พิธีสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน
ธงชาติสาธารณรัฐประชาชนจีน
พิธีสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน (จีน : 中华人民共和国开国大典 ) กระทำโดยเหมา เจ๋อตง ในฐานะประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1949 ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน กรุงปักกิ่ง ในพิธีดังกล่าว เหมาได้ประกาศสถาปนารัฐบาลประชาชนกลาง ซึ่งเป็นรัฐบาลของประเทศใหม่ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน นับเป็นการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ
ก่อนหน้านี้ พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ประกาศตั้งสาธารณรัฐโซเวียตจีน ขึ้นในพื้นที่ที่พรรคควบคุมอยู่ ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในประเทศจีนเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1931 ที่เมืองรุ่ยจิน สาธารณรัฐโซเวียตจีนดำรงอยู่เป็นเวลาเจ็ดปีก่อนที่จะถูกยุบเลิกในปี ค.ศ. 1937
ในพิธีได้มีการบรรเลงเพลงชาติใหม่ คือ "มาร์ชทหารอาสา " และได้ทำการเปิดเผยธงชาติใหม่ของสาธารณรัฐประชาชนจีน (ธงแดงดาวห้า) ต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก โดยมีการชักธงขึ้นสู่ยอดเสาเป็นครั้งแรก พร้อมกันนั้นได้มีการยิงสลุต 21 นัด เป็นการประกาศการก่อตั้งรัฐใหม่ จากนั้นกองทัพปลดปล่อยประชาชน ได้จัดการสวนสนามทางทหารต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก
สาธารณรัฐจีน ได้ถอยร่น ไปยังเกาะไต้หวัน ภายในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1949
ภูมิหลัง
สงครามกลางเมืองจีนเป็นสงครามที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐบาลแห่งชาติสาธารณรัฐจีน ซึ่งนำโดยพรรคก๊กมินตั๋ง กับพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยมีการสู้รบอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1927 จนถึง 1949 สงครามครั้งนี้แบ่งออกเป็นสองช่วงโดยมีช่วงคั่นคือตั้งแต่เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1927 ถึง 1937 แนวร่วมที่หนึ่ง ได้สิ้นสุดลงระหว่างการกรีธาทัพขึ้นเหนือ และฝ่ายชาตินิยมได้เข้าควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศจีน วันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1931 พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ประกาศตั้งสาธารณรัฐโซเวียตจีน ใน เมืองรุ่ยจิน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ควบคุม อยู่ และรัฐบาลสาธารณรัฐโซเวียตจีนได้อพยพไปยังเมืองเหยียนอาน ในระหว่างการเดินทัพทางไกล จนกระทั่งสาธารณรัฐโซเวียตจีนถูกยุบเลิก[ต้องการอ้างอิง ] ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1937 ถึง 1945 การสู้รบภายในได้ยุติลงชั่วคราว และแนวร่วมที่สอง ได้ร่วมกันต่อสู้กับการรุกรานของญี่ปุ่นในประเทศจีน โดยได้รับความช่วยเหลือจากฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่สอง ในเวลาต่อมา หลังการพ่ายแพ้ของญี่ปุ่น สงครามกลางเมืองได้กลับมาปะทุขึ้นอีกครั้ง และฝ่ายคอมมิวนิสต์สามารถครองความได้เปรียบในระยะสุดท้ายของสงครามตั้งแต่ปี ค.ศ. 1945 ถึง 1949 ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเรียกว่าการปฏิวัติคอมมิวนิสต์จีน
การสู้รบครั้งใหญ่ในสงครามกลางเมืองจีน สิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1949 โดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของจีนแผ่นดินใหญ่ ได้สำเร็จ ขณะที่พรรคก๊กมินตั๋งต้องล่าถอย ไปยังนอกชายฝั่ง ทำให้ดินแดนที่ยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมเหลือเพียงเกาะไต้หวัน (อดีตอาณานิคมของญี่ปุ่นที่ได้รับคืนมาในปี ค.ศ. 1945) เกาะไหหลำ และหมู่เกาะโดยรอบ วันที่ 21 กันยายน ค.ศ. 1949 เหมา เจ๋อตง ประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้ประกาศก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนด้วยสุนทรพจน์ในการประชุมเต็มคณะครั้งแรกของสภาที่ปรึกษาทางการเมืองประชาชนจีน [ 1] [ 2] [ 3] ต่อมาได้มีการจัดพิธีฉลองอย่างยิ่งใหญ่ ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน ในวันที่ 1 ตุลาคม โดยเหมาได้อ่านประกาศอย่างเป็นทางการบนหอประตูเทียนอันเหมิน ทำให้วันที่ 1 ตุลาคมกลายเป็นวันชาติ ครั้งแรกของประเทศใหม่[ 4]
คำประกาศ
เวลา 15:00 น. ตามเวลาปักกิ่ง ของวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1949 เหมาได้ประกาศต่อสาธารณชนจากบนหอประตูเทียนอันเหมิน[ 5]
同胞们,中华人民共和国中央人民政府今天成立了!Tóngbāo men, Zhōnghuá Rénmín Gònghéguó Zhōngyāng Rénmín Zhèngfǔ jīntiān chénglì le!
เพื่อนร่วมชาติทั้งหลาย วันนี้ รัฐบาลประชาชนกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ก่อตั้งแล้ว
ภายหลังจากการบรรเลงเพลงชาติเสร็จสิ้น ประธานเหมาได้ประกาศการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนในวันนั้นบนหอประตูเทียนอันเหมิน โดยมีถ้อยแถลงดังนี้
ประชาชนชาวจีนทั่วประเทศต้องเผชิญความทุกข์ยากและความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสมาโดยตลอด นับตั้งแต่รัฐบาลก๊กมินตั๋ง ซึ่งนำโดยเจียง ไคเชกได้ทรยศต่อปิตุภูมิ สมรู้กับจักรวรรดินิยม และก่อสงครามต่อต้านการปฏิวัติ โชคดีที่กองทัพปลดปล่อยประชาชนของเราอันได้รับการสนับสนุนจากทั่วทั้งประเทศในการต่อสู้ด้วยความกล้าหาญและเสียสละเพื่อปกป้องอธิปไตยเหนือดินแดนของบ้านเกิด เพื่อคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เพื่อบรรเทาความทุกข์ยากของประชาชน และเพื่อต่อสู้เพื่อสิทธิของประชาชน และในที่สุดก็สามารถกวาดล้างกองกำลังต่อต้านการปฏิวัติและโค่นล้มรัฐบาลชาตินิยมได้ สงครามปลดปล่อยประชาชนได้รับชัยชนะโดยพื้นฐาน และประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศได้รับการปลดปล่อยแล้ว บนพื้นฐานดังกล่าว จึงได้มีการตั้งสภาที่ปรึกษาการเมืองประชาชนจีนสมัยประชุมแรกขึ้น อันประกอบด้วยผู้แทนจากพรรคการเมืองประชาธิปไตยทุกพรรค องค์กรประชาชนของจีน กองทัพปลดปล่อยประชาชน ภูมิภาคและชนชาติต่าง ๆ ทั่วประเทศ ชาวจีนโพ้นทะเล และผู้รักชาติทั้งหลาย
ในฐานะตัวแทนเจตจำนงของประชาชนทั้งชาติ [สมัยประชุมนี้] จึงได้ตรากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยรัฐบาลประชาชนกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และได้ดำเนินการเลือก
เหมา เจ๋อตง ให้ดำรงตำแหน่งประธานรัฐบาลประชาชนกลาง
จู เต๋อ , หลิว เช่าฉี , ซ่ง ชิ่งหลิง , หลี่ จี้เชิน , จาง หลาน และเกา กั่ง ให้ดำรงตำแหน่งรองประธานรัฐบาลประชาชนกลาง และ
เฉิน อี้ , เฮ่อหลง , หลี่ ลี่ซาน , หลิน ปั๋วฉฺวี , เย่ เจี้ยนอิง , เหอ เซียงหนิง , หลิน เปียว , เผิง เต๋อหวย , หลิว ปั๋วเฉิง , อู๋ ยฺวี่จาง , สฺวี เซี่ยนเฉียน , เผิง เจิน , ปั๋ว อีปัว , เนี่ย หรงเจิน , โจว เอินไหล , ต่ง ปี้อู่ , ไซ่ ฝูติ่ง , เหรา ชู่ฉือ , เฉิน เจียเกิง , หลัว หรงหวน , เติ้ง จื่อฮุย , โอลางฮู , สฺวี เท่อลี่ , ไช่ ช่าง , หลิว เก๋อผิง , หม่า อิ๋นชู , เฉิน ยฺหวิน , คัง เชิง , หลิน เฟิง , หม่า ซฺวี่หลุน , กัว มั่วรั่ว , จาง ยฺหวินอี้ , เติ้ง เสี่ยวผิง , เกา ฉงหมิน , เฉิ่น จฺวินหรู , เฉิ่น เหยียนปิง , เฉิน ชูทง , ซือถู เหม่ย์ถาง, หลี่ สีจิ่ว, หวง เหยียนเผย์ , ไช่ ถิงไข่ , สี จ้งซฺวิน , เผิง เจ๋อหมิน, จาง จื้อจง , ฟู่ จั้วอี้ , หลี่ จู๋เฉิน , หลี่ จางต๋า, จาง หนานเซียน, หลิ่ว ย่าจื่อ , จาง ตงซุน และหลง ยฺหวิน ให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภา เพื่อจัดตั้งสภารัฐบาลประชาชนกลาง
ประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนและกำหนดให้ปักกิ่ง เป็นเมืองหลวงของสาธารณรัฐประชาชนจีน
สภารัฐบาลประชาชนกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ณ กรุงปักกิ่งในวันนี้ และมีมติเป็นเอกฉันท์ดังต่อไปนี้:
ให้ประกาศจัดตั้งรัฐบาลกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
ให้นำนโยบายร่วมของสภาที่ปรึกษาทางการเมืองประชาชนจีนมาใช้เป็นนโยบายของรัฐบาล
แต่งตั้งหลิน ปั๋วฉฺวี จากบรรดาสมาชิกสภา ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภารัฐบาลประชาชนกลาง
แต่งตั้งโจว เอินไหล ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสภาบริหารรัฐบาลของรัฐบาลประชาชนกลาง และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศควบคู่ไปด้วย
แต่งตั้งเหมา เจ๋อตง ให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการทหารปฏิวัติของรัฐบาลประชาชนกลาง
แต่งตั้งจู เต๋อ ให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพปลดปล่อยประชาชน
แต่งตั้งเฉิ่น จฺวินหรู ให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลประชาชนสูงสุด ของรัฐบาลประชาชนกลาง และ
แต่วตั้งหลัว หรงหวน ให้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดของสำนักงานอัยการประชาชนสูงสุด ของรัฐบาลประชาชนกลาง
และมอบหมายให้บุคคลเหล่านั้นดำเนินการจัดตั้งหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐบาลขึ้นโดยเร็วเพื่อดำเนินงานของรัฐบาล
ขณะเดียวกัน สภารัฐบาลประชาชนกลางได้มีมติให้ประกาศไปยังรัฐบาลของประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกว่า รัฐบาลปัจจุบันนี้เป็นรัฐบาลเดียวที่มีอำนาจตามกฎหมายในการเป็นตัวแทนของประชาชนชาวสาธารณรัฐประชาชนจีน รัฐบาลนี้พร้อมที่จะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลต่างประเทศใด ๆ ที่ยินดีปฏิบัติตามหลักการแห่งความเสมอภาค ประโยชน์ร่วมกัน และการเคารพซึ่งกันและกันในอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน
กรุงปักกิ่ง วันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1949
การเฉลิมฉลอง
การสวนสนามทหารในวันชาติครั้งแรกถูกจัดขึ้นทันทีหลังจากการประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีเนี่ย หรงเจิน ผู้บัญชาการมณฑลทหารภาคเหนือ เป็นผู้บัญชาการ และจู เต๋อ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดกองทัพปลดปล่อยประชาชน เป็นผู้ตรวจพล การสวนสนามครั้งนี้มีกำลังพลของกองทัพปลดปล่อยประชาชนเข้าร่วมประมาณ 16,000 นาย[ 7] การสวนสนามทหาร ซึ่งได้รับอนุมัติในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1949 นับเป็นการสวนสนามทหารครั้งแรกของจีนที่มีขนาดใหญ่และทันสมัย โดยประเทศจีนไม่เคยจัดการสวนสนามทหารต่อสาธารณชนมาก่อนภายใต้รัฐบาลชุดก่อนหน้า หลิว ปั๋วเฉิง ได้เสนอให้ผู้บังคับการสวนสนาม หยาง เฉิงอู่ และถัง เยี่ยนเจี๋ย จัดการสวนสนามโดยอิงรูปแบบของโซเวียต ซึ่งเขาเองได้เคยเข้าร่วมชมการเดินสวนสนามบนจัตุรัสแดง กรุงมอสโก วงดุริยางค์มณฑลทหารภาคเหนือ (ปัจจุบันคือกองดุริยางค์ทหารกองทัพปลดปล่อยประชาชน ) ได้ให้การบรรเลงเพลงประกอบ ซึ่งรวมถึงเพลงมาร์ชกองทัพปลดปล่อยประชาชน [ 5]
ผลที่ตามมา
สาธารณรัฐจีนได้ถอยร่น ไปยังเกาะไต้หวัน ภายในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1949 พรรคคอมมิวนิสต์จีนกลายเป็นพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวที่ปกครองประเทศจีน ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่าสาธารณรัฐประชาชนจีน มาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1949 สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ประกาศอย่างเป็นทางการในรัฐธรรมนูญ ว่าไต้หวัน เป็นมณฑล ที่ 23 ของตน โดยมีชื่อทางการว่ามณฑลไต้หวัน สาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งตั้งอยู่บนแผ่นดินใหญ่และ สาธารณรัฐจีนซึ่งตั้งอยู่บนเกาะไต้หวันต่างอ้างสิทธิ์อย่างเป็นทางการ ว่าตนเป็นรัฐบาลที่ชอบธรรมเพียงหนึ่งเดียวของประเทศจีนทั้งหมด ยังไม่มีการลงนามสงบศึก หรือสนธิสัญญาสันติภาพ ใด ๆ เพื่อยุติสงครามกลางเมืองจีนมาจนถึงปัจจุบัน[ 8]
ทันทีหลังจากการประกาศสถาปนา สหภาพโซเวียตและรัฐคอมมิวนิสต์อื่น ๆ เป็นประเทศแรกที่ให้การยอมรับสาธารณรัฐประชาชนจีน ส่วนประเทศตะวันตกหลายประเทศรวมถึงสหรัฐในช่วงแรกยังคงยอมรับการย้ายถิ่นฐานของสาธารณรัฐจีนไปยังไต้หวันว่าเป็นรัฐบาลที่ชอบธรรมของจีน[ 9] หลังจากการประกาศสถาปนา สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อผนวกอำนาจจากรัฐบาลสาธารณรัฐจีน และเริ่มกระบวนการยึดภาคอุตสาหกรรมเป็นของรัฐ[ 10]
ปฏิกิริยา
ในวัฒนธรรมสมัยนิยม
ภาพยนตร์ที่มีฉากพิธีสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้แก่:
การกำเนิดจีนใหม่ (พ.ศ. 2532)
มังกรสร้างชาติ (พ.ศ. 2552)
ฉันและมาตุภูมิของฉัน (พ.ศ. 2562)
ดูเพิ่ม
อ้างอิง
↑ "The Chinese people have stood up" . UCLA Center for East Asian Studies. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 18 February 2009. สืบค้นเมื่อ 16 April 2006 .
↑ Peaslee, Amos J. (1956), "Data Regarding the 'People's Republic of China' ", Constitutions of Nations, Vol. I, 2nd ed. , Dordrecht: Springer, p. 533, ISBN 978-94-017-7125-2 , เก็บ จากแหล่งเดิมเมื่อ October 28, 2020, สืบค้นเมื่อ May 4, 2020
↑ Chaurasia, Radhey Shyam (2004), History of Modern China , New Delhi: Atlantic, p. 1 , ISBN 978-81-269-0315-3 , เก็บ จากแหล่งเดิมเมื่อ March 15, 2020, สืบค้นเมื่อ December 15, 2019
↑ Westcott, Ben; Lily Lee (September 30, 2019). "They were born at the start of Communist China. 70 years later, their country is unrecognizable" . CNN . เก็บ จากแหล่งเดิมเมื่อ December 15, 2019. สืบค้นเมื่อ December 15, 2019 .
↑ 5.0 5.1 The Rise Of Mao Zedong | Parade Of The Waking Giant | Timeline (ภาษาอังกฤษ), June 26, 2021, เก็บ จากแหล่งเดิมเมื่อ June 28, 2021, สืบค้นเมื่อ 2021-07-02
↑ Mao, Zedong (1 October 1949). "Proclamation of the Central People's Government of the PRC" . Wilson Center . สืบค้นเมื่อ 5 May 2024 .
↑ "Reds Proclaim a Republic in China; Chou is Premier; Chinese Republic Launched by Reds" . The New York Times . เก็บ จากแหล่งเดิมเมื่อ June 8, 2021. สืบค้นเมื่อ October 8, 2019 .
↑ Lynch, Michael (9 October 2022). "The Chinese Civil War: 1945–49" . Osprey Publishing . สืบค้นเมื่อ 4 April 2024 . There is also a sense in which the Chinese Civil War has not ended; no formal peace treaty or agreement has ever been made.
↑ Lieberthal, Kenneth (1978). "The Politics of Modernization in the PRC". [ต้องการอ้างอิงเต็มรูปแบบ ]
↑ Croizier, R (1990). "World History in the People's Republic of China". Journal of World History .