โรงเรียนวาปีปทุม (อักษรย่อ: ว.ท., W.T.) เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาของรัฐบาลแห่งแรกของอำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม (ซึ่งในขณะนั้นมีโรงเรียนเอกชนที่เปิดทำการคือโรงเรียนเรืองวิทยา) ปัจจุบันจัดอยู่ในประเภทโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ รูปแบบสหศึกษา ทำการเรียนการสอนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับช่วงชั้นที่ 3 และช่วงชั้นที่ 4 เป็นโรงเรียนระดับอำเภอที่จัดเป็นโรงเรียนยอดนิยม และเป็น 1 ใน 3 โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงของจังหวัดมหาสารคาม[1]มีบุคคลสำคัญทางการศึกษาที่เคยศึกษาคือ ดร.อัมพร พินะสา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ประวัติโรงเรียน
การโรงเรียนวาปีปทุม ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2492 เปิดทำการเรียนการสอนครั้งแรก เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2492 โดยอาศัยสถานที่โรงเรียนบ้านหนองแสง (วาปีวิทยาคม) ซึ่งเป็นโรงเรียนประชาบาลประจำอำเภอ (ปัจจุบันคือ โรงเรียนอนุบาลวาปีปทุม) เปิดทำการสอน 1 ห้องเรียน มีนักเรียน 45 คน โดยมีนายจำนง ภวภูตานนท์ เป็นครูใหญ่
ต่อมากระทรวงศึกษาธิการได้จัดสรรงบประมาณ ให้ก่อสร้างอาคารเรียนถาวร จำนวน 1 หลัง มีลักษณะ เป็นอาคารไม้ใต้ถุนสูง จำนวน 6 ห้องเรียน เป็น งบประมาณทั้งสิ้น 150,000 บาท บนเนื้อที่ 42 ไร่ 40 ตารางวา ติดถนนวาปีปทุม-มหาสารคาม เปิดใช้อาคารเรียน เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2493
ในปีการศึกษา 2503 ได้เปิดทำการสอนตามหลักสูตรวิชาสามัญพุทธศักราช 2503 หลังจากนั้น ในปีการศึกษา 2504 ได้เปลี่ยนแปลงหลักสูตรใหม่ตามแผนการศึกษาชาติ จากชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4, 5, 6 เป็นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1, 2, 3 ออกปีละชั้น จนกระทั่งสิ้นสุดในปีการศึกษา 2506
ในปีการศึกษา 2521 โรงเรียนเปิดทำการสอนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ตามหลักสูตรมัธยมศึกษา ตอนต้น พุทธศักราช 2521 และเปิดทำการสอนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ตามหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย พุทธศักราช 2524 โดยเปิดทำการสอนตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6
ปีการศึกษา 2525 จัดให้มีการเรียนการสอน รด. ในโรงเรียน
ปีการศึกษา 2545 โรงเรียนวาปีปทุมเป็นโรงเรียนเครือข่ายการใช้หลักสูตรขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
ปีการศึกษา 2546 ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระดับกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีการกำหนดเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ 175 เขต สำหรับโรงเรียนวาปีปทุม สังกัดเขตพื้นที่การศึกษามหาสารคาม เขต 2
ปีการศึกษา 2547 โรงเรียนวาปีปทุมมีห้องเรียน 61 ห้องเรียน โดยจัดเป็นช่วงชั้นที่ 3 จำนวน 29 ห้องเรียน และช่วงชั้นที่ 4 จำนวน 30 ห้องเรียน แยกเป็นนักเรียนชาย 1,109 คน นักเรียนหญิง 1,551 คน รวมทั้งสิ้น 2,827คน และครู-อาจารย์อีก 120 คน
ปีการศึกษา 2552 โรงเรียนวาปีปทุมได้รับคัดเลือกจากกระทรวงศึกษาธิการให้รับรางวัลโรงเรียนพระราชทาน ประเภทโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่ เข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อ พ.ศ. 2552 ซึ่งมีนางสุมาลย์ สุรมณี เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน นับเป็นเกียรติประวัติสูงสุดของสถานศึกษา
ปีการศึกษา 2553 โรงเรียนวาปีปทุม ได้รับคัดเลือกเข้าโครงการโรงเรียนมาตรฐานสากล (World-Class Standard School) ซึ่งเป็น 1 ใน 500 โรงเรียนทั่วประเทศ[2]
เหตุการณ์สำคัญเพิ่มเติม
การจัดให้มีการสอบทานประวัติโรงเรียนวาปีปทุม มีการสอบทานโดยอาสาสมัครจากชมรมสายใยบัว (ครูที่เคยเคยปฏิบัติหน้าที่ที่โรงเรียนวาปีปทุม ที่เกษียณอายุราชการแล้ว) ร่วมมือกับทางโรงเรียนเพื่อจัดประชุมครั้งแรกที่ ห้องศิริบงกช เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2567 เวลา 13.30 น.
รายชื่ออาสาสมัคร
- นางสุมาลย์ สุรมณี
- นายสุรเชษฐ์ ช่างถม
- นางลัดดาวัลย์ แพนลิ้นฟ้า
- นางไพรวัลย์ โปรดเมธี
- นายเรืองศักดิ์ มัททวีวงค์
- นางศันสนีย์ ลีลาสกัลภักดิ์
- นายพินิจ ทบด้าน
- นางจิราพร ทบด้าน
- นายไพรัตน์ ธรรมแสง
- นายนิตย์ เดชบุรีรัมย์
- นางวรรณจรีย์ เจริญสุข
- นางลักษมี ม่วงคลา
- ดร.นิดา กินจินดาโอภาส
- ดร.หงษ์ทอง ประนัดศรี
- นายสหเทพ ดวงดี
- นายเทิ่ม สนทมิโน
- นายทวีศักดิ์ สืบเมืองซ้าย
ที่มาและความหมายของชื่อ
- ดูเพิ่มเติมที่หัวข้อ ประวัติอำเภอวาปีปทุม
โรงเรียนวาปีปทุม เป็นโรงเรียนประจำอำเภอวาปีปทุม จึงใช้คำว่าวาปีปทุมตามชื่ออำเภอ โดยคำว่าวาปีปทุมมีที่มาจากคำว่า วาปี เป็นคำบาลี[3] หมายความว่า หนองน้ำ สระน้ำ หรือบึง[4] และคำว่า ปทุม (หรือ ปทฺม ในภาษาสันสกฤต) มีความหมายว่า ดอกบัว บัวหลวง[5] เมื่อนำคำทั้งสองมาสมาสกันแล้วจะได้คำว่า วาปีปทุม ซึ่งมีความหมายว่า เมืองหนองน้ำที่มีบัวขึ้นอยู่ [6]
การจัดการศึกษา
ในปีการศึกษา 2562 โรงเรียนได้แบ่งห้องเรียนออกเป็นชั้นละ 14 ห้อง ตั้งแต่มัธยมศึกษาปีที่ 1-2 และ 4-5 รวมทั้งสิ้น 56 ห้องเรียน
และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และ 6 มีชั้นละ 12 ห้อง รวมทั้งสิ้น 24 ห้องเรียน รวมทั้งหมดเป็น 80 ห้องเรียน
และในปีการศึกษา 2566 โรงเรียนได้เพิ่มจำนวนห้องเรียนเป็นชั้นละ 14 ห้องเรียน ในทุกระดับชั้น รวมทั้งสิ้น 84 ห้องเรียน
หลักสูตร
- โรงเรียนวาปีปทุมเปิดให้การศึกษาขั้นพื้นฐานระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 (ช่วงชั้นที่ 3-4) ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน แผนการศึกษาแห่งชาติ
- ปัจจุบัน องค์กรหลักของสถานศึกษาที่มีหน้าที่จัดการเรียนรู้ ได้แก่ กลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ รวม 8 กลุ่มสาระ ได้แก่
- กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย
- กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ
- กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์
- กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม
- กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา
- กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปศึกษา
- กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพ
แผนการเรียน
ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น
- แผนการเรียนห้องเรียนทั่วไป จำนวน 12 ห้องเรียน
- แผนการเรียนโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ ตามแนวทาง สสวท. และ สอวน. จำนวน 1 ห้องเรียน
- แผนการเรียนโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และคณิตศาสตร์ (SEM) จำนวน 1 ห้องเรียน
ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย
- แผนการเรียนทั่วไป จำนวน 2 ห้องเรียน
- แผนการเรียนวิทยาศาสตร์ - คณิตศาสตร์ จำนวน 10 ห้องเรียน
- แผนการเรียนโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี จำนวน 2 ห้องเรียน
ระบบการคัดเลือกเข้าศึกษา
สำหรับการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อยังโรงเรียนวาปีปทุม มีอยู่ 2 ประเภทคือ
1. ประเภทโครงการห้องเรียนพิเศษ เป็นการสอบคัดเลือกโดยอิงข้อสอบจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้ได้นักเรียนเข้าสู่โครงการห้องเรียนพิเศษทั้ง 3 โครงการ โดยแบ่งเป็น
- ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ ตามแนวทาง สสวท. และ สวอน. และโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ (SEM) รวมทั้ง 2 โครงการ ประมาณ 70 คน
- ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ ตามแนวทาง สสวท. และ สวอน. อีกประมาณปีละ 65 - 70 คน
โดยจะจัดสอบพร้อมกับโครงการห้องเรียนพิเศษโรงเรียนอื่น ๆ ทั่วประเทศ ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม เป็นประจำทุกปี
2. ประเภทห้องเรียนทั่วไป เป็นการรับนักเรียนรูปแบบปกติ ดำเนินการรับนักเรียนโดยโดยแบ่งได้ดังนี้
- ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 รับนักเรียนด้วย 3 ระบบคือ การสอบคัดเลือกทั่วไป การจับสลากสำหรับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการ และนักเรียนความสารถพิเศษ รวมแล้วประมาณปีละ 500 คน
- ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 รับนักเรียนด้วย 3 ระบบคือ การใช้โควตานักเรียนโรงเรียนเดิม การสอบคัดเลือกทั่วไป และนักเรียนเงื่อนไขพิเศษ รวมแล้วประมาณปีละ 500 คน[7]
อาคารและสถานที่ภายในสถานศึกษา
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำโรงเรียน
- พระพุทธวาปีศรีปทุม ประดิษฐาน ณ บริเวณลานพระพุทธรูป หลังประตูทางเข้าโรงเรียน เป็นพระพุทธปฏิมา ปางสมาธิ ประจำโรงเรียนวาปีปทุม
อาคารเรียน
- อาคาร 1 หรือ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เป็นอาคารเรียนแห่งแรกของโรงเรียน เดิมมีลักษณะเป็นอาคารไม้ 2 ชั้น ปัจจุบันได้มีการปรับปรุงใหม่เป็นอาคารผสมโดยมีชั้นล่างเป็นคอนกรีต จัดเป็นห้องสมุดประจำโรงเรียน มีส่วนที่จัดแสดงเพื่อเทิดพระเกียรติแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และชั้นบนเป็นไม้ จัดเป็นห้องปฏิบัติการทางคอมพิวเตอร์ 1, 2 และ 3
- อาคาร 2 เป็นอาคารคอนกรีต 3 ชั้น ในอดีตอาคารไม้หลังเก่ามี 2 ชั้น เดิมเป็นอาคารหมวดวิชาภาษาต่างประเทศและห้องปฏิบัติการทัศนศิลป์ และมีสภาพอาคารชำรุด ทรุดโทรมและมีปัญหา จึงปิดใช้งานและไม่อนุญาตให้เข้าใช้งานอาคารหลังนี้ตั้งแต่ พ.ศ.2554 จนถึงปี 2563 ทางโรงเรียนได้รับการจัดสรรค์งบประมาณให้ก่อสร้าอาคารหลังใหม่โดยเป็นอาคารสูงสามชั้นใต้ถุนโล่ง และทางโรงเรียนจัดให้อาคาร 2 เป็นอาคารของโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม (SMTE)
- อาคาร 3 เป็นอาคารศูนย์อำนวยการ 3 ชั้น ลักษณะเป็นอาคารไม้ผสมคอนกรีต ตั้งทางฝั่งขวาของเสาธง ภายในประกอบด้วย
- ชั้น 1 เป็นศูนย์ประชาสัมพันธ์ ห้องสภานักเรียน และมีบริเวณที่เป็นใต้ถุนโล่งใช้สำหรับพักผ่อนของนักเรียน
- ชั้น 2 ประกอบด้วยสำนักผู้อำนวยการ สำนักงานอำนวยการฝ่ายต่าง ๆ และห้องสิริบงกช เป็นห้องประชุมสำหรับคณะครู และเป็นห้องที่จัดแสดงเกียรติประวัติ เกียรติยศของโรงเรียน
- ชั้น 3 เป็นห้องเรียนของนักเรียนเดินเวียน
- อาคาร 4 เป็นอาคาร 3 ชั้น เป็นอาคารแฝดกับอาคาร 3 ตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายของเสาธง ภายในประกอบด้วย
- ชั้น 1 เป็นห้องสำนักงานกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ห้องศูนย์พลศึกษา ห้องพยาบาล สำนักงานอนามัยโรงเรียน ธนาคารโรงเรียน และสหกรณ์ร้านค้าโรงเรียน
- ชั้น 2-3 เป็นห้องสำนักงานวิชาคณิตศาสตร์ ห้องเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ และศูนย์จิตวิทยาแนะแนว
- ปัจจุบันอยู่ระหว่างงดใช้อาคารเพื่อการเรียนการสอน เนื่องจากอยู่ระหว่างขออนุญาตในการรื้อถอน
- อาคาร 5 เป็นอาคารคอนกรีต 3 ชั้น อยู่ทางฝั่งทิศเหนือ จัดเป็นสำนักงานและห้องเรียนกลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ห้องศูนย์อาเซียน และห้องจริยธรรม
- อาคาร 6 หรือ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 30 เป็นอาคารคอนกรีต 3 ชั้น
- ชั้น 1 ประกอบด้วย ห้องพิลาศปทุมมาลย์ เป็นห้องประชุมปรับอากาศ และห้องศูนย์สื่อนวัตกรรม
- ชั้น 2-3 จัดเป็นสำนักงานกลุ่มสาระภาษาไทย ห้องหมอภาษา ห้องแพทย์แผนไทย และห้องเรียนกลุ่มสาระภาษาไทย
- อาคาร 7 เป็นอาคารคอนกรีต 3 ชั้น เป็นอาคารที่อยู่ด้านหลังสุดของโรงเรียน
- ชั้น 1 ประกอบด้วย สำนักงานกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ ห้อง Resource Center ซึ่งใช้สำหรับการสืบค้นหาข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตและสื่อวิดีทัศน์ และมีห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ 3 ห้อง (Lab 1-3)
- ชั้น 2-3 จัดเป็นห้องเรียนสาระวิทยาศาสตร์ ห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ ห้องปฏิบัติการเคมีและห้องปฏิบัติการชีววิทยา
- อาคาร 8 หรือ อาคาร 66 ปี ศรีปทุม เป็นอาคารคอนกรีต 3 ชั้น สร้างขึ้นในวาระที่โรงเรียนมีอายุครบ 66 ปี เปิดใช้งานเมื่อ พ.ศ. 2558 และใช้เป็นอาคารหลักของกลุ่มสาระภาษาต่างประเทศจากเดิมที่อยู่บริเวณชั้น 2 ของอาคาร 3
- ชั้น 1 เป็นสำนักงานกลุ่มสาระภาษาต่างประเทศ และมีใต้ถุนโล่งใช้สำหรับจัดงาน นิทรรศการ ลานสำหรับงานนันทนาการ ประชุมเชียร์ และซักซ้อมกิจกรรมต่าง ๆ
- ชั้น 2-3 จัดเป็นห้องเรียนกลุ่มสาระภาษาต่างประเทศ
- อาคารศิลปะ ประกอบด้วยห้องสำนักงานกลุ่มสาระศิลปะ ห้องปฏิบัติการทางดนตรี ทัศนศิลป์ และนาฏศิลป์
- อาคารอุตสากรรม จำนวน 2 หลัง ประกอบด้วย ห้องสำนักงานอุตสาหกรรมและห้องเรียนที่ใช้สำหรับการเรียนการสอนในรายวิชาอุตสาหกรรม
- อาคารคหกรรม ประกอบด้วยสำนักงานคหกรรมและห้องปฏิบัติการในรายวิชาคหกรรม
สิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ
- อาคารหอประชุมอเนกประสงค์ สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2528 ใช้สำหรับจัดประชุมนักเรียน ประชุมผู้ปกครอง จัดกิจกรรม นิทรรศการ การแข่งขัน และพิธีการต่าง ๆ ภายในโรงเรียน และใช้เป็นสนามกีฬาวอลเลย์บอลในร่ม
- อาคารบุณฑริกา เป็นอาคารพลศึกษา สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2557 เดิมเป็นสนามบาสเกตบอลคอนกรีตกลางแจ้ง มีลักษณะเป็นอาคารหลังคาโค้ง ทาด้วยสีขาว ตามชื่อของ "บุณฑริกา" ซึ่งเป็นดอกบัวที่มีสีขาวล้วน ภายในอาคารประกอบด้วยสนามฟุตซอล และสนามบาสเกตบอล ใช้ในการเรียนการสอนวิชาพลศึกษา และการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น กิจกรรมลูกเสือ ประชุมระดับชั้น งานอบรม งานนิทรรศการ งานเลี้ยงฉลองทั้งที่จัดเฉพาะภายในโรงเรียนและงานที่หน่วยงานภายนอกมาขออาศัยสถานที่ เป็นอาคารที่มองเห็นได้เป็นอันดับแรกเมื่อเข้าสู่ตัวโรงเรียนทางบริเวณประตูหลัก
- โรงอาหาร ประกอบด้วยโรงอาหาร 2 แห่ง โรงอาหารแห่งที่ 1 ตั้งอยู่บริเวณด้านหลังอาคาร 4 เดิมเป็นอาคารหอประชุมหลังแรก ต่อมาได้ปรับให้เป็นโรงอาหาร ใช้เป็นที่รับประทานอาหารกลางวันสำหรับนักเรียน คู่กับโรงอาหารแห่งที่ 2 ที่สร้างขึ้นใหม่ ซึ่งอยู่ชั้นล่างของอาคารปทุมมา
- อาคารปทุมมา เดิมบริเวณนี้เป็นสวนเกษตร ที่ใช้ในการเรียนวิชาเกษตรกรรม ปัจจุบันได้สร้างเป็นอาคารหอประชุม เปิดใช้งานในปี พ.ศ. 2560 พร้อมด้วยหอประชุมขนาดใหญ่และสนามบาสเกตบอลในชั้นบน และโรงอาหารแห่งที่ 2 ในชั้นล่าง บริเวณด้านหน้าและด้านข้างของอาคาร เป็นลานกว้างที่ใช้ในการจัดแสดงกิจกรรมต่าง ๆ ได้อีกด้วย
- สนามกีฬาโรงเรียน เป็นสนามกีฬากลางแจ้ง ประกอบด้วยลู่วิ่ง สนามฟุตบอล สนามเซปักตะกร้อ และอัฒจันทร์ 5 หลัง เป็นบริเวณหลักที่ใช้ในการจัดกิจกรรมกีฬาสีภายใน และงานสดุดีต่าง ๆ
- ลานน้ำพุ ตั้งอยู่ ณ ใจกลางโรงเรียน ตัวน้ำพุมี 3 ชั้น สีขาว บริเวณรอบ ๆ จัดเป็นสวนหย่อม ถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ประจำโรงเรียนอีกแห่งหนึ่ง โดยจะมีประเพณีในการทำความสะอาดน้ำพุสำหรับคณะกรรมการนักเรียนที่ชนะจากการเลือกตั้งประธานนักเรียนอยู่เป็นประจำทุกปี
- อาคารสำนักงานกิจการนักเรียน เป็นอาคารคอนกรีต 1 ชั้น ประกอบด้วย ห้องประชุมบุษบงกช สำนักงานของกลุ่มบริหารกิจการนักเรียน และฝ่ายปกครอง ตั้งอยู่บริเวณทางเข้าโรงเรียน ตรงข้ามกับอาคารบุณฑริกา ติดกับอาคารเรียน 1
ชีวิตในโรงเรียน
กิจกรรมภายในโรงเรียน
งานกีฬาสีภายในและคณะสี
โรงเรียนได้มีการจัดตั้งคณะสี เพื่อดำเนินการในกีฬาสีและเสริมสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ ซึ่งจะมีจัดแบ่งกลุ่มคณะสีสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โดยจะอยู่ในคณะสีนั้นตลอดการเรียนในช่วงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น แล้วจึงจะจัดกลุ่มคณะสีใหม่เมื่อเข้าสู่ระดับชั้นมัธยยมศึกษาปีที่ 4 และจะอยู่ในคณะสีนั้นจนจบการศึกษา มีทั้งหมด 5 คณะสี ประกอบด้วย
- ██ คณะสีเหลือง ควบคุมดูแลโดยกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม และกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปศึกษา
- ██ คณะสีแสด ควบคุมดูแลโดยกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์และกลุ่มงานคหกรรม
- ██ คณะสีชมพู ควบคุมดูแลโดยกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศและกลุ่มงานอุตสาหกรรม
- ██ คณะสีฟ้า ควบคุมดูแลโดยกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และกลุ่มงานเกษตรกรรม
- ██ คณะสีแดง ควบคุมดูแลโดยกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย กลุ่มงานคอมพิวเตอร์ และฝ่ายสนับสนุนการสอน
สำหรับงานกีฬาสีภายในจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในภาคเรียนที่ 2 ประมาณเดือนพฤศจิกายน ถึง เดือนมกราคม
วันสถาปนาโรงเรียน
จัดขึ้นเป็นประจำทุก ๆ วันที่ 17 พฤษภาคม ของปีเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันครบรอบวันสถาปนาโรงเรียน 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2492 ในงานจะมีการจัดโรงทานเพื่อเป็นการเลี้ยงฉลองและต้อนรับขวัญนักเรียนใหม่ และมีกิจกรรมการประกวดดาวเดือนประจำโรงเรียนซึ่งทุกปีจะมีการส่งตัวแทนเข้าประกวดในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และมัธยมศึกษาปีที่ 4 โดยอาศัยการโหวตเพื่อเฟ้นหาผู้ชนะการประกวด
ค่ายดอกบัว สู่รั้วมหาวิทยาลัย
กิจกรรมที่จัดขึ้นจากการร่วมมือของศูนย์จิตวิทยาแนะแนวและศิษย์เก่าโรงเรียน โดยใช้ชื่อหลักของงานว่า ค่ายดอกบัว สู่รั้วมหาวิทยาลัย (Dokbua Camp) โดยในค่ายจะมีการแนะแนวการศึกษาต่อและกิจกรรมนันทนาการต่างๆเพื่อสานสัมพันธ์ศิษย์เก่า - ศิษย์ปัจจุบัน จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีให้กับนักเรียนในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเพื่อเตรียมความพร้อมที่จะเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ในแต่ละปีการศึกษาจะใช้เวลาในการจัดค่ายประมาณ 2 - 3 วัน ปัจจุบันค่ายดอกบัว สู่รั้วมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการจัดมาแล้ว 11 ครั้ง[8]
งานบัวคืนกอ ลูก ว.ท. คืนถิ่น
เป็นงานคืนสู่เหย้าที่โรงเรียนวาปีปทุมได้จัดขึ้นเพื่อให้ศิษย์เก่าได้กลับมาพบปะสังสรรค์ในงาน เมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2556 และโรงเรียนได้จัดทำเพลงสถาบันโอกาสต้อนรับศิษย์เก่าโดยใช้ชื่อเพลงว่า "กอเดียวกัน" ประพันธ์คำร้อง ทำนองและขับร้องโดย นายกิตติพงษ์ ประพันธ์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
งาน No Smoking Dancing Contest
งานประเพณีการประกวดการแสดงเต้นภายในโรงเรียน ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษาแก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เพื่อช่วยส่งเสริมให้เกิดความกล้าแสดงออก มิตรภาพ ความสามัคคีและห่างไกลจากการสูบบุหรี่ ทีมที่ชนะการประกวดจะได้รับรางวัลจากกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา เป็นงานที่นักเรียนส่วนใหญ่ในโรงเรียนค่อนข้างจับตามอง
วันบัวบาน
เป็นนิทรรศการการจัดการแสดงดนตรี ผลงานทางวิชาการและถนนคนเดินภายในโรงเรียน จัดขึ้นครั้งแรกระหว่างวันที่ 11-12 กันยายน 2556 เป็นครั้งแรกที่นำเอาการแข่งขัน No Smoking Dancing Contest มารวมผนวกไว้ในงานด้วย และจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ในช่วงภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2557
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
โรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษามหาสารคาม |
---|
|
|