เคาะศ็อบ
เคาะศ็อบ (อาหรับ: خَصَب, อักษรโรมัน: Ḫaṣab; อังกฤษ: Khasab) เป็นเมืองหลวงของเขตผู้ว่าราชการมุซันดัมซึ่งเป็นดินแดนส่วนแยกของประเทศโอมานติดต่อกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เคาะศ็อบตั้งอยู่ที่ปลายคาบสมุทรมุซันดัมใกล้กับช่องแคบฮอร์มุซ เคาะศ็อบได้รับฉายาว่าเป็น "นอร์เวย์แห่งอาระเบีย" เนื่องจากมีชายฝั่งลึกเว้าที่คล้ายกับฟยอร์ด[1][2][3][4] ตัวเมืองเคาะศ็อบถูกล้อมรอบโดยรุอูซุลญิบาลซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหัจญัรตะวันตก[5] ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวโอมานจากแผ่นดินใหญ่ และมักจะมีนักท่องเที่ยวจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เนื่องจากสามารถเดินทางเข้าถึงได้ทางถนน นอกจากนี้ยังมีแพขนานยนต์ให้บริการโดยรัฐบาลโอมานด้วย[6] ประวัติศาสตร์![]() จักรวรรดิโปรตุเกสสร้างเมืองเคาะศ็อบในช่วงต้นศตวรรษที่ 17 ซึ่งเป็นช่วงที่อิทธิพลของโปรตุเกสในบริเวณอ่าวเปอร์เซียเจริญถึงขีดสุด อ่าวธรรมชาติป้องกันภัยจากคลื่นลมได้ดี เมืองนี้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นแหล่งจ่ายน้ำและอินทผลัมสำหรับเป็นเสบียงให้เรือของโปรตุเกสที่เดินทางผ่านช่องแคบฮอร์มุซ ในปัจจุบันเคาะศ็อบมีเขื่อนขนาดใหญ่สามเขื่อนเพื่อป้องกันน้ำท่วม[7] เศรษฐกิจแต่เดิมเคาะศ็อบไม่สามารถเข้าถึงได้ทางถนน จนกระทั่งมีการก่อสร้างถนนเชื่อมไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งทำให้ชาวเอมิเรตส์เดินทางมาท่องเที่ยวในเคาะศ็อบเป็นจำนวนมาก ถนนสายเดียวกันนี้ยังเชื่อมต่อกับหมู่บ้าน Tawi ซึ่งมีภาพวาดก่อนประวัติศาสตร์รูปเรือ สัตว์ และนักรบบนหน้าผาหินด้วย[7] เคาะศ็อบยังมีย่านการค้าสมัยใหม่มากมาย ซึ่งนำเข้าสินค้าจากประเทศอิหร่านและจำหน่ายเครื่องปั้นดินเผาท้องถิ่น และยังมีโรงแรมสำคัญหลายแห่ง[1] เคาะศ็อบยังเป็นแหล่งการค้าของเถื่อนที่สำคัญเนื่องจากตั้งอยู่ใกล้กับชายฝั่งประเทศอิหร่านที่อยู่ฝั่งตรงข้ามของช่องแคบฮอร์มุซ อิหร่านส่งแกะและแพะเข้ามาทางท่าเรือเคาะศ็อบก่อนจะนำขึ้นรถบรรทุกส่งไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และซาอุดีอาระเบีย และในเที่ยวกลับรถบรรทุกดังกล่าวจะนำสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และบุหรี่จากสหรัฐกลับมาขึ้นเรือเดินทางกลับไปยังอิหร่าน เรือสินค้าจะมาถึงท่าเรือเคาะศ็อบหลังดวงอาทิตย์ขึ้นและออกจากท่าเรือก่อนดวงอาทิตย์ตกตามกฎหมายของโอมาน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการค้าขายดังกล่าวผิดกฎหมายอิหร่าน ทำให้คนขับเรือข้ามช่องแคบต้องระวังหน่วยยามฝั่งของอิหร่าน เรือขนสินค้าข้ามช่องแคบยังมีความเสี่ยงอีกเนื่องจากเรือเหล่านี้บรรทุกสินค้าจนเพียบและต้องหลบหลีกเรือบรรทุกน้ำมันและเรือสินค้าลำอื่น ๆ ที่เดินทางผ่านช่องแคบฮอร์มุซด้วย[7] การที่สหรัฐใช้นโยบายคว่ำบาตรกับอิหร่านทำให้การลักลอบขนส่งสินค้าผ่านทางเคาะศ็อบมีปริมาณสูงขึ้น[8] ภูมิอากาศตามหลักการแบ่งเขตภูมิอากาศแบบเคิพเพิน เคาะศ็อบจัดอยู่ในเขตภูมิอากาศแบบทะเลทรายเขตร้อน (BWh) ซึ่งฤดูร้อนจะอากาศร้อนและชื้นในขณะที่ฤดูหนาวจะมีอากาศเย็น มีฝนตกน้อยและมักตกระหว่างเดือนธันวาคมและเดือนมีนาคม เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ค.ศ. 2011 สถิติอุณหภูมิกลางวันที่สูงที่สุดเท่าที่วัดได้ถูกบันทึกที่ท่าอากาศยานเคาะศ็อบ โดยวัดได้ 41.2 °C ก่อนที่หุบเขามรณะในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐจะทำลายสถิติเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ. 2012 (วัดได้ 41.7 °C)[9] ต่อมาเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ค.ศ. 2017 สถิติอุณหภูมิกลางคืนที่สูงที่สุดถูกบันทึกที่เคาะศ็อบโดยวัดได้ 44.2 °C[10]
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ เคาะศ็อบ วิกิท่องเที่ยว มีคำแนะนำการท่องเที่ยวสำหรับ Khasab |
Portal di Ensiklopedia Dunia