รัฐข่านบ็อกด์มองโกเลีย
รัฐข่านบ็อกด์มองโกเลีย (มองโกเลีย: อักษรมองโกเลีย:ᠪᠣᠭᠳᠠ ᠬᠠᠭᠠᠨᠲᠤ ᠮᠣᠩᠭᠣᠯ ᠤᠯᠤᠰ, Богд хаант Монгол Улс; จีน: 博克多汗國; พินอิน: Bókèduō Hán Guó) เป็นรัฐบาลโดยพฤตินัยของมองโกเลียนอกในระหว่าง ค.ศ. 1911 ถึง ค.ศ. 1915 และดำรงอยู่อีกครั้งตั้งแต่ ค.ศ. 1921 ถึง ค.ศ. 1924 โดยในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1911 ขุนนางคนสำคัญบางกลุ่ม ซึ่งรวมถึงเจ้าชายต็อก-โอชิริน นามนานซือเหรินได้เชิญให้เจาซันดัมบา โฮตักต์เข้าร่วมการประชุมขุนนางและเจ้าหน้าที่ฝ่ายสงฆ์เพื่อหารือเกี่ยวกับความเป็นอิสรภาพจากราชวงศ์ชิง ต่อมาเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 1911 มองโกเลียได้ก่อตั้งรัฐบาลชั่วคราวฮัลฮ์ จากนั้นในวันที่ 29 ธันวาคม ค.ศ. 1911 มองโกเลียจึงประกาศอิสรภาพจากราชวงศ์ชิงที่กำลังล่มสลายหลังจากการปฏิวัติซินไฮ่ โดยมีองค์เทวาธิปัตย์คือ บ็อกด์ เกเกงที่ 8 เป็นผู้นำสูงสุดของศาสนาพุทธแบบทิเบตในมองโกเลีย ซึ่งได้รับนามเรียกขานว่า บ็อกด์ ข่าน หรือ "ผู้ปกครองอันศักดิ์สิทธิ์"[2] บ็อกด์ ข่าน เป็นข่านองค์สุดท้ายของชาวมองโกล โดยรัชสมัยของพระองค์มีชื่อเรียกว่า "สมัยเทวาธิปไตยมองโกเลีย" (Theocratic Mongolia)[3] และอาณาจักรของพระองค์เป็นที่รู้จักกันในนาม "รัฐข่านบ็อกด์"[4] ในช่วงเวลานี้มีการเกิดขึ้นของสามกระแสการเมืองหลักด้วยกัน โดยกระแสแรกคือความพยายามของชาวมองโกลที่จะสร้างรัฐเทวาธิปไตยที่เป็นเอกราช ซึ่งประกอบด้วยมองโกเลียใน บาร์กา (หรือที่รู้จักกันในชื่อฮูหลุนเป้ย์) มองโกลส่วนบน มองโกเลียตะวันตก และตังนู่อูเหลียงไห ("ลัทธิรวมกลุ่มมองโกล") กระแสที่สองคือความมุ่งมั่นของจักรวรรดิรัสเซียในการสร้างอำนาจเหนือดินแดนมองโกเลีย แต่ในขณะเดียวกันก็รับรองเอกราชของมองโกเลียนอกในการดูแลของสาธารณรัฐจีน และกระแสที่สามคือความสําเร็จสูงสุดของสาธารณรัฐจีนในการลบล้างอำนาจปกครองตนเองของมองโกเลียและสถาปนาอํานาจอธิปไตยเหนือภูมิภาคอย่างสมบูรณ์ตั้งแต่ ค.ศ. 1919 ถึง ค.ศ. 1921 ดูเพิ่มหมายเหตุ
อ้างอิง
บรรณานุกรม
|
Portal di Ensiklopedia Dunia