ฮ่องกงของบริเตน
22°16′N 114°09′E / 22.267°N 114.150°E ฮ่องกงของบริเตน (อังกฤษ: British Hong Kong; จีน: 英屬香港; ยฺหวิดเพ็ง: Jing1 suk6 hoeng1 gong2) หรือเรียกอย่างง่ายว่า ฮ่องกง เป็นช่วงสมัยที่ฮ่องกงอยู่ภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักรตั้งแต่ปี ค.ศ. 1841 ถึง 1997 (ยกเว้นช่วงที่ถูกญี่ปุ่นยึดครองระหว่าง ค.ศ. 1941 ถึง 1945) เมื่อแรกจัดตั้งมีสถานะเป็นอาณานิคมในพระองค์ ก่อนที่ในปี ค.ศ. 1781 จะมีสถานะเป็นดินแดนโพ้นทะเลของบริเตน ราชวงศ์ชิงจำยอมต้องยกเกาะฮ่องกงให้แก่บริเตนใหญ่ภายหลังจีนพ่ายแพ้ในสงครามฝิ่นครั้งที่หนึ่ง และจำยอมต้องยกคาบสมุทรเกาลูนให้อีกเมื่อพ่ายแพ้ในสงครามฝิ่นครั้งที่สอง ในที่สุดก็มีการทำสนธิสัญญาใหม่ขึ้นใน ค.ศ. 1898 ซึ่งให้สิทธิการเช่าฮ่องกงเป็นเวลา 99 ปี ทางสหราชอาณาจักรได้ส่งคืนฮ่องกงแก่จีนเมื่อสัญญาเป็นอันสิ้นสุดลงใน ค.ศ. 1997 การส่งมอบเกาะฮ่องกงในครั้งนั้นถูกมองว่าเป็นจุดสิ้นสุดจักรวรรดิบริเตน แม้ว่าเกาะฮ่องกงและเกาลูนจะถูกยกให้เป็นการถาวร แต่พื้นที่เช่าบริเวณนิวเทร์ริทอรีส์นั้นเป็นดินแดนส่วนใหญ่ และอังกฤษถือว่าไม่มีทางเป็นไปได้ในการแบ่งแยกอาณานิคมที่เป็นเอกภาพออกเป็นส่วน ในขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะไม่พิจารณาขยายสัญญาเช่าหรืออนุญาต หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาการบริหารของอังกฤษ ในที่สุดสหราชอาณาจักรก็ตกลงที่จะทำการถ่ายโอนอำนาจอธิปไตยเหนือฮ่องกงทั้งหมดให้กับจีนเมื่อสัญญาเช่านั้นหมดอายุลงในปี ค.ศ. 1997 หลังจากได้รับ "การค้ำประกัน" ที่จะ "รักษาระบบการปกครอง เสรีภาพ และวิถีชีวิต" เป็นเวลาอย่างน้อย 50 ปี[5] ประวัติศาสตร์
รัฐบาลฮ่องกงเป็นอาณานิคมในพระองค์ของสหราชอาณาจักรและดำเนินการบริหารตามแบบของระบบเวสต์มินสเตอร์ พระราชเอกสารสิทธิเป็นพื้นฐานของรัฐธรรมนูญของรัฐบาลอาณานิคม โดยพระราชโองการเป็นการกำหนดรายละเอียดการปกครองและจัดระเบียบดินแดนของอาณานิคม ผู้สำเร็จราชการเป็นหัวหน้ารัฐบาลและได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักร ให้ทำหน้าที่เป็นผู้แทนของสถาบันกษัตริย์ในอาณานิคม อำนาจบริหารมีการรวมศูนย์อยู่ที่ผู้สำเร็จราชการซึ่งเป็นผู้แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติและสภาผู้บริหารเกือบทั้งหมด และยังดำรงตำแหน่งประธานของทั้งสององค์กรด้วย[6] รัฐบาลอังกฤษให้การดูแลรัฐบาลอาณานิคม โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักรได้รับอนุมัติอย่างเป็นทางการในการเข้าร่วมสังเกตการณ์ในการประชุมของสภานิติบัญญัติและสภาผู้บริหาร[6] และกษัตริย์มีพระราชอำนาจเพียงพระองค์เดียวในการแก้ไขพระราชเอกสารสิทธิและพระราชโองการ สภาผู้บริหารเป็นผู้กำหนดนโยบายของการบริหารและพิจารณาร่างกฎหมายหลักก่อนที่จะส่งต่อไปยังสภานิติบัญญัติเพื่อพิจารณาอนุมัติ หน่วยงานที่ปรึกษานี้ยังออกกฎหมายลำดับรองภายใต้กฎหมายอาณานิคมที่จำกัด สภานิติบัญญัติอภิปรายการเสนอกฎหมายและรับผิดชอบในการพิจารณางบประมาณ สภาได้รับการปฏิรูปในช่วงปีท้าย ๆ ของการปกครองอาณานิคมเพื่อริเริ่มการมีผู้แทนประชาชนที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น[6] การเลือกสมาชิกสภาทางอ้อมในเขตเลือกตั้งตามกลุ่มผลประโยชน์ทางวิชาชีพ (functional constituency) เริ่มต้นในปี ค.ศ. 1985 และการเลือกสมาชิกสภาตามความนิยมในเขตเลือกตั้งทางภูมิศาสตร์เริ่มในปี ค.ศ. 1991 การปฏิรูปการเลือกตั้งเพิ่มเติมในปี ค.ศ. 1994 ทำให้สภานิติบัญญัติมีผู้แทนที่หลากหลาย การบริหารกิจการพลเรือนนำโดยเลขาธิการแห่งรัฐอาณานิคม (ภายหลังคือ รัฐมนตรีอาวุโสด้านบริหาร) ซึ่งเป็นรองผู้สำเร็จราชการโดยตำแหน่ง[6] ![]() ระบบตุลาการตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายอังกฤษ โดยกฎหมายจารีตประเพณีจีนมีบทบาทรองในคดีแพ่งที่เกี่ยวข้องกับชาวจีน[7] ศาลฎีกาฮ่องกงเป็นศาลสูงสุด ทำหน้าที่ตัดสินคดีแพ่งและคดีอาญาทั้งหมดในอาณานิคม ในช่วงต้นยุคอาณานิคมมีการพิจารณาคดีคำร้องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตจากภูมิภาคอื่น ๆ ของจีนที่เกี่ยวข้องกับชาวอังกฤษในศาลนี้ด้วย คณะกรรมการตุลาการของคณะองคมนตรีทำหน้าที่รับการอุทธรณ์เพิ่มเติมจากศาลฎีกาโดยวินิจฉัยออกคำพิพากษาขั้นสุดท้ายในอาณาเขตจักรวรรดิอังกฤษทั้งหมด[8] นักเรียนนายทหารในปี ค.ศ. 1861 ผู้สำเร็จราชการเซอร์เฮอร์คิวลีส โรบินสัน ได้ก่อตั้งโรงเรียนนายทหารฮ่องกง ซึ่งคัดเลือกผู้สำเร็จการศึกษารุ่นใหม่จากสหราชอาณาจักร ให้เรียนภาษาจีนกวางตุ้งและการเขียนภาษาจีนเป็นเวลาสองปีก่อนที่จะรับเข้าปฏิบัติราชการอย่างรวดเร็ว นักเรียนนายทหารค่อย ๆ เป็นกำลังหลักของการบริหารราชการ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้มีเชื้อสายจีนได้รับอนุญาตให้เข้ารับการศึกษา และต่อมาผู้หญิงก็ได้เข้าศึกษาเช่นกัน นักเรียนนายทหารถูกเปลี่ยนชื่อเป็นเจ้าหน้าที่บริหารในปี ค.ศ. 1950 และพวกเขายังคงเป็นแกนนำของข้าราชการพลเรือนในช่วงที่อังกฤษปกครอง[9] เศรษฐกิจเสถียรภาพ ความปลอดภัย และความสามารถในการคาดเดาได้ของฝ่ายบริหารและระบบกฎหมายอังกฤษ ทำให้ฮ่องกงมีความเจริญรุ่งเรืองในฐานะศูนย์กลางการค้าระหว่างประเทศ[10] ในทศวรรษแรกของอาณานิคมรายได้จากการค้าฝิ่นเป็นแหล่งทุนหลักของรัฐบาล ความสำคัญของฝิ่นลดลงเมื่อเวลาผ่านไป แต่รัฐบาลอาณานิคมยังคงมีรายได้จากฝิ่นจนกระทั่งญี่ปุ่นเข้ายึดครองฮ่องกงในปี ค.ศ. 1941[10] แม้ว่าธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในอาณานิคมยุคแรกจะดำเนินการโดยชาวอังกฤษ อเมริกัน และชาวต่างชาติอื่น ๆ แต่คนงานชาวจีนเป็นกำลังแรงงานหลักในการพัฒนาเมืองท่าแห่งใหม่นี้[11] ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1980 คนเชื้อสายจีนจำนวนมากได้กลายเป็นบุคคลสำคัญทางธุรกิจในฮ่องกง เช่น เซอร์ลี กาชิง ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดของอาณานิคมในเวลานั้น เชิงอรรถ
อ้างอิง
บรรณานุกรม
ดูเพิ่ม
แหล่งข้อมูลอื่น
|
Portal di Ensiklopedia Dunia