ฌาอีร์ โบลโซนารู
ฌาอีร์ เมซีอัส โบลโซนารู (โปรตุเกส: Jair Messias Bolsonaro; เกิด 21 มีนาคม พ.ศ. 2498) เป็นนักการเมืองและเป็นอดีตทหารกองทัพบกบราซิล เขาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบราซิลตั้งแต่ พ.ศ. 2534 และปัจจุบันเป็นสมาชิกพรรคสังคมเสรีนิยม โบลโซนารูเป็นบุคคลหนึ่งที่เป็นประเด็นโต้เถียงในบราซิล โดยเป็นที่รู้จักจากมุมมองทางการเมืองฝ่ายขวาจัดและประชานิยม รวมทั้งการแสดงความเห็นเชิงสนับสนุน ระบอบเผด็จการทหารระหว่าง พ.ศ. 2507–2528[1][2][3][4] โบลโซนารูเข้าร่วมกองทัพบราซิลในปี พ.ศ. 2516 และสำเร็จการศึกษาวิชาทหารจากสถาบันเตรียมทหารอากุลยัสเนกรัสในปี พ.ศ. 2520 ในปี พ.ศ. 2529 เขามีชื่อเสียงจากการลงบทความในนิตยสารชื่อดังภายในประเทศวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับปัญหารายได้ต่ำของทหารชั้นผู้น้อย[5] ส่งผลให้เขาถูกจับกุมและถูกจำคุก 15 ปีและถูกปลดออกจากกองทัพ เขาจึงหันเข้าสู่สนามการเมืองโดยเริ่มต้นจากการดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากรัฐรีโอเดจาเนโรในปี พ.ศ. 2533 และดำรงตำแหน่งนี้ร่วม 27 ปี จากนั้นเขาได้ลงสมัครเป็นตัวแทนพรรคในการเลือกตั้งทั่วไปใน พ.ศ. 2561 และได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีในการเลือกครั้งที่สอง[4] ซึ่งในสมัยที่เขาดำรงตำแหน่ง เขาดำเนินนโยบายแก้ปัญหาความยากจนของชาวบราซิลรวมทั้งลดปัญหาอาชญากรรมในประเทศ อย่างไรก็ตามด้วยนโยบายของเขาที่เอื้อให้เกิดการทำลายระบบนิเวศในเขตพื้นที่ป่าดิบชื้นแอมะซอน[6] และการบริหารในช่วงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019ที่ไร้ประสิทธิภาพโดยรัฐบาลของเขา ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จนเกิดการประท้วงต่อต้านเขาและรัฐบาลของเขาทั่วประเทศ[7] โดยมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสโคโรนาในประเทศบราซิลร่วม 500,000 คน[8][9] ส่งผลให้เขาถูกฟ้องร้องในข้อหาอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติจากการบริหารสถานการณ์ดังกล่าวที่เป็นไปอย่างไม่สู้ดีนัก ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีบราซิลเมื่อปี พ.ศ. 2565 เขาพ่ายแพ้ให้แก่ลูอิส อีนาซียู ลูลา ดา ซิลวาซึ่งส่งผลให้ลูลาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่สอง[10] หลังจากนั้นเขาได้ไปใช้ชีวิตอยู่ที่รัฐฟลอริดา สหรัฐเป็นส่วนใหญ่[11][12] และเกิดการจลาจลในปีเดียวกันจากฝ่ายผู้สนับสนุเขาที่บุกเข้าไปในรัฐสภาของบราซิลเพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านการดำรงตำแหน่งของลูลา[13] ในทัศนคติทางการเมืองของเขาจัดอยู่ในกลุ่มขวาจัด และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐ[14]และประเทศอิสราเอล[15] อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
|
Portal di Ensiklopedia Dunia