จักรวรรดิโรมันตะวันตก
จักรวรรดิโรมันตะวันตก (อังกฤษ: Western Roman Empire) หมายถึงครึ่งตะวันตกของจักรวรรดิโรมันหลังจากการแบ่งโดยไดโอคลีเชียนในปี ค.ศ. 285 อีกครึ่งหนึ่งเป็นจักรวรรดิโรมันตะวันออกที่ปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่าจักรวรรดิไบแซนไทน์ โรมยุติความเป็นเมืองหลวงลงหลังจากการแบ่งแยก ในปี ค.ศ. 286 เมืองหลวงของจักรวรรดิโรมันตะวันตกย้ายไปตั้งอยู่ที่เมดิโอลานัม (ปัจจุบันคือมิลาน) และย้ายอีกครั้งไปยังราเวนนาในปี ค.ศ. 402 หลังจากการแยกตัวแล้ว จักรวรรดิโรมันก็รุ่งเรืองอยู่เป็นช่วง ๆ ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 3 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 5 หลังจากระบบการปกครองแบบของจักรพรรดิไดโอคลีเชียน และการรวมตัวโดยจักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 1 และจักรพรรดิจูเลียนเดอะอโพลเตท จักรพรรดิธีโอโดเซียสที่ 1 ทรงเป็นจักรพรรดิองค์สุดท้ายที่ทรงปกครองจักรวรรดิโรมันที่รวมตัวกัน แต่หลังจากการเสด็จสวรรคตของพระองค์ในปี ค.ศ. 395 จักรวรรดิโรมันก็แยกตัวกันอย่างเด็ดขาด จักรวรรดิโรมันตะวันตกสิ้นสุดลงเมื่อโรมิวลัส ออกัสตัสสละราชสมบัติโดยการบีบบังคับของโอเดเซอร์เมื่อวันที่ 4 กันยายน ค.ศ. 476 และอย่างเป็นทางการหลังจากการเสด็จสวรรคตของจักรพรรดิจูเลียส เนโพส (Julius Nepos) ในปี ค.ศ. 480 แม้ว่าจะได้รับการกู้คืนโดยจักรวรรดิโรมันตะวันออก จักรวรรดิโรมันตะวันตกก็มิได้ฟื้นตัวขึ้นอีก เมื่อจักรวรรดิโรมันตะวันตกล่มสมัยประวัติศาสตร์ของยุโรปก็เข้าสู่สมัยต่อมาที่เรียกว่ายุคกลางหรือที่เรียกกันว่ายุคมืด อุดมการณ์และชื่อของจักรวรรดิโรมันตะวันตกได้รับการรื้อฟื้นมาใช้เป็นจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ จนกระทั่งมาสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1806 เบื้องหลังเมื่อสาธารณรัฐโรมันขยายตัวมาจนถึงจุดที่รัฐบาลกลางในกรุงโรมไม่สามารถปกครองดินแดนที่อยู่ไกลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะปัญหาในด้านการติดต่อและการคมนาคมเพราะระยะทางที่ไกลจากจุดหมายต่าง ๆ ภายในจักรวรรดิ ข่าวสารการรุกราน, การปฏิวัติ, ความหายนะทางธรรมชาติ หรือโรคระบาดใช้การสื่อสารทางเรือหรือโดยระบบการสื่อสารโรมัน (Cursus publicus) ที่ใช้เวลานานกว่าจะมาถึงกรุงโรม หรือคำสั่งจากโรมไปยังดินแดนต่าง ๆ ฉะนั้นข้าหลวงโรมัน (Roman Governor) ในจังหวัดอาณานิคมก็มักจะปกครองในนามของสาธารณรัฐโรมันโดยปริยาย ก่อนหน้าที่จะตั้งตัวเป็นจักรวรรดิ ดินแดนของสาธารณรัฐโรมันเป็นการปกครองของระบบสามประมุขครั้งที่สอง (Second Triumvirate) ที่แบ่งระหว่างอ็อคเตเวียน, มาร์ค แอนโทนี และมาร์กุส ไอมิลิอุส แลปิดุส มาร์ค แอนโทนีครอบครองจังหวัดทางตะวันออก: จังหวัดอาเคีย (Achaea), จังหวัดมาเซโดเนีย และ บริเวณเอพิรัส (ทางตอนเหนือของกรีซ), บิธิเนีย (Bithynia), พอนทัส (Pontus) และจังหวัดในเอเชียของโรมัน (ตุรกีปัจจุบัน), ซีเรีย, ไซปรัส, และไซเรนาอิคา (Cyrenaica) ดินแดนเหล่านี้เดิมพิชิตมาโดยอเล็กซานเดอร์มหาราช ฉะนั้นผู้ครอบครองบริเวณนั้นจึงมีเชื้อสายกรีก บริเวณทั้งหมดโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ๆ รับวัฒนธรรมกรีกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมท้องถิ่น ภาษาที่ใช้จึงเป็นภาษาทางราชการ อ็อคเตเวียนได้จังหวัดทางตะวันตก: จังหวัดโรมันอิตาเลีย (อิตาลีปัจจุบัน), กอล (ฝรั่งเศสปัจจุบัน), กาลเลียเบลจิคา (ส่วนหนึ่งของเบลเยียม, เนเธอร์แลนด์ และ ลักเซมเบิร์กปัจจุบัน) และ ฮิลปาเนีย (สเปนและโปรตุเกสปัจจุบัน) และรวมทั้งอาณานิคมกรีกและคาร์เธจในบริเวณริมฝั่งทะเล แลปิดุสได้รับดินแดนในอาฟริกาประมาณทางตอนเหนือของตูนิเซีย แต่อ็อคเตเวียนยึดอาฟริกาจากแลปิดุส และเพิ่มอาณานิคมซิลิคา (ซิซิลีปัจจุบัน) เข้ามาอยู่ในอำนาจการปกครอง เมื่อได้รับชัยชนะต่อมาร์ค แอนโทนีแล้ว อ็อคเตเวียนก็รวมดินแดนต่าง ๆ ก่อตั้งเป็นจักรวรรดิโรมัน แม้ว่าจักรวรรดิโรมันจะมีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองหลายอย่างแต่กระนั้นก็ยังประสบกับกระบวนการการเป็นโรมัน (Romanization) ทางตะวันออกเป็นวัฒนธรรมกรีกที่มีอิทธิพล และทางตะวันตกวัฒนธรรมละตินซึ่งทั้งสองวัฒนธรรมก็อยู่คู่กันอย่างมีประสิทธิภาพในรูปของการปกครองอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งทางการเมืองและทางการทหาร อ้างอิง
ดูเพิ่ม |
Portal di Ensiklopedia Dunia