โฮโมแฮบิลิส
โฮโมแฮบิลิส (อังกฤษ: Homo habilis) เป็นมนุษย์เผ่า Hominini มีชีวิตอยู่ในระหว่างช่วงอายุหิน Gelasian และ Calabrian คือครึ่งแรกของสมัยไพลสโตซีนประมาณ 2.3–1.65 ล้านปีก่อน[2] โดยอาจวิวัฒนาการมาจากบรรพบุรุษสาย australopithecine ตัวอย่างซากดึกดำบรรพ์ที่เป็นแบบก็คือซากศพหมายเลข OH 7 ที่พบในปี 2503 (ค.ศ. 1960) ณ โบราณสถาน Olduvai Gorge ในประเทศแทนซาเนีย ต่อมาในปี 2507 จึงได้จัดเป็นสปีชีส์ต่างหากคือ H. habilis (แปลว่า มือชำนาญหรือคล่องแคล่ว อังกฤษ: handy man) เพราะซากดึกดำบรรพ์มักจะพบพร้อมกับเครื่องมือหินแบบ Oldowan และเชื่อว่า มนุษย์พวกนี้สามารถแปลงหินธรรมชาติให้เป็นเครื่องมือหินได้[3] เป็นมนุษย์สกุล Homo ที่รูปร่างสัณฐานคล้ายกับมนุษย์ปัจจุบันน้อยที่สุด (คือลักษณะบางอย่างคล้ายกับ australopithecine มากกว่า) โดยยกเว้นสปีชีส์ที่มีปัญหาจัดเข้าในสกุลมนุษย์เช่นกันคือ H. rudolfensis ตั้งแต่นั้นมา การจัดอยู่ในสกุลก็ได้สร้างข้อถกเถียงกันอย่างไม่มีที่ยุติ[4] ขนาดที่เล็กและลักษณะล้าหลังทำให้ผู้ชำนาญการ (รวมทั้ง ริชาร์ด ลีกคีเอง) เสนอว่าควรกัน H. habilis ออกจากสกุล Homo แล้วใส่ไว้ใน Australopithecus โดยจัดเป็น Australopithecus habilis[5] มีการพบส่วนหนึ่งของกระดูกขากรรไกร (หมายเลข LD 350-1) ในปี 2556 ซึ่งหาอายุได้ 2.8 ล้านปีก่อน และอ้างว่า เป็นซากดึกดำบรรพ์ในระหว่างสกุล Australopithecus และสปีชีส์ H. habilis[6] การจัดเข้าในสกุล Homo
ขนาดที่เล็กและลักษณะล้าหลังของมนุษย์กลุ่มนี้สร้างความขัดแย้งระหว่างนักวิชาการว่า ควรจะจัดเข้าในสกุล Homo หรือ Australopithecus ได้เหมาะสมกว่า[7][8] โดยนักวิชาการบางท่าน (รวมทั้ง ริชาร์ด ลีกคีเอง) เสนอว่าควรกัน H. habilis ออกจากสกุล Homo แล้วใส่ไว้ในกลุ่ม Australopithecus โดยเป็น Australopithecus habilis[5] นักบรรพมานุษยวิทยาชาวอังกฤษ-เคนยา หลุยส์ ลีกคี เป็นบุคคลแรกที่เสนอว่ามีมนุษย์จำพวกนี้ โดยภรรยาคือ แมรี ลีกคี เป็นผู้พบฟันสองซี่แรกของ H. habilis ในปี 2498 ซึ่งต่อมาระบุว่าเป็น ฟันน้ำนม ซึ่งพิจารณาว่าเป็นตัวระบุชนิดสัตว์ได้ยากโดยไม่เหมือนกับฟันแท้ ต่อมาในปี 2502 แมรีจึงได้ค้นพบกะโหลกศีรษะของเด็กชายที่มีสมองเล็ก ใบหน้าใหญ่ ฟันเขี้ยวเล็ก และฟันเคี้ยวขนาดใหญ่ ทำให้สปีชีส์นี้ได้ชื่อเล่นอีกอย่างว่า นายกะเทาะเปลือกถั่ว (อังกฤษ: The Nutcracker man)[3] H. habilis เตี้ยและมีแขนยาวอย่างไม่สมส่วนโดยเทียบกับมนุษย์ปัจจุบัน แต่ก็ยังมีใบหน้าที่ยื่นออกน้อยกว่า australopithecine ที่เชื่อว่าเป็นบรรพบุรุษ มีปริมาตรกะโหลกศีรษะที่น้อยกว่าครึ่งของมนุษย์ปัจจุบันเล็กน้อย และแม้ว่าจะมีสัณฐานและกายที่คล้ายเอป แต่ซากของ H. habilis บ่อยครั้งอยู่ร่วมกับเครื่องมือหินแบบง่าย ๆ เช่นที่ โบราณสถาน Olduvai Gorge ประเทศแทนซาเนีย และโบราณสถาน Lake Turkana ประเทศเคนยา H. habilis มักพิจารณาว่าเป็นบรรพบุรุษของ H. ergaster ที่ผอมงามกว่า (gracile) และฉลาดซับซ้อนมากกว่า ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของสปีชีส์ที่เหมือนมนุษย์ยิ่งขึ้น คือ H. erectus ข้อถกเถียงว่า ซากดึกดำบรรพ์ที่พบแล้วทั้งหมดได้จัดเข้ากับสปีชีส์นี้อย่างถูกต้องแล้วหรือไม่ ก็ยังดำเนินต่อไป โดยมีนักบรรพมานุษยวิทยาที่มองหน่วยอนุกรมวิธานนี้ว่า เป็นโมฆะ เพราะประกอบด้วยตัวอย่างซากดึกดำบรรพ์ของทั้งสกุล Australopithecus และ Homo[9] งานศึกษาปี 2550 ก็ดูจะยืนยันมุมมองว่า H. habilis และ H. erectus มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยเป็นสายพันธุ์ที่สืบต่อจากบรรพบุรุษเดียวกัน แทนที่ H. erectus จะสืบสายพันธุ์มาจาก H. habilis[10] แต่คำอธิบายที่เป็นไปได้อีกอย่างก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่าง H. habilis กับ H. erectus เป็นแบบแยกสาย (cladogenetic) ไม่ใช่แบบสายตรง (anagenetic) คือ กลุ่มย่อยของ H. habilis เป็นบรรพบุรุษของ H. erectus และดังนั้น กลุ่มอื่น ๆ ก็ยังดำรงเป็น H. habilis จนกระทั่งสูญพันธุ์[11] ขนาดสมองเฉลี่ยของมนุษย์กลุ่มนี้อยู่ที่ 610 ซม3[8] โดยมีขนาดระหว่าง 550-687 ซม3[12] ส่วนงานสร้างใหม่เสมือนที่ตีพิมพ์ในปี 2558 ประมาณปริมาตรของภายในกะโหลกระหว่าง 729-824 มล ซึ่งใหญ่กว่าขนาดที่เคยรายงานมาทั้งหมด[13] ขนาดสมองของ H. habilis ที่ 640 ซม³ จะใหญ่กว่าของ australopithecine ประมาณ 50% โดยเฉลี่ย แต่ก็ยังเล็กกว่าสมองมนุษย์ปัจจุบันที่ 1,330 ซม³ พอสมควร และตัวเตี้ยกว่ามนุษยปัจจุบัน โดยผู้ชายสูงเฉลี่ยที่ 1.3 เมตร งานปี 2556 รายงานส่วนหนึ่งของกระดูกขากรรไกรที่มีอายุราว 2.8 ล้านปีก่อน พบในโบราณสถาน Ledi-Geraru ในบริเวณอะฟาร์ของเอธิโอเปีย[6] โดยพิจารณาว่า เป็นหลักฐานเก่าแก่ที่สุดของสกุล Homo ที่พบจนถึงปีนั้น และดูเหมือนจะเป็นซากดึกดำบรรพ์ในระหว่าง Australopithecus และ H. habilis เป็นมนุษย์ที่มีชีวิตหลังจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศแบบฉับพลัน ที่สิ่งแวดล้อมแบบป่าและทางน้ำ ได้กลายเป็นทุ่งหญ้าสะวันนาอย่างรวดเร็ว[14] ซากดึกดำบรรพ์OH 62ชุดซากดึกดำบรรพ์ชุดหนึ่ง คือ OH 62 หรือ "Olduvai Hominid specimen 62" ที่ขุดพบใน Olduvai Gorge ในปี 2529 มีทั้งร่างส่วนบนส่วนล่างที่สำคัญ โดยเฉพาะ กระดูกต้นแขนและกระดูกต้นขา[15] ซึ่งเป็นการค้นพบที่สร้างความขัดแย้งพอสมควรในช่วงนั้น[16] การเคลื่อนที่ของ OH 62 ประเมินอาศัยสัดส่วนของแขนขา ซึ่งสัมพันธ์กับการเคลื่อนที่ของไพรเมตที่ยังมีอยู่ โดยงานวิเคราะห์แรก ๆ มุ่งเปรียบเทียบกับ Australopithecus afarensis หมายเลข A.L. 288-1 (ที่รู้จักว่า ลูซี่) และในค่าโดยมาก ไม่ว่าจะวัดหรือประเมิน แขนของ OH 62 จะเท่าหรือเกินของ A.L. 288-1 ในขณะที่ขา (หลัก ๆ ก็คือกระดูกต้นขา) ดูเหมือนจะเล็ก/สั้นกว่า โดยเฉพาะก็คือ เมื่อประมาณความยาวของกระดูกต้นแขนว่าอยู่ที่ 264 มม. และของกระดูกต้นขาซึ่งสมบูรณ์น้อยกว่าว่า "ไม่มากกว่าของ A.L. 288-1 คือ 280 มม." ดัชนีกระดูกต้นแขน-กระดูกต้นขาก็จะอยู่ที่ 95% ซึ่งเหมือนกับชิมแปนซีปัจจุบัน (โดยมีดัชนีเฉลี่ยที่ 1.00) มากกว่ามนุษย์ปัจจุบัน (ดัชนีเฉลี่ยที่ 0.72) ในด้านนี้ กระดูกจึง "ดั้งเดิม (primitive)" กว่า A.L. 288-1 ซึ่งมีดัชนีที่ 0.85[17] KNM ER 1813KNM ER 1813 เป็นกระดูกหุ้มสมองค่อนข้างสมบูรณ์ มีอายุ 1.9 ล้านปีก่อน ค้นพบที่ Koobi Fora ในเคนยาปี 2516 มีขนาดสมองที่ 510 ซม³ ซึ่งไม่น่าทึ่งเท่ากับตัวอย่าง H. habilis อื่น ๆ ที่พบ OH 24OH 24 (Twiggy) เป็นกระดูกหุ้มสมองที่พิกลพิการมาก มีอายุประมาณ 1.8 ล้านปีก่อน พบในปี 2511 ที่ Olduvai Gorge แทนซาเนีย ปริมาตรสมองน้อยกว่า 600 ซม³ เล็กน้อย อนึ่ง หน้ายื่นออกไปน้อยกว่าเมื่อเทียบกับสมาชิกของ australopithecine ที่เก่าแก่กว่า OH 7OH 7 มีอายุ 1.75 ล้านปีก่อน พบโดยแมรี่และหลุยส์ ลีกคีในปี 2503 ที่ Olduvai Gorge แทนซาเนีย เป็นกระดูกขากรรไกรส่วนล่างพร้อมกับฟัน เนื่องจากขนาดฟันเล็ก นักวิจัยประมาณว่า เด็กชายผู้นี้มีปริมาตรสมองที่ 363 ซม³ ขากรรไกรนี้พร้อมกับชิ้นส่วนกว่า 20 ชิ้นจากมือซ้ายที่พบด้วยกัน ต่อมาได้ใช้เป็นซากดึกดำบรรพ์ต้นแบบ มือของ OH 7 บวกกับลักษณะต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กับการจับที่แม่นยำ และกับการปรับตัวเนื่องกับการปีน เข้ากันได้ดีกับสัดส่วนขาคล้ายมนุษย์ที่ค่อนข้างยาว และอัตราแขน-ขาที่คล้ายกับชิมแปนซีมากกว่า KNM ER 1805KNM ER 1805 เป็นตัวอย่างของ H. habilis ผู้หใญ่ประกอบด้วยชิ้นส่วนกระดูกหุ้มสมอง 3 ชิ้นมีอายุ 1.74 ล้านปีก่อน พบที่ Koobi Fora เคนยา ข้อสมมุติอื่น ๆ ที่เคยมีกับตัวอย่างนี้ก็คือมันเป็นของ H. erectus อาศัยความยื่นของคางและรูปร่างกระดูกหุ้มสมองโดยทั่วไป อาหารตามการวิเคราะห์การสึกหรอของเนื้อฟันระดับไมโคร (microwear-texture analysis) Homo habilis (รวมมนุษย์สกุล Homo ต้น ๆ ทั้งหมด) ไม่น่าจะเจาะจงทานอาหารที่เหนียวหรือแข็งมาก ความสึกหรอที่พบโดยเฉลี่ยอยู่ระหว่างสัตว์ที่กินอาหารเหนียวแข็งและที่กินใบพืชเป็นอาหาร[18] ค่าเหล่านี้มาจากการวิเคราะห์เปอร์เซ็นต์ของผิวฟันที่มีหลุมรูเล็ก ๆ (คือความถี่และความลึกจากความเสียหายต่อฟันเพราะทานอาหารบางอย่าง) เป็นวิธีการที่ใช้บ่อย และดังนั้นจึงได้การยอมรับอย่างกว้างขวางว่า เป็นตัวบ่งชี้การทานอาหารบางชนิด ค่าชี้ว่า Homo habilis เป็นมนุษย์ที่ทานอาหารทั่วไปเพิ่มขึ้น โดยทั่วไปเป็นอาหารของสัตว์กินทั้งพืชและสัตว์[19] การตีความH. habilis เชื่อว่าเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีเครื่องมือหินแบบ Olduwan เพื่อฆ่าและแล่หนังสัตว์[20] เป็นเครื่องมือที่ล้ำหน้ากว่าเครื่องมืออื่น ๆ ที่เคยใช้มาทั้งหมด ทำให้ได้เปรียบในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ก่อนหน้านี้ยากเกินสำหรับสัตว์อันดับวานร H. habilis จะเป็นสายพันธุ์มนุษย์แรกที่สามารถใช้เครื่องมือหินหรือไม่ ยังเป็นเรื่องไม่ชัดเจนเพราะแม้แต่ Australopithecus garhi ซึ่งมีอายุประมาณ 2.6 ล้านปีก่อน ก็ยังพบพร้อมกับเครื่องมือหินด้วย ขนาดข้อต่อของแขนขาของมนุษย์จำพวกนี้คล้ายกับ A. afarensis มากกว่ามนุษย์พวกอื่น ๆ ซึ่งอาจแสดงนัยว่า บางที H. sapiens อาจไม่คล้ายกับมนุษย์พวกนี้จริง ๆ ตามที่เสนอ สัดส่วนร่างกายของมนุษย์พวกนี้สมกับกะโหลกศีรษะและฟัน และแสดงความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับ H. erectus[21] ผู้ชำนาญการโดยมากสมมุติว่า ทั้งเชาว์ปัญญาและโครงสร้างทางสังคมของมนุษย์กลุ่มนี้ ซับซ้อนกว่าของ australopithecine หรือลิงชิมแปนซีโดยทั่วไป H. habilis ใช้เครื่องมือโดยหลักเพื่อหากินซากสัตว์ เช่น ตัดเนื้อออกจากซากสัตว์ ไม่ใช่เพื่อป้องกันตัวหรือล่าสัตว์ อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะใช้เครื่องมือ มนุษย์กลุ่มนี้ก็ยังไม่ชำนาญการล่าสัตว์เหมือนกับมนุษย์กลุ่มอื่น ๆ เพราะหลักฐานดึกดำบรรพ์จำนวนมากแสดงว่า มนุษย์กลุ่มนี้เป็นอาหารของสัตว์ล่าเหยื่อขนาดใหญ่ เช่น เสือเขี้ยวดาบสกุล Dinofelis ซึ่งมีขนาดพอ ๆ กับเสือจากัวร์ (ใหญ่ที่สุด 135 กก. ยาวจากจมูกถึงปลายหาง 2.7 เมตร)[22] มนุษย์กลุ่มนี้อยู่กับไพรเมตคล้ายมนุษย์อื่น ๆ รวมทั้ง Paranthropus boisei ที่บางกลุ่มอยู่ได้เป็นพัน ๆ ปี แต่อาจเป็นเพราะนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและการทานอาหารที่เฉพาะเจาะจงน้อยกว่า H. habilis จึงได้กลายเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์สปีชีส์ต่าง ๆ จำนวนหนึ่ง เทียบกับ P. boisei และ robust australopithecine ที่หายไปจากบันทึกซากดึกดำบรรพ์ และยังอาจอยู่ร่วมกัน H. erectus ในแอฟริกาเป็นเวลากว่า 500,000 ปี[23] ดูเพิ่ม
เชิงอรรถและอ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่นวิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ โฮโมแฮบิลิส วิกิสปีชีส์มีข้อมูลภาษาอังกฤษเกี่ยวกับ Homo habilis
|
Portal di Ensiklopedia Dunia