มหาวิทยาลัยเซาแทมป์ตัน

มหาวิทยาลัยเซาแฮมป์ตัน
University of Southampton
ละติน: Universitas de Sotoniensis
คติพจน์ลาติน: Strenuis Ardua Cedunt
ไทย: ความลำบากก่อเกิดความมุมานะ[1]
ประเภทสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ
สถาปนา29 เมษายน พ.ศ. 2495 ได้รับพระบรมราชโองการให้เป็นมหาวิทยาลัย
พ.ศ. 2445 วิทยาลัยอุดมศึกษา
พ.ศ. 2405 สถาบันฮาร์ตเลย์
ที่ตั้ง,
สีน้ำเงินคราม เขียวน้ำทะเล และแดงเลือดหมู
เครือข่ายกลุ่มรัสเซล
ACU
EUA
WUN
มาสคอต
เก้ง
เว็บไซต์http://www.southampton.ac.uk/
The University of Southampton logo

มหาวิทยาลัยเซาแฮมป์ตัน (University of Southampton, ชื่อย่อ UoS หรือ Soton[2]) เป็นสถาบันอุดมศึกษาเน้นวิจัยในสหราชอาณาจักร มีที่ตั้งในเมืองเซาแฮมป์ตัน และเมืองวินเชสเตอร์ จังหวัดแฮมป์เชอร์ มหาวิทยาลัยเป็นหนึ่งในสมาชิกก่อตั้งของกลุ่มรัสเซล ซึ่งเป็นกลุ่มมหาวิทยาลัยวิจัยอันดับต้นของสหราชอาณาจักร

มหาวิทยาลัยเซาแฮมป์ตันถือกำเนิดจากสถาบันฮาร์ตเลย์ (Hartley Institute) ซึ่งตั้งในปี พ.ศ. 2405 ตามชื่อของเฮนรี ฮาร์ตเลย์ ในย่านใจกลางเมืองเก่าเซาแฮมป์ตัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2445 สถาบันฮาร์ตเลย์ได้ยกฐานะเป็นวิทยาลัยอุดมศึกษาภายใต้การกำกับของมหาวิทยาลัยลอนดอน ผู้สอบได้ตามหลักสูตรจะได้รับปริญญาบัตรจากมหาวิทยาลัยลอนดอน[3] ครั้นสถาบันพัฒนาจนมีความก้าวหน้าก็ได้มีพระราชบัญญัติให้แยกตัวออกเป็นมหาวิทยาลัยอิสระเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2495 นับเป็นมหาวิทยาลัยแรกที่มีสถานภาพอิสระในรัชกาลสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง

ประวัติ

ลอร์ดปาล์เมอสตัน (นายเฮนรี เทมเปิล) นายกรัฐมนตรีอังกฤษ กระทำพิธีเปิดสถาบันฮาร์ตเลย์เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2405

สถาบันฮาร์ตเลย์

มหาวิทยาลัยเซาแฮมป์ตันก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2405 ในฐานะสถาบันฮาร์ตเลย์ ตามชื่อของเฮนรี โรบินสัน ฮาร์ตเลย์ (Henry Robinson Hartley, พ.ศ. 2320–2393) ทายาทธุรกิจค้าไวน์[4] ก่อนที่ฮาร์ตเลย์จะวายชนม์ เขาได้เขียนพินัยกรรมสั่งให้นำมรดกจำนวน 103,000 ปอนด์สำหรับใช้เป็นทุนประเดิมตั้งสถาบันศึกษา ณ บ้านของเขาซึ่งตั้งที่ใจกลางเมืองเซาแฮมป์ตัน

...ให้ใช้ดอกผล เงินปันผล และเงินรายได้ประจำปีของกองมรดกนี้ สำหรับสนับสนุนการศึกษาและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ ดาราศาสตร์ โบราณคดี วรรณคดีตะวันตกและตะวันออกในเมืองแห่งนี้ โดยอาจสร้างเป็นห้องสมุดประชาชน สวนพฤกษศาสตร์ หอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์ และพิพิธภัณฑสถานจัดแสดงวัตถุที่เกี่ยวกับศาสตร์ข้างต้น

— ถ้อยคำส่วนหนึ่งในพินัยกรรมของเฮนรี ฮาร์ตเลย์ อุทิศทรัพย์สินของเขาให้แก่สถาบัน[5]

ในชั้นแรกฮาร์ตเลย์มิได้หวังว่าเงินจำนวนนี้จะใช้สร้างเป็นมหาวิทยาลัยดังเช่นที่ก่อตั้งตามเมืองท่าและเมืองอุตสาหกรรมของสหราชอาณาจักรอื่น ๆ เขาเพียงแต่หวังว่าให้สร้างสถานเผยแพร่ความรู้เพื่อให้เมืองมีชื่อเสียงทางวิชาการ[6]นอกเหนือจากการเป็นเมืองท่าและเมืองชุมทางรถไฟ จึงเป็นเหตุให้มีการถกเถียงขัดแย้งเกี่ยวกับข้อความในพินัยกรรมจนถึงขั้นขึ้นโรงศาล จนในที่สุดก็ได้มีการตั้ง "สถาบัน" ขึ้นตามเจตนารมณ์ของฮาร์ตเลย์ ซึ่งผิดไปจากความประสงค์ของผู้ใหญ่ในบ้านเมืองบางคนที่ต้องการให้เป็น "วิทยาลัย" สถาบันฮาร์ตเลย์เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2405 โดยเฮนรี เทมเปิล นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ในพิธีมีผู้คนคับคั่งเป็นอย่างมาก[7]

หลังจากสถาบันฮาร์ตเลย์ก่อตั้งได้ 21 ปีแล้ว ได้เปลี่ยนสถานะเป็นวิทยาลัยฮาร์ตเลย์พร้อม ๆ กับรับนักศึกษาและคณาจารย์เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังได้จัดสิ่งอำนวยความสะดวกรวมถึงหอพักที่เพิ่มขึ้นด้วย

วิทยาลัยอุดมศึกษาฮาร์ตเลย์ และวิทยาลัยอุดมศึกษาเซาแฮมป์ตัน

หอสมุดฮาร์ตเลย์ ก่อสร้างราว พ.ศ. 2470 จากเงินบริจาคที่อุทิศให้แก่สถาบัน

วิทยาลัยฮาร์ตเลย์ดำเนินกิจการตามปกติเรื่อยมาจนถึง พ.ศ. 2445 คณะกรรมการวิทยาลัยอุดมศึกษา (University College Grants Committee) ได้ตรวจสอบประเมินคุณภาพการสอนและการบริหารการเงิน เห็นสมควรให้วิทยาลัยฮาร์ตเลย์เป็นวิทยาลัยอุดมศึกษา (University College) สมทบอยู่กับมหาวิทยาลัยลอนดอน[8]เมื่อมีผู้สอบได้ตามหลักสูตรแล้วก็ขออนุมัติมหาวิทยาลัยลอนดอนเพื่อให้ปริญญา ในการนี้ วิลเลียม ดาร์วิน (William Darwin) ผู้อำนวยการกองคลัง รวมถึงสมาชิกสภาสถาบันฯ ได้รวมกันบริจาคเงินเพื่อใช้ในการยกฐานะครั้งนี้ ต่อมาทางวิทยาลัยเห็นความจำเป็นต้องย้ายที่ตั้งไปที่ทุ่งนาแถบตำบลไฮฟิลด์ ทางตอนเหนือของเมือง ก็ได้ดำเนินการระดมทุนและจัดสร้างอาคารเรียนในที่ตั้งใหม่

ครั้นแล้วเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2457 ริชาร์ด ฮอลเดน (Richard Haldane) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (Lord Chancellor) ในขณะนั้นได้กระทำพิธีเปิดวิทยาลัยอุดมศึกษาซึ่งเพิ่งย้ายจากใจกลางเมือง ชื่อของวิทยาลัยได้เปลี่ยนจากเดิมเป็นวิทยาลัยอุดมศึกษาเซาแฮมป์ตัน หกสัปดาห์จากนั้นวิทยาลัยถูกใช้เป็นที่พยาบาลทหารซึ่งบาดเจ็บจากการสู้รบในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง จนต้องงดการเรียนการสอน ด้วยความจำกัดด้านสถานที่นั้นเอง ก็ทำให้กระทรวงกลาโหมต้องสร้างเพิงไม้ไว้ท้ายตึกของวิทยาลัย หลังสงครามเพิงไม้ได้ถูกบริจาคให้แก่วิทยาลัย พร้อม ๆ กับการย้ายที่ตั้งออกจากใจกลางเมืองอย่างสมบูรณ์

เพื่อเป็นการรองรับจำนวนนักศึกษาจากต่างเมือง วิทยาลัยได้ซื้อหอไฮฟิลด์ (Highfield Hall) ซึ่งเป็นโรงนาเก่าตั้งใกล้กับเขตที่เลี้ยงสัตว์สาธารณะประจำเมือง (ปัจจุบันคือสวนสาธารณะ)[9] และหอเซาท์ฮิล สำหรับทำเป็นหอพักนักศึกษาหญิง (ปัจจุบันคือหอพักถนนเกลนแอร์) และบ้านเซาท์สโตนแฮม (South Stoneham House) สำหรับทำหอพักนักศึกษาชาย (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของหอพักถนนเวสเซกส์)

ระหว่าง พ.ศ. 2460 - 2470 วิทยาลัยได้รับเงินและที่ดินบริจาคจากผู้สนับสนุน เช่นบุตรสาวทั้งสองของเอ็ดเวิร์ด เทอร์เนอร์ ซิมส์ (Edward Turner Sims) ได้บริจาคเงินสำหรับสร้างหอสมุดสำหรับนักศึกษาและประชาชนชาวเมือง รวมถึงสร้างอาคารใหม่ ๆ ถึงกระนั้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง อาคารที่สร้างมาก่อนหน้าส่วนมากรวมถึงหอพักนักศึกษาก็ถูกโจมตีโดยเครื่องบินทิ้งระเบิดของนาซีเยอรมัน[10] ระหว่างสงครามแทนที่วิทยาลัยจะอพยพตามคำสั่งทางการ กลับใช้โอกาสนี้พัฒนาคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาการสำรวจ และสาขาวิชาโทรเลข ต่อมาหลังสงครามวิทยาลัยได้ก่อตั้งสถาบันวิจัยเสียงและการสั่น รวมทั้งปรับปรุงพัฒนาสาขาวิชาอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีแอริช เซปเลอร์ (Erich Zepler) นักอิเล็กทรอนิกส์ชาวเยอรมันเป็นผู้นำ

มหาวิทยาลัยเซาแฮมป์ตัน

ครั้นแล้ว ณ วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2495 หลังจากที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองขึ้นครองราชสมบัติแทนพระชนก (สมเด็จพระราชาธิบดีจอร์จที่หก) ซึ่งเสด็จสวรรคตไปเมื่อราวสองเดือนก่อน ก็ทรงตราพระราชบัญญัติให้วิทยาลัยอุดมศึกษาเซาแฮมป์ตันยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัย นับเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในรัชกาลสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง[11] มหาวิทยาลัยประกอบด้วยคณะวิชาทั้งสิ้น 6 คณะ ได้แก่ คณะศิลปศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ คณะครุศาสตร์ และคณะนิติศาสตร์ โดยมีเจอราลด์ เวลเลสเลย์ (Gerald Wellesley) ดยุคแห่งเวลลิงตันเป็นนายกสภา ต่อมาในวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2496 มหาวิทยาลัยจัดพิธีประสาทปริญญาบัตรแก่ผู้สอบได้ตามหลักสูตรเป็นครั้งแรก กิจการของมหาวิทยาลัยเจริญรุดหน้าขึ้นตามลำดับ มีการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ คณะสมุทรศาสตร์ หอพักที่มหาวิทยาลัยมีอยู่ที่ถนนเกลนแอร์และถนนเวสเซกส์ก็ได้ขยายเพื่อรองรับจำนวนนักศึกษาที่มากขึ้นอีกด้วย

ราว ๆ พ.ศ. 2520–2530 มหาวิทยาลัยได้สร้างอาคารเรียนใหม่ขึ้นเป็นจำนวนมาก รวมทั้งพัฒนาที่ดินที่ชิลเวิร์ทมาเนอร์ (Chilworth manor) ให้เป็นอุทยานวิทยาศาสตร์และสถานที่ประชุม ที่ดินที่ท่าเรือก็ได้พัฒนาเป็นศูนย์สมุทรศาสตร์แห่งชาติ รวมทั้งซื้อที่ดินโรงเรียนทอนตัน (Taunton College) และถนนไวด์เลน (Wide lane) สำหรับใช้เป็นที่ตั้งคณะมนุษยศาสตร์และศูนย์กีฬา ตามลำดับ ขณะเดียวกันแม้จะมีการตัดงบประมาณรัฐบาลกลางสำหรับอุดหนุนสถานศึกษา แต่สภามหาวิทยาลัยก็ได้จัดการปรับอัตรากำลังตามสัดส่วนงบประมาณที่ลดแทนการไล่พนักงานออกจากตำแหน่ง

ในฐานะมหาวิทยาลัยวิจัย

การจัดสวนในบริเวณวิทยาเขตไฮฟิลด์ด้านตะวันตก ผลงานของเบซิล สเปนซ์

ขณะที่โฮเวิร์ด นิวบี (Howard Newby) ดำรงตำแหน่งอธิการบดี ก็ได้วางวิสัยทัศน์เพื่อให้มหาวิทยาลัยลงทุนเพื่อการวิจัยมากขึ้นทั้งปริมาณและคุณภาพ[12] ในช่วงปี พ.ศ. 2535 มหาวิทยาลัยได้รับวิทยาลัยศิลปกรรมวินเชสเตอร์ (Winchester School of Art) และโรงเรียนผู้ใหญ่ลาแซงต์อูเนียง (La Sainte Union College)เข้าสมทบในมหาวิทยาลัย พร้อมกับขยายสาขาพยาบาลและการผดุงครรภ์เพื่อบริการวิชาการแก่บุคลากรสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Health Service; NHS) ในเขตอังกฤษตอนใต้ ส่งผลให้มีนักศึกษาจำนวนมากยิ่งขึ้น พื้นที่สอนของมหาวิทยาลัยจึงขยายออกไปถึงเมืองเบซิงสโตก พอร์ตสมัท รวมถึงเกาะไวต์ด้วย[12]

มหาวิทยาลัยได้รับรายได้ส่วนมากจากการวิจัย และได้ลงทุนซ่อมสร้างและปรับปรุงอาคารใหม่ ๆ จำนวนมาก ดังต่อไปนี้

  • พ.ศ. 2545 ปรับปรุงขยายสโมสรนักศึกษา[13][14]
  • พ.ศ. 2547 ศูนย์กีฬาจูบิลี (Jubilee Sport Centre) สร้างเพื่อฉลองครบรอบห้าสิบปีนับจากการตราพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัย[15][16]
  • พ.ศ. 2548 อาคารหอสมุดฮาร์ตเลย์ และอาคารสำนักบริการนักศึกษา[17][18][19]
  • พ.ศ. 2549 อาคารโบราณคดี ณ คณะมนุษยศาสตร์[20][21]
  • พ.ศ. 2550 อาคารครุศาสตร์-อิเล็กทรอนิกส์[22][23][24] และสถาบันวิจัยวิทยาการพัฒนายีน ที่โรงพยาบาลกลางเซาแฮมป์ตัน[25]
  • พ.ศ. 2551 อาคารเมาท์แบทเทน ซึ่งเป็นอาคารภาควิชาอิเล็กทรอนิกส์และวิทยาการคอมพิวเตอร์[26][27] อนึ่งอาคารนี้สร้างทดแทนของเดิมที่ไฟไหม้[28][29]
  • พ.ศ. 2553 อาคารวิทยาศาสตร์สุขภาพ[30][31][32]
  • พ.ศ. 2557 ศูนย์ความเป็นเลิศด้านทางทะเล ร่วมกับบริษัทลอยด์รีจิสเตอร์ (Lloyd's Register)

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 มหาวิทยาลัยและ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ วิทยาลัยอิมพีเรียลลอนดอน และวิทยาลัยอุดมศึกษาลอนดอน (University College London) ได้ร่วมมือจัดตั้งกลุ่มสถาบันวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ภาคใต้ (SES-5) เพื่อเป็นคลังความรู้ ความร่วมมือ สาธารณูปโภค และวิทยาการ เพื่อนำไปสู่การเป็นผู้นำทางด้านการวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในอนาคต[33]

ที่ตั้ง

มหาวิทยาลัยประกอบด้วยพื้นที่ทำการสอน (วิทยาเขต) 6 แห่ง โดย 4 แห่งอยู่ในเมืองเซาแฮมป์ตัน 1 แห่งในเมืองวินเชสเตอร์[34] และอีก 1 แห่งที่ประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังมีศูนย์วิจัย อุทยานวิทยาศาสตร์ และหอพักนักศึกษากระจายตามพื้นที่ต่าง ๆ ในเมือง

วิทยาเขตไฮฟิลด์

วิทยาเขตหลักของมหาวิทยาลัยคือ วิทยาเขตไฮฟิลด์ (Highfield Campus) มีพื้นที่ราว 150 ไร่ หน่วยงานบริหารและคณะวิชาส่วนมากตั้งบริเวณนี้ อาคารเก่าก่ออิฐที่ตั้งในบริเวณนี้ได้แก่หอสมุดฮาร์ตเลย์ และสโมสรนักศึกษา ซึ่งออกแบบโดยไจลส์ สกอตต์ (Giles Scott)[35] ส่วนอาคารใหม่ ๆ และการจัดสวนในมหาวิทยาลัยเป็นผลงานของเบซิล สเปนซ์ (Basil Spence)[36] ซิดนีย์ คิมเบอร์ (Sidney Kimber) และริก มาเทอร์ (Rick Mather) ภูมิทัศน์โดยทั่วไปเป็นพื้นที่ที่แบ่งครึ่งโดยถนนมหาวิทยาลัย มีต้นไม้เรียงตามถนน และมีลำห้วยเล็ก ๆ ในสวน

วิทยาเขตอเวนิว

อาคารโรงเรียนทอนตัน

เนื่องจากวิทยาเขตไฮฟิลด์คับแคบ มีที่จอดรถน้อย ส่งผลให้มหาวิทยาลัยย้ายคณะมนุษยศาสตร์ไปยังที่ตั้งใหม่ คือวิทยาเขตอเวนิว (Avenue) ซึ่งเดิมเป็นโรงเรียนเทศบาลทอนตัน (Taunton College) ที่ทางเทศบาลเมืองเซาแฮมป์ตันขายให้มหาวิทยาลัยในราคา 2 ล้านปอนด์เมื่อ พ.ศ. 2536[37] ปัจจุบันอาคารโรงเรียนอยู่ในสภาพดี นอกจากนี้มหาวิทยาลัยได้ซ่อมสร้างต่อเติมอาคารใหม่ รวมถึงอาคารโบราณคดีมูลค่าสองล้านเจ็ดแสนปอนด์ด้วย[38]

ศูนย์สมุทรศาสตร์แห่งชาติ

ท่าน้ำศูนย์สมุทรศาสตร์แห่งชาติ

ศูนย์สมุทรศาสตร์แห่งชาติ ณ เมืองเซาแฮมป์ตัน (National Oceanography Centre, Southampton; NOCS) เป็นพื้นที่ทำการสอนและวิจัยส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย ตั้งอยู่ที่ท่าเรือเซาแฮมป์ตัน ห่างจากวิทยาเขตไฮฟิลด์ราว 5 กิโลเมตร ภายในศูนย์ฯ มีภาควิชาวิทยาศาสตร์โลกและทางทะเล รวมถึงศูนย์วิจัยของสภาวิจัยวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (Natural Environment Research Council) ด้วย[39] ฝ่ายวิจัย 5 แห่งของศูนย์สมุทรศาสตร์แห่งชาติมีฐานอยู่ในวิทยาเขต[39] พื้นที่ศูนย์สมุทรศาสตร์เดิมทีเป็นพื้นที่ของท่าเรือ โดยได้เริ่มวางแผนงานราว พ.ศ. 2532 และก่อสร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2537 แม้จะประสบปัญหาการตัดงบประมาณเพราะความไม่แน่ใจว่าศูนย์วิจัยแห่งชาติกับมหาวิทยาลัยจะเข้ากันได้ดี[40] ครั้นสร้างเสร็จ เจ้าชายฟิลิป พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองทรงประกอบพิธีเปิดศูนย์ฯ เมื่อ พ.ศ. 2539

โรงพยาบาลกลางเซาแฮมป์ตัน

มหาวิทยาลัยจัดการเรียนการสอนในคณะแพทยศาสตร์และคณะสหเวชศาสตร์ ทั้งในระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา ณ โรงพยาบาลกลางเซาแฮมป์ตัน (Southampton General Hospital) โดยร่วมมือกับสำนักบริการสุขภาพแห่งชาติ

วิทยาลัยศิลปกรรมวินเชสเตอร์

วิทยาลัยศิลปกรรมวินเชสเตอร์ (Winchester School of Art) ก่อตั้งเมื่อราว ๆ พ.ศ. 2500 ต่อมาได้สมทบเข้าเป็นส่วนงานของมหาวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ. 2539 เพื่อทำการเรียนการสอนและวิจัยในด้านศิลปะ สิ่งทอ รวมถึงการออกแบบ

วิทยาเขตมาเลเซีย

มหาวิทยาลัยมีวิทยาเขตนอกสหราชอาณาจักรที่รัฐยะโฮร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเปิดดำเนินการเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2555 ทำการสอนในสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์[41][42]

ส่วนงาน

มหาวิทยาลัยประกอบด้วยคณะวิชาต่าง ๆ 8 คณะ แบ่งย่อยออกเป็นภาควิชาและสถาบันวิจัยได้หลายสถาบัน ได้แก่

  • คณะบริหารธุรกิจและนิติศาสตร์
    • ภาควิชานิติศาสตร์
    • ภาควิชาการจัดการ
    • วิทยาลัยศิลปกรรมวินเชสเตอร์
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์และสิ่งแวดล้อม
    • ภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม
    • ภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์
    • สถาบันวิจัยเสียงและการสั่น
  • คณะสหเวชศาสตร์
    • ภาควิชาสหเวชศาสตร์
  • คณะมนุษยศาสตร์
    • ภาควิชาโบราณคดี
    • ภาควิชาภาษาอังกฤษ
    • ภาควิชาภาพยนตรศึกษา (film studies)
    • ภาควิชาประวัติศาสตร์
    • ภาควิชาภาษาสมัยใหม่
    • ภาควิชาดนตรี
    • ภาควิชาปรัชญา
  • คณะแพทยศาสตร์
    • ภาควิชาแพทยศาสตร์
    • หน่วยวิจัยแพทยศาสตร์ทางเลือก (complementary medicine)
  • คณะวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
    • ภาควิชาชีววิทยา
    • ภาควิชาเคมี
    • ภาควิชาสมุทรศาสตร์และโลกศาสตร์
    • ศูนย์สมุทรศาสตร์แห่งชาติอังกฤษ
  • คณะวิทยาศาสตร์กายภาพและวิศวกรรมศาสตร์
    • ภาควิชาอิเล็กทรอนิกส์และวิทยาการคอมพิวเตอร์
    • ภาควิชาฟิสิกส์และดาราศาสตร์
    • ศูนย์วิจัยออปโตอิเล็กทรอนิกส์
  • คณะสังคมศาสตร์
    • ภาควิชาครุศาสตร์
    • ภาควิชาภูมิศาสตร์และสิ่งแวดล้อม
    • ภาควิชาคณิตศาสตร์
    • ภาควิชาจิตวิทยา
    • ภาควิชาสังคมศาสตร์
    • สถาบันวิจัยสถิติศาสตร์เซาท์แฮมป์ตัน
    • ศูนย์ศึกษาจีนร่วมสมัย
    • ศูนย์วิจัยประชากรศาสตร์

การเดินทางภายในมหาวิทยาลัย

รถบัสยูนิลิงก์ชนิดสองชั้นขณะผ่านหน้าหอสมุดฮาร์ตเลย์

เนื่องจากมหาวิทยาลัยมีพื้นที่กระจัดกระจายตามจุดต่าง ๆ ทั่วเมือง จึงได้จัดให้มีรถบัสยูนิลิงก์ (Unilink) ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2539 ให้บริการแก่นักศึกษา คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และประชาชนทั่วไป ในชั้นแรกมหาวิทยาลัยเป็นผู้ดำเนินการเดินรถเอง[43] นักศึกษา คณาจารย์ เจ้าหน้าที่เมื่อซื้อตั๋วจะได้ส่วนลด และนักศึกษาหอพักจะมีสิทธิ์ใช้รถโดยไม่เสียค่าโดยสารเพิ่มเติม การเดินรถระยะแรกมีสองสาย คือ สายหนึ่งผ่านถนนพอร์ตสวูดไปจนถึงท่าเรือ อีกสายหนึ่งผ่านวิทยาเขตอเวนิว สองปีให้หลังมหาวิทยาลัยจ้างบริษัทเฟิร์สต์เพื่อเดินรถ[44][45] อย่างไรก็ตามเนื่องจากการบริการที่ไม่ดี ในปี พ.ศ. 2544 มหาวิทยาลัยจึงได้จัดตั้งบริษัทเดินรถขึ้นเอง โดยจ้างบริษัทภายนอกมาดำเนินการ ในครั้งแรกบริษัทมิโนวา (Minova) เป็นผู้ดำเนินการ ต่อมาบริษัทมิโนวาถูกซื้อกิจการ ทำให้บริษัทบลูสตาร์ (Bluestar) เข้ามาดำเนินการจนถึงปัจจุบัน

รถบัสยูนิลิงก์มี 4 สาย ในระยะแรกมี 2 สาย คือ U1 เดินระหว่างสนามบินเซาแฮมป์ตันถึงท่าเรือเซาแฮมป์ตัน และ U2 เดินระหว่างศาลาว่าการเมืองและตำบลบาสเสต (Bassett) ในเวลาต่อมาได้มีการเพิ่มรถอีกสองสายคือ U6 เดินระหว่างโรงพยาบาลกลางเซาแฮมป์ตันกับท่าเรือ และ U9 เดินระหว่างมหาวิทยาลัยและหมู่บ้านทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำอิตเชน (River Itchen)

เนื่องจากรถบัสยูนิลิงก์เป็นที่นิยมมากทั้งนักศึกษาและประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะสาย U1 ส่งผลให้มีการเพิ่มจำนวนรถมากขึ้น ล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2556 บริษัทยูนิลิงก์จัดซื้อรถสองชั้นให้บริการเพิ่มเติมและยกเลิกรถเก่า[46][47]

อ้างอิง

  1. "University of Southampton Calendar 2013/14 - Preface". University of Southampton. สืบค้นเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2013.
  2. None (20 มิถุนายน 2013). Independent Schools Yearbook 2012–2013. ISBN 9781408181188.
  3. "Student lists". Senate House Library. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 กันยายน 2010. สืบค้นเมื่อ 4 เมษายน 2013.
  4. Mann, John Edgar & Ashton, Peter (1998). Highfield, A Village Remembered. Halsgrove. ISBN 1-874448-91-4.
  5. Patterson, A. Temple (1962). "Henry Robinson Hartley and the Establishment of the Hartley Institution". The University of Southampton : A Centenary History of the Evolution and Development of the University of Southampton, 1862–1962. Southampton: The Camelot Press Ltd. pp. 9–24.
  6. Patterson, A. Temple (1962). "Southampton in the Middle of the Nineteenth Century". The University of Southampton : A Centenary History of the Evolution and Development of the University of Southampton, 1862–1962. Southampton: The Camelot Press Ltd. pp. 1–9.
  7. Nash, Sally; Martin Sherwood (2002). "Growing Pains". University of Southampton : An Illustrated History. London: James and James. pp. 13–17. ISBN 0-907383-94-7.
  8. Patterson, A. Temple (1962). "Reorganization and Achievement: 1892–1902". The University of Southampton : A Centenary History of the Evolution and Development of the University of Southampton, 1862–1962. Southampton: The Camelot Press Ltd. pp. 89–107.
  9. Patterson, A. Temple (1962). ""The Old Hartley"". The University of Southampton : A Centenary History of the Evolution and Development of the University of Southampton, 1862–1962. Southampton: The Camelot Press Ltd. pp. 107–138.
  10. Nash, Sally; Martin Sherwood (2002). "War and the Years After, 1939–1952". University of Southampton : An Illustrated History. London: James and James. pp. 44–57. ISBN 0-907383-94-7.
  11. "Becoming a University". University of Southampton. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2014. สืบค้นเมื่อ 13 มิถุนายน 2012.
  12. 12.0 12.1 Nash, Sally; Martin Sherwood (2002). "Into the Premier League". University of Southampton : An Illustrated History. London: James and James. pp. 116–130. ISBN 0-907383-94-7.
  13. "Students' Union Building". Estate Development. University of Southampton. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 สิงหาคม 2015. สืบค้นเมื่อ 22 มิถุนายน 2013.
  14. "University of Southampton Students' Union". Perkins Ogden Architects. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 ธันวาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 22 มิถุนายน 2013.
  15. "Jubilee Sports Centre". Estates Development. University of Southampton. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 สิงหาคม 2015. สืบค้นเมื่อ 22 มิถุนายน 2013.
  16. "Jubilee Sports Complex". Rick Mather Architects. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 ตุลาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 22 มิถุนายน 2013.
  17. "Hartley Library Extension". University of Southampton. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 สิงหาคม 2015. สืบค้นเมื่อ 22 มิถุนายน 2013.
  18. "George Thomas Student Services Building (B37)". Estates Development. University of Southampton. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 สิงหาคม 2015. สืบค้นเมื่อ 22 มิถุนายน 2013.
  19. "George Thomas Building". Sustainable Planning Centre SISCo. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 ธันวาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 22 มิถุนายน 2013.
  20. "Archaeology". Estate Development. University of Southampton. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2013.
  21. "University of Southampton: New Archaeology and E-Languages Building" (PDF). Perkins Odgen Architects. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 20 ธันวาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2013.
  22. "EEE Building (B32)". Estate Development. University of Southampton. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 สิงหาคม 2015. สืบค้นเมื่อ 22 มิถุนายน 2013.
  23. "EEE Building". John McAslan and Partners. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 กรกฎาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 22 มิถุนายน 2013.
  24. "John McAslan and Partners: EEE Building University of Southampton". Architecture Today. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 สิงหาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 22 มิถุนายน 2013.
  25. "Institute of Developmental Sciences". Estate Development. University of Southampton. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 สิงหาคม 2015. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2013.
  26. "Mountbatten Building". Estate Development. University of Southampton. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 พฤษภาคม 2015. สืบค้นเมื่อ 22 มิถุนายน 2013.
  27. "Case Study: Mountbatten Building, University of Southampton". WYG Group. สืบค้นเมื่อ 22 มิถุนายน 2013.
  28. "Fire destroys top research centre". news.bbc.co.uk. 31 ตุลาคม 2005. สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2009.
  29. "Jestico & Whiles: Nanotechnology building, University of Southampton". Architecture Today. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 ธันวาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 22 มิถุนายน 2013.
  30. "Life Sciences Building (B85)". Estates Development. University of Southampton. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 พฤษภาคม 2015. สืบค้นเมื่อ 22 มิถุนายน 2013.
  31. "A Meeting Place of the Minds". NBBJ. สืบค้นเมื่อ 22 มิถุนายน 2013.
  32. "NBBJ: Life Sciences Building, the University of Southampton". Architecture Today. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 มีนาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 22 มิถุนายน 2013.
  33. "Science and Engineering South Consortium (SES-5)". Ucl.ac.uk. 9 พฤษภาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 17 สิงหาคม 2013.
  34. "Our campuses: University of Southampton". University of Southampton. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 สิงหาคม 2011. สืบค้นเมื่อ 15 เมษายน 2011.
  35. Gavin Stamp, 'Giles Gilbert Scott' in Oxford Dictionary of National Biography, Oxford University Press, 2004.
  36. Nash, Sally; Martin Sherwood (2002). "Building a Vision". University of Southampton : An Illustrated History. London: James and James. pp. 272–281. ISBN 0-907383-94-7.
  37. Sally Nash and Martin Sherwood (2002). The University of Southampton: An Illustrated History. Southampton: University of Southampton. p. 276. ISBN 0907383947.
  38. "Archaeology overview". University of Southampton. สืบค้นเมื่อ 25 มกราคม 2013.
  39. 39.0 39.1 "National Oceanography Centre, Southampton". National Oceanography Centre. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 มีนาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2013.
  40. Sally Nash and Martin Sherwood (2002). The University of Southampton: An Illustrated History. Southampton: University of Southampton. pp. 235–247. ISBN 0907383947.
  41. "University of Southampton: Malaysia Campus". University of Southampton. สืบค้นเมื่อ 17 มกราคม 2012.
  42. "UoSM Engineering booklet" (PDF). University of Southampton Malaysia. สืบค้นเมื่อ 9 ธันวาคม 2024.
  43. "Bus Service 93/93a". University of Southampton Bulletin. 3 (20): 1. 3 กุมภาพันธ์ 1997.
  44. Sally Nash and Martin Sherwood (2002). The University of Southampton: An Illustrated History. James & James. p. 126. ISBN 0907383947.
  45. "A new look for Uni-link". University of Southampton Bulletin. 7 (45): 1. 3 กันยายน 2001.
  46. "Unilink - new fleet launches". Unilink (Bluestar). 4 กันยายน 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 มกราคม 2014. สืบค้นเมื่อ 27 กันยายน 2013.
  47. Osborn, Steven (6 กันยายน 2013). "Unilink relaunch marks franchise anniversary". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 มกราคม 2014. สืบค้นเมื่อ 27 กันยายน 2013.

ข้อมูลเพิ่มเติม

  • Patterson, A. Temple (1962). The University of Southampton : A Centenary History of the Evolution and Development of the University of Southampton, 1862–1962. Southampton: The Camelot Press Ltd.
  • Nash, Sally and Martin Sherwood (2002). University of Southampton: An Illustrated History. London: James and James
  • B. L. Clarkson (1971). "The Institute of Sound and Vibration Research, University of Southampton". Review of Physics in Technology. 2 (1): 1–24. Bibcode:1971RvPT....2....1C. doi:10.1088/0034-6683/2/1/301.

แหล่งข้อมูลอื่น

50°56′05″N 1°23′45″W / 50.93463°N 1.39595°W / 50.93463; -1.39595

 

Prefix: a b c d e f g h i j k l m n o p q r s t u v w x y z 0 1 2 3 4 5 6 7 8 9

Portal di Ensiklopedia Dunia