องค์การตลาด

องค์การตลาด
ชื่อทางการค้า
อต.
ชื่อท้องถิ่น
Marketing Organization
ประเภทรัฐวิสาหกิจ
อุตสาหกรรมการตลาด
ก่อตั้ง19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2496; 71 ปีก่อน (2496-11-19)
สำนักงานใหญ่เลขที่ 51/47 ซอย 4 ถนนสวนผัก แขวงตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน, ,
จำนวนที่ตั้งตลาดสาขา 5 แห่ง
พื้นที่ให้บริการกรุงเทพมหานครและ3 จังหวัดของไทย
บุคลากรหลัก
ผลิตภัณฑ์
บริการ
  • การเช่า
  • แผงตลาด
  • ตลาดนัด
  • อุปโภคบริโภค
รายได้ลดลง 1,871.78 ล้านบาท
(พ.ศ. 2566)[1]
รายได้จากการดำเนินงาน
ลดลง 1,810.56 ล้านบาท
(พ.ศ. 2566)[1]
รายได้สุทธิ
ลดลง 2.56 ล้านบาท
(พ.ศ. 2566)[1]
ทรัพย์สินสุทธิลดลง 32.86 ล้านบาท
(พ.ศ. 2566)[1]
สินทรัพย์ลดลง 847.01 ล้านบาท
(พ.ศ. 2566)[1]
ส่วนของผู้ถือหุ้นลดลง 270.33 ล้านบาท
(พ.ศ. 2566)[1]
พนักงาน
71 คน (พ.ศ. 2566)[1]
บริษัทแม่กระทรวงมหาดไทย
เว็บไซต์เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ

องค์การตลาด (อังกฤษ: Marketing Organization) เป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย[2] ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2496 เพื่อดำเนินการจัดระเบียบการค้าของพ่อค้าแม่ค้าบริเวณข้างวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และพัฒนาต่อเนื่องจนเป็นตลาดปากคลองตลาด ปัจจุบันมีตลาดสาขาอยู่ในจังหวัดลำพูน ฉะเชิงเทรา ลพบุรี และกรุงเทพมหานคร รวมจำนวนทั้งสิ้น 5 แห่ง

ประวัติ

ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้มีการจัดตั้งตลาดกลาง เพื่อเป็นสถานที่รองรับพ่อค้าแม่ค้าจากบริเวณวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ซึ่งเป็นพระอารามหลวงเก่าแก่ คู่บ้านคู่เมือง ไม่ให้เกิดทัศนียภาพที่เสื่อมโทรมไปมากกว่านี้ รัฐบาลจึงจัดตั้งตลาดกลาง โดยตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การตลาด พ.ศ. 2496[3] ขึ้น จึงทำให้มีการจัดตั้งองค์การตลาด เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2496 ภายใต้การควบคุมดูแลของกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงพาณิชย์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2535 จึงได้มีการกำหนดให้กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ควบคุมดูแลแต่เพียงผู้เดียว[4]

หน้าที่

  1. มุ่งเน้นการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการค้า
  2. พัฒนาบุคลากรให้มีทักษะในการบริหาร
  3. สร้างองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้
  4. ส่งเสริมการพัฒนาตลาดทางการเกษตรถูกหลักอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม
  5. ส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรทั้งในและต่างประเทศโดยสร้างความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน
  6. พัฒนาสินทรัพย์ให้เกิดมูลค่าเพิ่ม

ตลาดสาขา

ปัจจุบันองค์การตลาด มีสาขาจำนวน 5 สาขา

สาขาปากคลองตลาด

ปากคลองตลาด

องค์การตลาด สาขาปากคลองตลาด หรือ ตลาดปากคลองตลาดของรัฐ เป็นสาขาแรกขององค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย ตั้งอยู่เลขที่ 26-28 ถนนจักรเพชร แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เป็นศูนย์กลางจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรเน้นการขายส่ง เช่น ผักสด ผลไม้ ตลอดจนเป็นแหล่งคัดแยกสินค้า และบรรจุสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออกอีกด้วย

สาขาหนองม่วง

ตั้งอยู่ ถนนพหลโยธิน อำเภอหนองม่วง จังหวัดลพบุรี เริ่มจัดตั้งขึ้นในปีงบประมาณ 2552 เป็นต้นมา[5]

สาขาลำพูน

องค์การตลาด สาขาลำพูน[6] เป็นตลาดเกษตรกรท้องถิ่น มุ่งเน้นการค้าขายการเกษตรของชุมชน และเป็นศูนย์กลางของการกระจายผลผลิตสู่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียง โดยองค์การตลาดมีนโยบายให้ตลาดสาขาลำพูน เป็นตลาดที่มุ่งส่งเสริมการขายและการกำหนดราคาของผลผลิตของจังหวัดลำพูน เช่น ลำไย ผัก ฯลฯ

อาคารตลาด ตั้งอยู่บริเวณถนนเชียงใหม่-ลำพูน หมู่ 7 บ้านป่าเห็ว ตำบลอุโมงค์ อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน บนที่ดินราชพัสดุเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ ก่อสร้างในปี พ.ศ. 2535 โดยใช้งบประมาณ 12.31 ล้านบาท เริ่มเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2537 ปัจจุบันมีอาคารตลาด จำนวน 3 หลัง คือ อาคารตลาด 2 ชั้น จำนวน 1 หลัง และอาคารตลาดชั้นเดียว จำนวน 2 หลัง

สาขาตลิ่งชัน

ตั้งอยู่บนที่ดินราชพัสดุเนื้อที่ 21-3-0 ไร่ ในซอยสวนผัก 4 ถนนสวนผัก ริมคลองมหาสวัสดิ์ ด้านหลังกรมการขนส่งกรุงเทพฯ แขวงตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยอาคาร 6 ชั้น จำนวน 1 หลัง อาคารชั้นเดียว จำนวน 1 หลัง อาคารพาณิชย์ 3 ชั้น จำนวน 166 ห้อง เป็นที่ตั้งของตลาดกลางเกษตรกรตลิ่งชัน และ ตลาดน้ำสวนผักคลองสองนครา

สาขาบางคล้า

องค์การตลาด สาขาบางคล้า เป็นตลาดกลางค้าสัตว์น้ำภาคตะวันออก เพื่อให้เกษตรกรในบริเวณใกล้เคียงสามารถนำสัตว์น้ำมาจำหน่ายให้แก่ผู้ซื้อได้โดยตรง ซึ่งทำให้ลดต้นทุนในการขนส่งจากการนำสัตว์น้ำมาจำหน่ายในกรุงเทพมหานคร ทำให้ทั้งเกษตรกรและผู้ซื้อไม่ต้องเดินทางไกล ประหยัดรายจ่าย เวลา และลดปริมาณการจราจรในกรุงเทพมหานคร โดยมีผลผลิตเข้ามาจำหน่ายในองค์การตลาดสาขาบางคล้าเฉลี่ยวันละ 50 ตัน มีการจ้างแรงงาน และมีเยาวชนเข้ามารับจ้างคัดแยกปลาในตลาดจำนวนมาก รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนในจังหวัดฉะเชิงเทราหันมาประกอบอาชีพเลี้ยงปลามากขึ้น

อาคารตลาด ตั้งอยู่บนที่ดินขององค์การตลาด พื้นที่ 15 ไร่ บริเวณหมู่ที่ 3 ตำบลเสม็ดเหนือ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ประกอบด้วย

  • อาคารพาณิชย์ 3 ชั้น 30 ยูนิต
  • อาคารพาณิชย์ 2 ชั้น 44 ยูนิต
  • อาคารชั้นเดียว 79 ห้อง
  • อาคารทรงไทย 14 หลัง
  • อาคารตลาดใหญ่ 173 แผง

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 องค์การตลาด, รายงานประจำปี 2566 องค์การตลาด, สืบค้นเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2567
  2. องค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย จับมือผู้ประกอบการร่วมลงนาม MOU สนับสนุนสินค้าเกษตรไทยด้วยฐานข้อมูลการตลาด ภายใต้โครงการสานฝันปันรอยยิ้ม คืนคนดีสู่สังคม
  3. พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การตลาด พ.ศ. ๒๔๙๖
  4. พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การตลาด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕
  5. กระทู้ถามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กระทู้ถามที่ ๑๙๒/ ร. เรื่อง ติดตามความคืบหน้าองค์การตลาดหนองม่วง ของ นายอำนวย คลังผา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
  6. ลำพูน องค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย MOU วิสาหกิจชุมชน ยกระดับคุณภาพ อาหารและอาชีพชาวอุโมงค์

แหล่งข้อมูลอื่น

 

Prefix: a b c d e f g h i j k l m n o p q r s t u v w x y z 0 1 2 3 4 5 6 7 8 9

Portal di Ensiklopedia Dunia