงโฮยก่อกบฏขึ้นจริง ๆ[18] ดูเพิ่มหมายเหตุอ้างอิง
บรรณานุกรม
|
Portal di Ensiklopedia Dunia