สตรีทไฟเตอร์ X ร็อคแมน
สตรีทไฟท์เตอร์ X ร็อคแมน[2] (ญี่ปุ่น: ストリートファイター X ロックマン; โรมาจิ: Sutorīto Faitā Kurosu Rokkuman; อังกฤษ: Street Fighter X Rockman) หรือที่เรียกในชื่อ สตรีทไฟท์เตอร์ X เมกะแมน (อังกฤษ: Street Fighter X Mega Man) สำหรับเวอร์ชันภาษาอังกฤษ เป็นเกมแพลตฟอร์มข้ามฝั่ง พัฒนาโดยแฟนเกมชาวสิงคโปร์ชื่อเสี้ยว จงฮุย เดิมเกมนี้เป็นเกมที่พัฒนาโดยแฟนเกม แต่ต่อมาได้รับการสนับสนุนการผลิตโดยแคปคอม เกมดังกล่าวได้รับการปล่อยให้ดาวน์โหลดจากแคปคอม-ยูนิตี เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2555 เพื่อเป็นการฉลองครบรอบ 25 ปีแฟรนไชส์ร็อคแมนและสตรีทไฟท์เตอร์ โดยใช้รูปแบบการออกแบบฉบับคลาสสิกของเกมร็อคแมน แทนที่ตัวร้ายสำคัญ ๆ ด้วยตัวละครจากสตรีทไฟท์เตอร์[1] เกมได้รับเสียงวิจารณ์ไปในทางบวก ส่วนใหญ่วิจารณ์ในกรณีที่เกมดังกล่าวไม่มีระบบเซฟเกมให้ รวมถึงบั๊กอื่น ๆ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ จึงได้มีการออกอัปเดตชื่อ สตรีทไฟท์เตอร์ X ร็อคแมน V2 ในวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2556 โดยเพิ่มระเบบเซฟและแก้บั๊กบางประการ บทนำ และการเล่นเกม![]() สตรีทไฟท์เตอร์ X ร็อคแมนใช้วิธีการเลียนแบบสไตล์การเล่นและรูปลักษณ์ของเกมชุดร็อคแมนบนแฟมิคอม โดยมีเนื้อเรื่องเน้นไปที่การข้ามฝั่งของเกมและการฉลองครบรอบ 25 ปีของแฟรนไชส์ทั้งสอง หลักจากที่ร็อคแมนต่อสู้กับผู้ควบคุมหุ่นยนต์มาตลอดหลายปี เขาก็เตรียมจะหยุดพักฉลองครอบรอบ 25 ปี ริวซึ่งได้ข่าวดังกล่าวจึงขนตัวละครสตรีทไฟท์เตอร์มาประลองกำลังครั้งสุดท้ายก่อนจบการฉลอง 25 ปีของเขาเอง ในเชิงของการเล่น ร็อคแมนใช้วิธีการเคลื่อนไหวและชาร์ตการยิงแบบเดียวกับที่ปรากฏในร็อคแมน 4 แต่แทนที่จะใช้ฐานจากร็อคแมนและผู้คุมหุ่นยนต์เป็นบอสในแต่ละด่าน ด่านแต่ละด่านในเกมมีการเปลี่ยนเป็นด่านจากสตรีทไฟท์เตอร์และตัวละครเช่นบลังก้า ชุนลี และริว ในแฟรนไชส์ดังกล่าวกลายเป็นบอสแทนผู้คุมหุ่นยนต์ในแต่ละด่าน ตัวละครในสตรีทไฟท์เตอร์ใช้ท่าอันเป็นเอกลักษณ์ของตนในการโจมตี นอกจากนี้ยังมีซุปเปอร์มิเตอร์ที่เก็บพลังระหว่างที่ถูกโจมตี และปล่อยพลังมหาศาลโจมตีร็อคแมนเมื่อเต็ม เช่นเดียวกับร็อคแมนภาคอื่น ๆ ร็อคแมนจะได้อาวุธใหม่เมื่อเอาชนะบอสแต่ละตัวได้ ขึ้นอยู่กับลักษณะการโจมตี เช่นท่าไม้ตายฮาโดเคนของริว และเฮียคุเร็ตสึเคียคุของชุนลี[3] หลังจากเอาชนะได้แปดด่านแล้ว ผู้เล่นจะพบกับบอสชุดสุดท้าย และหากทำตามเงื่อนไขได้จะมีบอสลับสองตัวปรากฏขึ้นเมื่อจบเกม[4] การพัฒนาสตรีทไฟท์เตอร์ X ร็อคแมน เริ่มพัฒนาในฐานะส่วนบุคคลโดยเสี้ยว จงฮุย ซึ่งได้นำเกมในชั้นต้นไปเสนอกับคริสเตียน สเวนส์สัน รองประธานอาวุโสด้านการวางแผนและการพัฒนาธุรกิจของแคปคอมในงานอีโว 2012[5][6] สเวนส์สันได้นำตัวอย่างเกมไปให้พนักงานในแคปคอมทดสอบ (รวมถึงผู้จัดการอาวุโสเกี่ยวกับประชาคม เบรทท์ เอลสตัน) ทำให้แคปคอมตัดสินในที่จะช่วยพัฒนาเกมดังกล่าวนี้ ในขณะที่จงฮุยพัฒนาเกมนี้ต่อไปโดยใช้ดีไซน์ของตนเอง แคปคอมเป็นผู้ดำเนินการในส่วนของเงินสนับสนุน การจัดจำหน่ายและการประกันคุณภาพ แคปคอมเลือกที่จะพัฒนาเกมนี้ลงพีซีเนื่องจากจงฮุยไม่ได้รับลิขสิทธิ์ในการพัฒนาลงบนเครื่องคอนโซล สเวนส์สันให้สัมภาษณ์ว่าแคปคอมอาจเลือกพัฒนาลงเครื่องคอนโซลภายหลัง แต่ในระยะแรกจะพัฒนาลงคอมพิวเตอร์เพื่อให้เกมดังกล่าวเป็นฟรีเกมและให้ทันกับวันปล่อยให้ดาวน์โหลดในวันที่ 17 ธันวาคม[5] จงฮุยกล่าวว่า มีหลายอย่างในเกมที่เริ่มพัฒนาไว้แต่ไม่ได้นำมาใช้จริง เป็นต้นว่าหยาง ซึ่งเดิมได้รับการพัฒนาเป็นบอสถูกเปลี่ยนเป็นตัวละครชุนลีแทน อย่างไรก็ดีอาวุธพิเศษของหยางยังสามารถเข้าถึงได้ผ่านทางสูตรโกง จงฮุยยังอยากจะเพิ่มชุดอื่น ๆ ของตัวละครบอสและตัวละครที่สองที่สามารถเล่นได้และมาจากแฟรนไชส์ของสตรีทไฟท์เตอร์[7] หลังจากที่เกมถูกปล่อยออกมา มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการที่เกมค้าง อินเตอร์เฟซที่ไม่ชัดเจน และการไม่มีระบบเซฟ เพื่อเป็นการตอบสนองต่อข้อวิจารณ์ดังกล่าวนี้ สเวนส์สันกล่างว่าได้มีการพูดคุยกับทีมพัฒนาเพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดเหล่านี้ในตัวแก้ไขต่อไป[8] ในตัวแก้ไขนี้ อินเตอร์เฟซมีลักษณะที่ดีขึ้น ตัวควบคุมสามารถเข้ากับเกมได้มากขึ้น มีการแก้ไขบั๊ก เพิ่มระบบเซฟพาสเวิร์ดเช่นเดียวกับที่ปรากฏในเกมร็อคแมนรุ่นแฟมิคอม และบอสใหม่[9] โดยตัวเกมรุ่นปรับปรุงได้เปิดให้ดาวน์โหลดเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2556 ภายใต้ชื่อ สตรีทไฟทเตอร์ X ร็อคแมน V2 [10] เพลงประกอบศิลปินชิปทูนชื่อลุค เอสควิเวล (นามแฝง A_Rival) เป็นผู้แต่งเพลงประกอบให้กับเกมนี้ เอสควิเวลมีส่วนร่วมในการแต่งเพลงนี้เมื่อเขาติดต่อจงฮุยผ่านยูทูป และแสดงความประสงค์เป็นผู้แต่งเพลงในเกมในช่วงปี พ.ศ. 2552-2553 เต็มเวลา หลังจากเขาได้ลองนำผลงานที่แต่งไปเทียบกับดนตรีที่ผู้อื่นแต่งให้เกมนี้ เอสควิเวลใช้วิธีผสมผสานเพลงของร็อคแมนกับเพลงของสตรีทไฟท์เตอร์ในบางเพลง ส่วนในเพลงอื่นเขาใช้วิธีนำทำนองบางส่วนมาจากเพลงอื่น ๆ ของร็อคแมน เพื่อไม่ให้เป็นการเสียลักษณะทั่วไปของเพลงประกอบดั้งเดิม โดยทำนองที่เอสควิเวลเลือกใช้เป็นทำนองจากสองภาคแรกของเกมร็อคแมน แต่ก็ปรากฏว่ามีทำนองของภาค 3, 4 และ 5 ด้วย นอกจากนี้เขายังแต่งเพลงขึ้นมาใหม่อีกสองเพลง คือ ธีมของวิลลีแมป (Willy Map Theme) และต้นเพลงของเพลงจบเกม[11] เพลงประกอบของเกมนี้มีการผสมผสานธีมที่ได้รับความนิยมของทั้งสองแฟรนไชส์ เป็นต้นว่าผสมผสานธีมของสเนคแมนในร็อคแมน 3 จุดจบของ ดร.ไวลี่!? กับธีมของดัลซิมในสตรีทไฟท์เตอร์ II[3] อัลบั้มเพลงประกอบอย่างเป็นทางการชื่อ Street Fighter X Mega Man OST ได้เปิดให้ดาวน์โหลดฟรีผ่านทางเว็บไซต์ของเอสควิเวลเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2555[12] นอกจากนี้ยังมีอีพีสี่เพลงชื่อ Street Fighter X Mega Man X-tended Vol. 1 ออกมาในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556[13]
การตอบรับ
คริสเตียน สเวนส์สันของแคปคอมให้สัมภาษณ์ผ่านทางเว็บไซต์ทางการของแคปคอม (แคปคอม-ยูนิตี) สองวันหลังจากเปิดให้ดาวน์โหลดเกมว่า ยอดดาวน์โหลดสูงกว่าการคาดการณ์ส่วนตัวที่วางไว้ แต่ไม่ได้ระบุจำนวนที่แน่นอน[21] ผู้จัดการอาวุโสเกี่ยวกับประชาคม เบรทท์ เอลสตัน กล่าวว่าจำนวนยอดดาวน์โหลดมากถึงขนาดทำให้เซิร์ฟเวอร์ทำงานหนักพอสมควร[22] เกมมียอดดาวน์โหลดหนึ่งล้านครั้งเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2556[23] สตรีทไฟท์เตอร์ X ร็อคแมนได้รับเสียงวิจารณ์คละไปในทางบวก โดยชีทโค้ดเซ็นทรัลให้คะแนนเกม 4.1 จาก 5 คะแนน โดยชื่นชมว่าเกมมีลักษณะอันน่ารำลึก แต่ตำหนิในส่วนที่เกมไม่มีระบบเซฟเลย[20] เกมอินฟอร์เมอร์ให้คะแนนเกมที่ 8 คะแนนจาก 10 คะแนน โดยสรุปว่าเกมดังกล่าวดูจะไม่ดีเท่าเกมอื่น ๆ ในยุคคลาสสิกของซีรีส์ แต่ก็เป็นบททดสอบที่ยอดเยี่ยมสำหรับผู้เล่นใหม่ที่ไม่เคยเล่น และเป็นประสบการณ์ที่มีเสน่ห์สำหรับแฟนยาวนานของซีรีส์[18] อินไซต์เกมมิงเดลีให้คะแนนเกมที่ 8/10 โดยกล่าวว่าแม้เกมจะสั้นและแตกแนวไปจากเกมร็อคแมนดั้งเดิม สตรีทไฟท์เตอร์ X ร็อคแมนก็ยังเป็นเกมที่เล่นได้ดี และเชื่อได้ว่าจะมีน้อยเหตุผลที่จะไม่ลองดู[24] ไอจีเอ็นให้คะแนนเกมที่ 7 เต็ม 10 โดยตั้งข้อสังเกตว่า ผลสุดท้ายเกมนี้ก็เป็นเกมที่ดี แฟน ๆ ร็อคแมนน่าจะสนุกกับมันได้ครั้งสองครั้ง แต่เกมนี้ไม่ได้มีอะไรพิเศษที่จะทำให้เทียบชั้นแบบที่เกมร็อคแมนอื่น ๆ เคยทำได้ในยุครุ่งโรจน์[17] เดสตรักตรอยด์กล่าวถึงในทำนองเดียวกันว่าเกมนี้ไม่ใช่เกมร็อคแมนที่ดีที่สุดที่มีอยู่ แต่เป็นผลงานที่ดีของแฟนเกมผู้อุทิศตัวอย่างมากในการพัฒนา[19] เอมอินดรัสตรีนิวส์ให้คะแนน 3.5 จาก 5 คะแนน และกล่าวถึงเกมในแง่บวกและลบ ทำนองว่าเกมดังกล่าวรวมผลงานของเกมแคปคอมสองเกมที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ในเกมข้ามฝั่งเกมนี้ เกมนี้ให้ความรู้สึกหวนคืนสู่วันเก่า ๆ ซึ่งแน่นอนว่าจะพาแฟน ๆ ไปสัมผัสเส้นทางแห่งความทรงจำของเกมทั้งสองในขณะที่ยังรุ่งโรจน์ อย่างไรก็ดีการไม่มีความท้าทายหรือฟังก์ชันที่ทำให้เล่นต่อได้หลังจากปิดเครื่อง ทำให้เกมนี้ไม่ได้เป็นเกมล้ำค่าอย่างที่ควรจะเป็น[25] นิตยสารเอดจ์ให้คะแนนเกมเพียง 5/10 โดยกล่าวว่าการดีไซน์เลเวลที่ไม่ไปในทางเดียวกันและฟังก์ชันอันจำกัดของเกมเป็นข้อผิดพลาดสำคัญที่สุด[16] อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น |
Portal di Ensiklopedia Dunia