แผ่นแปซิฟิก
แผ่นแปซิฟิก (อังกฤษ: Pacific Plate) เป็นแผ่นธรณีภาคแปรสัณฐานภาคพื้นสมุทรที่อยู่ใต้มหาสมุทรแปซิฟิก มีพื้นที่ประมาณ 103 ล้านตารางกิโลเมตรจึงถือว่าเป็นแผ่นเปลือกโลกที่ใหญ่ที่สุด[2] แผ่นเปลือกโลกนี้ปรากฏครั้งแรกเมื่อ 190 ล้านปีก่อนในบริเวณสามแยกแผ่นเปลือกโลก (triple junction) ระหว่างแผ่นแฟเรลลอน แผ่นฟีนิกซ์ และแผ่นอิซานางิ ซึ่งต่อมาได้ขยายใหญ่ขึ้นจนกลายเป็นแผ่นที่อยู่ใต้แอ่งมหาสมุทรแปซิฟิก โดยการขยายใหญ่ขึ้นนี้ทำให้แผ่นแฟเรลลอนลดลงจนเหลือเป็นเพียงเศษเล็กเศษน้อยตามชายฝั่งด้านตะวันตกของอเมริกาเหนือ ส่วนแผ่นฟีนิกซ์นั้นเหลือเป็นเศษเล็กเศษน้อยใกล้กับช่องแคบเดรก และทำลายแผ่นอิซานางิด้วยการดันให้มันมุดตัวลงใต้ทวีปเอเชีย แผ่นแปซิฟิกมีจุดร้อนภายในที่ทำให้เกิดหมู่เกาะฮาวาย[3] ขอบเขตขอบด้านตะวันออกค่อนเหนือของแผ่นเป็นแนวแผ่นเปลือกโลกแยกตัวกับแผ่นเอ็กซ์พลอเรอร์ แผ่นฮวนเดฟูกา และแผ่นกอร์ดาซึ่งก่อตัวขึ้นเป็นเทือกเขากลางสมุทรเอ็กซ์พลอเรอร์ เทือกเขากลางสมุทรฮวนเดฟูกา และเทือกเขากลางสมุทรกอร์ดา ตามลำดับ ส่วนกลางของขอบด้านตะวันออกเป็นแนวแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนผ่านกับแผ่นอเมริกาเหนือตามแนวของรอยเลื่อนแซนแอนเดรอัสและขอบเขตของแผ่นโกโกส ขอบด้านตะวันออกค่อนใต้เป็นแนวแผ่นเปลือกโลกแยกตัวกับแผ่นนัซกาซึ่งก่อตัวขึ้นเป็นเทือกเขากลางสมุทรแปซิฟิกตะวันออก[ต้องการอ้างอิง] ขอบด้านใต้เป็นแนวแผ่นเปลือกโลกแยกตัวกับแผ่นแอนตาร์กติกโดยก่อตัวขึ้นเป็นเทือกเขากลางสมุทรแปซิฟิก–แอนตาร์กติก[ต้องการอ้างอิง] ขอบด้านตะวันตกติดกับแผ่นโอค็อตสค์ตรงร่องลึกก้นสมุทรคูริล–คัมชัตคาและร่องลึกก้นสมุทรญี่ปุ่น และยังเป็นแนวแผ่นเปลือกโลกเข้าหากันโดยแผ่นแปซิฟิกได้มุดตัวลงใต้แผ่นทะเลฟิลิปปินโดยทำให้เกิดเป็นร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนา เป็นแนวแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนผ่านกับแผ่นแคโรไลน์ และเป็นแนวแผ่นเปลือกโลกปะทะ (collision boundary) กับแผ่นบิสมาร์กเหนือ[ต้องการอ้างอิง] ขอบด้านตะวันตกค่อนใต้เป็นแนวที่ซับซ้อน แต่โดยทั่วไปเป็นแนวแผ่นเปลือกโลกเข้าหากันโดยติดกับแผ่นอินโด-ออสเตรเลีย ซึ่งแผ่นแปซิฟิกได้มุดตัวลงใต้แผ่นดังกล่าวบริเวณตอนเหนือของนิวซีแลนด์ โดยทำให้เกิดเป็นร่องลึกก้นสมุทรตองกาและร่องลึกก้นสมุทรเคอร์มาเดค มีรอยเลื่อนแอลไพน์เป็นแนวแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนผ่านระหว่างแผ่นเปลือกโลกทั้งสองแผ่น และไกลออกไปทางด้านใต้นั้นแผ่นอินโด-ออสเตรเลียจะมุดตัวลงใต้แผ่นแปซิฟิก ซึ่งทำให้เกิดเป็นร่องลึกก้นสมุทรปุยเซกูร์ ส่วนใต้ของทวีปซีแลนเดียซึ่งอยู่ทางตะวันออกของแผ่นแปซิฟิกนี้นับเป็นบล็อกที่ใหญ่ที่สุดของแผ่นเปลือกโลกภาคพื้นทวีป[ต้องการอ้างอิง] รายงานของฮิลลิสและมืลเลอร์นั้นพิจารณาว่าแผ่นเบิร์ดเฮดนั้นเคลื่อนที่ไปพร้อมกับแผ่นแปซิฟิก[4] แต่เบิร์ดพิจารณาว่าแผ่นทั้งสองไม่ได้เชื่อมติดกัน[5] ขอบด้านเหนือของแผ่นเป็นแนวแผ่นเปลือกโลกเข้าหากันโดยมีการมุดตัวลงใต้แผ่นอเมริกาเหนือทำให้เกิดเป็นร่องลึกก้นสมุทรอะลูเชียนและสอดคล้องกับหมู่เกาะอะลูเชียน ธรณีวิทยาบรรพกาลของแผ่นแปซิฟิกแผ่นแปซิฟิกเกือบทั้งหมดเป็นเปลือกโลกภาคพื้นสมุทร แต่ประกอบด้วยเปลือกโลกภาคพื้นทวีปเป็นบางส่วนในประเทศนิวซีแลนด์ รัฐบาฮากาลิฟอร์เนีย และแนวชายฝั่งของรัฐแคลิฟอร์เนีย[3] แผ่นแปซิฟิกมีความแตกต่างในการแสดงส่วนเชิงพื้นที่ที่ใหญ่ที่สุดของก้นสมุทรที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งอยู่ในบริเวณร่องลึกก้นสมุทรในเอเชียตะวันออก แผนที่ธรณีวิทยาของก้นสมุทรในมหาสมุทรแปซิฟิกไม่เพียงแสดงลำดับทางธรณีวิทยา และบริเวณที่เกี่ยวข้องกับวงแหวนไฟตามขอบมหาสมุทร แต่ยังแสดงถึงอายุต่าง ๆ ของก้นสมุทรในลักษณะขั้นบันไดตั้งแต่อายุน้อยไปจนถึงเก่าที่สุด และส่วนที่เก่าที่สุดจะถูกกลืนหายเข้าไปในร่องลึกก้นสมุทรของเอเชีย ส่วนเก่าที่สุดที่กำลังหายไปตามวัฎจักรการแปรสัณฐานแผ่นธรณีภาค คือช่วงต้นยุคครีเทเชียส (145 ถึง 175 ล้านปีก่อน)[6] แผ่นแปซิฟิกเกิดขึ้นที่สามแยกของแผ่นเปลือกโลกภาคพื้นสมุทรหลักสามแผ่นของมหาสมุทรแพนทาลัสซา ได้แก่ แผ่นแฟเรลลอน แผ่นฟีนิกซ์ และแผ่นอิซานางิ เมื่อประมาณ 190 ล้านปีก่อน ตัวแผ่นเกิดขึ้นเนื่องจากตัวสามแยกนั้นแปลงไปอยู่ในรูปไม่เสถียรซึ่งทุกด้านนั้นล้อมรอบด้วยรอยเคลื่อนเคลื่อนผ่าน เนื่องจากการพัฒนาขึ้นของรอยแยกหนึ่งของแผ่น "สามเหลี่ยมแปซิฟิก" ซึ่งถือเป็นส่วนที่เก่าแก่ที่สุดของแผ่นแปซิฟิกนั้นเกิดขึ้นในช่วงการก่อตัวของแผ่น ปัจจุบันตั้งอยู่ทางตะวันออกของร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนา[7] การขยายตัวของแผ่นแปซิฟิกทำให้แผ่นแฟเรลลอนเหลือเพียงแค่เศษเล็กเศษน้อยตามชายฝั่งด้านตะวันตกของทวีปอเมริกาเหนือ (เช่น แผ่นฮวนเดฟูกา)[8] เช่นเดียวกับแผ่นฟีนิกซ์บริเวณใกล้กับช่องแคบเดรก[9] ส่วนแผ่นอิซานางินั้นถูกทำลายจากการมุดตัวลงไปใต้ทวีปเอเชีย[10] อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
|
Portal di Ensiklopedia Dunia