รัล์ฟ รังนิค
รัล์ฟ รังนิค (เยอรมัน: Ralf Rangnick; เกิด 29 มิถุนายน ค.ศ. 1958) เป็นผู้จัดการทีมชาวเยอรมัน ผู้อำนวยการกีฬา และอดีตนักฟุตบอล[3][4] ปัจจุบันเป็นผู้จัดการทีมฟุตบอลทีมชาติออสเตรีย ภายหลังจากไม่ประสบความสำเร็จในอาชีพนักฟุตบอล รังนิคได้เริ่มต้นอาชีพผู้ฝึกสอนใน ค.ศ. 1983 ในวัย 25 ปี ต่อมาใน ค.ศ. 1997 เขาได้รับการจ้างจากสโมสร เอสเอสวี อุล์ม 1846 ซึ่งเป็นสโมสรที่เขาเคยเล่นอาชีพ โดยรังนิคสามารถพาทีมชนะเลิศการแข่งขันลีกได้ในฤดูกาลแรกที่คุมทีม ก่อนจะย้ายไปคุมทีมเฟาเอ็ฟเบ ชตุทการ์ท สโมสรในบุนเดิสลีกา และพาทีมชนะเลิศยูฟ่าอินเตอร์โตโตคัพใน ค.ศ. 2000 แต่ก็ถูกปลดในเวลาต่อมาจากผลงานอันย่ำแย่ ต่อมาใน ค.ศ. 2001 รังนิคไปคุมทีมฮันโนเฟอร์ 96 ในซไวเทอบุนเดิสลีกา แต่ก็ถูกปลดใน ค.ศ. 2004 ต่อมา รังนิคไปร่วมงานกับชัลเคอ 04 ในช่วงเวลาสั้น ๆ ก่อนจะไปคุมทีมเทเอ็สเก 1899 ฮ็อฟเฟินไฮม์ ใน ค.ศ. 2006 ซึ่งเขาพาทีมเลื่อนชั่นขึ้นมาสู่บุนเดิสลีกาได้สำเร็จ ก่อนจะลาทีมใน ค.ศ. 2011 เพื่อกลับไปร่วมงานกับชัลเคอ 04 และพาทีมชนะเลิศเดเอ็ฟเบ-โพคาล[5] และเข้าถึงรอบรองชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกในปีนั้น ก่อนจะไปรับตำแหน่งผู้อำนวยการกีฬาให้กับสโมสรเร็ดบุลซัลทซ์บวร์คในออสเตรีย และแอร์เบ ไลพ์ซิชในเยอรมนี และยังทำหน้าที่ผู้ฝึกสอนให้แก่แอร์เบ ไลพ์ซิชสองครั้งในฤดูกาล 2015–16 และ 2018–19 ในระหว่างการร่วมงานกับเร็ดบุล รังนิคมีส่วนสำคัญในการวางรากฐานและระบบทีมเพื่อแข่งขันในฟุตบอลยุโรป เขามีบทบาทในการดูแลระบบเยาวชน รวมถึงการเป็นแมวมองในการค้นหาผู้เล่นทักษะดีเข้ามาสู่ทีม และยังเป็นผู้นำปรัชญาการเล่นเกมรุกอันดุดันมาสู่สโมสร[6] ส่งผลให้สโมสรเร็ดบุลมีผลงานที่ดีขึ้น และยังมีมูลค่าการตลาดเพิ่มขึ้นจาก 120 ล้านยูโรเป็น 1.2 พันล้านยูโรในช่วงที่เขาทำงานให้สโมสร[7] รวมถึงการช่วยให้สโมสรแอร์เบ ไลพ์ซิช ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนด้วยผลกำไรมหาศาล และยกระดับทีมขึ้นมาเป็นหนึ่งในทีมชั้นนำของบุนเดิสลีกามาถึงปัจจุบัน[8] ซึ่งรังนิคยังได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้าฝ่ายกีฬาและการพัฒนาของสโมสรใน ค.ศ. 2019 ก่อนจะลาออกในปีต่อมา[9] รังนิคเข้ารับตำแหน่งเป็นผู้จัดการทีมชั่วคราวให้สโมสรแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2021 โดยเซ็นสัญญาไปจนสิ้นสุดฤดูกาล 2021–22 รังนิคได้รับการยกย่องในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้พัฒนาระบบการเล่นแบบเกเกนเพรสซิ่ง[a] (Gegenpressing)[10] และยังได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้จัดการทีมที่มีปรัชญาในการทำทีมที่ชัดเจน[11] มีความสามารถในการวางระบบและการพัฒนาศักยภาพนักเตะ เขายังถือเป็นบุคคลผู้มีอิทธิพลในการพัฒนาทักษะการคุมทีมของผู้ฝึกสอนหลายคน อาทิ แอ็นสท์ ฮัพเพิล, อาร์ริโก ซาคคี และ ซเดนเยค เซมัน [12] และยังเป็นผู้ฝึกสอนต้นแบบของผู้จัดการทีมชาวเยอรมันชื่อดังมากมาย อาทิ โทมัส ทุคเคิล, ยูลีอาน นาเกิลส์มัน, รัล์ฟ ฮาเซินฮึทเทิล และ เยือร์เกิน คล็อพ[13] อาชีพผู้ฝึกสอนช่วงแรกรังนิคเริ่มต้นอาชีพการเป็นผู้ฝึกสอนในช่วงทศวรรษ 1980 โดยสโมสรแรกที่เขาคุมทีมคือ Viktoria Backnang สโมสรในบ้านเกิดของเขาที่เมืองบัคยัง, เยอรมนี ซึ่งเขาเซ็นสัญญาในฐานะผู้เล่น-ผู้จัดการทีม ตามด้วยการย้ายไปคุมทีมสำรองของเฟาเอ็ฟเบ ซตุทท์การ์ท[14] และ Lippoldsweiler ตามลำดับ ต่อมาใน ค.ศ. 1988 รังนิคไปคุมทีมเอสซี คอร์ป เป็นเวลาสองฤดูกาล ก่อนจะกลับมาร่วมงานกับซตุทท์การ์ทในฐานะผู้จัดการทีมรุ่นอายุไม่เกิน 19 ปี และพาทีมชนะเลิศการแข่งขันบุนเดิสลีการะดับเยาวชนใน ค.ศ. 1991 ก่อนจะลาทีมเพื่อไปคุมสโมสร SSV Reutlingen 05 ในลีกสมัครเล่นของเยอรมนี และพาทีมจบอันดับ 4 ได้ในฤดูกาลแรก[15] และรังนิคได้อำลาทีมในฤดูกาล 1997 เพื่อคุมอุล์ม 1846 อดีตสโมสรซึ่งเขาเคยเล่นอาชีพ[16] การคุมทีมนัดแรกอย่างเป็นทางการในฐานะผู้จัดการทีมของอุล์ม จบลงด้วยความพ่ายแพ้ต่อกร็อยเทอร์เฟือร์ท 0–2 และรังนิคพาทีมจบฤดูกาลแรกด้วยอันดับ 6 ก่อนจะพาทีมคว้าแชมป์ลีกระดับ 3 ได้ในฤดูกาล 1997–98 และยังพาทีมทำผลงานยอดเยี่ยมอย่างต่อเนื่องในซไวเทอบุนเดิสลีกา และมีส่วนสำคัญในการวางระบบการเล่นใหม่ ๆ ของทีมรวมถึงการหาผู้เล่นฝีเท้าดีเข้าสู่ทีม ส่งผลให้สโมสรสามารถเลื่อนชั้นสู่ลีกสูงสุดอย่างบุนเดิสลีกาได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ใน ค.ศ. 2000 อย่างไรก็ตาม รังนิคได้เจรจากับเฟาเอ็ฟเบ ซตุทท์การ์ทในช่วงกลางฤดูกาลที่สองที่เขาทำหน้าที่เป็นผู้จัดการทีมของอุล์ม และทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงร่วมกันในการดึงตัวรังนิคไปคุมทีมในฤดูกาลถัดไป และข่าวนี้ได้รั่วไหลสู่สาธารณชนในในเวลาต่อมา ส่งผลให้รังนิคลาออกจากการคุมทีมอุล์ม และเซ็นสัญญากับซตุทท์การ์ทในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1999 เฟาเอ็ฟเบ ซตุทท์การ์ทรังนิคเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ. 1999 และคุมทีมในช่วง 5 นัดสุดท้ายของฤดูกาล และพาทีมชนะได้ 2 จาก 5 นัด จบในอันดับ 11[17] ต่อมา เขาได้คุมทีมเต็มฤดูกาลในฤดูกาลถัดมา และพาทีมจบอันดับ 8 ต่อมา เขาพาทีมคว้าแชมป์ยูฟ่าอินเตอร์โตโตคัพ ได้ในฤดูกาลที่สาม รวมถึงเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้ายยูฟ่าคัพ และรอบรองชนะเลิศเดเอ็ฟเบ-โพคาล แต่รังนิคได้ถูกปลดในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2001 จากผลงานย่ำแย่ของทีม โดยอันดับของซตุทท์การ์ทได้ตกลงไปท้ายตาราง[18] ฮันโนเฟอร์ 96รังนิคย้ายมาร่วมงานกับฮันโนเฟอร์ 96 ในซไวเทอบุนเดิสลีกา และสามารถพาทีมเลื่อนชั้นสู่บุนเดิสลีกาได้เป็นครั้งแรกในรอบ 13 ปี[19] ในฤดูกาลต่อมา ฮันโนเฟอร์ 96 จบในอันดับ 11 แต่รังนิคได้ถูกปลดกลางฤดูกาล 2003–04 เนื่องจากทีมมีผลงานย่ำแย่โดยตกลงไปอยู่อันดับ 15 ของตาราง[20] ชัลเคอ 04รังนิคได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการทีม ชัลเคอ 04 ในวันที่ 28 กันยายน ค.ศ. 2004 โดยมาแทนที่ยุพ ไฮน์เคิส และพาทีมผ่านเข้ารอบแพ้คัดออกในยูฟ่าคัพได้ ก่อนจะแพ้ชัคตาร์ดอแนตสก์ และยังพาทีมเข้าชิงชนะเลิศเดเอ็ฟเบ-โพคาล แต่แพ้ไบเอิร์นมิวนิก 1–2[21] รวมถึงการจบฤดูกาลด้วยตำแหน่งรองแชมป์บุนเดิสลีกา เป็นรองเพียงไบเอิร์นมิวนิก ในฤดูกาล 2005–06 รังนิคพาทีมคว้าแชมป์เดเอ็ฟเอ็ล-ลีกาโพคาล โดยเอาชนะเฟาเอ็ฟเบ ซตุทท์การ์ท สโมสรเก่าของเขา 1–0 และในฤดูกาลนี้ชัลเคอ 04 ยังได้ร่วมแข่งขันยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก แต่ไม่ผ่านรอบแบ่งกลุ่ม และผลงานของทีมก็ย่ำแย่ลงอย่างต่อเนื่องนับจากนั้น โดยอันดับในลีกได้ตกลงไปกลางตาราง รวมถึงการตกรอบฟุตบอลถ้วยเดเอ็ฟเบ-โพคาล โดยแพ้ไอน์ทรัคท์ฟรังค์ฟวร์ทไปถึง 0–6 ส่งผลให้รังนิคถูกปลดในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2005[22] เทเอ็สเก 1899 ฮ็อฟเฟินไฮม์รังนิคย้ายมาร่วมงานกับสโมสรเทเอ็สเก 1899 ฮ็อฟเฟินไฮม์ในฤดูกาล 2006–07 โดยสโมสรเล่นอยู่ในเรกิโอนาลลีกา (ลีกระดับ 3) ในขณะนั้น[23] และเขาพาทีมเลื่อนชั้นขึ้นสู่ซไวเทอบุนเดิสลีกาได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และยังทำผลงานยอดเยี่ยมต่อเนื่องด้วยการพาทีมจบอันดับ 2 ในฤดูกาลต่อมา เลื่อนชั้นสู่บุนเดิสลีกาได้สำเร็จ และยังเข้าถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายเดเอ็ฟเบ-โพคาล และในฤดูกาล 2008–09 เขาพาฮ็อฟเฟินไฮม์จบอันดับ 7 ในบุนเดิสลีกา ในฤดูกาล 2009–10 ฮ็อฟเฟินไฮม์จบอันดับ 11[24] ต่อมา รังนิคได้ลาออกจากตำแหน่งในเดือนมกราคม ค.ศ. 2011 เนื่องจากไม่พอใจที่สโมสรขายลูอิส กุสตาวู กองกลางคนสำคัญให้แก่ไบเอิร์นมิวนิกโดยไม่ผานการตัดสินใจของเขา[25] ชัลเคอ 04 (ครั้งที่สอง)รังนิคกลับมาเป็นผู้จัดการทีมให้กับ ชัลเคอ 04 อีกครั้ง โดยมาแทนที่ เฟลิคส์ มากัท และชาลเคอทำผลงานในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกได้อย่างยอดเยี่ยม โดยเอาชนะอินเตอร์มิลานในรอบ 8 ทีมสุดท้ายด้วยผลประตูรวม 7–3 ก่อนจะแพ้แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดในรอบรองชนะเลิศ[26] ถัดมาในฤดูกาล 2011–12 ชัลเคอ 04 คว้าแชมป์เดเอ็ฟเอ็ล-ซูเพอร์คัพได้ เอาชนะจุดโทษโบรุสซีอาดอร์ทมุนท์[27] ก่อนที่รังนิคจะลาออกอย่างกะทันหันในเดือนกันยายน ค.ศ. 2011 โดยให้เหตุผลว่าตนเองมีอาการล้าเรื้อรัง จากการทำงานหนักและสะสมความเครียดเป็นเวลานาน[28][29][30] แอร์เบ ไลพ์ซิชหลังจากหยุดพักจากการคุมทีมไปหลายปี รังนิคซึ่งรับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการกีฬาให้กับสโมสรเร็ดบุลซัลทซ์บวร์คในออสเตรียในขณะนั้น ประกาศว่าเขาจะกลับมารับทำหน้าผู้จัดการทีมให้สโมสรแอร์เบ ไลพ์ซิช ในฤดูกาล 2015–16 ซึ่งเขาพาทีมเลื่อนชั้นขึ้นสู่บุนเดิสลีกาได้สำเร็จ และรัล์ฟ ฮาเซินฮึทเทิลเข้ามารับช่วงต่อจากเขา ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2018 รังนิคกลับมารับตำแหน่งผู้จัดการทีมไลพ์ซิชเป็นครั้งที่สอง[31] และพาทีมทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม โดยจบอันดับสามในบุนเดิสลีกา ได้สิทธิ์แข่งขันยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ รวมทั้งเข้าชิงชนะเลิศเดเอ็ฟเบ-โพคาล ก่อนจะแพ้ไบเอิร์นมิวนิก รวมถึงทำผลงานในยูโรปาลีกได้ดีพอสมควร[32] รังนิคได้ลาทีมเมื่อจบฤดูกาล[33] และผู้ที่มาคุมทีมต่อจากเขาคือ ยูลีอาน นาเกิลส์มัน แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2021 รังนิคได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการทีมชั่วคราวของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดในพรีเมียร์ลีก โดยเขาจะคุมทีมไปจนสิ้นสุดฤดูกาล 2021–22 และจะรับตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาให้แก่สโมสรไปอีกสองปีหลังจากหมดสัญญา[34] รังนิคประเดิมการคุมทีมนัดแรกในเกมพรีเมียร์ลีกวันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ. 2021 ซึ่งยูไนเต็ดเปิดโอล์ดแทรฟฟอร์ดเอาชนะคริสตัล พาเลซ 1–0[35] แต่ต่อมาทางสโมสรได้ประกาศว่ารังนิคจะไม่ทำหน้าที่ที่ปรึกษาสโมสร โดยเขาจะไปรับงานเป็นผู้จัดการทีมชาติออสเตรีย[36] สถิติการคุมทีม
เกียรติประวัติผู้จัดการทีม[44]เฟาเอ็ฟเบ ชตุทการ์ท รุ่นอายุไม่เกิน 19 ปี
อุล์ม 1846
เฟาเอ็ฟเบ ชตุทการ์ท
ฮันโนเฟอร์ 96
ชัลเคอ 04
แอร์เบ ไลป์ซิก
เชิงอรรถ
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
|
Portal di Ensiklopedia Dunia