เดอะ ไวร์เลส เฮาส์
เดอะ ไวร์เลส เฮาส์ (อังกฤษ: The Wireless House) เป็นพิพิธภัณฑ์ภายในโครงการ วัน แบงค็อก ตั้งอยู่ภายในสวนไวร์เลส พาร์ค ถนนวิทยุ หน้าศูนย์การค้าเดอะ สตอรีส์ ใต้อาคารวัน แบงค็อก ทาวเวอร์ 4 ในพื้นที่แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร โดยเป็นอาคารที่ปฏิสังขรณ์มาจากสถานีวิทยุศาลาแดงที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ซึ่งถูกรื้อถอนเมื่อปี พ.ศ. 2544 แต่ขยับออกจากที่ตั้งจริงของสถานีวิทยุเดิมเล็กน้อย โดยมีเสาส่งสัญญาณวิทยุของสถานีวิทยุเดิมจัดแสดงอยู่ด้านข้าง ภายในอาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวรทั้งหมด 4 ส่วน รวมถึงโบราณวัตถุต่าง ๆ ที่สถาปนิกและนักโบราณคดีค้นพบระหว่างทำฐานรากของโครงการ วัน แบงค็อก และผลงานศิลปะชิ้นอื่น ๆ มีพิธีเปิดอาคารเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2568 โดยเปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 10:00 – 20:00 น. ภูมิหลังเดอะ ไวร์เลส เฮาส์ เป็นอาคารที่โครงการวัน แบงค็อก สร้างขึ้น เนื่องจากต้องการให้ความสำคัญและวางแนวทางในการผสานองค์ประกอบทางศิลปะและวัฒนธรรมในพื้นที่ของโครงการตั้งแต่เริ่มต้น และต้องการรักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่ เพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอด ให้เป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต[1] โดยอนุรักษ์อาคารสถานีวิทยุศาลาแดง สถานีวิทยุแห่งแรกของประเทศไทย ที่กระทรวงทหารเรือ (ปัจจุบันคือกองทัพเรือไทย) จัดตั้งขึ้น และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปิดเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2456 (พ.ศ. 2457 หากนับแบบปัจจุบัน) ก่อนจะพระราชทานนามถนนที่ตัดผ่านหน้าสถานีวิทยุว่า ถนนวิทยุ และ Wireless Road ในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตาม สถานีวิทยุศาลาแดงเริ่มลดบทบาทลงหลังกบฏแมนฮัตตัน ซึ่งทำให้กองสัญญาณทหารเรือต้องย้ายออกจากพื้นที่ ก่อนที่โรงเรียนเตรียมทหารจะเข้ามาใช้พื้นที่ต่อตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504[2] ในช่วงนี้ตัวอาคารสถานีวิทยุพร้อมกับเสาส่งสัญญาณวิทยุได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานโดยกรมศิลปากรเมื่อปี พ.ศ. 2526[3] แต่หลังจากโรงเรียนเตรียมทหารย้ายออกไปตั้งในสถานที่ใหม่ที่จังหวัดนครนายก และพื้นที่ดังกล่าวถูกปล่อยเช่าเป็นตลาดกลางคืนในชื่อสวนลุมไนท์บาซาร์ในปี พ.ศ. 2544 พี.คอน. ดีเวล็อปเมนท์ ผู้พัฒนาสวนลุมไนท์บาซาร์ ก็ได้ดำเนินการรื้อถอนอาคารสถานีวิทยุศาลาแดงออกทั้งหมด[2] การสำรวจและปฏิสังขรณ์
อย่างไรก็ตาม ตามแผนแม่บทของการพัฒนาโครงการ วัน แบงค็อก นั้น อาคารอนุรักษ์สถานีวิทยุศาลาแดงไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่ตั้งจริงของสถานีวิทยุเดิม แต่ขยับออกมาตั้งอยู่ภายในสวนไวร์เลส พาร์ค หน้าศูนย์การค้าเดอะ สตอรีส์ ใต้อาคารวัน แบงค็อก ทาวเวอร์ 4 ที่อยู่ใกล้กับหัวมุมแยกวิทยุมากกว่าแทน[2] ซึ่งเป็นไปตามแผนการย้ายเสาวิทยุของเจ้าของพื้นที่คือสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่แรกเริ่ม เพื่อให้บุคคลภายนอกมองเห็นเสาวิทยุได้ชัดเจนขึ้น และแผนการย้ายเสาวิทยุดังกล่าวก็ได้รับอนุญาตจากกรมศิลปากรเช่นกัน ส่วนพื้นที่ที่ตั้งจริงของสถานีวิทยุเดิมนั้นอยู่บนถนน วัน แบงค็อก บูเลอวาร์ด ด้านหน้าศูนย์การค้าโพสต์ 1928 บริเวณใต้อาคารวัน แบงค็อก ทาวเวอร์ 5 โดยอาคารดังกล่าวก็ออกแบบให้มีลักษณะของสัญญาณโทรเลขเช่นกัน[4] โดยมีหลักฐานปรากฏเป็นหมุดเขตประกาศโบราณสถานที่ฝังอยู่บริเวณวัน แบงค็อก บูเลอวาร์ด ที่กรมศิลปากรมิได้ออกประกาศเพิกถอนแต่อย่างใด ในปี พ.ศ. 2559 ที่ วัน แบงค็อก เริ่มเข้าสำรวจพื้นที่ที่ตั้งโครงการในเบื้องต้นนั้น เดิมมีแผนจะทำงานร่วมกับกรมศิลปากรเฉพาะการขนย้ายเสาส่งสัญญาณวิทยุเท่านั้น โดยมี กษมา เกาไศยานนท์ เป็นนักโบราณคดีประจำโครงการ แต่หลังจากเริ่มขุดพื้นดินเพื่อปรับพื้นที่แล้ว ก็ค้นพบฐานรากของอาคารสถานีวิทยุที่หลงเหลืออยู่จากการรื้อถอนด้วย จึงกลับไปคุยกับกรมศิลปากรเพื่อขอย้ายฐานรากด้วย[3] และยังได้รับความร่วมมือกับกรมศิลปากรในการขุดค้นทางโบราณคดีเพิ่มเติมจนค้นพบส่วนอื่น ๆ ของสถานีวิทยุ คือ ตอม่อสะพานที่เชื่อมต่อกับประตูทางเข้าด้านหน้าสถานีวิทยุ รวมถึงโบราณวัตถุที่เริ่มค้นพบอีกจำนวนมาก[2] หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการในส่วนโบราณคดีแล้ว สถาปนิกอนุรักษ์คือ วทัญญู เทพหัตถี ได้นำข้อมูลทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เกี่ยวกับสถานีวิทยุ ทั้งผังที่ตั้ง ฐานราก ภาพถ่าย เอกสารสำรวจ รวมถึงข้อมูลที่ได้จากนักโบราณคดี มาปฏิสังขรณ์ (Reconstruction) ขึ้นใหม่ตามรูปทรงเดิมทั้งหมด โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สเก็ตช์อัปมาช่วย ก่อนดำเนินการขุดรากถอนเสาเข็มเก่าเพื่อฝังกลบ และเคลื่อนย้ายฐานรากอาคารสถานีวิทยุและเสาส่งสัญญาณวิทยุความสูง 60 เมตร ไปตั้งในจุดที่วางไว้ในแผนแม่บทเดิม ซึ่งสถาปนิกอนุรักษ์ตกลงกับกรมศิลปากรว่าใช้วิธีตัดฐานรากออกเป็น 10 ชิ้น ก่อนย้ายออกครั้งละ 1 ชิ้นและนำมาประกอบใหม่ เช่นเดียวกับเสาวิทยุที่ตัดแบ่งออกเป็น 7 ท่อน ก่อนย้ายออกและนำมาประกอบใหม่เป็นตัวอย่างเฉพาะบางส่วนเช่นกัน[2] เดอะ ไวร์เลส เฮาส์ เริ่มเปิดอย่างไม่เป็นทางการพร้อมกับพิธีเปิดโครงการ วัน แบงค็อก เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2567 ก่อนจะมีพิธีเปิดอาคารนี้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2568[5] ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 111 ปีของการเปิดอาคารสถานีวิทยุศาลาแดง[6] การจัดสรรพื้นที่อาคาร เดอะ ไวร์เลส เฮาส์ มีพื้นที่จัดแสดงทั้งภายนอกและภายใน โดยภายในเป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการถาวร จำนวน 4 ส่วน ดังนี้[5][1]
ส่วนภายนอกมีสิ่งก่อสร้างอีก 3 จุด ดังนี้[6]
นอกจากนี้ บริเวณใกล้เคียงยังมีห้องปฏิบัติการกระจายเสียง (Broadcasting Studio) ในชื่อ เดอะ ไวร์เลส คลับ (The Wireless Club) ซึ่งจะเป็นห้องสำหรับเปิดเพลงโดยนักจัดรายการวิทยุใต้ดินที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้เข้าใช้บริการภายในโครงการ ซึ่งสอดคล้องกับวิวัฒนาการด้านวิทยุในวิถีชีวิตของมนุษย์ จากการสื่อสารผ่านสัญญาณวิทยุด้วยรหัสโทรเลขหรือรหัสมอร์สในอดีต เป็นการเปิดวิทยุเพื่อฟังเพลงเป็นหลักในปัจจุบัน โดยในตอนกลางวันจะเป็นร้านกาแฟ และในตอนกลางคืนจะเป็นบาร์แสดงดนตรี[3] ดูเพิ่มอ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
13°43′36″N 100°32′45″E / 13.726574059451512°N 100.54582991455231°E |
Portal di Ensiklopedia Dunia