ยืน ภู่วรวรรณ
รองศาสตราจารย์ ยืน ภู่วรวรรณ (เกิด 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2493) เป็นนักวิทยาการคอมพิวเตอร์ชาวไทย เคยเป็นอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อยู่ก่อนเกษียณอายุราชการ รศ. ยืนมีผลงานเด่นในด้านการพัฒนาการประมวลภาษาธรรมชาติด้วยคอมพิวเตอร์ในภาษาไทย และการการพัฒนาโครงสร้างระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วัยเยาว์และการศึกษารศ. ยืน ภู่วรวรรณ เกิดเมื่อ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2493 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรคนที่สามจากหกคน และเป็นฝาแฝดผู้พี่ของ ศ.ยง ภู่วรวรรณ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อยังเด็ก ครอบครัวได้ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม และได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย และศึกษาระดับปริญญาตรีที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสำเร็จการศึกษาวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วิศวกรรมไฟฟ้า) ใน พ.ศ. 2515 และระดับมหาบัณฑิต (ปริญญาโท) สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสาขาวิศวกรรมอุตสาหการจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ใน พ.ศ. 2517[1][2] การทำงานรศ. ยืน เริ่มทำงานเป็นอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ใน พ.ศ. 2516 โดยได้เริ่มพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับไมโครคอมพิวเตอร์ ใน พ.ศ. 2521 และทำการพัฒนาการประมวลภาษาธรรมชาติตั้งแต่ พ.ศ. 2523 รศ. ยืนและคณะได้สาธิตโปรแกรมประมวลผลคำภาษาไทยครั้งแรกใน พ.ศ. 2524 และพัฒนาโปรแกรม Thai Easy Writer เสร็จในปีถัดมา [3][4] รศ. ยืนเป็นหนึ่งในผู้ที่สนับสนุนให้มีมาตรฐานระบบภาษาไทยสำหรับคอมพิวเตอร์ (ใน พ.ศ. 2527 มีใช้อยู่กว่ายี่สิบระบบ) และเป็นรองประธานคณะกรรมการวิชาการร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รหัสสำหรับอักขระไทยที่ใช้กับคอมพิวเตอร์ (มอก.620-2529 ซึ่งถัดมาปรับปรุงเป็น มอก.620-2533)[5] รศ. ยืนเป็นหัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยไมโครคอมพิวเตอร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้พัฒนาระบบมาตรฐานภาษาไทยระดับแก่น (Thai Kernel System) ใน พ.ศ. 2533 เป็นระบบเคอร์เนลที่รับรองการพัฒนาโปรแกรมที่ใช้ภาษาไทยโดยไม่ต้องขึ้นกับฮาร์ดแวร์ แต่ระบบนี้ไม่สามารถขยายฐานผู้ใช้ได้สำเร็จเมื่อมีการขยายการใช้งานของระบบไมโครซอฟท์ วินโดวส์ในเวลาต่อมา[6] รศ. ยืนเป็นผู้บุกเบิกการใช้ฐานข้อมูลพจนานุกรมสำหรับการแบ่งคำภาษาไทยและการแปลภาษาด้วยเครื่อง ได้จัดทำอรรถาภิธานภาษาไทยเป็นครั้งแรก[7] และได้พัฒนาระบบการวิเคราะห์และสังเคราะห์คำและประโยคสำหรับการตรวจตัวสะกดด้วยคอมพิวเตอร์ ผลงานวิจัยของ รศ. ยืนจำนวนมากที่ได้นำเสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ[8] รศ. ยืนยังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตั้งแต่ พ.ศ. 2533 ซึ่งต่อมาได้มีการใช้ระบบเครือข่ายใยแก้วนำแสงเป็นมหาวิทยาลัยแรกในประเทศไทย และแลนไร้สายทั้งมหาวิทยาลัยใน พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นเครือข่ายที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[9] ทั้งนี้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นผู้บุกเบิกการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศมานาน โดยได้ตั้งสำนักบริการคอมพิวเตอร์เป็นหน่วยงานระดับคณะตั้งแต่ พ.ศ. 2528 ซึ่ง รศ. ยืนก็เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักฯ รศ. ยืนดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศมาตั้งแต่ พ.ศ. 2545 จนเกษียณอายุราชการใน พ.ศ. 2554 รศ. ยืนมีผลงานเขียนหนังสือและตำราด้านคอมพิวเตอร์และด้านอื่น ๆ กว่าหกสิบรายการ และได้รับการยอมรับมานานว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ระดับแนวหน้าของประเทศไทย ชีวิตส่วนตัวรศ. ยืน สมรสกับนางวรรณา ภู่วรวรรณ มีบุตรสาวสองคนและบุตรชายหนึ่งคนคือ ณวรรณ ณัญจนา และ ณัช ภู่วรวรรณ ตามลำดับ รศ. ยืนได้ริเริ่มใช้อีเมลในการสื่อสารกับบุตรทั้งสามคนมาตั้งแต่ พ.ศ. 2537 โดยใช้เป็นตัวกลางในการสื่อสารเวลาอยู่ต่างประเทศ และสอนบทเรียนชีวิตผ่านตัวอย่างที่มักได้จากธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้กูเกิลจึงได้ให้ รศ. ยืนเป็นหนึ่งใน "ฮีโร่เว็บ" ในแคมเปญ "เว็บคือสิ่งที่คุณสร้างสรรค์" ซึ่งเป็นการประชาสัมพันธ์เบราว์เซอร์กูเกิล โครม[10] เกียรติประวัติสภาวิจัยแห่งชาติ ได้มองรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2539 สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ แด่ รศ. ยืน เป็นการประกาศเกียรติคุณสำหรับผลงานวิจัยด้านการประมวลภาษาธรรมชาติด้วยคอมพิวเตอร์อย่างต่อเนื่อง รศ. ยืนยังได้รับรางวัลผลงานคิดค้นหรือสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ จากสภาวิจัยแห่งชาติ ใน พ.ศ. 2526 พ.ศ. 2527 พ.ศ. 2529 พ.ศ. 2530 พ.ศ. 2531 พ.ศ. 2533 และ พ.ศ. 2535 อีกด้วย[11] รศ. ยืนได้ดำรงตำแหน่งกรรมการสมาคมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ เป็นสมาชิกสภาวิจัยแห่งชาติ และเป็นที่ปรึกษาให้กับหน่วยราชการ อาทิเช่นสำนักงบประมาณและกรมสรรพากร รศ. ยืนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในการจัดทำหลักสูตรคอมพิวเตอร์ให้กับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นผู้ดูแลตัวแทนนักเรียนไทยในการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ และเป็นประธานคณะกรรมการจัดงานการแข่งขันฯ ครั้งที่ 23 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพใน พ.ศ. 2554 รางวัลที่ได้รับปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์(การวิเคราะห์ธุรกิจและวิทยาการข้อมูล) จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เครื่องราชอิสริยาภรณ์
อ้างอิง
|
Portal di Ensiklopedia Dunia