สุทธิชัย หยุ่น
สุทธิชัย แซ่หยุ่น หรือที่รู้จักทั่วไปว่า สุทธิชัย หยุ่น (เกิด 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2489) เป็นนักหนังสือพิมพ์และนักธุรกิจชาวไทย และอดีตประธานกรรมการ เนชั่น กรุ๊ป, บรรณาธิการอำนวยการ เครือเนชั่น, ผู้ร่วมก่อตั้งหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น, กรุงเทพธุรกิจ, สถานีโทรทัศน์ไอทีวี, เนชั่นทีวี[1][2][3] และเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์ ชีพจรโลก และ ชีพจรโลกวันนี้ ทางเนชั่นแชนแนล ประวัติสุทธิชัยเกิดในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนที่ยากจน ในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มารดาชื่อซุ่ยจั่น แซ่ฟุ่ง เป็นพี่ชายของเทพชัย หย่อง[4] กรรมการบริหาร เนชั่นมัลติมีเดียกรุ๊ป และอดีตผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย จบการเรียนชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนแสงทองวิทยา อำเภอหาดใหญ่ ต่อมาเข้าเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษา ที่โรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการ ในกรุงเทพมหานคร ระหว่างเรียนมีผลงานเขียน กับหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ และสยามรัฐรายวัน[5] การทำงานหลังจากนั้น เข้าทำงานที่บริษัท ดีทแฮล์ม จำกัด อยู่สามเดือน จึงเปลี่ยนมาเป็นล่าม ให้กับผู้เชี่ยวชาญชาวอเมริกัน ที่เข้ามาสร้างเขื่อนผามอง จังหวัดหนองคาย เสร็จจากงานชั่วคราวนี้ จึงเข้าศึกษาต่อที่ แผนกอิสระสื่อสารมวลชน ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ปัจจุบันคือคณะนิเทศศาสตร์) ขณะเรียนก็เป็นพนักงานพิสูจน์อักษร ที่บางกอกโพสต์ เมื่อ พ.ศ. 2511 แต่ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เรียนไม่จบ เพราะเวลาเรียนกับเวลาทำงานตรงกัน จึงตัดสินใจเลือกทำงาน[6] หลังจากนั้นเลื่อนตำแหน่งเป็น ผู้ช่วยหัวหน้าข่าวที่บางกอกโพสต์ โดยมีหัวหน้าข่าว นาย เท่ห์ จงคดีกิจ เป็นเจ้านายคนแรก และต่อมา หลังจากทำงานได้เพียง 5 เดือน ก็เลื่อนขึ้นเป็นบรรณาธิการข่าวในประเทศ ทั้งที่อายุยังน้อย และไม่มีปริญญาบัตร[7] เขาได้รางวัลศรีบูรพาส่วนหนึ่งเนื่องจากข่าว พันเอก ณรงค์ กิตติขจร พังป้อมตำรวจ เนื่องจากเมาสุรา[8] จนกระทั่งปี พ.ศ. 2514 บางกอกโพสต์ซื้อกิจการหนังสือพิมพ์บางกอกเวิลด์ ซึ่งสุทธิชัยเห็นว่า เป็นการผูกขาดวงการหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ จึงร่วมกับหม่อมราชวงศ์หญิงสุนิดา กิติยากร, ธรรมนูญ มหาเปารยะ และเพื่อนนักหนังสือพิมพ์ โดยประกาศขายหุ้นแก่ประชาชนเพื่อระดมทุน จนได้เป็นเงินราว 2 ล้านบาท ในการก่อตั้งหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษฉบับแรก ที่มีคนไทยเป็นเจ้าของ ให้ชื่อว่า เดอะ วอยซ์ ออฟ เดอะ เนชั่น (อังกฤษ: The Voice of The Nation; คำแปล: เสียงแห่งประชาชาติ) ในวันที่ 1 กรกฎาคม ปีเดียวกัน[9] ในปี พ.ศ. 2517 เขาทำงานกับวิทยุแห่งประเทศไทยต่อมา เมื่อคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ก่อรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ตามมาด้วยคำสั่งปิดหนังสือพิมพ์ในประเทศไทยทุกฉบับ สุทธิชัยจึงนำใบอนุญาตที่ตนเคยทำสำรองไว้ก่อนหน้านั้น ออกหนังสือพิมพ์ชื่อใหม่ว่า เดอะ เนชั่น รีวิว (อังกฤษ: The Nation Review) เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2519 จากนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2528 จึงเปลี่ยนเป็นชื่อที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน สุทธิชัยยังเป็นผู้ก่อตั้ง หนังสือพิมพ์ธุรกิจรายวันฉบับแรกของประเทศไทย คือกรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2530 นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ริเริ่มวิทยุเนชั่น เขาเริ่มมีชื่อเสียงจากการเล่าข่าวสงครามอ่าวเปอร์เซีย ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3และเป็นหนึ่งในคณะผู้ร่วมดำเนินงานสถานีโทรทัศน์ไอทีวี เมื่อปี พ.ศ. 2538, ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2543 จึงมาก่อตั้งสถานีโทรทัศน์เนชั่นแชนแนล ยุคต่อมา เขามีชื่อเสียงจากการเป็นคอลัมนิสต์ และผู้ดำเนินรายการสนทนาเชิงข่าว รายการที่สร้างชื่อคือ การรายงานข่าวสงครามอ่าวเปอร์เซีย ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2534 ทางไทยทีวีสีช่อง 3 และช่อง 9 อ.ส.ม.ท. ต่อมาเครือเนชั่นจึงเริ่มผลิตรายการโทรทัศน์ครั้งแรก เนชั่น นิวส์ ทอล์ก ทางช่อง 9 อ.ส.ม.ท. ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เข้าตรวจสอบบัญชีธนาคาร และการชำระภาษีย้อนหลัง ของสื่อมวลชนจำนวนหนึ่ง ซึ่งในจำนวนนั้น มีสุทธิชัยรวมอยู่ด้วย[10] สุทธิชัย หยุ่น เป็นที่รู้จักในฐานะนักข่าว เช่น กรณีที่ญาตินักการเมืองแกนนำในรัฐบาลซื้อหุ้นในกิจการสื่อมวลชน[11] อย่างไรก็ตามเขาวิจารณ์การทำงานของสื่อมวลชนหลายครั้งเช่นกรณี การเสนอข่าวการเจ็บป่วยของ ทฤษฎี สหวงษ์[12] หลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ ในรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา[13] ชีวิตส่วนตัวสุทธิชัยสมรสกับนันทวัน หยุ่น อดีตบรรณาธิการนิตยสารลลนา มีบุตรชายเป็นที่รู้จักคือ ปราบดา หยุ่น นักเขียนรางวัลซีไรต์ ซึ่งตั้งชื่อล้อกับชื่อของหนังสือพิมพ์ ปราฟด้า (Pravda) ของประเทศรัสเซีย และบุตรสาวคือ ชิมบุญ หยุ่น ซึ่งตั้งชื่อล้อกับชื่อของหนังสือพิมพ์ โยมิอูริ ชิมบุน (Yomiuri Shimbun) ของประเทศญี่ปุ่น ผลงานหนังสือ[7]
พิธีกร
ภาพยนตร์
ละครชุด
รางวัล
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่นวิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ สุทธิชัย หยุ่น
|
Portal di Ensiklopedia Dunia