นายพันโท หลวงพิสณฑ์ยุทธการ (8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2401 – 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2472) มีนามเดิมว่า ปึก อดีตเจ้ากรมสรรพยุทธ กระทรวงกลาโหม สัสดีมณฑล ข้าหลวงทหารราบประจำกองพันตรีมหาดเล็กรักษาพระองค์ กรมทหารบกราบที่ ๑ (มหาดเล็กรักษาพระองค์)[ 1] : 130 อดีตนายทหารสังกัดกรมยุทธนาธิการ [ note 1] อดีต ผบ.ร.พัน 30 (ลำปาง)[ note 2] ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 7 รัชสมัยวาระนายพลเอก สมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ (พระยศในขณะนั้น) เป็นผู้บังคับบัญชา
ประวัติ
หลวงพิสณฑ์ยุทธการ (ปึก) เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2401[ 3] ปีมะเส็ง ราวสมัยรัชกาลที่ 4 ที่บ้านช่างหล่อ วังหลัง กรุงเทพพระมหานคร บิดาชื่อนายราชจํานง (นามเดิม: อู๋ โรจนกุล)[ 3] มหาดเล็กหุ้มแพรต้นเชือกเวรมหาใจภักดิ์ฝ่ายพระราชวังบวร บุตรของหลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม โรจนกุล) เจ้ากรมพระอาลักษณ์ฝ่ายพระบวรราชวัง (วังหน้า) บุตรชื่อ พระยาชำนาญอักษร (ปลอบ โรจนกุล) [ 4] และรองอำมาตย์ตรี โปรด โรจนกุล[ 5]
เดิมนายปึก รับราชการเป็นหุ้มแพรมหาดเล็กตำแหน่งพลทหารม้า[ 3] (บ้างก็เรียกว่านายทหารแถว) ในกรมทหารมหาดเล็ก[ 1] : 10 ต่อมาจึงได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นนายพิสณฑ์ยุทธการ (ปึก)
เมื่อ พ.ศ. 2429 นายพิสณฑ์ยุทธการ (ปึก) เข้าร่วมกระบวนพยุหยาตราชลมารค ในการพระราชพิธีลงสรงสนานเฉลิมพระปรมาภิไธยสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 โดยทำหน้าที่กำกับเรือกราบกัญญา[ 6] : 353 คุมพลพายเรือกระบวนทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ (กรมวัง) ตามลำดับยศท้ายเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชสายนอก ลำดับเรือกราบกัญญาขนัดที่ 20 ลำที่ 1[ 6] : 358
เมื่อ พ.ศ. 2432 เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นขุนพิสณฑ์ยุทธการ (ปึก) ในช่วงไปรับราชการที่เมืองอุบลราชธานี หลังจากที่ขุนพิสณฑ์ยุทธการ (ปึก) กลับราชการจากเมืองอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน จุลศักราช 1251 (ตรงกับ พ.ศ. 2432)[ 7] : 126 [ 8]
ในปี พ.ศ. 2431 นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์ โปรดให้จัดตั้งกองทหารประจำการตามหัวเมืองต่างๆ อย่างแบบยุโรป ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ ว่าที่นายพันตรี หลวงพิพักษ์นรินทร์ (ผึ้ง) เป็นผู้บังคับกองทหารคนแรก นับว่าเป็นการการตั้งกองทหารแบบยุโรปเป็นครั้งแรก ซึ่งขุนพิสณฑ์ยุทธการ (ปึก) ได้รับพระราชทานพระกรุณาให้เข้าร่วมกองทหารแบบใหม่นี้ด้วย ในการนี้กรมมหาดไทยได้นำขุนพิสณฑ์ยุทธการ (ปึก) และนายทหารอีก 7 นายเข้าเฝ้าถวายบังคมลา[ 9] ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ ขุนพิสณฑ์ยุทธการ (ปึก) ไปประจำกองทหารประจำการ ณ เมืองตะโปน เมืองพิน เมืองนอง กับกองทหารของ ว่าที่นายพันตรี หลวงพิทักษ์นรินทร์ (ผึ้ง) ที่บริเวณทุ่งศรีเมือง จุลศักราช 1251 ปีฉลู ตรงกับ พ.ศ. 2432
ปรากฏใน พงศาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ ของหม่อมอมรวงษ์วิจิตร์ (หม่อมราชวงศ์ปฐม) ว่า :-
โปรดเกล้า ฯ ให้กรมยุทธนาธิการส่งนายร้อยเอก ขุนพิศลยุทธการ (ปึก) ๑ นายร้อยตรีชื่น ๑ นายร้อยตรีคำ ๑ นายร้อยตรีพลับ ๑ นายร้อยตรีพึ่ง ๑ นายร้อยตรีวาด ๑ นายร้อยตรีพรหม ๑ กับพลแตรเดี่ยว ๑ ขึ้นไปรับราชการกับ ว่าที่นายพันตรี หลวงพิทักษ์นรินทร์ (ผึ้ง) ขุนพิศล ฯ กับนายร้อย ๗ นาย ได้ไปถึงเมืองอุบลเมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม แล้วหลวงพิทักษ์นรินทร์จัดให้ ขุนพิศลฯ ๑ นายร้อยตรีพึ่ง ๑ นายร้อยตรีคล้าย ๑ นายร้อยตรีคำ ๑ ไปรับราชการอยู่กับหลวงพิทักษ์นรินทร์ (ผึ้ง) ณ ด่านเมืองตะโปน เมืองพิน เมืองนอง แลจัดให้นายร้อยตรีวาด ๑ นายร้อยตรีชื่น ๑ นายร้อยตรีพลับ ๑ นายร้อยตรีพรหม ๑ ไปรักษาราชการหน้าด่านเมืองนครจำปาศักดิ์... [ 10] [ 7] : 115 [ 11]
เมื่อ พ.ศ. 2432 เอกสารหอจดหมายเหตุแห่งชาติ หมายเลข ร.๕ ม.๒. ๑๒ ข/๖๑ จ.ศ. ๑๒๕๑ (พ.ศ. 2432) กล่าวว่า ขุนพิสณฑ์ยุทธการ (ปึก) ตำแหน่งผู้บังคับการกองทหารมณฑลอีสานในขณะนั้น ถูกพระยาราชเสน (ทัด ไกรฤกษ์) ข้าหลวงกำกับราชการเมืองอุบลราชธานีกล่าวโทษว่าขุนพิสณฑ์ยุทธการ (ปึก) นำเงินส่วยของหลวงไปใช้ซื้อม้าไว้ใช้ในราชการ ผลสอบสวนไม่พบความผิดตามคำกล่าวโทษนั้นจึงมีพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้คงตำแหน่งผู้บังคับการทหารมณฑลอีสานเดิมต่อไป[ 12]
ระหว่างที่ขุนพิสณฑ์ยุทธการ (ปึก) ผู้บังคับการกองทหารมณฑลอีสานประจำกองทหารครั้งนั้นอยู่เกือบปี ปรากฏว่านายร้อยตรีคำในกองทหารป่วยเป็นไข้พิศม์ หรือไข้อายพิศม์[ note 3] ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2432 ขุนพิสณฑ์ยุทธการ (ปึก) จึงได้ประกอบพิธีศพตามธรรมเนียม ปรากฏในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช ๒๔๓๓ ว่า "...บอกพระราชเสนาข้าหลวงเมืองอุบลราชธานี ลงวันที่ ๓๐ มีนาคม ร.ศ. ๑๐๘ ว่า นายร้อยตรี นายคำ ซึ่งไปราชการเมืองตะโปนป่วยเป็นไข้พิศม์ พอ ณ วันที่ ๒๙ มกราคม นายร้อยตรี นายคำถึงแก่กรรม นายร้อยเอก ขุนพิสณฑ์ (ปึก) จัดการไหว้ศพตามธรรมเนียม..." [ 14] และได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการที่นั่นกระทั่งกลับราชการจากเมืองอุบลราชธานี มายังกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2434[ 11] : 183
เมื่อ พ.ศ. 2435 ขุนพิสณฑ์ยุทธการ (ปึก) ได้เป็นนายร้อยโทชั้นสัญญาบัตร เข้าประจำกองพันตรี กองทหารราบในมหาดเล็กรักษาพระองค์ [ 15] กรมทหารบกราบที่ ๑ (มหาดเล็กรักษาพระองค์) โดยมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช ทรงเป็นผู้บังคับการในขณะนั้น[ 1] : 41–42
เมื่อ พ.ศ. 2436 ขุนพิสณฑ์ยุทธการ (ปึก) ได้ไปเข้าร่วมราชการทหารกับกองทหารของพระพิเรนทรเทพ[ 16] เพื่อไปรักษาหัวเมืองลาวกาวมีหัวเมืองสำคัญ 7 เมือง[ 17] ได้แก่ เมืองอุบลราชธานี เมืองนครจำปาศักดิ์ เมืองศรีสะเกษ เมืองสุรินทร์ เมืองร้อยเอ็ด เมืองมหาสารคาม และเมืองกาฬสินธุ์ โดยพระยาจ่าแสนบดี ปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทย นำข้าราชการฝ่ายทหารเข้าเฝ้ากราบถวายบังคมทูลลาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน
เมื่อ พ.ศ. 2441 หนังสือพิมพ์บางกอกสมัย ฉบับวันที่ ๔ ธันวาคม ร.ศ. ๑๑๗ รายงานข่าวหัวเมือง “บ้านหมากแข้ง แขวงกุมภวาปี” กล่าวถึงงานบุญบ้านหมากแข้งมีการประชุมเล่นนักขัตฤกษ์ และงานรื่นเริงที่หนองมหาสนุก ณ บ้านหมากแข้ง (จังหวัดอุดรธานี ในปัจจุบัน) แขวงกุมภวาปี มณฑลลาวพวน ขุนพิสณฑ์ยุทธการ (ปึก) ผู้บังคับการกองทหารมณฑลลาวพวนในขณะนั้นออกร้านขายถั่วยี่สงคั่วและต้มที่เรือนแพรอบหนองมหาสนุก[ 18]
ภายหลังมียศที่นายพันตรี ขุนพิสณฑ์ยุทธการ (ปึก) ได้เป็นผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 30 (ผบ.ร.พัน 30) (ลำปาง) กรมยุทธนาธิการ และได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นหลวงพิสณฑ์ยุทธการ (ปึก) ถือศักดินา 800[ 19] ระหว่างรับราชการเมื่อ พ.ศ. 2445 ได้ร่วมบริจาคทรัพย์ 34 บาท[ 20] เพื่อก่อสร้างโรงเรียนอุดรพิทยานุกูล มลฑลอุดร ในคราวเหตุการณ์เพลิงไหม้ของโรงเรียนสอนหนังสือไทยบ้านหมากแข้ง (ชื่อโรงเรียนเดิม) ซึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ทรงสร้างไว้ กระทั่งปลดประจำการเป็นทหารกองหนุน กระทรวงกลาโหม มียศสุดท้ายเป็น นายพันโท หลวงพิสณฑ์ยุทธการ (ปึก) ถือศักดินา 2000[ 21] : 362
เมื่อ พ.ศ. 2452 เป็นเจ้ากรมสรรพยุทธ สังกัดกระทรวงกลาโหมถัดจากนายพันเอก พระยาฤทธิไกรเกรียงหาญ เจ้ากรมสรรพยุทธคนก่อน[ 22] จนครบเกษียณอายุราชการจึงได้ลาออกจากประจำการเป็นนายทหารกองหนุน กรมทหารราบที่ 3 กระทรวงกลาโหม เมื่อ พ.ศ. 2453 แล้วปลดประจำการเป็นนายทหารนอกราชการบำนาญ กรมทหารราบที่ 3[ 3]
หลวงพิสณฑ์ยุทธการ (ปึก) ป่วยเป็นโรคไส้เลื่อนถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2472[ 3] สิริรวมอายุได้ 71 ปี เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) คุณหญิงรามราฆพ (ประจวบ พึ่งบุญ) เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) และ พล.ต.ต.นิตย์ สุขุม บุตรเจ้าคุณยมราชได้กระทำฌาปนกิจศพเมื่อวันอาทิยต์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2477 เพลาบ่าย ณ วัดอมรินทรารามวรวิหาร [ 23]
ยศและบรรดาศักดิ์
บรรดาศักดิ์
พ.ศ. 2420 หุ้มแพรมหาดเล็ก[ 1] : 10
พ.ศ. 2431 นายพิสณฑ์ยุทธการ (ปึก) ศักดินา 500[ 24]
พ.ศ. 2432 ขุนพิสณฑ์ยุทธการ (ปึก) ศักดินา 800[ 25]
พ.ศ. 2441 หลวงพิสณฑ์ยุทธการ (ปึก)[ 26] : 118 ศักดินา 2000[ 21] : 362
ยศทหาร
พ.ศ. 2420 นายสิบเอก[ 3]
นายร้อยตรี
พ.ศ. 2431 นายร้อยโท[ 27] : 258
พ.ศ. 2431 นายร้อยเอก
พ.ศ. 2431 ว่าที่นายพันตรี[ 3]
พ.ศ. 2442 นายพันตรี[ 28] : 442
พ.ศ. 2451 นายพันโท[ 29]
หมายเหตุ: ชื่อบรรดาศักดิ์จากหลักฐานบ้างก็ปรากฏว่า พิสณฑ์ยุทธการ พิศลยุทธการ หรือ พิสันฑ์ยุทธการ[ 30] ทว่าหลักฐานต่างๆ กล่าวว่าข้าราชการผู้นี้มีนามเดิมชื่อ ปึก ตรงกัน
ตำแหน่งราชการ
หลวงพิสณฑ์ยุทธการ (ปึก) มีตำแหน่งราชการดังต่อไปนี้[ 3]
พ.ศ. 2420 หุ้มแพร (พลทหารม้า) กรมทหารมหาดเล็ก
พ.ศ. 2431 นายทหารประจำกรมทหารมหาดเล็ก
พ.ศ. 2432 ผู้บังคับการกองทหารมณฑลอีสาน เมืองอุบลราชธานี
พ.ศ. 2434 ประจำกองพันตรี กรมทหารมหาดเล็ก
พ.ศ. 2435 นายร้อยโทประจำกองพันตรีทหารราบ กองทหารราบในมหาดเล็กรักษาพระองค์ กรมทหารบกราบที่ ๑ (มหาดเล็กรักษาพระองค์) กรมยุทธนาธิการ[ 27] : 258
พ.ศ. 2436 ผู้บังคับการมณฑลทหารพิษณุโลก และประจำกรมทหารล้อมวังขึ้นกับกรมยุทธนาธิการ
พ.ศ. 2438 ผู้บังคับการมณฑลทหารพิษณุโลก และผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 20
พ.ศ. 2440 ผู้บังคับการกองทหารมณฑลลาวพวน[ 31] (อุดรธานี)
พ.ศ. 2441 ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 30 (ผบ.ร.พัน 30) (ลำปาง) กรมยุทธนาธิการ
พ.ศ. 2443 ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 7 มณฑลฝ่ายเหนือ (ผบ.ร.7)[ 28]
พ.ศ. 2446 ข้าหลวงมณฑลทหารราชบุรี
พ.ศ. 2447 ผู้ช่วยข้าหลวงพิเศษมณฑลทหารอยุธยา
พ.ศ. 2451 ข้าหลวงทหารบกประจำมณฑลกรุงเทพ (สัสดีมณฑล)[ 32] : 43
พ.ศ. 2449 สัสดีมณฑลนครสวรรค์
พ.ศ. 2452 เจ้ากรมสรรพยุทธ กระทรวงกลาโหม และสารวัตรทหารบก มณฑลทหารบกกรุงเทพฯ กรมสารวัตรใหญ่ทหารบก [ 33] [ 34]
พ.ศ. 2453 นายทหารกองหนุน กรมทหารราบที่ 3 กระทรวงกลาโหม
พ.ศ. 2457 นายทหารนอกราชการบำนาญ กรมทหารราบที่ 3
พ.ศ. 2472 นายทหารพ้นราชการบำนาญ
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
หมายเหตุ
เชิงอรรถ
↑ กรมยุทธนาธิการ คือ กรมรวมระหว่างทหารบกกับทหารเรือ ตามพระราชบัญญัติจัดการทหาร เมื่อวันศุกร์เดือน ๕ แรมค่ำ ๑ ปีกุน อัฐศกจุลศักราช ๑๒๔๘ (คือ พ.ศ. ๒๔๓๐)[ 1] : 37
↑ หนังสือกรมพระราชวังหลัง เขียนว่า ร.พัน ๓๐ (ลำปาง) ผบ.พัน พ.ต.ขุนพิสณฑ์ยุทธการ[ 2]
↑ หมอบรัดเล ให้คำจำกัดความว่า หมายถึง โรคลมมีพิศม์ เสมือนพิศม์งู[ 13]
อ้างอิง
เชิงอรรถ
↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 วรการบัญชา, พันเอก นาย. (2496). ตำนานทหารมหาดเล็ก . พันเอก นายวรการบัญชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ พิมพ์ถวายสนองพระคุณ ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเอก พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอดิศรอุดมศักดิ์ ณ พระเมรุวัดเบญจมบพิตร วันที่ ๑๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๙๖. พระนคร: ประชาช่าง. 302 หน้า.
↑ ยิ้ม บัณฑยางกูร. (2534). กรมพระราชวังหลัง อนุสรณ์ พลตรี ม.ล.จวง เสนีวงศ์ (หลวงเสนียุทธกาจ) . ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศก พลตรี ม.ล. จวง เสนีวงศ์ ท.ช., ท.ม. ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยราม วันที่ ๓๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๔. กรุงเทพฯ: บริษัท อมรโปรดัดส์ จำกัด. 167 หน้า. ISBN 974-417-187-1
↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 3.7 3.8 ข่าวตาย: ประวัติสังเขป นายพันโท หลวงพิสณฑ์ยุทธการ (ปึก โรจนะกุล) . (๒๔๗๒, ๒๒ ธันวาคม). ราชกิจจานุเบกษา . เล่ม ๔๖. หน้า ๓,๓๗๐–๓,๓๗๑.
↑ ข่าวตาย . เก็บถาวร 2023-06-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน . (๒๔๗๐, ๑๑ ธันวาคม). ราชกิจจานุเบกษา . เล่มที่ ๔๔. หน้า ๒,๙๕๙ – ๒,๙๖๐.
↑ ข่าวตาย . เก็บถาวร 2023-06-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน . (๒๔๗๒, ๕ มกราคม). ราชกิจจานุเบกษา . เล่มที่ ๔๖. หน้า ๓,๕๑๒.
↑ 6.0 6.1 ภาณุพันธุวงศ์วรเดช, สมเด็จ ฯ เจ้าฟ้ากรมพระยา. (2513). จดหมายเหตุพระราชพิธีลงสรง สมเด็จ ฯ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ในรัชกาลที่ ๕ . พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลตำรวจเอก พระพินิจชนคดี (พินิจ อินทรทูต) ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๓. กรุงเทพฯ: ประจักษ์การพิมพ์.
↑ 7.0 7.1 อมรวงษ์วิจิตร์ (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร), หม่อม . (2516). เมืองในภาคอิสาน . พระนคร: กรมศิลปากร. 269 หน้า.
↑ อมรวงษ์วิจิตร์ (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร), หม่อม . (2506). ประชุมพงศาวดารภาค ๔ และประวัติท้องที่จังหวัดมหาสารคาม. พระนคร: โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น. หน้า 133.
↑ ข้าราชการถวายบังคมลา วันที่ ๑๗ มิถุนายน ร.ศ. ๑๐๘ . (๒๔๓๒, ๑๗ มิถุนายน). ราชกิจจานุเบกษา . เล่มที่ ๖. หน้า ๑๐๑.
↑ ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จ ฯ กรมพระยา. (2459). ประชุมพงศาวดารภาคที่ 4 . พระนคร: โสภณพิพรรฒธนากร. 222 หน้า. หน้า 171.
↑ 11.0 11.1 อมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว. ปฐม คเนจร), หม่อม . (2458). "พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ", ใน ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๔ . อำมาตย์เอก พระยาศรีสำรวจ (ชื่น ภัทรนาวิก) ม.ม,ท.ช,รัตน ว,ป,ร.๔ พิมพ์แจกในงานศพพัน ภัทรนาวิก ผู้มารดา เมื่อปีเถาะ สัปตศก พ.ศ. ๒๔๕๘. กรุงเทพฯ: โสภณพิพรรฒธนากร. หน้า 170.
↑ ปริญ รสจันทร์ เกศินี ศรีวงค์ษา และอมรรัตน์ นาคเสพ. (2555). รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ เรื่อง การสร้างความปรองดองระหว่างสยามและท้องถิ่นหลังความขัดแย้งกรณีกบฏผู้มีบุญอีสาน พุทธศักราช 2444-2455: The Harmony builds up between Siam and Local Area after the Holy man rebel, 1901-1912 . ร้อยเอ็ด: คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด. หน้า 168. อ้างใน เอกสารจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ร.๕ ม.๒. ๑๒ ข/๖๑ จ.ศ. ๑๒๕๑.
↑ แดน บีช บรัดเลย์. (2514). หนังสือ อักขราภิธานศรับท์ ของหมดบลัดเล (Dictionary of the SIAMESE LANGUAGE by D.B.Bradley) 1873 . พระนคร: คุรุสภา.
↑ จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช ๒๔๓๓ . กรุงเทพฯ: สำนักราชเลขาธิการ, 2514. 424 หน้า. หน้า 94. หน้า 94.
↑ ตำแหน่งนายทหารสัญญาบัตร กรมยุทธนาธิการ ในรัตนโกสินทร์ศก ๑๑๑ เก็บถาวร 2019-12-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน . (๒๔๓๕, ๓๐ ตุลาคม). ราชกิจจานุเบกษา . เล่มที่ ๙. ตอนที่ ๓๑. หน้า 258.
↑ ข้าราชการถวายบังคมลา วันที่ ๑๑ มิถุนายน ร.ศ. ๑๑๒ . (๒๔๓๖, ๑๑ มิถุนายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ ๑๐. ตอนที่ ๓๑. หน้า ๒๕๘.
↑ ภูเดช แสนสา (ปริวรรต) (แต่ง), หออัตลักษณ์นครน่าน (เผยแพร่). ชาติพันธุ์ในเมืองน่าน. หน้า 72.
↑ เอนก นาวิกมูล. "งานบุญบ้านหมากแข้ง พ.ศ. 2441 มีอีหยังจึงม่วนซื่นหลาย? ," ศิลปวัฒนธรรม 22(7)(กรกฎาคม 2544):82-84. อ้างใน “บ้านหมากแข้ง แขวงกุมภวาปี,” หนังสือพิมพ์บางกอกสมัย ฉบับวันที่ ๔ ธันวาคม ร.ศ. ๑๑๗ . หน้า 14.
↑ ส่งสัญญาบัตรไปพระราชทาน วันที่ ๕ กุมพาพันธ์ ร.ศ. ๑๑๗ . (๒๔๔๑, ๕ กุมภาพันธ์). ราชกิจจานุเบกษา . เล่มที่ ๑๕. หน้า ๔๙๐.
↑ แจ้งความกระทรวงธรรมการ พแนกกรมศึกษาธิการ วันที่ ๑๔ ธันวาคม ร.ศ. ๑๒๑ . (๒๔๔๕, ๑๔ ธันวาคม). ราชกิจจานุเบกษา . เล่มที่ ๑๙. หน้า ๗๔๐.
↑ 21.0 21.1 สำนักราชเลขาธิการ. (2540). "ศักดินาทหารบก", พระราชบัญญัติศักดินาทหาร จุลศักราช ๑๒๕๐ กฎหมายในรัชกาลที่ ๕ เล่ม ๒ . ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พิมพ์พระราชทานในงานพระราชทานเพลิงศพ นายจิตติ ติงศภัทิย์ ป.จ. ม.ป.ช. ม.ว.ม. ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันเสาร์ที่ ๒๓ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๔๐. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. 857 หน้า. ISBN 974-827-469-1
↑ กรมยุทธนาธิการ. (2451). รายงานประชุมผู้บัญชาการทหารบกมณฑล ปีที่ ๕ รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๗ ศาลายุทธนาธิการ . พระนคร: โรงพิมพ์ในศาลายุทธนาธิการ. หน้า 100.
↑ เรื่องเล่าจากอดีต. (2564, 30 มีนาคม). บ้านนรสิงห์ ตอนที่ ๖๕ จากสมุดบันทึกประจำวัน เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) เขียนถึงบุคคลที่มาพบที่บ้านนรสิงห์... [โพสต์และรูปประกอบ]. สืบค้นเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2567 จาก Facebook @เรื่องเล่าจากอดีต .
↑ ก.ศ.ร. กุหลาบ ตฤษณานนท์. (2448). มหามุขมาตยานุกูลวงศ์ ว่าด้วยลำดับวงศ์ตระกูลขุนนางไทยทั้งสิ้นในแผ่นดินสยาม เล่มที่ 1 . พระนคร: สยามประเภท. หน้า 8.
↑ พระราชทานสัญญาบัตร์ วันที่ ๑๖ มิถุนายน รัตนโกสินทรศก ๑๐๘ . (2432, 16 มิถุนายน). ราชกิจจานุเบกษา . เล่ม 6. หน้า 100.
↑ อักขรานุกรมขุนนาง . พระนคร: โรงเรียนมหาดเล็ก, 2462.
↑ 27.0 27.1 ตำแหน่งนายทหารสัญญาบัตร กรมยุทธนาธิการ ในรัตนโกสินทร์ศก ๑๑๑ : กองพันตรีทหารราบใน “มหาดเล็ก” . (๒๔๓๖, ๓๐ ตุลาคม). ราชกิจจานุเบกษา . เล่ม ๓๐ . หน้า ๒๕๘.
↑ 28.0 28.1 ตำแหน่งข้าราชการกรมทหารบก รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๘ . (๒๔๔๓, ๒๒ ตุลาคม). ราชกิจจานุเบกษา . เล่ม ๑๖ หน้า ๔๔๒.
↑ เทพชู ทับทอง. (2528). ต้นตระกูลไทย: ราชสกุล–นามสกุลพระราชทาน . กรุงเทพฯ: วัชรินทร์การพิมพ์. 186 หน้า. หน้า 110.
↑ รุ่ม, มหาดเล็ก. (2459). หนังสืออุไภยพจน์วิภาค . พระนคร: หนังสือพิมพ์ไทย. 235 หน้า. หน้า 153.
↑ จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (2525). จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจุลศักราช ๑๒๕๗-๑๒๖๐ (ร.ศ. ๑๑๔-๑๑๗) . ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นางเฉลยพร เสนีวงศ์ ณ อยุธยา เป็นกรณีพิเศษ ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม วันจันทร์ที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๒๕. กรุงเทพฯ: กรุงสยามการพิมพ์.
↑ 32.0 32.1 32.2 กรมเสนาธิการทหารบก. (2450). สมุดคู่มือสำหรับข้าราชการประจำปี ร.ศ. ๑๒๖ . พระนคร: โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ . 357 หน้า.
↑ ประวัติกรมการสารวัตรทหารบก . หน้า 2. สืบค้นเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2567.
↑ "เหล่าทหารสารวัตร", วิชากองทัพบกและเหล่าทหาร . นครนายก: กองวิชาเหล่าสนับสนุนการช่วยรบ ส่วนวิชาทหาร โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า. 328 หน้า. หน้า 203.
↑ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ วันที่ ๑๕ ธันวาคม รัตนโกสินทร์ ศก ๑๒๐ เก็บถาวร 2020-07-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน . (๒๔๔๔, ๒๒ ธันวาคม). ราชกิจจานุเบกษา . เล่มที่ ๑๘. หน้า ๗๔๕.
↑ พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ วันที่ ๘ ธันวาคม ร.ศ. ๑๑๒ เก็บถาวร 2020-07-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน . (๒๔๓๖, ๘ ธันวาคม). ราชกิจจานุเบกษา . เล่มที่ ๑๐. หน้า ๔๕๕.
บรรณานุกรม
บันทึกคำให้การของครอบครัวผู้สืบลงมาทางหลวงพิสณฑ์ยุทธการ (ปึก) .
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จ ฯ กรมพระยา. (2513). "เรื่องล้านช้าง", ใน นิทานโบราณคดี. พระนคร: ศิลปาบรรณาคาร. หน้า 304–306.
เติม สิงหัษฐิต. (2499). ฝั่งขวาแม่น้ำโขง . กรุงเทพฯ: ไทยสัมพันธ์. หน้า 120.
มหาสิลา วีรวงส์. (2544). ประวัติศาสตร์ชาติลาวตั้งแต่โบราณถึงปี 1946 . เวียงจันทร์: มันตาตุลาด.