พระครูสวางคมุนี (จัน)
พระครูสวางคมุนี (จัน) (นามเดิม: จัน) อดีตเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ (ก่อน พ.ศ. 2431 - ก่อน พ.ศ. 2442) เป็นพระมหาเถระรูปสำคัญของเมืองฝาง ในช่วงรอยต่อการปฏิรูปการปกครองส่วนภูมิภาคในสมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนที่เมืองบางโพและเขตเมืองฝางจะได้รับการยกฐานะเป็นเมืองอุตรดิตถ์ ในต้นรัชกาลที่ 6 ท่านได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่เมืองฝาง ซึ่งเคยเป็นตำแหน่งสังฆราชาเจ้าคณะเมืองเก่าแก่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นรูปสุดท้าย ประวัติพระครูสวางคมุนี (จัน) เป็นพระเถระที่ได้รับความเคารพนับถือในเขตเมืองสวางคบุรี หรือเมืองฝาง ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา และดำรงตำแหน่งเจ้าอธิการ (เทียบได้กับเจ้าคณะแขวงในปัจจุบัน) ก่อนได้รับพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์เป็นเจ้าคณะใหญ่เมืองฝางในปี พ.ศ. 2431 หลังพระอาจารย์วอน วัดต้นมะขาม ซึ่งพระอาจารย์วอนได้ดำรงตำแหน่งพระครูสวางคมุนีและย้ายไปจำพรรษาวัดวังตะม่อ ในปี พ.ศ. 2427[1] ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่เมืองฝางในปี พ.ศ. 2529[2] สันนิษฐานว่าพระอาจารย์วอนได้มรณภาพไปก่อนที่เจ้าอธิการจัน วัดคุ้งตะเภา จะได้รับพระราชทานตั้งให้เป็นเจ้าคณะใหญ่เมืองฝางแทนตำแหน่งที่ว่างลง พร้อมกับได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ให้เป็นที่พระครูสวางคมุนี ในปี พ.ศ. 2431 โดยเจ้าอธิการจัน ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากรัชกาลที่ 5 ที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เข้ารับสถาปนาตั้งตำแหน่งพระสงฆ์เจ้าคณะเมือง พร้อมกับเจ้าคณะเมืองต่าง ๆ รวม 31 รูป ในวันจันทรคติตรงกับ แรม 15 ค่ำ เดือนแปด (บุรพาสาธ) ปีชวดสัมฤทธิศก จุลศักราช 1250 สุริยคติตรงกับ วันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2431 โดยรัชกาลที่ 5 ได้เสด็จออกพร้อมกับ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เพื่อทรงประกอบพระราชกรณียกิจสำคัญในการทรงสถาปนาตั้งตำแหน่งพระสงฆ์สำคัญเพื่อปกครองสังฆมณฑล โดยได้พระราชทานผ้าไตรและสัญญาบัตร ให้เจ้าอธิการจัน วัดคุ้งตะเภา เป็นพระครูสวางคมุนี เจ้าคณะใหญ่เมืองฝาง พร้อมทั้งพระราชทานตาลปัตรพุดตาลทองแผ่ลวด พัดรองโหมด ย่ามสักลาด บาตรถุงสักลาด กาน้ำถ้วยกระโถนถ้วยร่มรองเท้า สำหรับเป็นเครื่องประกอบสมณศักดิ์อีกด้วย[3] พระครูสวางคมุนี (จัน) เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภานั้น นับเป็นพระเถระรูปสุดท้ายที่ได้รับพระราชทานราชทินนามโบราณสำหรับพระสังฆราชาเมืองฝาง ที่ปรากฏมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เพราะหลังจากนั้นได้มีการเปลี่ยนแปลงเขตการปกครองคณะสงฆ์ในเมืองฝางใหม่ โดยแยกตั้งเจ้าคณะเมืองอุตรดิฐขึ้นเป็นครั้งแรก โดยเจ้าอธิการแสง วัดท่าทราย ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูอุทิศติยวงษ์คีรีเขตร (แสง) ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะเมืองอุตรดิฐ เมืองทุ่งยั้ง เมืองลำพูน (ตำบลแม่พูล อ.ลับแล ในปัจจุบัน) เมืองลับแล ในปี พ.ศ. 2432[4] ซึ่งเขตปกครองของเจ้าคณะเมืองอุตรดิตถ์ฯ ใหม่ อยู่ในฝั่งขวาแม่น้ำน่านทั้งหมด เมื่อพระครูสวางคมุนี (จัน) วัดคุ้งตะเภา มรณภาพลง และมีการตราพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 ในปี พ.ศ. 2445 รวมถึงเหตุการณ์ยกฐานะเมืองบางโพเป็นเมืองอุตรดิตถ์ ในต้นรัชกาลที่ 6 ทำให้พื้นที่ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของเขตเมืองฝางได้ถูกรวมเข้ากับเมืองอุตรดิตถ์โดยสมบูรณ์ เพราะไม่ปรากฏการใช้ชื่อเมืองฝางในการตั้งหรือเรียกชื่อเมือง รวมถึงไม่ปรากฏการพระราชทานสมณศักดิ์ตั้งพระสงฆ์รูปใดให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่เมืองฝางอีก พระครูสวางคมุนี (จัน) วัดคุ้งตะเภา จึงเป็นพระเถระผู้ได้เคยดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่เมืองฝาง ซึ่งเคยเป็นนามตำแหน่งสังฆราชาเจ้าคณะเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นรูปสุดท้าย[5] ปัจจุบันยังหลงเหลือฐานเจดีย์บรรจุอัฐิของท่านในวัดคุ้งตะเภา อ้างอิง
ดูเพิ่มวิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ Wat Khung Taphao
|
Portal di Ensiklopedia Dunia