หู เย่าปัง
หู เย่าปัง (จีน: 胡耀邦; พินอิน: Hú Yàobāng; 20 กันยายน ค.ศ. 1915 – 15 เมษายน ค.ศ. 1989) เป็นนักการเมืองชาวจีนผู้เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสาธารณรัฐประชาชนจีน เขาดำรงตำแหน่งสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีนตั้งแต่ ค.ศ. 1981 ถึง 1987 โดยดำรงตำแหน่งประธานพรรคตั้งแต่ ค.ศ. 1981 ถึง 1982 และเลขาธิการพรรคตั้งแต่ ค.ศ. 1982 ถึง 1987 หลังการปฏิวัติทางวัฒนธรรม (ค.ศ. 1966–1976) หูกลายมาเป็นที่รู้จักในฐานะพันธมิตรใกล้ชิดของเติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำสูงสุดของจีนในขณะนั้น หูเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์จีนในคริสต์ทศวรรษ 1930 ในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม เขาถูกกวาดล้าง เรียกตัวกลับ และกวาดล้างอีกครั้งโดยเหมา เจ๋อตง หลังเติ้งขึ้นสู่อำนาจ หลังจากเหมาถึงแก่อสัฯกรรม หูก็มีบทบาทสำคัญในโครงการ ปัวล่วนฝ่านเจิ้ง ตลอดคริสต์ทศวรรษ 1980 เขาดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเมืองหลายอย่างภายใต้การดูแลของเติ้ง ขณะเดียวกัน การปฏิรูปทางการเมืองและเศรษฐกิจของหูยังทำให้เขากลายเป็นศัตรูของผู้อาวุโสพรรคที่ทรงอิทธิพลหลายคน ซึ่งต่อต้านการปฏิรูปตลาดเสรีและรัฐบาล เมื่อการประท้วงของนักศึกษาเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางทั่วประเทศจีนในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1986 และมกราคม ค.ศ. 1987 ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของหูกล่าวโทษเขาว่าเป็นผู้ก่อความวุ่นวาย และโน้มน้าวเติ้งว่าความอดทนของหูต่อ "การเปิดเสรีชนชั้นกระฎุมพี" เป็นสาเหตุที่ทำให้การประท้วงดังกล่าวเกิดขึ้น หูถูกบังคับให้ลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการในช่วงต้นปี ค.ศ. 1987 แต่ยังคงได้รับอนุญาตให้คงสมาชิกภาพในกรมการเมืองไว้ได้ ตำแหน่งเลขาธิการของหูได้รับการสืบทอดโดยจ้าว จื่อหยาง พันธมิตรใกล้ชิดของเขา โดยเขาดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเมืองของหูหลายครั้ง หนึ่งวันหลังการเสียชีวิตของหูในเดือนเมษายน ค.ศ. 1989 มีการจัดงานรำลึกอย่างไม่เป็นทางการในระดับเล็ก ๆ ขึ้นในปักกิ่ง ระหว่างนั้น ผู้คนได้เรียกร้องให้รัฐบาลจีนประเมินและยอมรับมรดกของหูอีกครั้ง หนึ่งสัปดาห์ต่อมา ในวันก่อนพิธีศพของหู นักศึกษาราว 100,000 คนได้เดินขบวนไปที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ซึ่งท้ายที่สุดก็นำไปสู่การเหตุการณ์การประท้วงและการสังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ค.ศ. 1989 ในเดือนมิถุนายน ต่อมารัฐบาลจีนได้ตรวจพิจารณารายละเอียดต่าง ๆ ในชีวิตของหู แต่ใน ค.ศ. 2005 รัฐบาลจีนได้ฟื้นฟูชื่อเสียงของเขาอย่างเป็นทางการและยกเลิกการตรวจพิจารณาเนื่องในโอกาสครบรอบวันเกิด 90 ปีของเขา หูถูกฝังในก้งชิงเฉิงในเจียงซี ชีวิตช่วงต้นนักปฏิวัติหนุ่ม![]() บรรพบุรุษของหู เย่าปังเป็นชาวฮากกา[1][2] จากเจียงซี ในสมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1368–1644) พวกเขาอพยพไปยังหูหนาน ที่ซึ่งเป็นเมืองเกิดของหู[3] หูเกิดในครอบครัวชาวนายากจน[4]: 138 เขาไม่ได้รับการศึกษาอย่างเป็นทางการและสอนตัวเองให้อ่านหนังสือ[4]: 138 หูเข้าร่วมการกบฏครั้งแรกเมื่ออายุได้ 12 ปี และออกจากครอบครัวเพื่อเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่ออายุได้เพียง 14 ปี[5] และกลายเป็นสมาชิกเต็มตัวของพรรคใน ค.ศ. 1933[6] ในช่วงการต่อสู้ระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ที่ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนแตกแยกกันในคริสต์ทศวรรษ 1930 หูสนับสนุนเหมา เจ๋อตงและต่อต้านกลุ่ม 28 บอลเชวิค หูเป็นหนึ่งในทหารผ่านศึกอายุน้อยที่สุดในการเดินทัพทางไกล[7] หลังจากเหมาถูกปลดจากอำนาจ ไม่นานก่อนจะเริ่มต้นการทัพโอบล้อมครั้งที่สี่ ผู้สนับสนุนของเหมาถูกข่มเหง และหูถูกตัดสินประหารชีวิต ก่อนเริ่มการเดินทัพทางไกล เขาและคนอื่น ๆ กำลังจะถูกนำตัวไปตัดศีรษะ อย่างไรก็ตาม ถาน ยฺหวีเป่า ผู้นำคอมมิวนิสต์ท้องถิ่นผู้ทรงอิทพล ได้เข้าแทรกแซงในนาทีสุดท้ายและช่วยชีวิตหูไว้ได้ เนื่องจากหูสนับสนุนเหมา เขาจึงถูกมองว่าไม่น่าเชื่อถือและสั่งให้เข้าร่วมการเดินทัพทางไกลเพื่อที่จะถูกเฝ้าติดตาม[8] หูได้รับบาดเจ็บสาหัสในสมรภูมิเขาหลู ใกล้กับจุนอี้ ซึ่งอยู่ใกล้กับพื้นที่ที่เหมา เจ๋อตงฟื้นคืนอำนาจอีกครั้งผ่านการประชุมจุนอี้[9] หลังจากที่หูได้รับบาดเจ็บ ทีมแพทย์ภาคสนามของคอมมิวนิสต์ตัดสินใจที่จะไม่ช่วยหู และปล่อยให้เขาอยู่ในสนามรบให้ตายอยู่ข้างถนน หูได้รับการช่วยเหลือโดยเพื่อนในวัยเด็กของเขา ซึ่งเป็นผู้บัญชาการกองทัพแดงจีนที่บังเอิญผ่านมา หูร้องเรียกชื่อเล่นของเพื่อนเพื่อขอความช่วยเหลือ และเพื่อนของเขาก็ช่วยให้หูตามทัพใหญ่ของกองทัพแดงที่กำลังถอยร่นทัน และได้รับการรักษาบาดแผล[ต้องการอ้างอิง] หูถูกก๊กมินตั๋งจับตัวเป็นเชลยในระหว่างการเดินทัพทางไกล[4]: 138 ใน ค.ศ. 1936 หูได้เข้าร่วมกองกำลังรบนอกประเทศที่นำโดยจาง กั๋วเทา เป้าหมายของกองกำลังอันแข็งแกร่งกว่า 21,800 นายของจาง คือการข้ามแม่น้ำเหลือง ขยายฐานทัพคอมมิวนิสต์ทางตะวันตกของฉ่านซี และเชื่อมโยงกับกองกำลังจากสหภาพโซเวียตหรือกับเฉิง ชื่อไฉ ขุนศึกซินเจียง ผู้ซึ่งเป็นพันธมิตรของคอมมิวนิสต์และสหภาพโซเวียต กองกำลังของจางเทาพ่ายอย่างย่อยยับต่อขุนศึกชาตินิยมในพื้นที่ หรือกลุ่มหม่า หูพร้อมด้วยฉิน จีเหว่ย์ กลายเป็นสองในเชลยศึกนับพันคนที่ถูกกองกำลังของกลุ่มหม่าจับตัวไป หูเป็นเชลยศึกเพียงคนหนึ่งในจำนวน 1,500 คนที่หม่า ปู้ฟางตัดสินใจใช้แรงงานบังคับแทนที่จะประหารชีวิต[ต้องการอ้างอิง] ![]() หม่า ปู้ฟางส่งกองทหารม้ามุสลิมหลายกองพลภายใต้การนำของนายพลหม่า เปียวเพื่อต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม เจียง ไคเชกกดดันให้หม่า ปู้ฟางส่งทหารไปต่อสู้กับผู้รุกรานชาวญี่ปุ่นให้มากขึ้น หม่าจึงตัดสินใจว่าแทนที่จะใช้กำลังทหารของตน เขาจะส่งเชลยศึกจากกองทัพแดงจีนจำนวน 1,500 นายไปแทน เนื่องจากเส้นทางการเดินทัพต้องผ่านชายแดนฐานทัพคอมมิวนิสต์ในฉ่านซี หูและฉิน จีเหว่ย์จึงตัดสินใจเดินทางกลับหาคอมมิวนิสต์ และจัดการหลบหนีอย่างลับ ๆ การหลบหนีเกิดขึ้นตามที่วางแผนไว้และประสบความสำเร็จ โดยจากเชลยศึกทั้งหมด 1,500 นาย มีมากกว่า 1,300 นายที่สามารถกลับมายังเหยียนอานสำเร็จ เหมาต้อนรับคอมมิวนิสต์ที่กลับมาเหล่านี้ด้วยตัวเขาเอง และหูก็กลับสู่กองกำลังคอมมิวนิสต์ ซึ่งเขาจะอยู่ที่นั่นจนตลอดชีวิตที่เหลืออยู่ของเขา[ต้องการอ้างอิง] หลังจากหูมาถึงเหยียนอน เขาได้เข้าเรียนที่โรงเรียนการทหารต่อต้านญี่ปุ่น ขณะศึกษาอยู่ที่นั่น หูได้พบและแต่งงานกับหลี่ จ้าว ภรรยาของเขา ซึ่งเป็นนักเรียนในเหยียนอานเช่นกัน หลังจากฝึกฝนแล้ว หูทำงานในฝ่ายการเมือง และได้รับมอบหมายให้ทำงานเป็นสมาชิกกองทัพแนวหน้าที่สามของเผิง เต๋อหวย[10] หูเป็นเพื่อนและทำงานอย่างใกล้ชิดกับเติ้ง เสี่ยวผิงในคริสต์ทศวรรษ 1930 ในคริสต์ทศวรรษ 1940 หูทำงานภายใต้การนำของเติ้งในฐานะกรรมาธิการการเมืองในกองทัพสนามที่สอง ในช่วงท้ายของสงครามกลางเมืองจีน หูเดินทางไปกับเติ้งที่เสฉวน และกองกำลังคอมมิวนิสต์สามารถยึดครองมณฑลจากกองกำลังชาตินิยมได้สำเร็จใน ค.ศ. 1949[6] ขบวนการปฏิรูปที่ดินระหว่างขบวนการปฏิรูปที่ดินรอบสุดท้ายของจีน หูมีส่วนร่วมในความพยายามของพรรคที่จะยับยั้งความรุนแรงของชาวนาต่อเจ้าของที่ดิน โดยอธิบายว่าการเรียกร้องให้ "ทำลายล้าง" เจ้าของที่ดินนั้นหมายถึงการเอาทรัพย์สินของเจ้าของที่ดิน ไม่ใช่ชีวิต[11] หูสั่งการให้คณะทำงานงานพรรคไม่ "ใช้การตัดหัวเพื่อแก้ปัญหา"[11] ในมุมมองของหู การประหารชีวิต "ทรราชชั่วร้าย" (หมายถึงเจ้าของที่ดินที่เอารัดเอาเปรียบหรือเป็นอาชญากรที่สุด) และเจ้าของที่ดินที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิวัติ ถือเป็นสิ่งเหมาะสม: "พวกเขานี่แหละที่บังคับให้เราฆ่าพวกเขา"[11] นักการเมืองจีน![]() ใน ค.ศ. 1949 พรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถเอาชนะกองกำลังชาตินิยมในจีนแผ่นดินใหญ่ได้สำเร็จ และก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้น ใน ค.ศ. 1952 หูเดินทางไปปักกิ่งกับเติ้ง และหูก็ได้ดำรงตำแหน่งผู้นำสันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์ตั้งแต่ ค.ศ. 1952 ถึง 1966[6] หูเลื่อนตำแหน่งขึ้นในลำดับชั้นของพรรคคอมมิวนิสต์อย่างรวดเร็ว กระทั่งเหมาได้ส่งหูไปทำงานเป็นเลขาธิการพรรคคนที่หนึ่งประจำฉ่านซีใน ค.ศ. 1964 โดยกล่าวว่า "เขาต้องฝึกเชิงปฏิบัติ" หูอาจได้รับมอบหมายให้ทำงานนอกปักกิ่งเพราะเขาถูกตัดสินว่าไม่กระตือรือร้นเกี่ยวกับลัทธิเหมาเพียงพอ[12] ไม่เหมือนกับเพื่อนร่วมงานหลาย ๆ คน หูสามารถรักษาสมาชิกภาพของเขาในคณะกรรมาธิการกลางพรรคได้จนถึงการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคครั้งที่ 9 ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1969 ในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม หูถูกกวาดล้างและฟื้นฟูสองครั้ง สะท้อนให้เห็นถึงอาชีพทางการเมืองของเติ้ง เสี่ยวผิง ที่ปรึกษาของหู[13] ใน ค.ศ. 1969 หูถูกเรียกตัวกลับปักกิ่งเพื่อถูกข่มเหง หูกลายเป็น "หมายเลขหนึ่ง" ในบรรดา "สามหู" ที่มีคนพูดถึงกันในทางลบและถูกแห่ไปทั่วปักกิ่งโดยสวมปลอกคอไม้หนัก ๆ ไว้ที่คอ "หู" อีกสองคนคือหู เค่อฉือ สมาชิกอาวุโสอันดับสองของสันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์ และหู ฉีลี่ สมาชิกอาวุโสอันดับสามของสันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์ และกลายเป็นผู้ร่วมงานใกล้ชิดของเติ้ง เสี่ยวผิงด้วย หลังถูกทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงต่อธารกำนัล หูถูกส่งไปยังค่ายแรงงานห่างไกลเพื่อเข้าร่วม "การปฏิรูปผ่านแรงงาน" ภายใต้การรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ขณะลี้ภัยทางการเมือง หูถูกบังคับให้ทำงานลากก้อนหินขนาดใหญ่ด้วยมือเปล่า[12] เมื่อเติ้งถูกเรียกตัวกลับปักกิ่งชั่วคราวระหว่างปี ค.ศ. 1973 ถึง 1976 หูก็ถูกเรียกตัวกลับด้วยเช่นกัน แต่เมื่อเติ้งถูกกวาดล้างอีกครั้งใน ค.ศ. 1976 หูก็ถูกกวาดล้างเช่นกัน[7] หลังการกวาดล้างครั้งที่สอง หูถูกส่งไปเลี้ยงวัว[12] หูถูกเรียกตัวกลับมาและฟื้นฟูชื่อเสียงเป็นครั้งที่สองใน ค.ศ. 1977 ไม่นานหลังการถึงแก่อสัญกรรมของเหมา หลังถูกเรียกตัวกลับ เขาได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้เป็นผู้กำกับดูแลฝ่ายองค์การของพรรค และต่อมาได้กำกับดูแลการโฆษณาชวนเชื่อของพรรคผ่านฝ่ายของกรมการเมือง[6] หูเป็นหนึ่งในผู้นำหลักที่รับผิดชอบการประเมินชะตากรรมของผู้ถูกข่มเหงในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม ตามรายงานของรัฐบาลจีน หูเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้คนกว่าสามล้านคน[13] หูสนับสนุนผู้ประท้วงกำแพงประชาธิปไตย ค.ศ. 1978 อย่างเงียบ ๆ และเชิญนักเคลื่อนไหวสองคนไปที่บ้านของเขาในปักกิ่ง หูคัดค้านนโยบาย "สองสิ่งใดก็ตาม" ของฮฺว่า กั๋วเฟิง และยังเป็นผู้สนับสนุนสำคัญในการขึ้นสู่อำนาจของเติ้ง เสี่ยวผิง[12] นักปฏิรูปนโยบายสาธารณะการขึ้นสู่อำนาจของหูได้รับการวางแผนโดยเติ้ง เสี่ยวผิง และหูก็ได้ก้าวขึ้นสู่ระดับสูงสุดของพรรคหลังเติ้งแทนที่ฮฺว่า กั๋วเฟิงในตำแหน่ง "ผู้นำสูงสุด" ของจีน ใน ค.ศ. 1980 หูได้รับแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการสำนักเลขาธิการคณะกรรมาธิการกลาง และได้รับเลือกให้เป็นคณะกรรมาธิการสามัญประจำกรมการเมืองที่ทรงอำนาจ ใน ค.ศ. 1981 หูได้รับเลือกเป็นประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน แต่ใน ค.ศ. 1981 เขาได้ช่วยยกเลิกตำแหน่งประธานพรรค ส่วนหนึ่งของความพยายามที่กว้างขึ้นเพื่อแยกจีนออกจากการเมืองแบบเหมาอิสต์ หน้าที่ส่วนใหญ่ของประธานถูกโอนไปยังตำแหน่งเลขาธิการ ตำแหน่งที่หูรับช่วงต่อ การที่เติ้งเข้าแทนที่ฮฺว่า กั๋วเฟิงถือเป็นการที่ผู้นำพรรคได้ตกลงร่วมกันว่าจีนควรละทิ้งเศรษฐศาสตร์แบบเหมาอิสต์ที่เข้มงวด และหันไปใช้นโยบายที่เน้นปฏิบัติมากกว่า และหูก็ได้กำกับความพยายามหลายครั้งของเติ้งในการปฏิรูปเศรษฐกิจจีน[6] ใน ค.ศ. 1982 หูเป็นบุคคลที่มีอำนาจมากเป็นอันดับสองในประเทศจีน รองจากเติ้ง[14] ตลอดทศวรรษสุดท้ายของอาชีพการงานของหู เขาส่งเสริมบทบาทของปัญญาชนในฐานะรากฐานของการบรรลุสี่ทันสมัยของจีน[13] ในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1980 เติ้งอ้างถึงหูและจ้าว จื่อหยางว่าเป็น "มือซ้ายและขวา" ของเขา[15] หลังถูกเลื่อนตำแหน่งเป็นเลขาธิการ หูก็ได้ส่งเสริมการปฏิรูปทางการเมืองหลายอย่าง โดยมักจะร่วมมือกับจ่าวด้วย เป้าหมายสูงสุดของการปฏิรูปของหูบางครั้งก็มีการกำหนดไว้อย่างคลุมเครือ หูพยายามปฏิรูประบบการเมืองของจีนโดย: กำหนดให้ผู้สมัครต้องได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจึงจะเข้าสู่กรมการเมืองได้; จัดการเลือกตั้งมากขึ้นโดยมีผู้สมัครมากกว่าหนึ่งคน; เพิ่มความโปร่งใสของรัฐบาล; เพิ่มการหารือกับประชาชนก่อนกำหนดนโยบายของพรรค; และเพิ่มระดับที่เจ้าหน้าที่รัฐต้องรับผิดชอบโดยตรงต่อความผิดพลาดของตน[16] ระหว่างดำรงตำแหน่ง หูพยายามฟื้นฟูผู้คนที่ถูกข่มเหงในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม ชาวจีนจำนวนมากคิดว่านี่คือความสำเร็จที่สำคัญที่สุดของเขา เขายังเห็นด้วยกับนโยบายที่เน้นปฏิบัติได้จริงในเขตปกครองตนเองทิเบตหลังตระหนักถึงข้อผิดพลาดของนโยบายก่อนหน้านี้ เขาสั่งถอนแกนนำชาวจีนฮั่นหลายพันคนออกจากเขตปกครองตนเองทิเบตภายหลังการเยือนภูมิภาคดังกล่าวในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1980 โดยเชื่อว่าชาวทิเบตและชาวอุยกูร์ควรได้รับอำนาจบริหารกิจการของตนเอง[17] หูลดจำนวนสมาชิกพรรคฮั่นและผ่อนปรนการควบคุมทางสังคม[18]: 240 ชาวจีนฮั่นที่เหลืออยู่จะต้องเรียนภาษาทิเบตและอุยกูร์[19] เขากำหนดข้อกำหนด 6 ประการเพื่อปรับปรุง 'เงื่อนไขที่มีอยู่' รวมถึงการเพิ่มเงินทุนของรัฐให้แก่เขตปกครองตนเองทิเบต การปรับปรุงการศึกษา และความพยายามฟื้นฟูวัฒนธรรมทิเบตและอุยกูร์[20] ขณะเดียวกัน หูกล่าวว่า "สิ่งใดก็ตามที่ไม่เหมาะกับเงื่อนไขของทิเบต ควรจะได้รับการปฏิเสธหรือแก้ไข"[19] หูกล่าวขอโทษชาวทิเบตอย่างชัดเจนสำหรับการที่จีนปกครองภูมิภาคโดยไม่ถูกต้องในระหว่างการเดินทางครั้งนี้ เขาประกาศยกเลิกโครงการปิงถวน (ชาวนาทหาร) ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ แต่ทำไม่ได้เพราะหวัง เจิ้นคัดค้าน[โปรดขยายความ] ต่อมา นโยบายเกี่ยวกับชาติพันธุ์ของเขาถูกวิพากษ์วิจารณ์จากเจ้าหน้าที่ระดับสูงบางคน เช่น เติ้ง ลี่ฉฺวิน เช่นเดียวกับชาตินิยมฮั่นบางกลุ่มที่คิดว่าหูมอบสิทธิพิเศษทางสังคมแก่ชนกลุ่มน้อยมากเกินไป[12] หูเดินทางไปทั่วในช่วงดำรงตำแหน่งเลขาธิการ โดยเยี่ยมชมเขตและหมู่บ้านต่าง ๆ กว่า 1,500 แห่ง เพื่อตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและติดต่อกับประชาชนทั่วไป ใน ค.ศ. 1981 หูได้ย้อนกลับไปยังเส้นทางเดินทัพทางไกล และใช้โอกาสนี้เยี่ยมชมและตรวจสอบฐานทัพทหารห่างไกลที่ตั้งอยู่ในทิเบต, เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์, ยูนนาน, ชิงไห่ และมองโกเลียใน[21] ความเห็นทางการเมืองที่ขัดแย้งกันหูโดดเด่นในเรื่องความเป็นเสรีนิยมและการแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งบางครั้งอาจไปทำให้ผู้นำอาวุโสคนอื่น ๆ ของจีนไม่พอใจ ในการเยือนมองโกเลียในใน ค.ศ. 1984 หูได้เสนอแนะต่อสาธารณะว่าชาวจีนอาจเริ่มกินอาหารแบบตะวันตก (ด้วยส้อมและมีด ในจานเดี่ยว) เพื่อป้องกันโรคติดต่อ เขาเป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่จีนคนแรกที่เลิกสวมชุดเหมาและหันมาสวมชุดสูทแบบตะวันตกแทน เมื่อถูกถามว่าทฤษฎีใดของเหมา เจ๋อตงที่พึงปรารถนาสำหรับจีนสมัยใหม่ เขาตอบว่า "ฉันคิดว่าไม่มีเลย"[22] หูไม่ได้พร้อมที่จะละทิ้งลัทธิมากซ์โดยสิ้นเชิง แต่ได้แสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาว่าลัทธิคอมมิวนิสต์ไม่สามารถแก้ไข "ปัญหาทั้งหมดของมนุษยชาติ" ได้ หูสนับสนุนให้ปัญญาชนหยิบยกหัวข้อที่ก่อให้เกิดการโต้แย้งในสื่อต่าง ๆ รวมถึงประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และความเป็นไปได้ในการกำหนดขอบเขตทางกฎหมายต่ออิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์ภายในรัฐบาลจีน ผู้อาวุโสพรรคหลายคนไม่ไว้วางใจหูมาตั้งแต่เริ่มต้นและในที่สุดก็เริ่มกลัวอิทธิพลของเขา[21] หูพยายามอย่างจริงใจที่จะฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับญี่ปุ่น แต่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงขอบเขตความพยายามของเขา ใน ค.ศ. 1984 เมื่อปักกิ่งเฉลิมฉลองวันครบรอบ 12 ปีที่ญี่ปุ่นให้การยอมรับทางการทูตต่อสาธารณรัฐประชาชนจีน หูได้เชิญเยาวชนญี่ปุ่นจำนวน 3,000 คนมายังปักกิ่งและจัดให้พวกเขาเดินทางไปเยือนเซี่ยงไฮ้, หางโจว, หนานจิง, อู่ฮั่น และซีอาน เจ้าหน้าที่อาวุโสหลายคนมองว่าความพยายามของหูเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย เนื่องจากญี่ปุ่นเชิญเยาวชนชาวจีนไปญี่ปุ่นเพียง 500 คนเท่านั้นในปีที่แล้ว หูถูกวิพากษ์วิจารณ์ภายในถึงของขวัญฟุ่มเฟือยที่เขามอบให้แก่เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นที่เดินทางมาเยี่ยมเยียน และการอนุญาตให้ลูกสาวของเขาเดินทางไปกับลูกชายของนากาโซเนะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเป็นการส่วนตัวเมื่อพวกเขามาเยือนปักกิ่ง หูปกป้องการกระทำของเขาโดยอ้างถึงความสำคัญของความสัมพันธ์อันแข็งแกร่งระหว่างจีนกับญี่ปุ่น และความเชื่อของเขาที่ว่าความโหดร้ายที่ญี่ปุ่นกระทำต่อจีนในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเป็นการกระทำของขุนศึก ไม่ใช่ประชาชนทั่วไป[23] หูทำให้พันธมิตรที่มีศักยภาพภายในกองทัพปลดปล่อยประชาชนแตกแยกเมื่อเขาเสนอเป็นเวลาสองปีติดต่อกันว่าควรลดงบประมาณกลาโหมของจีน และผู้นำทหารอาวุโสก็เริ่มวิพากษ์วิจารณ์เขา เจ้าหน้าที่ทหารกล่าวหาว่าหูเลือกซื้ออุปกรณ์ทางทหารจากออสเตรเลียอย่างไม่เหมาะสมใน ค.ศ. 1985 เมื่อหูเยือนอังกฤษ เจ้าหน้าที่ทหารวิจารณ์เขาว่าดื่มซุปเสียงดังเกินไปในงานเลี้ยงที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงจัด[24] จ้าวและหูริเริ่มโครงการต่อต้านการทุจริตในระดับใหญ่ และอนุญาตให้มีการสอบสวนบุตรหลานของผู้อาวุโสระดับสูงของพรรค ซึ่งเติบโตมาโดยได้รับการปกป้องจากอิทธิพลของพ่อแม่ การที่หูทำการสอบสวนเจ้าหน้าที่พรรคที่สังกัด "พรรคมกุฎราชกุมาร" ทำให้หูไม่เป็นที่นิยมในหมู่เจ้าหน้าที่พรรคที่ทรงอำนาจหลายคน[16] หลังเติ้งปฏิเสธที่จะสนับสนุนการปฏิรูปบางส่วนของหู หูก็ได้ออกมาวิจารณ์เติ้ง เสี่ยวผิงเป็นการส่วนตัวถึงความไม่เด็ดขาดและวิธีคิดแบบ "โบราณ" ซึ่งในที่สุดเติ้งก็เริ่มตระหนักถึงความคิดเห็นนั้น[25] การลาออกในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1986 กลุ่มนักศึกษาได้จัดการประท้วงสาธารณะในเมืองต่าง ๆ กว่าสิบเมืองเพื่อสนับสนุนการเปิดเสรีทางการเมืองและเศรษฐกิจ การประท้วงเริ่มต้นขึ้นที่มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในเหอเฝย์ มณฑลอานฮุย โดยมีผู้นำคือฟาง ลี่จือ นักเคลื่อนไหวและนักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีมหาวิทยาลัย ฟางพูดอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับการนำเสนอการปฏิรูปทางการเมืองซึ่งจะยุติอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์ภายในรัฐบาลจีน การประท้วงดังกล่าวยังนำโดย "ปัญญาชนหัวรุนแรง" อีกสองคน คือ หวัง หรัววั่ง และหลิว ปินเยี่ยน[24] เติ้ง เสี่ยวผิงไม่ชอบผู้นำทั้งสามคน และสั่งให้หูไล่พวกเขาออกจากพรรคเพื่อทำให้พวกเขาเงียบ แต่หูปฏิเสธ[25] ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1987 หลังการประท้วงของนักศึกษาเพื่อเรียกร้องเสรีภาพตามแบบตะวันตกสองสัปดาห์[6] กลุ่มผู้อาวุโสพรรค เจ้าหน้าที่ทหารอาวุโส และเติ้ง เสี่ยวผิงได้บังคับให้หูลาออกโดยให้เหตุผลว่าเขาผ่อนปรนกับนักศึกษาที่ประท้วงมากเกินไปและเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วเกินไปสู่การปฏิรูปเศรษฐกิจตามแบบตลาดเสรี[5][26] หลังหูถูกไล่ออกโดยบังคับ เติ้งได้เลื่อนตำแหน่งจ้าว จื่อหยางให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคแทนหูผู้มีแนวคิดเสรีนิยม ทำให้จ้าวอยู่ในตำแหน่งที่จะสืบทอดตำแหน่งต่อจากเติ้งเพื่อเป็น "ผู้นำสูงสุด"[16] หูลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคอย่างเป็นทางการในวันที่ 16 มกราคม แต่ยังคงอยู่ในคณะกรรมาธิการสามัญประจำกรมการเมืองต่อไป[6] เมื่อหู "ลาออก" พรรคได้บังคับให้เขาออกแถลงการณ์ "วิจารณ์ตนเองอย่างน่าอับอายเกี่ยวกับความผิดพลาดของเขาในประเด็นสำคัญของหลักการทางการเมืองซึ่งละเมิดหลักความเป็นผู้นำร่วมกันของพรรค" ในระหว่างงานซึ่งมีผู้อาวุโส กรมการเมือง สำนักเลขาธิการ และคณะกรรมการที่ปรึกษาส่วนกลางเข้าร่วม พันธมิตรต่างทอดทิ้งเขาไปยกเว้นสี จ้งซฺวิน เพื่อนสนิทของเขา ที่ลุกขึ้นปกป้องเขาและโจมตีทุกคนสำหรับการปฏิบัติต่อหู หูต้องห้ามไม่ให้สีอารมณ์เสียโดยบอกกับเขาว่า "อย่ากังวลไปเลยจ้งซฺวิน ฉันจัดการได้"[27] นับแต่นั้น หูก็เริ่มเก็บตัวและมีส่วนร่วมทางการเมืองจีนน้อยลง โดยศึกษาประวัติศาสตร์การปฏิวัติและฝึกอักษรวิจิตรในเวลาว่าง หรือเดินออกกำลังกายนาน ๆ[7] โดยทั่วไปแล้วหูถูกมองว่าไม่มีอำนาจที่แท้จริงหลังการลาออกของเขา และเขาถูกลดตำแหน่งให้เหลือเพียงบทบาททางพิธีการเท่านั้น[ต้องการอ้างอิง] "การลาออก" ของหูส่งผลเสียต่อความน่าเชื่อถือของพรรคคอมมิวนิสต์จีนขณะที่ความน่าเชื่อถือของหูเองก็ดีขึ้นด้วย ในหมู่ปัญญาชนชาวจีน หูกลายเป็นตัวอย่างของคนที่ปฏิเสธการประนีประนอมความเชื่อมั่นของตนเมื่อเผชิญกับการต่อต้านทางการเมือง และต้องจ่ายราคาเป็นผล การเลื่อนตำแหน่งของหลี่ เผิง ผู้มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมให้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังจากหูลาออกจากตำแหน่งฝ่ายบริหารทำให้รัฐบาลมีความกระตือรือร้นในการปฏิรูปน้อยลง และทำลายแผนการสืบทอดอำนาจอย่างเป็นระเบียบจากเติ้ง เสี่ยวผิงไปยังนักการเมืองคนใดก็ตามที่คล้ายกับหู[22] เสียชีวิต การประท้วง และการฝังศพการเสียชีวิตและปฏิกิริยาของประชาชนในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1987 หูยังคงเป็นสมาชิกในคณะกรรมาธิการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคครั้งที่ 13 และต่อมาได้รับเลือกเป็นสมาชิกกรใการเมืองชุดใหม่โดยการประชุมเต็มคณะครั้งแรกของคณะกรรมาธิการกลาง วันที่ 8 เมษายน ค.ศ. 1989 หูเกิดอาการหัวใจวายขณะเข้าร่วมการประชุมกรมการเมืองในจงหนานไห่เพื่อหารือเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา หูถูกนำส่งโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน พร้อมด้วยภรรยาของเขา หูเสียชีวิตในอีกไม่กี่วันต่อมาในที่ 15 เมษายน ขณะมีอายุ 73 ปี คำกล่าวสุดท้ายของหูคือเขาควรได้รับการฝังอย่างเรียบง่ายโดยไม่ต้องฟุ่มเฟือยในบ้านเกิดของเขา[28] ในคำไว้อาลัยอย่างเป็นทางการของเขา หูได้รับการอธิบายว่าเป็น "นักรบคอมมิวนิสต์ผู้มุ่งมั่นและผ่านการทดสอบมายาวนาน นักปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพที่ยิ่งใหญ่และนักการเมือง และผู้นำทางการเมืองที่โดดเด่นของกองทัพจีน"[13] นักข่าวตะวันตกสังเกตว่าคำไว้อาลัยของหูนั้นจงใจ "ส่องแสง" เพื่อเบี่ยงเบนความสงสัยที่ว่าพรรคได้ปฏิบัติต่อเขาอย่างไม่ดี[22] ในพิธีรำลึก หลี่ จ้าว ภรรยาม่ายของหู โทษการตายของหูว่าเป็นเพราะพรรคปฏิบัติต่อเขาอย่างรุนแรง โดยกล่าวกับเติ้ง เสี่ยวผิงว่า "ทั้งหมดเป็นเพราะพวกคุณ!"[29] แม้เขาจะกึ่งเกษียณอายุไปแล้วเมื่อเสียชีวิต และถูกปลดจากตำแหน่งที่มีอำนาจแท้จริงเนื่องจาก "ความผิดพลาด" ของเขา แต่แรงกดดันจากสาธารณชนก็บังคับให้รัฐบาลจีนจัดพิธีศพให้แก่เขา โดยมีผู้นำพรรคเข้าร่วมด้วย คำไว้อาลัยในพิธีศพของหูยกย่องการทำงานของเขาในการฟื้นฟูภาวะปกติทางการเมืองและส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจหลังการปฏิวัติทางวัฒนธรรม[30] ผู้ร่วมแสดงความอาลัยต่อสาธารณชนที่พิธีศพของหูยืนเรียงแถวกันเป็นระยะทาง 16 กิโลเมตร (10 ไมล์) ถือเป็นปฏิกิริยาที่สร้างความประหลาดใจแก่ผู้นำจีน ไม่นานหลังพิธีศพของฮู นักศึกษาในปักกิ่งเริ่มยื่นคำร้องต่อรัฐบาลเพื่อขอให้พลิกคำตัดสินที่นำไปสู่การ "ลาออก" ของหูอย่างเป็นทางการ และให้จัดพิธีศพสาธารณะที่มีรายละเอียดมากขึ้น ต่อมารัฐบาลได้จัดพิธีรำลึกถึงหูอย่างเปิดเผย ณ มหาศาลาประชาชน[28] วันที่ 22 เมษายน ค.ศ. 1989 นักศึกษา 50,000 คนเดินขบวนไปยังจัตุรัสเทียนอันเหมินเพื่อเข้าร่วมพิธีรำลึกถึงหู และเพื่อส่งจดหมายร้องเรียนถึงนายกรัฐมนตรีหลี่ เผิง[31] หลายคนไม่พอใจกับการตอบสนองที่ล่าช้าของพรรคและการจัดพิธีศพที่ค่อนข้างเรียบง่าย การไว้อาลัยของสาธารณชนเริ่มขึ้นบนท้องถนนในปักกิ่งและที่อื่น ๆ ในปักกิ่ง เรื่องนี้มุ่งเน้นไปที่อนุสาวรีย์วีรชนในจัตุรัสเทียนอันเหมิน การไว้อาลัยกลายมาเป็นช่องทางสาธารณะในการแสดงออกถึงความโกรธแค้นต่อการรับรู้ถึงระบบอุปถัมภ์ในรัฐบาล การเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของหู และบทบาทเบื้องหลังของ "ชายชรา" ผู้นำที่เกษียณอายุอย่างเป็นทางการแต่ยังคงรักษาอำนาจกึ่งกฎหมาย เช่น เติ้ง เสี่ยวผิง[30] ท้ายที่สุด การประท้วงก็ทวีความรุนแรงกลายเป็นการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ค.ศ. 1989 ส่งผลให้จ้าว จื่อหยาง ผู้มีแนวคิดเสรีนิยมถูกปลดจากอำนาจ และเจียง เจ๋อหมินขึ้นสู่อำนาจกลายเป็นผู้นำสูงสุดคนใหม่แทน การส่งเสริมแนวคิดเรื่องเสรีภาพในการพูดและการสื่อสารของหูมีอิทธิพลต่อนักศึกษาที่เข้าร่วมการประท้วงเป็นอย่างมาก หลุมศพ![]() หลังเสร็จพิธีศพของหู ร่างของเขาถูกฌาปนกิจ และเถ้ากระดูกของเขาถูกฝังที่ปาเป่าชาน หลี่ จ้าว ภรรยาของหู ไม่พอใจกับที่ตั้งหลุมศพของฮู จึงยื่นคำร้องต่อรัฐบาลเพื่อย้ายเถ้ากระดูกของหูไปยังที่ที่เหมาะสมกว่าได้สำเร็จ ในที่สุดเถ้ากระดูกของฮูก็ถูกย้ายไปยังสุสานขนาดใหญ่ในก้งชิงเฉิง (เมืองระดับอำเภอภายใต้เขตอำนาจของจิ่วเจียง) ซึ่งเป็นเมืองที่หูช่วยก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. 1955 สุสานของหูอาจถือได้ว่าเป็นสุสานที่น่าประทับใจที่สุดของผู้นำอาวุโสของพรรคคอมมิวนิสต์จีน[32] หลี่ จ้าวเรี่ยไรเงินสำหรับการก่อสร้างสุสานของหูจากทั้งแหล่งส่วนตัวและสาธารณะ และด้วยความช่วยเหลือจากลูกชายของเธอ พวกเขาก็เลือกสถานที่ที่เหมาะสมในก้งชิงเฉิง สุสานแห่งนี้สร้างขึ้นเป็นรูปพีระมิด บนยอดเขา วันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ. 1990 เถ้ากระดูกของฮูถูกส่งไปยังก้งชิงเฉิง โดยมีหู เต๋อผิง ลูกชายของเขา เป็นผู้แบก พิธีดังกล่าวมีเวิน เจียเป่า เจ้าหน้าที่รัฐมณฑลเจียงซีจำนวนมาก และสมาชิกสันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์ 2,000 คนเข้าร่วม โรงงานและโรงเรียนในก้งชิงเฉิงปิดทำการตลอดทั้งวัน ทำให้ประชาชนในพื้นที่กว่า 7,000 คนสามารถเข้าร่วมงานได้ ในพิธีนี้ หลี่ จ้าวได้กล่าวสุนทรพจน์แสดงความขอบคุณต่อรัฐบาลและประชาชนที่เข้าร่วมงาน[33] การตรวจพิจารณาและการฟื้นฟูอย่างเป็นทางการการตรวจพิจารณาสื่อการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ค.ศ. 1989 สิ้นสุดลงด้วยการปราบปรามผู้ประท้วงอย่างรุนแรงในวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1989 โดยมีพลเรือนเสียชีวิตจำนวนมาก เนื่องจากการประท้วงดังกล่าวมีสาเหตุมาจากการเสียชีวิตของหู เย่าปัง รัฐบาลจึงตัดสินใจว่าการอภิปรายสาธารณะเกี่ยวกับหูและมรดกของเขาอาจทำให้จีนไม่มั่นคงได้ เพราะจะมีการถกเถียงกันใหม่อีกครั้งเกี่ยวกับการปฏิรูปทางการเมืองที่หูสนับสนุน เนื่องจากประชาชนมีความเกี่ยวข้องกับหูและการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ชื่อของหู เย่าปังจึงกลายเป็นเรื่องต้องห้ามในจีนแผ่นดินใหญ่ และรัฐบาลจีนก็ระมัดระวังการกล่าวถึงเขาในสื่อ[34] ตัวอย่างหนึ่งของการตรวจพิจารณาของรัฐบาลคือสื่อสิ่งพิมพ์ที่รำลึกถึงวันครบรอบการเสียชีวิตของเขาใน ค.ศ. 1994 ถูกถอนออกจากการตีพิมพ์ การฟื้นฟูชื่อเสียงอย่างเป็นทางการ![]() หู จิ่นเทาประกาศแผนการฟื้นฟูชื่อเสียงหู เย่าปังในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2005 โดยจัดงานขึ้นในวันที่ 20 พฤศจิกายน วันครบรอบ 90 ปีวันเกิดของเขา งานดังกล่าวถูกวางแผนให้จัดขึ้นในปักกิ่ง เมืองที่หูเสียชีวิต, หูหนาน สถานที่เกิดของหู และจิ่วเจียง เมืองที่หูถูกฝัง ผู้สังเกตการณ์ชาวตะวันตกตั้งข้อสังเกตว่าการเคลื่อนไหวเพื่อฟื้นฟูหู เย่าปังอาจเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามทางการเมืองที่กว้างขวางขึ้นของหู จิ่นเทาในการได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนร่วมงานที่มีแนวคิดปฏิรูป ซึ่งเคารพหู เย่าปังมาโดยตลอด[34] นักวิเคราะห์การเมืองบางคนโต้แย้งว่าการบริหารของหู จิ่นเทาต้องการมีความเกี่ยวข้องกับหู เย่าปัง ทั้งคู่ (ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกัน) ขึ้นสู่อำนาจผ่านทางสันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์ และได้รับการอธิบายว่าเป็นส่วนหนึ่งของ "กลุ่มสันนิบาตเยาวชน" เดียวกัน การสนับสนุนของหู เย่าปังมีส่วนรับผิดชอบต่อการเลื่อนตำแหน่งอย่างรวดเร็วของหู จิ่นเทาในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980[35] ผู้สังเกตการณ์บางรายตั้งข้อสังเกตว่า การฟื้นฟูของหู เย่าปังทำให้มีแนวโน้มมากขึ้นที่พรรคจะเต็มใจประเมินการประท้วงเทียนอันเหมิน ค.ศ. 1989 อีกครั้ง แต่ผู้สังเกตการณ์รายอื่นแสดงความไม่มั่นใจ พิธีรำลึกที่มีจุดประสงค์เพื่อรำลึกถึงวันเกิดหรือวันเสียชีวิตของใครบางคนมักเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงแนวโน้มทางการเมืองภายในจีน โดยบางแห่งชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มของการปฏิรูปเพิ่มเติม ผู้คลางแคลงใจสังเกตว่า หู จิ่นเทาออกแถลงการณ์ชื่นชมรัฐบาลคิวบาและเกาหลีเหนือ (แม้รัฐบาลของพวกเขาจะมี "ข้อบกพร่องทางเศรษฐกิจ" ก็ตาม) ไม่นานหลังจากประกาศพิธีรำลึกหู เย่าปังต่อสาธารณะ โดยนัยว่าไม่น่าเป็นไปได้ที่พรรคจะดำเนินแผนปฏิรูปการเมืองครั้งสำคัญในอนาคตอันใกล้[34] วันที่ 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 2005 พรรคคอมมิวนิสต์ได้จัดงานเฉลิมฉลองวันครบรอบ 90 ปีวันเกิดของหู เย่าปังอย่างเป็นทางการโดยมีกิจกรรมต่าง ๆ ที่มหาศาลาประชาชน (มีการเปลี่ยนแปลงวันจัดงานเป็น 2 วันก่อนวันกำหนดอย่างเป็นทางการ) มีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 350 คน รวมถึงนายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่า รองประธานาธืบดีเจิ้ง ชิ่งหง เจ้าหน้าที่พรรค คนดัง และสมาชิกในครอบครัวของหู เย่าปังอีกจำนวนมาก[36] มีข่าวลือว่าหู จิ่นเทาต้องการเข้าร่วม แต่ถูกขัดขวางโดยสมาชิกอาวุโสคนอื่น ๆ ของพรรคที่ยังคงไม่ชอบหู เย่าปัง เวินไม่ได้รับโอกาสที่จะพูด และเจิ้ง ชิ่งหงเป็นสมาชิกพรรคที่มีอาวุโสที่สุดที่ได้พูด[15] ในสุนทรพจน์ของเขา เจิ้งกล่าวว่าสมาชิกควรเรียนรู้จากคุณธรรมของหู โดยเฉพาะความตรงไปตรงมาและความห่วงใยแท้จริงที่เขามีต่อชาวจีน เจิ้งกล่าวว่าหู "อุทิศชีวิตทั้งหมดของเขาและสร้างคุณธรรมอันเป็นอมตะเพื่อการปลดปล่อยและความสุขของประชาชนจีน ... ความสำเร็จทางประวัติศาสตร์และคุณธรรมของเขาจะถูกจดจำโดยพรรคและประชาชนของเราตลอดไป"[36] ในสื่อหลังปี ค.ศ. 2005ชีวประวัติอย่างเป็นทางการสามเล่มและผลงานเขียนของหูมีกำหนดเผยแพร่ในประเทศจีน โครงการนี้เริ่มต้นโดยกลุ่มผู้ช่วยเก่าของหู นำโดยจาง ลี่ฉฺวิน (เสียชีวิตใน ค.ศ. 2003) หลังรัฐบาลทราบเรื่องก็ยืนกรานที่จะเข้าควบคุมโครงการดังกล่าว ประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งที่หน่วยงานตรวจพิจารณาของรัฐบาลระบุก็คือความกังวลว่ารายละเอียดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างหูกับเติ้ง เสี่ยวผิง (โดยเฉพาะรายละเอียดเกี่ยวกับการที่หูถูกปลดจากอำนาจหลังต่อต้านคำสั่งปราบปรามนักศึกษาที่ออกมาประท้วงใน ค.ศ. 1987) จะสะท้อนถึงมรดกของเติ้งในทางลบ ต่อมาผู้เขียนชีวประวัติของหูปฏิเสธข้อเสนอจากรัฐบาลในการเผยแพร่หนังสือเวอร์ชันที่มีการตรวจพิจารณา[34] ท้ายที่สุด ชีวประวัติที่เขียนโดยอดีตผู้ช่วยของหูได้รับการตีพิมพ์เพียงหนึ่งเล่มเท่านั้น (ซึ่งกล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนถึงจุดสิ้นสุดของการปฏิวัติวัฒนธรรม) ส่วนอีกสองเล่มยังคงเป็นของรัฐบาลและไม่ได้รับการตีพิมพ์[ต้องการอ้างอิง] แม้นิตยสารที่ตีพิมพ์บทความรำลึกจะถูกระงับการจำหน่ายในช่วงแรก แต่การห้ามดังกล่าวก็ถูกการยกเลิกใน ค.ศ. 2005 และนิตยสารเหล่านี้ เหยียนหฺวางชุนชิว นิตยสารที่มุ่งเน้นการปฏิรูป ได้รับอนุญาตให้ตีพิมพ์บทความชุดหนึ่งใน ค.ศ. 2005 เพื่อรำลึกถึงวันเกิดของหู เย่าปัง แต่รัฐบาลได้จำกัดจำนวนการเผยแพร่นิตยสารดังกล่าว ฉบับรำลึกถึงหูจำหน่ายได้ 50,000 เล่ม แต่อีก 5,000 เล่มที่เหลือถูกเจ้าหน้าที่โฆษณาชวนเชื่อทำลายทิ้ง[37] นี่เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เขาเสียชีวิตที่ชื่อของหูปรากฏต่อสาธารณะ[ต้องการอ้างอิง] ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2010 (ครบรอบ 21 ปีการเสียชีวิตของหู) นายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่า เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ เหรินหมินรื่อเป้า ในหัวข้อ "นึกถึงหู เย่าปังเมื่อกลับสู่ซิงอี้"[38] นำเสนอในรูปแบบเรียงความ โดยรำลึกถึงการสำรวจชีวิตของคนธรรมดาโดยหู เย่าปังและเวิน เจียเป่าในอำเภอซิงอี้ กุ้ยโจว เมื่อ ค.ศ. 1986 เวิน ซึ่งทำงานร่วมกับหูตั้งแต่ ค.ศ. 1985 ถึง 1987 ชื่นชม "รูปแบบการทำงานอันยอดเยี่ยมของหูที่ทุ่มเทอย่างเต็มที่เพื่อความทุกข์ทรมานของมวลชน" และ "คุณธรรมอันสูงส่งและความเปิดกว้าง [ในด้านบุคลิกภาพ]" ของเขา เรียงความของเวินได้รับการตอบรับอย่างกระตือรือร้นในเว็บไซต์ภาษาจีน โดยมีผู้ตอบกลับมากกว่า 20,000 รายบนเว็บไซต์ Sina.com ในวันเดียวกับที่บทความดังกล่าวเผยแพร่[39] ผู้สังเกตการณ์ที่คุ้นเคยกับระบบการเมืองจีนตีความบทความนี้ว่าเป็นการยืนยันของเวินว่าเขาเป็นลูกศิษย์ของหู ไม่ใช่จ้าว จื่อหยาง[15] วันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 2015 ครบรอบ 100 ปีวันเกิดของหู เย่าปัง สี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์สีจิ้นผิง ได้จัดพิธีรำลึกอันทรงเกียรติถึงหู เย่าปังในปักกิ่ง ตรงกันข้ามกับงานที่ผู้นำคนก่อนเคยจัดไว้เมื่อสิบปีก่อน งานฉลองครบรอบ 100 ปีนี้จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่และเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง โดยมีสมาชิกคณะกรรมาธิการสามัญประจำกรมการเมืองเข้าร่วมทุกคน สียกย่องหูด้วยความสำเร็จต่าง ๆ ของเขา และกล่าวว่าหู "อุทิศชีวิตเพื่อพรรคและประชาชน เขาใช้ชีวิตอย่างรุ่งโรจน์ ใช้ชีวิตอย่างดิ้นรน... ผลงานของเขาจะเปล่งประกายในประวัติศาสตร์ "[40] หูปรากฏตัวเป็นตัวละครในละครประวัติศาสตร์ปี ค.ศ. 2015 เรื่อง Deng Xiaoping at History's Crossroads[ต้องการอ้างอิง] รางวัลและเกียรติยศ
อ้างอิง
|
Portal di Ensiklopedia Dunia