อิ๊กคาบ็อก
อิ๊กคาบ็อก เป็นเทพนิยายสำหรับเด็กที่ประพันธ์โดย เจ. เค. โรว์ลิ่ง นักเขียนชาวอังกฤษ นับเป็นนิยายสำหรับเด็กเล่มแรกที่โรว์ลิ่งได้เขียนขึ้นหลังจากที่หนังสือ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต ของเธอได้รับการตีพิมพ์ในปี 2007[1] โดยเธอได้นำเนื้อหาของนิยายเรื่องนี้มาเผยแพร่ให้อ่านฟรีทางออนไลน์ ก่อนที่หนังสือจะได้รับการตีพิมพ์และจัดจำหน่ายในช่วงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2020[2] ภูมิหลังและการเผยแพร่อิ๊กคาบ็อกนับเป็นหนังสือนิยายสำหรับเด็กเล่มแรกของโรว์ลิ่งที่ไม่ได้มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับจักรวาลแฮร์รี่ พอตเตอร์ ซึ่งเธอก็ได้ยืนยันว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่หนังสือภาคแยกของแฮร์รี่ พอตเตอร์แต่อย่างใด โรว์ลิ่งตั้งใจให้อิ๊กคาบ็อกเป็น "เทพนิยายการเมืองสำหรับผู้อ่านที่มีอายุน้อยกว่าผู้อ่านแฮร์รี่ พอตเตอร์" โดยกำหนดกลุ่มอายุของผู้อ่านอยู่ที่ 7-9 ปี[2][3] เธอได้เขียนนิยายเรื่องอิ๊กคาบ็อกขึ้นในช่วงปี 2003-2007 เพื่อมอบให้เป็นของขวัยแด่ลูก ๆ ของเธอ[1][4] และตั้งใจจะตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้หลังจากที่เธอเขียนแฮร์รี่ พอตเตอร์จบ แต่เธอได้เปลี่ยนใจและหันไปทุ่มเทให้กับงานเขียนนิยายผู้ใหญ่แทน โรว์ลิ่งได้เก็บต้นฉบับของนิยายเรื่องอิ๊กคาบ็อกไว้ที่ห้องใต้หลังคาจนถึงปี 2020 ที่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 เธอจึงได้นำนิยายเรื่องนี้มาปรับปรุงตามคำแนะนำของลูก ๆ[1][2] และเผยแพร่เนื้อหาให้อ่านฟรีได้ทางออนไลน์[3] เธอได้ทยอยเผยแพร่เนื้อหาของแต่ละบทตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม ถึงวันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ. 2020 โรว์ลิ่งได้กล่าวว่า "ฉันได้ตัดสินใจเผยแพร่เนื้อหาของอิ๊กคาบ็อกให้อ่านฟรีทางออนไลน์เพื่อให้เด็ก ๆ ที่ต้องกักตัวอยู่บ้านหรือเด็ก ๆ ที่ต้องกลับมาจากโรงเรียนในช่วงเวลาที่ไม่ปกติและไม่แน่นอนเช่นนี้ได้อ่านหรือให้ผู้ปกครองอ่านมันให้พวกเขาฟัง" โดยเว็บไซต์ของอิ๊กคาบ็อกมีจำนวนผู้เข้าชมภายใน 24 ชั่วโมงแรกที่เปิดให้เข้าชมมากกว่า 4 ล้านวิวจาก 50 ประเทศทั่วโลก[5] นอกจากนี้ โรว์ลิ่งยังได้จัดการประกวดวาดภาพประกอบนิยายแต่ละบทขึ้น ซึ่งภาพจากเด็กที่ชนะเลิศในแต่ละบทนั้นก็ได้ใช้เป็นภาพประกอบนิยายอิ๊กคาบ็อกฉบับตีพิมพ์อีกด้วย[1] โครงเรื่องเนื้อเรื่องของอิ๊กคาบ็อกเกิดขึ้นในดินแดนที่มีชื่อว่า "แดนอุดม" ซึ่งเป็นอาณาจักรที่มีความอุดมสมบูรณ์และผาสุขกันมาช้านาน แต่ดินแดนอันร่ำรวยแห่งนี้ก็ยังมีพื้นที่อันยากแค้นและสิ้นหวังอยู่ทางตอนเหนือของอาณาจักร เป็นที่รู้จักกันชื่อ "แดนทุ่ง" ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นที่อยู่ของปีศาจที่มีชื่อว่า อิ๊กคาบ็อก ที่มักจะจับคนและแกะของชาวบ้านกินเป็นอาหาร อย่างไรก็ตาม ผู้คนในแดนอุดมนั้นกลับไม่เคยได้พบเห็นปีศาจตนนี้เลยแม้แต่ครั้งเดียว ทำให้พวกเขาเชื่อว่ามันไม่มีอยู่จริงและตำนานดังกล่าวก็กลายเป็นเรื่องเล่าของคนโง่ไปในที่สุด เรื่องราวของอิ๊กคาบ็อกเริ่มต้นขึ้นเมื่อราชาเฟร็ด ผู้กล้าหาญต้องการจัดงานเลี้ยงต้อนรับกษัตริย์แห่งอาณาจักรพหุธานินทร์อย่างยิ่งใหญ่ พระองค์จึงต้องการชุดหรูตัวใหม่เพื่อใส่ให้ทันก่อนวันงาน จึงเป็นเหตุให้นางโดฟเทล หัวหน้าช่างตัดเย็บทำงานหนักจนถึงแก่ความตาย แต่ราชาเฟร็ดนั้นกลับรู้สึกอายที่จะไปเยี่ยมเยียนครอบครัวโดฟเทล ทำให้นายโดฟเทลและเดซี โดฟเทลผู้เป็นลูกของนายและนางโดฟเทลรู้สึกขุ่นเคืองใจในพระองค์อยู่ลึก ๆ จนกระทั่งมาทราบในภายหลังว่าเดซีคิดว่าพระองค์คือกษัตริย์ที่เห็นแก่ตัวและหลงตัวเอง คำพูดของเดซีนั้นทำให้ราชาเฟร็ดรู้สึกกังวลใจ เพราะพระองค์คิดมาตลอดว่าพระองค์คือกษัติรย์ที่ดี ได้รับความนิยมจากพสกนิกร และไม่มีผู้ใดในแดนอุดมที่ไม่รักพระองค์ เหตุนี้ก็เป็นเพราะพระองค์นั้นเชื่อคำสอพลอของลอร์ดสปิตเทิลเวิร์ทและลอร์ดฟลาพูน พระสหายจอมเจ้าเล่ห์ที่หวังเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากพระองค์นั่นเอง เพื่อเป็นการตอบโต้คำพูดของเดซี พระองค์จึงได้ออกว่าราชการในวันร้องทุกข์เพื่อพบกับราษฎรของพระองค์ ซึ่งหนึ่งในราษฎรที่มาเข้าเฝ้านั้นก็คือชายชราจากแดนทุ่งที่มาร้องทุกข์ว่าแกะของเขานั้นถูกปีศาจอิ๊กคาบ็อกจับไป เมื่อได้ยินดังนั้น ราชาเฟร็ดจึงได้ออกเดินทางขึ้นเหนือไปพร้อมกับกองทัพของพระองค์เพื่อล่าอิ๊กคาบ็อกและให้พระองค์ได้จารึกเกียรติประวัติ โดยไม่ได้สนใจคำเตือนของใครหลายคนว่าปีศาจอิ๊กคาบ็อกนั้นไม่มีอยู่จริง เมื่อเดินทางถึงแดนทุ่ง กองทัพของราชาเฟร็ดก็ต้องพบกับหมอกหนาที่บดบังการมองเห็นแบบสิ้นเชิง ราชาเฟร็ดได้พบกับเงาดำซึ่งเขาอ้างว่าเป็นอิ๊กคาบ็อกและทำดาบฝังอัญมณีหายไป สปิตเทิลเวิร์ทและฟลาพูนจึงได้เข้าไปหาดาบของพระองค์ในหมอก โดยฟลาพูนนั้นเผลอยิงปืนใส่ผู้พันบรีมิชจนถึงแก่ความตายเพราะเข้าใจผิดว่าเป็นอิ๊กคาบ็อกแต่กลับไม่มีใครเห็นเหตุการณ์เนื่องจากหมอกลงหนา ทำให้ลอร์เจอมเจ้าเล่ห์ทั้งสองคิดแผนการกลบเกลื่อนความผิดของตนขึ้นโดยได้อ้างว่าผู้พันบรีมิชถูกอิ๊กคาบ็อกฆ่าตาย พร้อมกับเชิดชูว่าเฟร็ดนั้นได้ต่อสู้กับอิ๊กคาบ็อกอย่างกล้าหาญและใช้อำนาจที่ตัวเองมีปิดกั้นไม่ให้ใครดูศพของผู้พันแม้แต่คนเดียว สปิตเทิลเวิร์ทได้ใช้กลอุบายแพร่ข่าวลือเรื่องอิ๊กคาบ็อกมีอยู่จริงก็ได้แพร่กระจายไปทั่วแดนอุดมจนเกิดความวิตก และเมื่อทัพของราชาเฟร็ดเดินทางกลับเมืองหลวง ประชาชนก็ต้องตกใจที่ทหารมือดีอย่างผู้พันบรีมิชต้องสิ้นชีพลงเพราะปีศาจที่พวกเขาเชื่อว่าไม่น่ามีอยู่จริง การตายของผู้พันบรีมิชนั้นทำให้เบิร์ต บรีมิชผู้เป็นลูกชายโกรธแค้นอิ๊กคาบ็อกและต้องการแก้แค้นแทนพ่อให้ได้ เมื่อประชาชนแดนอุดมเริ่มหวั่นวิตก สปิตเทิลเวิร์ทจึงได้เริ่มแผนการสถาปนาอำนาจของตัวเองด้วยการลอบสังหารที่ปรึกษาราชาเฟร็ด จับกุมผู้ต่อต้าน และขึ้นเป็นที่ปรึกษาคนใหม่ของกษัตริย์แทน โดยเขาได้แนะนำให้ราชาเฟร็ดเก็บภาษีอิ๊กคาบ็อกจากพสกนิกรของพระองค์เป็นเงินเดือนละสองเหรียญทอง พร้อมตั้งกองกำลังต่อต้านอิ๊กคาบ็อกขึ้น ซึ่งราชาเฟร็ดก็เห็นชอบด้วยทุกประกอบเพราะพระองค์นั้นไว้ใจในตัวสปิตเทิลเวิร์ทและขี้ขลาดเกินกว่าจะไปเผชิญกับอิ๊กคาบ็อกด้วยตนเอง เมื่อแผนการของสปิตเทิลเวิร์ทเริ่มดำเนินไป ผู้คนทั้งแดนอุดมก็เชื่อว่าอิ๊กคาบ็อกมีอยู่จริงและสนับสนุนให้มีการกำจัดอิ๊กคาบ็อกลง สปิตเทิลเวิร์ทนั้นได้ยัดข้อหากบฏให้แก่กลุ่มผู้ต่อต้านที่นำโดยผู้กองกู๊ดเฟลโลว์และจับขังเขาและพวกในคุกใต้ดิน ความหวาดกลัวในอิ๊กคาบ็อกนั้นได้ทำให้ชาวแดนอุดมแทบทั้งหมดหลงเชื่อคำลวงและโฆษณาชวนเชื่อของสปิตเทิลเวิร์ทอย่างสนิทใจ แต่ภาษีอิ๊กคาบ็อกนั้นก็ทำให้แดนอุดมยากจนลง อีกทั้งประชาชนบางกลุ่มก็เริ่มไม่พอใจที่ไม่เห็นผลลัพธ์ของการล่าอิ๊กคาบ็อกจากทางการเลย สปิตเทิลเวิร์ทจึงได้แก้ปัญหานี้ด้วยการจับตัวนายโดฟเทล ช่างไม้ฝีมือเยี่ยมมาขังไว้ในคุกใต้ดินเพื่อสร้างรอยเท้าอิ๊กคาบ็อกปลอมขึ้น โดยสปิตเทิลเวิร์ทได้สั่งให้ทหารฆ่าประชาชนบริสุทธิ์เพื่อสร้างหลักฐานเท็จว่าอิ๊กคาบ็อกทำร้ายผู้คน และได้สั่งให้ทหารฆ่าปิดปากเดซีเพื่อไม่เธอรู้ถึงแผนการชั่วร้ายที่เขาทำกับพ่อของเธอ แต่ทหารนั้นเกิดใจอ่อนและส่งเดซีไปยังบ้านเลี้ยงเด็กกำพร้าของมา กรันเตอร์ผู้โหดเหี้ยมแทน เวลาผ่านไปหลายปี แดนอุดมที่เคยรุ่งเรืองก็ได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นดินแดนอันยากจนและแร้นแค้น เนื่องจากสปิตเทิลเวิร์ทได้ขึ้นภาษีอิ๊กคาบ็อกและร่วมมือกับพรรคพวกยักยอกเงินจากประชาชนไปเป็นของตน ส่วนราชาเฟร็ดนั้นก็หลงเชื่อในทุกคำพูดของสปิตเทิลเวิร์ทและไม่ได้เอะใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในอาณาจักรของพระองค์เพราะพระองค์นั้นเลือกที่จะประทับอยู่แต่ในเมืองหลวง อีกทั้งสปิตเทิลเวิร์ทนั้นก็ได้ปิดกั้นข่าวสารและสร้างภาพให้เมืองหลวงดูปกติจนเพื่อให้พระองค์หลงเชื่อ แต่แล้วทหารของสปิตเทิลเวิร์ทก็ทำงานพลาด ทำให้จดหมายจากเมืองอื่น ๆ นั้นถูกส่งไปถึงมือประชาชนในเมืองหลวงจนได้รับรู้ถึงข่าวที่ญาติพี่น้องในเมืองอื่น ๆ ต้องพบเจอกับความยากจนข้นแค้น ข่าวนี้ได้ทำให้นางบรีมิช ผู้เป็นภรรยาของผู้พันบรีมิชผู้ล่วงลับรู้สึกเอะใจและได้ลอบเข้าไปสืบความในพระราชวังแต่ก็ถูกสปิตเทิลเวิร์ทจับได้ กองกำลังได้ออกตามล่าเบิร์ต บรีมิชผู้เป็นลูกของนางเพื่อปิดปาก แต่เบิร์ตก็หนีไปได้จนได้พบกับเดซี โดฟเทลซึ่งเคยเป็นเพื่อนสนิทของเขาที่บ้านเลี้ยงเด็กกำพร้าของมา กรันเตอร์ ตลอดเวลาที่อยู่กับมา กรันเตอร์ เดซีต้องอยู่อย่างอดอยากเพราะมานั้นได้เลี้ยงดูเด็ก ๆ อย่างไม่สนใจใยดี เธอจึงได้ร่วมมือกับเบิร์ตและเพื่อนอีกสองคนชื่อมาร์ทาและรอเดอริกจนหนีออกมาจากบ้านมา กรันเตอร์ได้สำเร็จ เด็กทั้งสี่ได้ตัดสินใจเดินทางขึ้นเหนือเพื่อไปยังแดนทุ่งเพื่อแจ้งข่าวแก่ทหารให้ช่วยจัดการกับการทุจริตของสปิตเทิลเวิร์ท อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างกลับไม่เป็นใจเมื่อพวกเขาต้องพบกับฤดูหนาวที่หนาวเป็นประวัติการณ์และคลาดกันกับทหารแดนเหนือจนหมดสติไป แต่พวกเขาก็ได้รับความช่วยเหลือจากอิ๊กคาบ็อกซึ่งได้พาพวกเขาเข้าไปหลบความหนาวในถ้ำแห่งหนึ่ง อิ๊กคาบ็อกที่เด็กทั้งสี่พบนั้นเป็นปีศาจรูปร่างคล้ายคนที่มีขนยาวปกคลุม กินเห็ดเป็นอาหาร อีกทั้งยังสามารถพูดภาษามนุษย์ได้ ซึ่งแตกต่างจากปีศาจที่อันน่ากลัวที่สปิตเทิลเวิร์ทสร้างขึ้นอย่างสิ้นเชิง มันได้ให้อาหารเด็กทั้งสี่และตั้งใจจะกินพวกเขาก่อนที่จะให้กำเนิดลูก เดซีได้พบว่าอิ๊กคาบ็อกที่พวกเธอพบนั้นเป็นอิ๊กคาบ็อกตัวสุดท้ายของโลก ในอดีตพวกมันได้ถูกล่าโดยมนุษย์และทยอยล้มตายลงเพราะความสิ้นหวังในแดนอุดม ทั้งนี้ก็เป็นเพราะอิ๊กคาบ็อกมีวงจรชีวิตที่แตกต่างจากสัตว์ทั่วไป เมื่อพวกมันให้กำเนิดลูก ตัวแม่จะตายลง ซึ่งหากลูกที่เกิดมาพบกับสภาพที่สิ้นหวัง มันก็จะตายลงเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ อิ๊กคาบ็อกตัวสุดท้ายจึงตั้งใจที่จะกินมนุษย์และให้ลูกที่เกิดมาดุร้ายและแก้แค้นมนุษย์นั่นเอง อย่างไรก็ตาม เดซีได้พยายามผูกมิตรและเกลี้ยกล่อมมันได้จนสำเร็จ เธอจึงตัดสินใจพาอิ๊กคาบ็อกลงใต้ไปยังเมืองหลวงเพื่อเปิดโปงแผนการของสปิตเทิลเวิร์ทและฟื้นฟูแดนอุดมให้กลับมาเป็นเหมือนเดิม เด็กทั้งสี่และอิ๊กคาบ็อกได้เดินทางไปยังหัวเมืองต่าง ๆ ซึ่งสามารถทำให้ประชาชนเข้าใจว่าอิ๊กคาบ็อกไม่ดุร้ายและยอมร่วมมือกำจัดสปิตเวิร์ทได้เป็นจำนวนมาก เมื่อกองทัพประชาชนและอิ๊กคาบ็อกเดินทางมาถึงเมืองหลวง นักโทษการเมืองของสปิตเทิลเวิร์ทที่นำโดยนางบรีมิช นายโดฟเทล และผู้กองกู๊ดเฟลโลว์ก็สามารถแหกคุกออกมาได้สำเร็จ ทางสปิตเทิลเวิร์ทและฟลาพูนที่หนีออกมาจากวังก็ได้พบเข้ากับกองทัพประชาชนที่มีอิ๊กคาบ็อกเดินนำอยู่ แต่ทันใดนั้น อิ๊กคาบ็อกก็ทรุดลงและกำลังจะให้กำเนิดลูก ฟลาพูนเห็นดังนั้นจึงยิงปืนเข้าใส่มัน ส่งผลให้ลูกอิ๊กคาบ็อกตัวแรกที่ออกมาจากท้องดุร้ายและวิ่งเข้าไปฆ่าฟลาพูนตายในที่สุด ในระหว่างเหตุการชุลมุน เดซีได้เข้ามาอาการของอิ๊กคาบ็อกตัวแม่ ทำให้มันสัมผัสได้ถึงความรักที่มนุษย์มีให้แก่มันและให้กำเนิดลูกอิ๊กคาบ็อกตัวที่สองที่มีจิตใจ ดีผิดกับตัวแรกก่อนที่จะสิ้นใจไป เมื่อเห็นว่าตัวเองหมดทางสู้แล้ว สปิตเทิลเวิร์ทจึงได้ควบม้าหนีไป โดยมีเบิร์ตและรอเดอริกตามไปติด ๆ สปิตเทิลเวิร์ทได้ขี่ม้าไปยังคฤหาสน์ของเขาที่ตั้งอยู่ในชนบทเพื่อหวังจะลี้ภัยและหอบเอาทรัยพ์สมบัติอันมหาศาลติดตัวไปด้วย แต่เบิร์ตและรอเดอริกก็ได้มาดักเขาไว้ได้ทัน ก่อนที่จะจับกุมตัวสปิตเทิลเวิร์ทไปดำเนินคดี ราชาเฟร็ด สปิตเทิลเวิร์ท มา กรันเตอร์ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดถูกตัดสินโทษจำคุก แดนอุดมจึงได้เปลี่ยนมาใช้ระบบเลือกตั้ง ซึ่งผู้กองกู๊ดเฟลโลว์ก็ได้ขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศคนใหม่ ส่วนทองคำที่สปิตเทิลเวิร์ทและฟลาทูนได้ยักยอกไว้นั้นก็ได้กลับคืนมาอย่างรวดเร็ว ทำให้แดนอุดมจึงได้กลับมารุ่งเรืองขึ้นอีกครั้ง โดยได้มีเมืองใหม่เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเมืองนั่นก็คือเมืองอิ๊กคาบีอันเป็นที่อยู่ของลูกอิ๊กคาบ็อกตัวที่สองที่มีความอุดมสมบูรณ์ไม่ต่างกับเมืองอื่น ๆ ส่วนประชาชนในแดนทุ่งนั้นก็ได้รับที่ทำกินที่อุดมสมบูรณ์กว่าเคย ทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้นกว่าเดิมมาก เวลาได้ผ่านเลยไปจนทำให้ราชาเฟร็ดรู้สึกสำนึกผิดกับสิ่งที่พระองค์ทำ พระองค์จึงได้อาสาดูแลลูกอิ๊กคาบ็อกตัวแรกที่มีนิสัยดุร้ายจนทำให้มันเชื่องได้สำเร็จ ลูกของอิ๊กคาบ็อกตัวนั้นจึงเกิดมาพร้อมกับความรักและความอ่อนโยนที่เฟร็ดมีให้ ไม่นานหลังจากนั้นพระองค์ก็ได้ตรอมใจและสิ้นพระชนน์ลงในที่สุด แดนอุดมได้กลับมารุ่งเรืองเหมือนเคยและได้กลายมาเป็นอาณาจักรที่สงบสุขเรื่อยมานับจากนั้น ตัวละคร
คำวิจารณ์หนังสือพิมพ์เดอะเดลีเทลิกราฟ ได้ให้คะแนนของนิยายเรื่องนี้อยู่ที่ 3 จาก 5 คะแนน โดยได้ระบุว่าอิ๊กคาบ็อกนั้นเป็น "เทพนิยายที่อ่านสนุกแต่กลับมีเนื้อเรื่องเบาหวิวและขาดมนต์เสน่ห์แบบที่แฮร์รี่ พอตเตอร์มี"[6] ส่วนหนังสือพิมพ์เดอะ สกอตแมน ได้ให้คำวิจารณ์ในเชิงบวก โดยระบุว่า "หลายบทในนิยายเล่มใหม่ของเจ. เค. โรว์ลิ่งอย่างอิ๊กคาบ็อกนั้นได้ทิ้งความรู้สึก 'ค้างคาใจให้แก่ผู้อ่านจนชวนให้อยากติดตามต่อ'[7] ในขณะที่หนังสือพิมพ์เดอะไทมส์ ก็ได้ให้คำวิจารณ์ในเชิงบวกเช่นเดียวกันว่า "แค่เค้กและปีศาจในเรื่องก็เพียงพอที่จะพาเราหลบหนีไปจากโลกแห่งความจริงได้แล้ว" พร้อมทั้งยังได้ให้คะแนนนิยายเล่มนี้ 5 เต็ม 5 คะแนนอีกด้วย[8] อ้างอิง
|
Portal di Ensiklopedia Dunia