สยบไพรี 43
สยบไพรี 43 (อังกฤษ: Sayobpairee 43) หรือ หน่วยปฏิบัติการพิเศษสยบไพรี กองกำกับการปฏิบัติการพิเศษ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (กก.ปพ. บช.ปส.) สังกัดส่วนสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม[1] สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นหน่วยตำรวจที่มีความเชี่ยวชาญการใช้อาวุธและยุทธวิธีพิเศษ มีภารกิจหลักในการสนับสนุนการปฏิบัติงานในการปราบปรามยาเสพติดภายในประเทศ[2] หน่วยสยบไพรี 43 นั้น มีอีกชื่อเรียกที่มาจากหลักสูตรการฝึกที่ใกล้ชิดกับหน่วยคอมมานโด ทั้งของกองทัพอากาศ[3][4] และหน่วยสยบริปูสะท้านเดิม[5] ทำให้ถูกเรียกชื่อว่า คอมมานโดสยบไพรี[6] และ NSB Commando[7] ประวัติเนื่องจากแต่เดิมตั้งแต่ยุคก่อตั้งกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดเมื่อปี พ.ศ. 2535[8] นั้น ตัวหน่วยงานเองไม่มีหน่วยปฏิบัติการพิเศษเป็นของตนเอง ทำให้ในการปฏิบัติภารกิจในการต่อต้านและปราบปรามยาเสพติดที่ผ่านมานั้น กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดต้องร้องขอกำลังสนับสนุนจากหน่วยงานอื่น ๆ ในพื้นที่ โดยเฉพาะในภารกิจสกัดกั้นตามแนวชายแดน ซึ่งเป็นพื้นที่ของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน โดยกองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ (ตำรวจพลร่ม) โดยในบางครั้งเนื่องจากสภาวะขับขันเร่งด่วนในการปฏิบัติการ ทำให้ไม่สามารถรอกำลังหน่วยปฏิบัติการพิเศษมาสนับสนุนได้และต้องปฏิบัติการเข้าแสดงตัวจับกุมในทันที ทำให้เกิดความสูญเสียต่อชุดปฏิบัติการของตำรวจปราบปรามยาเสพติด รวมถึงหลายครั้งที่ปฏิบัติการไม่สำเร็จทำให้ยาเสพติดหลุดรอดออกไปได้[3] ด้วยเหตุนี้เอง หน่วยสยบไพรี จึงถูกก่อตั้งในปี พ.ศ. 2543 โดย พันตำรวจเอก อดิเทพ ปัญจมานนนท์[9] รองผู้บังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติด 1 (ยศและตำแหน่งขณะนั้น) ได้เสนอไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อขอเปิดหลักสูตรการฝึกเพื่อเพิ่มศักยภาพและพัฒนาบุคลากรในหน่วยงานให้มีความสามารถในการปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติดได้ยย่างมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของหน่วยปฏิบัติการพิเศษของกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด[3] โดยใช้ชื่อว่า "สยบไพรี" ที่ได้รับการพระราชทานนามจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร[9][10] ส่วนเลข 43 นั้นเป็นหมายเลขของปีที่ก่อตั้งหน่วย คือปี พ.ศ. 2543 เหมือนกับหน่วยปฏิบัติการพิเศษของตำรวจ 2 หน่วยหลักที่ตามหลังด้วยหมายเลขปีที่ก่อตั้ง[11] กำลังพลชุดแรกที่เข้ารับการฝึก ประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน สังกัดกองบังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติด 1 และ 2 จำนวน 34 นาย เข้ารับการฝึกจากกองพันปฏิบัติการพิเศษที่ 2 กรมปฏิบัติการพิเศษ หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน กองทัพอากาศ โดยผ่านการฝึกต่าง ๆ อาทิ การใช้อาวุธเชิงยุทธวิธี การรบระยะประชิดภายในอาคาร การใช้ชุดพลซุ่มยิง การใช้เชือกลงทางดิ่ง เป็นต้น โดยหลังจากสิ้นสุดการฝึกชุดแรกในปี พ.ศ. 2543 ได้มีการนำกำลังจากกองบังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติดอื่น ๆ มาร่วมหมุนเวียนกำลังเข้ารับการฝึกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติการ โดยเข้ารับการฝึกจากหน่วยรบพิเศษหน่วยต่าง ๆ ของประเทศไทย ทั้งส่วนของกองทัพบก กองทัพอากาศ กองทัพเรือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ[5] กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ในส่วนของกองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ รวมไปถึงการฝึกร่วมกับหน่วยปฏิบัติการพิเศษของสำนักงานปราบปรามยาเสพติด กระทรวงยุติธรรมสหรัฐ[12][3] และหน่วยปฏิบัติการพิเศษของประเทสอิสราเอล[13] สัญลักษณ์ประจำหน่วยสัญลักษณ์ประจำหน่วยสยบไพรี เป็นรูปนกอินทรีสยายปีก ในปากคาบอาวุธปืนชนิดเอ็ม 16 ติดดาบปลายปืน กรงเล็บถือประกายสายฟ้า[10][3]
การฝึกหน่วยสยบไพรี 43 มีศูนย์ฝึกชื่อว่า ศูนย์ฝึกอบรมยุทธวิธีปัญจมานนท์ ซึ่งตั้งชื่อตามผู้ก่อตั้งหน่วย[14] ภายในศูนย์ฝึกประกอบด้วย หอกระโดดฝึกโรยตัวทางยุทธวิธี สูง 34 ฟุต ห้องฝึกการต่อสู้ในระยะประชิด (Close Quarters Battle: CQB) และชุดฝึกการใช้อาวุธประจำกายด้วยกระสุนซ้อม หรือเครื่องจำลองการฝึก หลักสูตรสยบไพรีการฝึกหลักสูตร ยุทธวิธีเพื่อพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบปรามยาเสพติด (สยบไพรี) เป็นหลักสูตรการฝึกของกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ระยะเวลาการฝึก 4 อาทิตย์[15] (1 เดือน) ทำการฝึกให้กับบุคลากรภายในหน่วย เพื่อเพิ่มศักยภาพหลังจากจบการศึกษาและเข้ารับการบรรจุเข้าหน่วยสยบไพรี ประกอบด้วย การอบรมการใช้อาวุธ การฝึกใช้อาวุธประจำกาย ฝึกทักษะการใช้อาวุธทางยุทธวิธี ฝึกอบรมการอยู่รอดของเจ้าหน้าที่และยุทธวิธี (Officer Survival and Tactics: O.S.T.) การขี่รถจักรยานยนต์ทางยุทธวิธี การตรวจค้นสถานที่และอาคาร (CQB) การตรวจค้นบุคคล ยานพาหนะ การซุ่มยิงเบื้องต้น การรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ การส่งกำลังทางอากาศ การยิงปืนพกภายใต้สภาวะกดดัน การยิงปืนในสภาวะแสงน้อย การศึกษาแผนการปฏิบัติการพิเศษของหน่วยปฏิบัติการพิเศษ และการเข้าฝึกกับสถานการณ์ภาคพิเศษ[15] ภารกิจหน่วยสยบไพรี 43 มีภารกิจหลักในการสนับสนุนการปฏิบัติงานของกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นต้นสังกัด โดยมีขอบข่ายภารกิจเกี่ยวข้องกับการปราบปรามยาเสพติดตั้งแต่การปราบปรามและจับกุมผู้ผลิต ผู้นำเข้ายาเสพติด[16][17] ผู้ส่งออกยาเสพติด[18] ผู้จำหน่ายยาเสพติด[19] รวมไปถึงผู้ที่ครอบครองและขนย้ายตัวสารตั้งต้น เคมีภัณฑ์ และวัตถุดิบในการผลิตยาเสพติด ครอบคลุมไปถึงการปราบปรามเครือข่ายของยาเสพติดทั้งในประเทศ[20][21][22]และเครือข่ายระหว่างประเทศ[23] ซึ่งอยู่ในราชอาณาจักรไทย[2] การปฏิบัติการหน่วยสยบไพรี 43 มีปฏิบัติการเด่นเกี่ยวกับการเข้าปิดล้อมตรวจค้นและจับกุมผู้ค้ายาเสพติดมาโดยตลอด เนื่องจากเป็นหน่วยปฏิบัติการพิเศษหลักของกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด โดยชื่อปฏิบัติการหลักในแต่ละครั้งจะใช้ชื่อหน่วย ตามด้วยปี และครั้งที่ปฏิบัติการในปีนั้น อาทิ ปฏิบัติการสยบไพรี 62/9[24] ซึ่งปฏิบัติการในปี พ.ศ. 2562 ปฏิบัติการสยบไพรี 63/3[25] ซึ่งปฏิบัติการในปี พ.ศ. 2563 และใช้ชื่อตามภูมิประเทศหรือภูมิศาสตร์ในการปฏิบัติการ เช่น ยุทธการสยบไพรีกระบี่ร่มเย็น[26] ซึ่งเป็นการปิดล้อมตรวจค้นในพื้นที่จังหวัดกระบี่ อ้างอิง
|
Portal di Ensiklopedia Dunia