รัฐเมืองยอง

เมืองยอง
မိူင်းယွင်
รัฐเจ้าฟ้าของสหพันธรัฐชาน
พุทธศตวรรษที่ 19 – พ.ศ. 2358

ประวัติศาสตร์ 
• ก่อตั้ง
พุทธศตวรรษที่ 19
• ถูกผนวกเข้ากับรัฐเชียงตุง
พ.ศ. 2358
ถัดไป
รัฐเชียงตุง

มหิยังคะ[1] (บาลี: มหิยงฺค) หรือ รัฐเมืองยอง (ไทใหญ่: မိူင်းယွင်း; พม่า: မိုင်းယောင်း; ไทลื้อ: ᩮᨾᩨ᩠ᨦᨿᩬᨦ) เป็นรัฐเจ้าฟ้าแห่งหนึ่งในกลุ่มสหพันธรัฐชาน ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศพม่า[2] มีราชธานีคือเมืองยอง หรือเชียงช้าง ตั้งอยู่บริเวณแคบ ๆ ทางตะวันออกสุดของรัฐเชียงตุงริมฝั่งแม่น้ำโขง ใกล้พรมแดนจีนและลาว[3] เคยมีสถานะเป็นประเทศราชหรือลูกบ้านหางเมืองของอาณาจักรล้านนา[4] ด้วยเป็นรัฐชายขอบ มีสภาพเป็นรัฐเกษตรกรรมขนาดน้อยในหุบเขา มีเทือกเขาล้อมรอบ[5] ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวว้า[6] แต่ในราชธานีประชากรส่วนใหญ่เป็นไทลื้อ[4] ซึ่งเกิดจากการขยายตัวของชุมชนชาวไทลื้อเมืองเชียงรุ่ง ส่งสุนันทะราชบุตรมาสร้างเมืองยองด้วยการปราบปรามชาวลัวะแล้วปราบดาภิเษกขึ้นเป็นเจ้าเมืองแทน และปกครองตนเองอย่างอิสระไม่ขึ้นกับใคร[5][7]

เมืองยองเป็นนครรัฐขนาดเล็กที่มีข้อจำกัดมาก เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเขา ที่ราบค่อนข้างน้อย และเป็นรัฐเกษตรกรรมเพื่อยังชีพ รวมทั้งตั้งอยู่บนเส้นทางเดินทัพของรัฐอื่น ๆ ทำให้เมืองยองต้องเผชิญกับภัยสงครามบ่อยครั้ง[8][9]

ประวัติ

รัฐเมืองยองเดิมเป็นที่ตั้งชุมชนของชาวว้าหรือลัวะ ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองของแถบนี้ ใน ตำนานเมืองยอง ระบุว่า ชาวละว้าตั้งชุมชนอาศัยเป็นปึกแผ่นเจ็ดหมู่บ้านรอบสระน้ำใหญ่ มีท้าวลกพญาละว้าเป็นหัวหน้า ต่อมาเกิดภัยแล้ง มีชาวละว้าอพยพมาอาศัยในเขตของท้าวลก ซึ่งในจำนวนผู้อพยพนั้น มีละว้ากลุ่มหนึ่งที่ขึ้นกับเจ้าเชียงตุงด้วย เจ้าเมืองเชียงตุงจึงส่งคนมาเจรจาขอละว้ากลุ่มนี้คืนเมืองแต่ท้าวลกพญาละว้าไม่ยอมให้ จึงเกิดการสู้รบกัน กองทัพของท้าวลกยกไปตีหัวเมืองใหญ่น้อยได้ 28 หัวเมือง รวมทั้งเมืองเชียงรุ่งด้วย แต่หลังท้าวลกเสียชีวิต ก็แต่งตั้งพญาวรรณหรือพญางามขึ้นเป็นหัวหน้าแทน ต่อมาเจ้าเมืองเชียงรุ่งคิดอุบายสำคัญ โดยส่งสุนันทราชบุตร พระโอรสลำดับที่สอง นำเครื่องบรรณาการไปฝากตัวรับใช้พญาวรรณ ครั้นถึงเทศกาลสำคัญตามธรรมเนียมละว้า ที่ทุกปีชาวบ้านทั้งเจ็ดหมู่บ้านจะร่วมกันจัดกิจกรรมวิดเอาปลามาทำอาหารเลี้ยงร่วมกัน ซึ่งวันนั้นเอง สุนันทราชบุตรลอบนำยาพิษใส่ในสุราให้พวกหัวหน้าละว้าดื่มทุกคนแล้วตัดศีรษะกับทั้งบริวาร ชาวละว้าทั้งหลายที่สิ้นหัวหน้าก็พากันหลบหนีไปฝั่งล้านช้าง กลายเป็นข่าเผ่าต่าง ๆ[10] สุนันทราชบุตรก็ปราบดาภิเษกเป็นเจ้าเมืองแทน และปกครองตนเองอย่างอิสระไม่ขึ้นตรงต่อใคร[5][7] จากตำนานดังกล่าว สรัสวดี อ๋องสกุล นักประวัติศาสตร์ สันนิษฐานว่าเมืองยองคงสถาปนาเมื่อพุทธศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา[8] เจ้าสุนันทะและเชื้อสายครองเมืองยองได้ห้ารัชกาลก็สูญวงศ์ หาผู้สืบราชบัลลังก์มิได้ เพราะเชื้อสายเจ้าผู้ครองมีศรัทธาพระศาสนาออกผนวชเสียหมด ด้วยเหตุนี้จึงต้องตั้งขุนนางช่วยกันดูแลบ้านเมืองกันเอง เมืองยองว่างกษัตริย์นาน 65 ถึง 67 ปี[8]

พญาสามฝั่งแกน กษัตริย์ล้านนาทรงกระทำสงครามปราบปรามเมืองยองสำเร็จ เพราะต้องการให้เมืองยองเป็นเมืองหน้าด่าน คอยป้องกันการโจมตีจากรัฐเชียงตุง เชียงรุ่ง และเมืองแลม เมืองยองยอมอ่อนน้อมต่อล้านนาในฐานะลูกเมือง ให้ทำนุบำรุงพระธาตุหลวงจอมยอง รวมทั้งมีการส่งช่างฟ้อนลงมาบูชากษัตริย์ล้านนา[11] ต่อมาในรัชกาลพระเจ้าติโลกราชทรงยึดเมืองยองอีกครั้ง ทรงตั้งขุนนางปกครองกันเอง ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และกัลปนาผู้คนจากบ้านกอมเป็นข้าพระธาตุจอมยอง แล้วให้ช่างฟ้อนลงมาฟ้อนคารวะกษัตริย์ล้านนาปีละครั้ง[8]

หลังพุทธศตวรรษที่ 22 เป็นต้นมา หลังอาณาจักรล้านนาล่มสลาย รัฐเมืองยองก็ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า แต่หากพม่าอ่อนแอ เมืองยองจะถูกรัฐอื่น ๆ แทรกแซง เช่น เชียงรุ่ง เชียงแขง และเชียงใหม่ ในช่วงสั้น ๆ[9][7]

ต่อมาเมื่อพระยากาวิละฟื้นฟูบ้านเมือง ได้ทำการกวาดต้อนผู้คนจากเมืองยองไปไว้เมืองลำพูนที่ตั้งขึ้นใหม่ใน พ.ศ. 2348[12] ทำให้เมืองยองแทบเป็นเมืองร้าง[13] สร้างความไม่พอใจแก่เจ้ามหาขนานเมืองเชียงตุง และเจ้าพุทธวงศาเจ้าเมืองยอง ทั้งสองจึงเอาใจออกหากไปเข้าฝ่ายพม่า เพราะมองว่าพม่าไม่มีนโยบายกวาดต้อนผู้คน และคิดว่าอย่างไรเสียพม่าก็ต้องขึ้นมาปราบเมืองยองอยู่แล้ว เจ้าพุทธวงศารวบรวมผู้คนได้ 150 ครัวเรือนเศษมาตั้งเมืองยองขึ้นใหม่ แล้วขอร่วมสวามิภักดิ์เข้ากับพม่ามาตั้งแต่นั้น[9][7] ที่สุดเมืองยองถูกผนวกเข้ากับรัฐเชียงตุงใน พ.ศ. 2358[14][15]

ประชากรศาสตร์

ชาติพันธุ์

จากการครองราชย์ของเจ้าสุนันทะ ทรงนำชาวไทลื้อจากเชียงรุ่งกลุ่มเล็ก ๆ เข้ามาด้วย เมืองยองจึงรับวัฒนธรรมไทลื้อ ชาวลัวะซึ่งเป็นชนพื้นเมืองก็รับวัฒนธรรมไทลื้อไปด้วย เช่น การแต่งกาย[8] ส่วนชาวลื้อเมืองยองเองก็ต้องผสมกลมกลืนไปกับชาวลัวะซึ่งเป็นชนพื้นเมือง[16]

ศาสนา

รัฐเมืองยองรับศาสนาพุทธจากเมืองเชียงรุ่ง ดังปรากฏความใน ตำนานเมืองยอง ความว่า "...สัพพัญญูพระพุทธเจ้าโคตมะแห่งเราเกิดมาโปรดโลกและจรเดินบิณฑบาตข้าวลุกแต่เมืองวิเทหราชลงมารอดเมืองมหิยังคะ..."[8] และ ตำนานพระธาตุหลวงจอมยอง ก็ระบุว่าเมืองยองเพิ่งรับศาสนาพุทธหลังเจ้าสุนันทะสร้างเมืองยอง[17] หลังจากนั้นเป็นต้นมาเจ้าผู้ครองเองก็มีศรัทธาในศาสนาพุทธ ออกผนวชกันหมดจนสิ้นวงศ์[8] ต่อมามีคณะสงฆ์จากอาณาจักรล้านนาเดินทางเข้าไปเผยแผ่ศาสนา ดังจะพบว่ามีการสถาปนาวัดนิกายสวนดอก (หรือ นิกายรามัญ) และนิกายป่าแดง (หรือ นิกายสีหล) สู่เมืองยองตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าติโลกราชเป็นต้นมา ซึ่งเกิดขึ้นก่อนการเผยแผ่ศาสนาในรัชสมัยพระเจ้าบุเรงนองเสียอีก[18]

งานพุทธศิลป์แบบล้านนาในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ยังคงหลงเหลืออยู่ในเมืองยอง เช่น พระธาตุหลวงจอมยอง และพระเจ้าทิพย์ (องค์ยืน) พระพุทธรูปในวัดพระแก้วเมืองยอง[19]

อ้างอิง

เชิงอรรถ
  1. "รู้จักประวัติศาสตร์ "ไทยอง" ที่กว่า 80% ของคนลำพูนล้วนสืบเชื้อสายมา". มติชนสุดสัปดาห์. 30 มีนาคม 2562. สืบค้นเมื่อ 2020-09-07.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  2. "ตำนานเมืองยอง". สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. สืบค้นเมื่อ 2020-09-07.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  3. "Gazetteer of Upper Burma and the Shan states"
  4. 4.0 4.1 ประวัติศาสตร์ล้านนา, หน้า 192
  5. 5.0 5.1 5.2 ประวัติศาสตร์ล้านนา, หน้า 231
  6. James B. Minahan, Encyclopedia of the Stateless Nations: p. 2024
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 รัฐฉาน (เมืองไต) : พลวัติของชาติพันธุ์ในบริบทประวัติศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย, หน้า 82
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 8.5 8.6 ประวัติศาสตร์ล้านนา, หน้า 234-235
  9. 9.0 9.1 9.2 ประวัติศาสตร์ล้านนา, หน้า 237
  10. 30 ชาติในเชียงราย, หน้า 242
  11. ประวัติศาสตร์ล้านนา, หน้า 159
  12. รัฐฉาน (เมืองไต) : พลวัติของชาติพันธุ์ในบริบทประวัติศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย, หน้า 80
  13. รัฐฉาน (เมืองไต) : พลวัติของชาติพันธุ์ในบริบทประวัติศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย, หน้า 99
  14. Shan and Karenni States - World Statesmen
  15. Sanda Simms, The Kingdoms of Laos. p. 207
  16. "ทำไมคนยองเมืองลำพูน จึงไม่เรียกตัวเองว่า "ไทลื้อ"". มติชนสุดสัปดาห์. 19 ธันวาคม 2562. สืบค้นเมื่อ 2020-09-07.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  17. พระสกาวุฒิ ยสวฑฺฒโน (ปริวรรต) (31 พฤษภาคม 2562). "ประวัติพระธาตุหลวงจอมยอง สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองยอง". เชียงใหม่นิวส์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-06-30. สืบค้นเมื่อ 2020-09-07.
  18. ประวัติศาสตร์ล้านนา, หน้า 162
  19. รัฐฉาน (เมืองไต) : พลวัติของชาติพันธุ์ในบริบทประวัติศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย, หน้า 95
บรรณานุกรม
  • บุญช่วย ศรีสวัสดิ์. 30 ชาติในเชียงราย. พิมพ์ครั้งที่ 8. กรุงเทพฯ : สยามปริทัศน์, 2557. 592 หน้า. ISBN 978-974-315-871-1
  • สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 7, กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2553. 660 หน้า. ISBN 978-974-8132-15-0
  • เสมอชัย พูลสุวรรณ. รัฐฉาน (เมืองไต) : พลวัติของชาติพันธุ์ในบริบทประวัติศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2552. 222 หน้า. ISBN 9789746605694

 

Prefix: a b c d e f g h i j k l m n o p q r s t u v w x y z 0 1 2 3 4 5 6 7 8 9

Portal di Ensiklopedia Dunia