ฌาน

ฌาน (บาลี) หรือ ธยาน (สันสกฤต) หมายถึง การเพ่งอารมณ์จนใจแน่วแน่เป็นอัปปนาสมาธิ ภาวะจิตสงบประณีต ซึ่งมีสมาธิเป็นองค์ธรรมหลัก

ฌาน 2

ฌานแบ่งออกเป็นสองประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่

  1. อารัมมณูปนิชฌาน การเพ่งอารมณ์ ได้แก่ สมาบัติ 8 คือ รูปฌาน 4 และอรูปฌาน 4
  2. ลักขณูปนิชฌาน การเพ่งลักษณะ ได้แก่ วิปัสสนา มรรค ผล
    1. วิปัสสนา ชื่อว่า ลักขณูปนิชฌาน เพราะพินิจสังขารโดยไตรลักษณ์
    2. มรรค ชื่อว่า ลักขณูปนิชฌาน เพราะยังกิจแห่งวิปัสสนานั้นให้สำเร็จ
    3. ผล ชื่อว่า ลักขณูปนิชฌาน เพราะเพ่งนิพพาน อันมีลักษณะเป็น สุญญตะ อนิมิตตะ และอัปปณิหิตะ อย่างหนึ่ง และเพราะเห็นลักษณะอันเป็นสัจจภาวะของนิพพาน อย่างหนึ่ง

ฌาน 2 ประเภท

แต่โดยทั่วไป เมื่อกล่าวถึงประเภทของฌาน มักแบ่งฌานออกเป็นสองประเภทใหญ่ ๆ คือ

  1. รูปฌาน ฌานมีรูปธรรมเป็นอารมณ์ ฌานที่เป็นรูปาวจร ได้แก่
  1. ปฐมฌาน (ฌานที่ 1) ประกอบด้วย วิตก วิจาร ปิติ สุข เอกัคคตา
  2. ทุติยฌาน (ฌานที่ 2) ประกอบด้วย ปิติ สุข เอกัคคตา
  3. ตติยฌาน (ฌานที่ 3) ประกอบด้วย สุข เอกัคคตา
  4. จตุตถฌาน (ฌานที่ 4) ประกอบด้วย อุเบกขา เอกัคคตา
  1. อรูปฌาน ฌานมีอรูปธรรมเป็นอารมณ์ ฌานที่เป็นอรูปาวจร ได้แก่
  1. อากาสานัญจายตนะ (มีความว่างเปล่าคืออากาสไม่มีที่สิ้นสุดเป็นอารมณ์)
  2. วิญญาณัญจายตนะ (มีความว่างระดับนามธาตุคือความว่างในแบบที่อายตนะภายนอกและภายในไม่กระทบกันจนเกิดวิญญาณธาตุการรับรู้ขึ้นเป็นอารมณ์)
  3. อากิญจัญญายตนะ (การไม่มีอะไรเลยเป็นอารมณ์)
  4. เนวสัญญานาสัญญายตนะ (จะว่ามีสัญญาก็มิใช่ไม่มีสัญญาก็มิใช่ คือแม้แต่อารมณ์ว่าไม่มีอะไรเลยก็ไม่มี)

เมื่อกล่าวสั้น ๆ ว่า "ฌาน 4" จะหมายถึง แค่รูปฌาน 4 และเมื่อกล่าวสั้น ๆ ว่า "ฌาน 8" จะหมายถึง รูปฌาน 4 กับ อรูปฌาน 4 แต่ตามหลักอภิธรรมโดยสภาวะ อรูปฌานทั้ง 4 ท่านจัดว่าเป็นเพียงจตุตถฌาน เพราะประกอบด้วย อุเบกขา เอกกัคคตา เช่นเดียวกับจตุตถฌานของรูปฌาน เพียงแต่มีอารมณ์ที่ละเอียดลึกซึ้งกว่า จึงแยกเรียกโดยบัญญัติว่าฌาน 8 เพื่อความเข้าใจ

สิ่งที่ใช้เป็นอารมณ์ในการเพ่งจนได้ฌาน ได้มีการรวบรวมไว้เรียกว่าสมถกรรมฐาน สิ่งที่ขวางกั้นจิต ไม่ให้เกิดฌาน คือ นิวรณ์

ฌานสมาบัติ

สมาบัติ เป็นภาวะสงบประณีตซึ่งพึ่งเข้าถึง มีหลายอย่าง เช่น ฌานสมาบัติ ผลสมาบัติ เป็นต้น สมาบัติที่กล่าวถึงบ่อยคือ ฌานสมาบัติ กล่าวคือ สมาบัติ 8 อันได้แก่ ฌาน 8 (รูปฌาน 4 กับ อรูปฌาน 4)

ในบางกรณี รูปฌาน 4 อาจถูกจำแนกใหม่ในรูปแบบของ ปัญจมฌาน เป็นการจำแนกตามแบบพระอภิธรรม เรียกว่า ปัญจกนัย การจำแนกตามแบบพระสูตร เรียกว่า จตุกนัย ที่ต้องจำแนกเป็นปัญจมฌาน เนื่องจากฌานลาภี (ผู้ได้ฌาน) มี 2 ประเภท คือ ติกขบุคคล (ผู้รู้เร็ว) และ มันทบุคคล (ผู้รู้ช้า)

อนุปุพพวิหารสมาบัติ 9 หมายถึง สมาบัติ 8 กับ นิโรธสมาบัติ

อ้างอิง

ดูเพิ่ม

  • เซน ลักษณะของฌานในวัฒนธรรมญี่ปุ่น

 

Prefix: a b c d e f g h i j k l m n o p q r s t u v w x y z 0 1 2 3 4 5 6 7 8 9

Portal di Ensiklopedia Dunia