คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง เมื่อปี 2566
เกิด14 กันยายน พ.ศ. 2524
จังหวัดระนอง ประเทศไทย
เสียชีวิต8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 (43 ปี)
ประเทศไทย
สาเหตุเสียชีวิตหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน
สัญชาติไทย
ชื่ออื่นตุล, อาจารย์ตุล, เชฟหมี
อาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัย, นักเขียน
มีชื่อเสียงจากครัวกาก ๆ
คู่สมรสวิลาวัณย์ บุญเกื้อกุลวงษ์
ภูมิหลังทางวิชาการ
โรงเรียนแม่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วิทยานิพนธ์มายากับสถานภาพของความดี - ชั่วในปรัชญาเวทานตะของศังกราจารย์ (2550)
ผลงานทางวิชาการ
สาขาหลักปรัชญาอินเดีย, ศาสนากับสังคม
สถาบันที่ทำงานคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
งานที่สำคัญคอลัมน์ ผี พราหมณ์ พุทธ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (ชื่อเล่น: ตุล, 14 กันยายน 2524 – 8 กุมภาพันธ์ 2568) เป็นนักวิชาการและนักเขียนด้านปรัชญาอินเดีย อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, คอลัมนิสต์ประจำหนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ และยูทูบเบอร์ชาวไทย[1]

ชีวิตช่วงต้นและการศึกษา

คมกฤชเกิดเมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2524 ที่ตำบลเขานิเวศน์ อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง เป็นบุตรของสนชัย และพรรณทิพา อุ่ยเต็กเค่ง เจ้าของกิจการภัตตาคาร J&T ในจังหวัดระนอง[2] ที่ซึ่งคมกฤชเติบโตมา คมกฤชจบการศึกษาระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนชาติเฉลิม และระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนพิชัยรัตนาคาร จังหวัดระนอง[3] จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ศิลปศาสตรบัณฑิต (การสื่อสารมวลชน) เกียรตินิยม จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปี 2547 และปริญญาโทด้านปรัชญาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี 2551[4] โดยทำวิทยานิพนธ์จบการศึกษาในหัวข้อเกี่ยวกับปรัชญาเวทานตะของศังกราจารย์[5] คมกฤชเคยเล่าถึงช่วงการเรียนปริญญาโทว่า "เป็นวิชาการเข้มข้น" แต่ "พอโทรไปบ่นกับแม่ (...) สิ่งที่เขาพูดคือ 'เลิกเรียนก็ได้ กลับมาบ้านเลย เดี๋ยวแม่เลี้ยงเอง'"[6]

อาชีพการงาน

คมกฤชเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ตั้งแต่ปี 2551[3] จนเสียชีวิต เขามีโดยมีความสนใจและชำนาญพิเศษในด้านปรัชญาอินเดีย, ศาสนาฮินดู, ศาสนากับสังคม รวมถึงศาสนาและวัฒนธรรมจีน สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เคยกล่าวชื่นชมคมกฤชว่า "รู้เรื่องเกี่ยวกับภารตวิทยาดีมาก (...) เขาก็รู้เรื่องจีนดีมากเช่นเดียวกัน"[7] เขาเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชา และเป็นสมาชิกยุคแรกของเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง[3] มีบทบาทในการเรียกร้องด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย เขาเคยเล่าว่าตน "ไหว้เง็กเซียนฮ่องเต้ทุกวัน" เพื่อ "ขอบ้านเมืองกลับสู่ทำนองคลองธรรม ตั้งอยู่ในมรรควิถีที่ถูกต้อง อธรรมแพ้พ่าย ราษฎร์เป็นใหญ่ในแผ่นดิน"[3]

คมกฤชเป็นคอลัมนิสต์ประจำ มติชนสุดสัปดาห์ โดยเขียนคอลัมน์ ผี พราหมณ์ พุทธ เป็นรายสัปดาห์ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2559 ซึ่งมีคอลัมน์แรกเนื้อหาเกี่ยวกับพระคเณศ[8] คอลัมน์ของเขาได้รับการรวมเล่มตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน 2 เล่มในปี 2560 และ 2564[3] นอกจากนี้เขายังเป็นวิทยากร และเป็นสมาชิกร่วมดำเนินรายการพูดคุยทางอินเทอร์เน็ต ตั้งวงเล่า (ดำเนินรายการโดยจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ และ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ) และ นิ้วกลมดมโรตี (ดำเนินรายการร่วมกับ นิ้วกลม)[3]

บทบาทอื่น ๆ

คมกฤช (ซ้ายสุดด้านใน) ขณะนำพิธีภาวนาก่อนสิ้นปี 2565 ที่ อวโลกิตะ

มูลนิธิวัชรปัญญา

คมกฤชเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิวัขรปัญญา ร่วมกับ วิจักขณ์ พานิช นักวิชาการอิสระด้านศาสนาและประวัติศาสตร์[9] โดยมูลนิธินี้ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็น "พื้นที่ทางจิตวิญญาณร่วมสมัย" โดยมูลนิธิดำเนินการผ่าน วัชรสิทธา เป็นพื้นที่การเรียนรู้หรือที่คมกฤชเรียกว่าเป็น "มหาวิทยาลัยทางเลือก" และ อวโลกิตะ ศูนย์ปฏิบัติธรรมสำหรับฆราวาส[10] นอกจากนี้ คมกฤชยังคงเป็นวิทยากรประจำและอาสาสมัครนำการภาวนาประจำทั้งสองโครงการ[11][12]

ครัวกาก ๆ

คมกฤชเคยทำรายการสอนทำอาหารทางยูทูบในชื่อ ครัวกาก ๆ โดย เชฟหมี ซึ่งทำให้เขาเป็นที่รู้จักในเวลาต่อมาในชื่อ "เชฟหมี" โดยอัปโหลดตอนแรกในปี 2554 สอนทำข้าวผัดอเมริกัน เชฟหมีมีรูปแบบการนำเสนอที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยเฉพาะจากการใช้ "ของที่มีในตู้เย็น" มาทำ ในปัจจุบัน เขาได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งใน "ยูทูบเบอร์รุ่นบุกเบิกของไทย"[13][14][15]

ผลงานหนังสือ

  • ศรีหริทาส (นามแฝง) (2552). คเณศวิทยา. นครปฐม: ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.
  • อุ่ยเต็กเค่ง, คมกฤช (2560). ภารตะ-สยาม? ผี พราหมณ์ พุทธ?. กรุงเทพฯ: มติชน. ISBN 9789740215646.
  • อุ่ยเต็กเค่ง, คมกฤช; พานิช, วิจักขณ์; เหล่ามานะเจริญ, ศิริพจน์ (2564). ผี พราหมณ์ พุทธในศาสนาไทย. กรุงเทพฯ: นาตาแฮก. ISBN 9786165942324.
  • อุ่ยเต็กเค่ง, คมกฤช (2564). ภารตะ – สยาม ศาสนาต้อง(ไม่)ห้ามเรื่องการเมือง?. กรุงเทพฯ: มติชน. ISBN 9789740217589.

งานแปล

ขีวิตส่วนตัว

มุมไว้อาลัยคมกฤชที่ อวโลกิตะ เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2568

คมกฤชสมรสกับ วิลาวัณย์ บุญเกื้อกุลวงษ์ นักจิตบำบัดความคิดและพฤติกรรม[16] โดยจัดพิธีวิวาห์เป็นพิธีวิวาหะแบบฮินดู ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559[7][17]

คมกฤชเสียชีวิตจากภาวะหัวใจวายเฉียบพลันในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2568 สิริอายุ 43 ปี[1] พิธีศพจะจัดที่วัดสุวรรณคีรีวิหาร จังหวัดระนอง โดยประกอบพิธีฌาปณกิจในวันที่ 17 กุมภาพันธ์[3] โดยที่ศูนย์ฝึกสมาธิ อวโลกิตะ ในกรุงเทพมหานครซึ่งคมกฤชเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง มีการนิมนต์ภิกษุเกียวเมียว นาคามูระ ชาวญี่ปุ่นมาประกอบพิธีอุทิศส่วนกุศลในวันที่ 11 กุมภาพันธ์[18] การเสียชีวิตของเขามีผู้ออกมาแสดงความเสียใจจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ และนักเขียน นิ้วกลม (สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์) ซึ่งอยู่กับคมกฤชในช่วงสุดท้ายก่อนเสียชีวิตในโรงพยาบาล[19] บุคคลอื่น ๆ ที่ร่วมแสดงความเสียใจและระลึกถึง เช่น อินทิรา เจริญปุระ[20] และ สุลักษณ์ ศิวรักษ์[7]

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 "อาลัย "เชฟหมี ครัวกากๆ" ชาวเน็ตร่วมแสดงความเสียใจ". ไทยพีบีเอส.
  2. "'ร้านอาหารพื้นเมือง J&T' ไประนองต้องห้ามพลาด". 28 มกราคม 2561.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 กษิดิศ อนันทนาธร (2025-02-10). "คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : ชีวิตของมนุษย์ที่น่ารักและน่าทึ่ง". 101.world. สืบค้นเมื่อ 2025-02-10.
  4. "คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง". ฐานข้อมูลนักสังคมวิทยาและนักมานุษยวิทยาไทย. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). สืบค้นเมื่อ 2025-02-10.
  5. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (2550). "มายากับสถานภาพของความดี - ชั่วในปรัชญาเวทานตะของศังกราจารย์". วิทยานิพนธ์ (อ.ม.)--จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550.
  6. ""แม่เป็นคนจิตใจดีและรักครอบครัวมาก(...)". มนุษย์กรุงเทพฯ. 2024-11-15. สืบค้นเมื่อ 2025-02-10.
  7. 7.0 7.1 7.2 ศิวรักษ์, สุลักษณ์ (2025-02-09). "แด่ คมกฤช อุ่ยเต็งเค่ง".
  8. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (20 พฤษภาคม 2559). "คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : บางแง่มุม เกี่ยวกับ "พระพิฆเนศวร์"". มติชนสุดสัปดาห์.
  9. ""วัชรสิทธา" ค้นหาทางดับทุกข์ด้วยธรรม - พื้นที่ชีวิต". ไทยพีบีเอส. 2022-09-07.
  10. "วัชรสิทธา พื้นที่ทางจิตวิญญาณร่วมสมัย - พื้นที่ชีวิต". ไทยพีบีเอส. 2022-09-07.
  11. นิติภัค วรนิติโกศล (2023-07-05). "'อวโลกิตะ' พื้นที่นั่งภาวนาใจกลางกรุง ที่อยากให้คนเมืองมานั่งเงียบ ๆ ด้วยกัน". มนุษย์ต่างวัย.
  12. "ปูชา 2 : มนตร์ ก้าวสู่มณฑลแห่งพิธีกรรมและความศักดิ์สิทธิ์ กับ อ.ตุล คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง". วัชรสิทธา. 2021-10-21.
  13. "ทราย ช็อก! รู้ข่าว 'เชฟหมี ครัวกากๆ' เสียชีวิต เผยยังไม่ได้ไปหาทีร้านเลย". ข่าวสด.
  14. "ผศ.คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง หรือที่รู้จักกันในชื่อ "เชฟหมีครัวกากๆ" (...)". Major Group.
  15. "สิ้น 'คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง' นักวิชาการด้านศาสนา ตำนานเชฟหมีแห่งครัวกากๆ". The Standard.
  16. นภสินธุ์ สามแก้วแจ่ม (2022-08-20). ""มีลูกแล้วจะได้มีคนไว้ดูแลตอนแก่" คำนิยามของคนที่สิ้นหวังกับระบบของรัฐ". บีบีซีไทย. สืบค้นเมื่อ 2025-02-10.
  17. "เรื่องนี้มีตำนาน : วิวาหมงคลแบบอินเดีย". ไทยพีบีเอส. 2016-02-09.
  18. "พระอาจารย์เกียวเมียวให้เกียรติมาประกอบพิธีสวดมนตร์อุทิศบุญกุศลให้อ.ตุล(...)". อวโลกิตะ.
  19. "เผยสาเหตุ เชฟหมี ครัวกาก ๆ เสียชีวิต นิ้วกลม โพสต์เศร้า เล่าช่วงเวลาสุดท้าย". Kapook.com.
  20. "ทราย ช็อกข่าว เชฟหมี ครัวกากๆ เสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลว เผยมุมน่ารักของอีกฝ่าย". ไทยรัฐ.

แหล่งข้อมูลอื่น

 

Prefix: a b c d e f g h i j k l m n o p q r s t u v w x y z 0 1 2 3 4 5 6 7 8 9

Portal di Ensiklopedia Dunia