วัดพระแก้วมรกต
วัดอุโบสถรตนาราม (เขมร: វត្តឧបោសថរតនារាម, วตฺดฺอุโบสถฺรตฺนาราม) นิยมเรียกว่า วัดพระแก้วมรกต (វត្តព្រះកែវមរកត, วตฺดฺพระแกวมรกต) หรือเรียกโดยย่อว่า วัดพระแก้ว (វត្តព្រះកែវ, วตฺดฺพระแกว) เป็นวัดที่ตั้งอยู่ภายในพระบรมราชวังจตุมุขสิริมงคล กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา[2] เป็นวัดในพระราชวังเช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ในพระราชวังหลวงของกรุงศรีอยุธยา และวัดพระศรีรัตนศาสดารามในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร[3] ด้วยมีธรรมเนียมที่คล้ายคลึงกัน[4] และถูกสร้างด้วยแรงบันดาลใจจากวัดหลวงในกรุงเทพมหานคร[5] ภายในพระวิหารมีการปูเสื่อที่ทำจากเงินบริสุทธิ์ ทำให้วัดแห่งนี้เป็นที่รู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า วิหารเงิน[6] วัดพระแก้วมรกตถือเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของพนมเปญ เพราะภายในวัดประกอบด้วยโบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญหลายยุคสมัย มักใช้สำหรับประกอบพระราชพิธีสำคัญหรือกิจกรรมระดับชาติ ทั้งยังเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุภายในพระปรางค์คันธบุปผา ประวัติวัดพระแก้วมรกตสร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตารเมื่อ พ.ศ. 2435 จนถึง พ.ศ. 2445[7] มีออกญาเทพนิมิต (รส) วาดเค้าโครงและแผนผังของวัด แต่มีสถาปนิกฝรั่งเศสชื่อ Alavigne เป็นผู้ดูแลความถูกต้อง และสมเด็จพระมหาสังฆราช (เที่ยง สุวณฺณเกสโร) เป็นผู้ตรวจสอบ[7] ด้านการก่อสร้างและประดับตกแต่งจัดทำโดยช่างเขมรและสถาปนิกฝรั่งเศสชื่อ Andrilleux จนแล้วเสร็จและสมโภชในปี พ.ศ. 2446 รวมเป็นเงินทั้งหมดห้าแสนเรียล[7] ในหนังสือ เอกสารมหาบุรุษเขมร ระบุว่าพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตารทรงพระราชทานนามศาสนสถานแห่งนี้ว่า วัดอุโบสถรตนาราม ดังปรากฏความว่า "...พระบาทสมเด็จพระนโรดมทรงพระยินดีพ้นประมาณ ทรงพระบัญญัติให้เรียกนามวัดว่า พระอุโบสถรตนารามพระแก้วมรกต..."[7] วัดพระแก้วมรกตเป็นสถานที่สำหรับพระมหากษัตริย์ทรงศีลอุโบสถทุกวันอุโบสถ และเป็นที่สำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนาง[6][8] วัดพระแก้วมรกตได้รับอิทธิพลการก่อสร้างจากสถาปัตยกรรมไทยพอสมควร ส่วนหนึ่งก็เพราะ พระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร ผู้สร้างวัด, ออกญาเทพนิมิต (มัก) สถาปนิก และสมเด็จพระมหาสังฆราช (เที่ยง สุวณฺณเกสโร) ที่ปรึกษา ล้วนแต่เป็นบุคคลที่เติบโตและเข้ารับการศึกษาที่กรุงเทพมหานครหลายปี จึงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้วัดหลวงแห่งนี้ได้รับอิทธิพลจากไทยไปมาก[6][9] พึงสังเกตว่าชื่อวัดอุโบสถรตนาราม คล้ายคลึงกับชื่อวัดพระศรีรัตนศาสดารามของไทย รวมทั้งมีธรรมเนียมปฏิบัติคล้ายคลึงกันมาก[10] วัดแห่งนี้ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาเนื่องจากเป็นวัดที่ตั้งอยู่ภายในพระบรมราชวัง แต่มีครั้งเดียวในปี พ.ศ. 2470 ที่พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ทรงผนวชและจำพรรษาในวัดแห่งนี้หนึ่งพรรษา[11] และในรัชกาลนี้เองได้มีการบูรณะวัดพระแก้วมรกตขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2505[12] จนถึง พ.ศ. 2513 ตรวจงานโดยออกญาวังวรเวียงชัย (ซาน ย็วน)[7] อาคารพระวิหารพระแก้วมรกตพระวิหารพระแก้วมรกต เป็นสถานที่สำหรับประดิษฐานพระแก้วมรกต สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร โดย Andrilleux สถาปนิกชาวฝรั่งเศสนำเครื่องมือช่างมาใช้ในการก่อสร้าง มีสมเด็จพระมหาสังฆราช (เที่ยง สุวณฺณเกสโร) และพระธรรมลิขิต (ยืม) คอยตรวจตราการก่อสร้างทุกวัน วิหารเป็นทรงจตุรมุข ภายในกว้าง 11 เมตร 40 เซนติเมตร ยาว 31 เมตร 60 เซนติเมตร ประกอบด้วยประตู 8 ประตู และหน้าต่างอีก 16 บาน จิตรกรรมฝาผนังทำเป็นรูปเทพนิมิตในเรื่องปฐมสมโพธิ และทศชาติล้อมรอบ ตรงกลางสร้างเป็นบัลลังก์เพชร มีดอกบัวผุดซ้อนเกสรสำหรับประดิษฐานพระแก้วมรกต ด้านบนพระพุทธรูปมีเศวตฉัตร เมื่อสร้างแล้วเสร็จจึงจัดพระราชพิธีฉลองการบรรจุสีมาเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2445[13] ในอดีตถือว่าวิหารของวัดพระแก้วมรกตมีขนาดใหญ่และสวยงามที่สุดในกรุงพนมเปญ ดังปรากฏในพระนิพนธ์ นิราศนครวัด ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ความว่า "...ขนาดพระอุโบสถ นอกจากวัดพระแก้วที่ในวัง จะหาใหญ่เท่าวัดมกุฎกษัตริย์หรือวัดโสมนัสวิหารไม่มีเลย ฝีมือสร้างจะหาน่าชมมิใคร่พบ..."[14] และทรงกล่าวไว้อีกความว่า "...พระอุโบสถนั้นทำเป็นทรงพระอุโบสถสามัญแต่มียอดปราสาท ข้างในพระอุโบสถปูกระเบื้องเงิน ฝาผนังหว่างหน้าต่างเขียนเรื่องปฐมสมโพธิ กลางพระอุโบสถมีฐานชุกชี ตั้งบุษบกรองพระแก้ว..."[15] วิหารแห่งนี้เริ่มทรุดโทรมลงตามกาลเวลา สมเด็จพระมหากษัตริยานีสีสุวัตถิ์ กุสุมะ นารีรัตน์ สิรีวัฒนามีพระราชดำริที่จะบูรณะวิหารขึ้นใหม่ใน พ.ศ. 2505 กระทำโดยการรื้อวิหารเดิมแล้วสร้างขึ้นใหม่ โดยคงรูปแบบของสถาปัตยกรรมเดิมไว้ แต่เพิ่มเติมด้วยการปูเสื่อที่ทำจากเงินบริสุทธิ์ 5,329 แผ่น และประดับหินอ่อนจากประเทศอิตาลี คิดเป็นเงินทั้งหมด 20 ล้านเรียล[16] พระแก้วมรกตพระแก้วมรกตเป็นพระพุทธรูปสำคัญของพระวิหารนี้ มีขนาดเล็ก ประดิษฐานอยู่บนบุษบก องค์พระทำจากคริสตัลสีเขียวของห้างบาการาคริสตัล (Baccarat Crystal) ในประเทศฝรั่งเศส ทำให้มีพุทธลักษณะที่ต่างออกไปจากพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรในวัดพระศรีรัตนศาสดารามของไทยไปโดยสิ้นเชิง[5] ส่วนที่จำลองจากพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรไปนั้น เพราะฝ่ายกัมพูชาเข้าใจว่าพระพุทธรูปดังกล่าวเคยประดิษฐานในดินแดนของตนมาก่อน โดยอิงจากตำนานพระโคพระแก้ว[17] และใน ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา อ้างว่าพระแก้วมรกตเคยประดิษฐานอยู่ในกรุงกัมพูชามาก่อน เนื้อหากล่าวถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จเสนกราช ขณะนั้นกรุงอินทปรัตเกิดอุทกภัยใหญ่ พระเจ้าอาทิตยราช กษัตริย์กรุงอโยชนครปรารถนาที่จะได้พระแก้วมรกตไปไว้พระนคร จึงกราบบังคมทูลเชิญกษัตริย์ ขุนนางกรุงอินทปรัต พร้อมพระแก้วมรกตไปไว้กรุงอโยชนคร โดยสร้างพระวิหารเป็นพระอารามหลวงไปไว้เป็นอย่างดี ครั้นกรุงอินทปรัตน้ำแห้งลง พระบาทสมเด็จพระเสนกราชสวรรคตในอโยชนคร พระสิงหกุมารจึงทูลลาพระเจ้าอาทิตยราชไปปลงพระบรมศพของพระราชบิดาที่กรุงอินทปรัต แต่พระเจ้าอาทิตยราชทูลขอพระแก้วมรกตไว้ พระสิงหกุมารมีพระราชดำริว่า อโยชนครก็เป็นประเทศเอกราช และมีบุญคุณต่อกรุงอินทปรัต จึงทูลตอบอนุญาต แล้วนิวัตกรุงอินทปรัตพร้อมกับพระบรมศพ[18] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวถึงพระพุทธรูปองค์นี้ใน นิราศนครวัด ความว่า "...พระแก้วนั้น สมเด็จพระนโรดมสั่งให้ไปทำเป็นพระแก้วมรกตที่ห้างปักกะราต์ฝรั่งเศส ข้อนี้ทราบมานานแล้ว มาได้ความรู้เพิ่มเติมเมื่อเห็นตัวจริง ว่าตั้งใจจะจำลองให้เหมือนพระแก้วมรกตที่ในกรุงเทพฯ สมเด็จพระนโรดมเห็นจะให้ไปสืบแลวัดมาดูได้ขนาดเท่ากัน แต่รูปสัณฐานนั้นผิดกันห่างไกล สีแก้วมรกตที่ฝรั่งเศสหล่อเป็นแก้วใสเป็นอย่างขวดเขียวสี่เหลี่ยม ที่มักใช้ใส่น้ำอบกันแต่ก่อน เครื่องประดับก็ทำแต่ทองครอบพระเกตุมาลา แล้วติดรัศมีต่อขึ้นไป..."[19] ส่วนหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนหนังสือชื่อ ถกเขมร ได้กล่าวถึงพระพุทธรูปองค์นี้ด้วย ความว่า "...ไปอีกด้านหนึ่งของพระราชวังมีวัดพระแก้ว มีพระพุทธรูปตั้งอยู่บนบุษบกทองในพระอุโบสถ พระพุทธรูปนั้นเป็น "พระแก้ว" จริง ๆ สีเขียวขนาดขวดโคคาโคล่า และสั่งทำมาจากฝรั่งเศส..."[20] พระชินรังสีราชิกนโรดมพระชินรังสีราชิกนโรดม เป็นพระพุทธรูปปางประทานพรฉลองพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร สร้างโดยพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์เมื่อ พ.ศ. 2447 สนองพระราชกระแสพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตารก่อนสวรรคตว่าหลังถวายพระเพลิงแล้ว ให้นำโกศทองคำมาหลอมสร้างพระพุทธรูปองค์หนึ่งอุทิศแก่พระศรีอริยเมตไตรย โดยพระพุทธรูปองค์นี้ทำจากทองคำ 90 กิโลกรัม (รวมฐานและฉัตร) ประดับเพชรพลอยจำนวน 2,086 เม็ด เพชรเม็ดใหญ่สุดมีขนาด 25 มิลลิเมตรอยู่ที่มงกุฎ และเพชรขนาดรองลงมาคือ 20 มิลลิเมตรประดับที่สังวาล[1] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงระบุเกี่ยวกับพระพุทธรูปองค์นี้ใน นิราศนครวัด ความว่า "...มีของแปลกที่น่าดูอย่างหนึ่ง คือพระพุทธรูปฉลองพระองค์ของสมเด็จพระนโรดม ทำเป็นพระยืนทรงเครื่อง (แบบฉลองพระองค์ในกรุงเทพฯ) แต่แต่งเครื่องเพชรพลอยอย่างใหม่ฝีมือฝรั่ง ซึ่งเป็นของสมเด็จพระนโรดมทรงพระอุทิศไว้ ฝีมือทำก็งามดี ในวัดพระแก้วมีที่ดูเท่านี้..."[19] พระระเบียงและจิตรกรรมฝาผนังพระระเบียงของวัดพระแก้วมรกตมีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่อง เรียมเกรติ์ หรือรามายณะฉบับเขมรตั้งแต่ต้นจนจบ เริ่มเรื่องทางด้านทิศตะวันออกแล้วเวียนประทักษิณ มีความยาวทั้งหมด 642 เมตร เริ่มเขียนเมื่อ พ.ศ. 2446-2447 โดยออกญาเทพนิมิต (เธียะก์) และช่างเขียนคนอื่น ๆ อีก 40 คน โดยมีลักษณะที่แตกต่างไปจากจิตรกรรมฝาผนังเรื่อง รามเกียรติ์ ที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามของไทยคือมีการเขียนเรื่องย่อเพื่อบอกเหตุการณ์ในภาพกำกับไว้ด้วย[21] วิทยานิพนธ์ของนักศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพบว่า จิตรกรรมฝาผนังของเรียมเกรติ์นำเนื้อเรื่องและตัวละครมาจากจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นส่วนใหญ่ แต่มีการนำเสนอที่ต่างกัน ซึ่งอาจเป็นความผิดพลาดของจิตรกรเมื่อส่งผ่านวัฒนธรรมหนึ่งไปอีกวัฒนธรรมหนึ่ง แรงบันดาลใจทางสังคมวัฒนธรรม และบริบทการวาดและลีลาของจิตรกรแต่ละท่าน รวมทั้งผู้มีบทบาทในการสร้างจิตรกรรมฝาผนังในวัดพระแก้วมรกตทั้งสามคนคือ พระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร ผู้สร้างวัด, ออกญาเทพนิมิต (มัก) สถาปนิก และสมเด็จพระมหาสังฆราช (เที่ยง) ที่ปรึกษา ล้วนแต่เป็นบุคคลที่เติบโตและเข้ารับการศึกษาที่กรุงเทพมหานครหลายปี จึงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้จิตรกรรมฝาผนังนี้ได้รับอิทธิพลจากไทยไปอย่างสูง[6] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวถึงพระระเบียงและจิตรกรรมฝาผนังไว้ใน นิราศนครวัด ความว่า "...วัดพระแก้วมีพระระเบียงล้อมรอบ ฝาผนังพระระเบียงเขียนเรื่องรามเกียรติ์ อย่างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่รูปภาพเขียนฝีมือเลวไม่น่าดู ดีแต่ฝาผนังไม่ชื้นเหมือนพระระเบียงวัดพระแก้วในกรุงเทพฯ ภาพยังดี..."[22] ปัจจุบันพระระเบียงวัดพระแก้วมรกตมีความชำรุดทรุดโทรมมาก ทั้งจากสภาพอากาศและการทำลายจากน้ำมือมนุษย์ กระทั่ง พ.ศ. 2528 รัฐบาลกัมพูชาได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลโปแลนด์ในการบูรณะซ่อมแซมจิตรกรรมฝาผนังนี้ แต่ทำได้เพียง 5 ปีก็ยุติลง เพราะใช้งบประมาณเกินกำหนด[23] มณฑปพระไตรปิฎกมณฑปพระไตรปิฎก เป็นมณฑปประดิษฐานพระไตรปิฎก ตั้งอยู่ทางด้านซ้ายของพระวิหารพระแก้วมรกต สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร ปรากฏใน เอกสารมหาบุรุษเขมร ว่า "...ที่ลานด้านทิศเหนือก่อดินสูงตำให้แน่นจัดหินก่อสร้างเป็นพระมณฑป ลวดลายตกแต่งหลายชั้น ยอดแหลมสูงขึ้นไปข้างบนประดับกระจกปิดทองสว่างพร่างพราย มีหน้าต่างเปิดปิด ฐานข้างล่างในปูกระเบื้องสี ข้างนอกตกแต่งด้วยหินและบันไดตัดด้วยหินอ่อนสำหรับประดิษฐานพระคัมภีร์พระไตรปิฎก..."[23] นอกจากนี้ ภายในมณฑปพระไตรปิฎกยังเป็นที่ประดิษฐานพระโคนนทิสัมฤทธิ์ ซึ่งพบขุดพบที่อำเภอเกาะธม จังหวัดกันดาล เมื่อ พ.ศ. 2526[23] กึงพระบาทกึงพระบาท เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทสี่รอยของพระพุทธเจ้าในภัทรกัปป์ที่ได้ตรัสรู้และปรินิพพานไปแล้ว ได้แก่ พระกกุสันโธ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ และพระโคดม[24] สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร ปรากฏใน เอกสารมหาบุรุษเขมร ว่า "...ที่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ถมดินจัดหินทำเป็นกึงรจนา ข้างในสร้างเป็นองค์พระพุทธปฏิมาประทับเหนือรัตนบัลลังก์ และประดิษฐานรอยพระพุทธบาทปถวีทั้ง ๔ พระองค์ ซึ่งประทับมีรอยอยู่ในแผ่นดิน..."[25] พระมณเฑียรสธรรมพระมณเฑียรสธรรม หรือธรรมศาลา เป็นสถานที่สำหรับเจริญพระปริตรและสัตตปรณากรรม สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร ปรากฏใน เอกสารมหาบุรุษเขมร ว่า "...ที่ลานทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ถมดินตำให้แน่นราบเสมอก่อสร้างเป็นพระมณเฑียรสัทธรรมมุงกระเบื้องสีใส่ช่อฟ้านาคสะดุ้ง หน้าจั่วลวดลายประดับกระจกปิดทองสำหรับพระภิกษุสงฆ์เทศนาจำเริญพระสัตตปกรณาภิธรรมถวายพระราชกุศล..."[24][25] พนมขันทมาลีนาทีบรรพตไกลาสพนมขันทมาลีนาทีบรรพตไกลาส หรือพนมมณฑป ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวัด เป็นพระมณฑปประดิษฐานพระพุทธบาทสัมฤทธิ์ที่มีลายมงคลจำหลัก 108 ประการ[25] สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร คราวเดียวกับการก่อสร้างมณฑปพระไตรปิฎก[23] หอระฆังหอระฆัง สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร ใช้สำหรับตีบอกสัญญาณเปิดและปิดประตูพระวิหารพระแก้วมรกตในพระราชพิธีต่าง ๆ และในเวลาที่พระสงฆ์เข้าเรียนภาษาบาลี[25] พระรูปมหินทสุวรรณสนองพระองค์ประทับอัสสพงศ์พระรูปมหินทสุวรรณสนองพระองค์ประทับอัสสพงศ์ เป็นพระบรมรูปของสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตารทรงม้า สร้างเมื่อ พ.ศ. 2418 เป็นของขวัญจากจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 นำมาประดิษฐานอยู่ด้านหน้าพระวิหารพระแก้วมรกตตั้งแต่ พ.ศ. 2435 จากการค้นคว้าของไกรฤกษ์ นานา พบว่า ในเอกสารของปอล ดูแมร์ ให้ข้อมูลพระบรมรูปทรงม้าเดิมแล้วเป็นพระรูปของจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 แต่ถูกเลื่อยพระเศียรออกแล้วเปลี่ยนเป็นพระเศียรของพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตารแทน[9] ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุทรงบวงสรวงขอชัยชนะต่อพระบรมรูปนี้ในการเรียกร้องเอกราชจากประเทศฝรั่งเศสและสัมฤทธิ์ผล พระองค์จึงสร้างมณฑปครอบพระบรมรูปเมื่อ พ.ศ. 2496[24][26] พระเจดีย์และพระปรางค์นอกเหนือศาสนาคารแล้ว ยังมีพระเจดีย์และพระปรางค์ที่สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของบุรพมหากษัตริย์และพระอัฐิของเจ้านายบางพระองค์ด้วย ดังนี้[24][27]
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่นวิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ วัดพระแก้วมรกต |
Portal di Ensiklopedia Dunia