ไดมอนด์พรินเซส (เรือ)
ไดมอนด์พรินเซส เป็นเรือสำราญสัญชาติอังกฤษที่ดำเนินการโดยสายการเดินเรือ พรินเซสครูซเซส ซึ่งเริ่มดำเนินการเดินเรือในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2547 โดยล่องเรือในภูมิภาคเอเชียเป็นหลักในช่วงฤดูร้อนของซีกโลกเหนือ และบริเวณออสเตรเลียในช่วงฤดูร้อนของซีกโลกใต้ เป็นเรือในชั้นย่อยของแกรนด์คลาส ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อเรือชั้นเจมคลาส ไดมอนด์พรินเซส และเรือพี่น้อง แซฟไฟร์พรินเซส เป็นชั้นย่อยของเรือแกรนด์คลาส ที่มีขนาดกว้างที่สุดโดยมีความกว้างของลำเรือ 37.5 เมตร (123 ฟุต 0 นิ้ว) ในขณะที่เรือแกรนด์คลาสอื่น ๆ ทั้งหมดมีความกว้างของลำเรือ 36 เมตร (118 ฟุต 1 นิ้ว) ไดมอนด์พรินเซส และ แซฟไฟร์พรินเซส ถูกต่อขึ้นที่เมืองนางาซากิ ประเทศญี่ปุ่นโดยบริษัทมิตซูบิชิเฮฟวีอินดัสทรีส์ การสร้างเรือเดิมทีเรือลำนี้ตั้งใจจะประกอบพิธีปล่อยเรือลงน้ำในชื่อ แซฟไฟร์พรินเซส อย่างไรก็ตามการต่อเรืออีกลำหนึ่งที่เดิมตั้งใจจะตั้งชื่อเป็น ไดมอนด์พรินเซส (ปัจจุบันเดินเรือในชื่อ แซฟไฟร์พรินเซส) - ล่าช้าออกไปเมื่อมีเหตุไฟลุกไหม้บริเวณดาดฟ้าระหว่างการประกอบเรือ เนื่องจากการซ่อมแซมความเสียหายของเรือให้สมบูรณ์ต้องทำให้กำหนดการล่าช้าออกไป เรือพี่น้องซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างจึงได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น ไดมอนด์พรินเซส แทน ซึ่งการแลกเปลี่ยนชื่อช่วยให้การส่งมอบของ ไดมอนด์พรินเซส ตรงเวลา[3] เรือลำนี้เป็นเรือของสายการเดินเรือ พรินเซสครูซเซส ลำแรกที่สร้างในอู่ต่อเรือญี่ปุ่น และไม่มี "ปีก" หรือ "สปอยเลอร์" บริเวณใกล้ปล่องไฟของเรือ ซึ่งเป็นบริเวณที่ตั้งของสกายวอร์กเกอร์ไนท์คลับที่เป็นที่รู้จักกันดี และสามารถพบได้ในเรือลำอื่นคือ แคริบเบียนพรินเซส, สตาร์พรินเซส และ คราวน์พรินเซส เครื่องกลเรือโรงจักรดีเซลไฟฟ้าของ ไดมอนด์พรินเซส มีเครื่องยนต์กำเนิดกำลังดีเซลสี่เครื่อง และเครื่องยนต์กำเนิดกำลังกังหันก๊าซหนึ่งเครื่อง เครื่องยนต์กำเนิดกำลังดีเซลคือเครื่องยนต์คอมมอนเรลของบริษัท วราตสิลา (Wärtsilä) รุ่น 46 series เป็นเครื่องยนต์สูบเรียง 9 กระบอกสูบจำนวนสองแถว (9L46), และ 8 กระบอกสูบแถวเรียงจำนวนสองแถว (8L46) เครื่องยนต์ 8 สูบและ 9 สูบสามารถผลิตพลังงานได้ประมาณ 8,500 กิโลวัตต์ (11,400 แรงม้า) และ 9,500 กิโลวัตต์ (12,700 แรงม้า) ตามลำดับ เครื่องยนต์เหล่านี้ใช้เชื้อเพลิงชนิดน้ำมันเตาชนิดที่ 2 หรือน้ำมันเตาซี (Heavy Fuel Oil, HFO หรือ Bunker C) และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (Marine Gas Oil, MGO) ขึ้นอยู่กับระเบียบข้อบังคับของท้องถิ่นเกี่ยวกับการปล่อยมลพิษทางอากาศ เนื่องจากการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว สร้างการปล่อยมลพิษที่ต่ำกว่ามากแต่ก็มีราคาที่สูงกว่ามาก เครื่องยนต์กำเนิดกำลังกังหันก๊าซเป็นเครื่องของบริษัทเจเนอรัลอิเล็กทริก รุ่น LM2500 ที่มีกำลังสูงสุด 25,000 กิโลวัตต์ (34,000 แรงม้า) ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงดีเซลหมุนเร็ว (MGO) เครื่องยนต์กำเนิดกำลังนี้มีต้นทุนในการเดินเครื่องสูงกว่าเครื่องยนต์กำเนิดกำลังดีเซล และส่วนใหญ่จะใช้ในพื้นที่เช่น รัฐอะแลสกาที่กฎระเบียบการปล่อยมลพิษมีความเข้มงวด นอกจากนี้ยังใช้เมื่อต้องการความเร็วสูงเพื่อนำเรือเข้าเทียบท่าในระยะเวลาที่สั้นลง มีเครื่องกลไฟฟ้าขับเคลื่อน (Propulsion Electric Motors, PEMs) สองตัวที่ขับเคลื่อนใบจักรแบบปีกปรับมุมบิดไม่ได้ และมีทรัสเตอร์ 6 ตัวซึ่งใช้เมื่อต้องการเปลี่ยนทิศทางของหัว/ท้ายเรือ ซึ่งสามตัวอยู่บริเวณหัวเรือและสามตัวที่ท้ายเรือ มอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนเป็นมอเตอร์ซิงโครนัสชนิดทั่วไปที่ผลิตโดยบริษัทอัลสตอม มอเตอร์ทั้งสองนั้นแต่ละตัวมีพิกัดอยู่ที่ 20 เมกะวัตต์ และมีความเร็วสูงสุด 154 รอบต่อนาที (พิกัดความเร็ว 0-145 รอบต่อนาที) ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2560 ไดมอนด์พรินเซส ได้รับการดัดแปลงเพิ่มระบบหล่อลื่นด้วยอากาศที่ลำเรือ (Hull air lubrication system) เพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงและการปล่อยก๊าซ CO2 จากการเดินเรือ[4] เส้นทางล่องเรือก่อนปี พ.ศ. 2557 ไดมอนด์พรินเซส สลับการแล่นเรือไปทางทิศเหนือและทางทิศใต้ โดยเป็นโปรแกรม voyages of the glacier ซึ่งเป็นการล่องเรือชมธารน้ำแข็งในช่วงฤดูร้อนทางซีกโลกเหนือและ โปรแกรมเดินทางจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ในฤดูร้อนทางซีกโลกใต้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2557 ได้เริ่มต้นการล่องเรือจากท่าเรือโยโกฮามะ (โตเกียว) หรือท่าเรือโคเบะ ในฤดูร้อนของซีกโลกเหนือ[5] สำหรับฤดูกาลเดินเรือ พ.ศ. 2559–2560 เป็นเส้นทางล่องเรือไปกลับในช่วงฤดูหนาวของซีกโลกเหนือ จากท่าเรือสิงคโปร์[6] ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2559[7] เพิ่มเมืองโกตากีนาบาลู เป็นส่วนหนึ่งของจุดหมายปลายทางพร้อมกับเทียบท่าเรือญาจาง ของเวียดนาม และกลับไปเริ่มเดินทางจากซิดนีย์ ออสเตรเลียในฤดูกาล พ.ศ. 2560-2561[8] หลังจากเส้นทางการล่องเรือในปี พ.ศ. 2561 บริเวณออสเตรเลียและนิวซีแลนด์แล้ว ไดมอนด์พรินเซสได้รับเส้นทางใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี พ.ศ. 2561 ซึ่งปรับเปลี่ยนระหว่างญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, สิงคโปร์, เวียดนาม, ไต้หวัน และมาเลเซีย[9] คาดว่าเส้นทางล่องเรือจะยังคงอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ส่วนใหญ่ในน่านน้ำญี่ปุ่น) จนถึงต้นปี พ.ศ. 2565[10] อุบัติการณ์บนเรือพ.ศ. 2559 กรณีโรคทางเดินอาหารอักเสบอย่างเฉียบพลันจากไวรัสในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 บนเรือไดมอนด์พรินเซส ได้เกิดการระบาดของโรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ (Gastroenteritis) ที่เกิดจากการติดเชื้อโนโรไวรัส ทำให้เกิดอาการป่วยในผู้โดยสารและลูกเรือ 158 คนบนเรือ ซึ่งได้รับการยืนยันหลังจากเรือเดินทางถึงซิดนีย์ ออสเตรเลีย โดยกระทรวงสาธารณสุขนิวเซาท์เวลส์[11][12] พ.ศ. 2563 กรณีการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19เมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2563 ผู้โดยสารอายุ 80 ปีจากฮ่องกงลงเรือจากเมืองโยโกฮามะ ได้เดินทางในส่วนหนึ่งของแผนการเดินทางและลงจากเรือที่ฮ่องกงเมื่อวันที่ 25 มกราคม เขาได้เข้าพบแพทย์ในโรงพยาบาลท้องถิ่นในฮ่องกง หกวันหลังจากลงจากเรือ โดยหลังจากนั้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์[13][14] ผลทดสอบโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 (COVID-19) ของเขามีผลเป็นบวก ในการเดินทางเที่ยวต่อมา เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 เรืออยู่ในน่านน้ำญี่ปุ่น เมื่อผู้โดยสาร 10 คนได้รับการวินิจฉัยว่ามีเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) ในระหว่างการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ พ.ศ. 2562–2563[15] เรือถูกกักไว้นานมากกว่าหนึ่งสัปดาห์ในท่าเรือโยโกฮามะในญี่ปุ่น ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ผู้โดยสารและลูกเรือได้รับเชื้อไวรัสมากถึง 621 คนจากจำนวนทั้งหมด 3,711 คน[16] ซึ่งรวมถึงชาวอินเดียอย่างน้อย 138 คน (เป็นลูกเรือ 132 คนและผู้โดยสาร 6 คน), ชาวแคนาดา 32 คน, ชาวออสเตรเลีย 24 คน, ชาวอเมริกัน 13 คน, ชาวอินโดนีเซีย 4 คนและ ชาวอังกฤษ 2 คน[17][18][19] หลายประเทศรวมถึงแคนาดา, ออสเตรเลีย, สหรัฐอเมริกา, อินโดนีเซีย, ฮ่องกง[20] และสหราชอาณาจักร ได้มีมาตรการในการอพยพประชาชนและกักกันพวกเขาในประเทศของตนเอง และเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ กระทรวงสาธารณสุขแรงงานและสวัสดิการของญี่ปุ่นประกาศว่า ผู้โดยสารสองคนเสียชีวิตหลังจากติดเชื้อไวรัส[21][22] ในวันที่ 1 มีนาคม ทุกคนบนเรือรวมทั้งลูกเรือและกัปตันได้ขึ้นจากเรือแล้วทั้งหมด[23] จนถึงวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2563 ผู้โดยสารและลูกเรืออย่างน้อย 712 คนจากทั้งหมด 3,711 คนมีผลตรวจการติดเชื้อไวรัสเป็นบวก[24] อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่นวิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ ไดมอนด์พรินเซส (เรือ)
|
Portal di Ensiklopedia Dunia