พระเจ้าคาลาคาอัวแห่งฮาวาย
พระเจ้าคาลาคาอัวแห่งฮาวาย (ฮาวาย: Kalākaua) หรือ สมเด็จพระราชาธิบดีเดวิด ลาอาเมอา คามานาคาปูอู มาฮีนูลานี นาไลอาเอฮูโอกาลานี ลูมีอาลานี คาลาคาอัว (ฮาวาย: David Laʻamea Kamanakapuʻu Mahinulani Nalaiaehuokalani Lumialani Kalākaua)[1] เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 7 แห่งราชอาณาจักรฮาวาย ต่อจากพระเจ้าลูนาลิโลแห่งฮาวาย พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกในราชวงศ์คาลาคาอัวและถือได้ว่าพระองค์เป็นสมเด็จพระราชาธิบดีพระองค์สุดท้ายของฮาวาย เนื่องจากรัชกาลต่อจากพระองค์ซึ่งเป็นรัชกาลสุดท้ายดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระราชินีนาถ พระเจ้าคาลาคาอัวทรงครองราชย์ระหว่างวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 1874 จนถึง 20 มกราคม 1891 โดยในระหว่างครองราชย์พระองค์ทรงได้รับฉายาว่า The Merrie Monarch พระราชประวัติ![]() พระเจ้าคาลาคาอัว เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 1836 ที่เมืองโฮโนลูลู ราชอาณาจักรฮาวาย ทรงเป็นโอรสในคาเอซาร์ คาปาเคอากับอานาเลอา เคโอโฮคาโลเล มีพระอนุชาและพระขนิษฐภคนีทั้งสิ้น 7 พระองค์ ได้แก่ โมเสส คาลีโอคาลานี สมเด็จพระราชินีนาถลีลีโอกาลานีแห่งฮาวาย แอนนา คาอีอูลานี เจ้าหญิงไคมีนาอาอูอาโอ คีนีนี เจ้าหญิงลีเกลีเกและเจ้าชายเลเลอีโอโฮกูที่ 2[1] พระนาม คาลาคาอัว ของพระองค์มีความหมายถึงวันแห่งสงคราม ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับวันที่สหราชอาณาจักรและราชอาณาจักรฮาวายในรัชสมัยของพระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 3 แห่งฮาวายได้ลงนามในสนธิสัญญาซึ่งไม่เป็นธรรมในวันที่พระองค์เสด็จพระราชสมภพ[2][3] ถึงแม้ว่าในระยะแรกพระองค์ได้รับการกำหนดให้เป็นบุตรบุญธรรมของคูอีนี ลีลีฮา ผู้ว่าราชการโออาฮู แต่เจ้าหญิงคีอานูกลับส่งพระองค์ให้ไปเป็นบุครบุญธรรมของฮาอะเฮโอ คานูอีและสามีของนางคือเคอาเวอามาฮี คีนามากาแทน[4] ฮาอะเฮโอมารดาบุญธรรมของพระองค์เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1843 โดยทำพินัยกรรมยกสมบัติทั้งหมดของนางให้แก่พระองค์[5] หลังจากมารดาบุญธรรมของพระองค์เสียชีวิต สิทธิ์ในการเลี้ยงดูจึงตกอยู่กับบิดาบุญธรรมของพระองค์ ซึ่งเป็นหัวหน้าระดับล่าง ต่อมาบิดาบุญธรรมได้แต่งงานกับไป หญิงชาวตาฮีติ ซึ่งได้เลี้ยงดูพระองค์เสมือนบุตรของตนเอง[4][6] เมื่อพระองค์มีพระชนมายุได้ 4 พรรษา พระองค์ได้กลับไปอาศัยอยู่ที่โออาฮูกับพระบิดาและพระมารดาที่แท้จริง พระองค์ได้เข้าศึกษาต่อในโรงเรียนสำหรับชนชั้นสูงของฮาวาย ในขณะที่กำลังศึกษาอยู่นั้นพระองค์สามารถตรัสได้ทั้งภาษาฮาวายและภาษาอังกฤษอย่างคล่องแคล่ว เมื่อพระองค์มีพระชนมายุ 16 พรรษา พระองค์เริ่มศึกษากฎหมาย แต่ด้วยภาระหน้าที่ของพระองค์ในรัฐบาลมีมากทำให้พระองค์ไม่มีโอกาสสำเร็จการศึกษาทางด้านกฎหมาย ในปี ค.ศ. 1863 พระองค์ได้รับมอบหมายให้ดูแลงานทางด้านการไปรษณีย์ การเลือกตั้งพระมหากษัตริย์ ค.ศ. 1872พระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 5 แห่งฮาวาย พระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้ายของราชวงศ์คาเมฮาเมฮาเสด็จสวรรคตในวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 1872 โดยไม่ได้แต่งตั้งรัชทายาทในการขึ้นครองราชบัลลังก์ต่อจากพระองค์ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรฮาวายได้กำหนดไว้ว่าหากพระมหากษัตริย์มิได้แต่งตั้งผู้ใดเป็นรัชทายาท พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่จะมาจากการเลือกตั้งในรัฐสภา ในการเลือกตั้งครั้งนี้มีบุคคลสมัครรับเลือกตั้งเป็นพระมหากษัตริย์ฮาวายค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งในครั้งนี้มีผู้สมัครที่เป็นชนชั้นสูง 2 คนที่มีความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่ง คือ วิลเลียม ลูนาลีโลกับคาลาคาอัว อย่างไรก็ตามลูนาลีโลได้รับความนิยมมากกว่า เนื่องจากมีสถานะทางชนชั้นที่สูงกว่าคาลาคาอัว อีกทั้งยังเป็นลูกพี่ลูกน้องของพระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 5 แห่งฮาวาย นอกจากนี้แล้วลูนาลีโลมีความเป็นเสรีนิยมมากกว่าคาลาคาอัว และให้สัญญาแก่ประชาชนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประชาชนมีสิทธิ์มีเสียงในการบริหารราชการแผ่นดินมากขึ้น หลายฝ่ายเชื่อว่าลูนาลีโลมีความเหมาะสมที่จะดำรงสถานะเป็นพระมหาษัตริย์ แต่ลูนาลีโลไม่ตอบรับหากไม่ได้รับการยินยอมจากประชาชน ในช่วงของการเลือกตั้งนี้ คาลาคาอัวได้แต่งคำประพันธ์ในภาษาฮาวาย โดยมีข้อความตัดตอนเป็นภาษาอังกฤษดังนี้ :
คาลาคาอัวมีความที่เป็นอนุรักษนิยมมากกว่าลูนาลีโล ในระหว่างนั้นชาวต่างชาติมีบทบาทสำคัญในการควบคุมรัฐบาลฮาวาย คาลาคาอัวให้สัญญาว่าจะให้ชาวพื้นเมืองเข้ามามีบทบาทในการบริหารราชการแผ่นดิน รวมถึงแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1873 ประชาชนลงคะแนนเลือกลูนาลีโลด้วยคะแนนเสียงส่วนใหญ่ และในวันต่อมารัฐสภาเห็นชอบ ลูนาลีโลขึ้นเสวยราชสมับติเป็นพระมหากษัตริย์แห่งหมู่เกาะฮาวาย เหตุการณ์ในรัชสมัย![]() เมื่อพระเจ้าลูนาลิโลแห่งฮาวาย เสด็จสวรรคตอย่างกะทันหัน โดนไม่ทรงมีรัชทายาท ทำให้เกิดปัญหาเรื่องผู้ที่จะสืบราชบัลลังก์ระหว่างพระองค์กับสมเด็จพระราชินีเอ็มมา นาเอ รูก แต่ในที่สุดพระองค์ก็ได้รับเลือกให้เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ต่อไป ปัญหาการไม่มีรัชทายาทสืบราชบัลลังก์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ไม่มั่นคง พระองค์จึงได้แต่งตั้งเจ้าชายเลเลอีโอโฮกูที่ 2 พระอนุชาของพระองค์ให้ทรงเป็นรัชทายาท เพื่อสร้างความมั่นคงให้สถาบันพระมหากษัตริย์ ในระยะแรกของการครองราชย์ของพระเจ้าคาลาคาอัว พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนเกาะต่าง ๆ ของราชอาณาจักรฮาวาย ซึ่งในท้ายที่สุดช่วยสร้างความนิยมของพระองค์ ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1874 พระองค์ส่งผู้แทนทางการทูตไปสหรัฐอเมริกา เพื่อเจรจาสนธิสัญญาที่จะช่วยกันลดความตึงเครียดลงในฮาวาย ในเดือนพฤศจิกายน พระเจ้าคาลาคาอัวเสด็จพระราชดำเนินเยือนวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อเข้าพบประธานาธิบดียูลิสซิส เอส. แกรนท์ ซึ่งนำไปสู่การลงนามในสนธิสัญญาเมื่อวันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1875 โดยเนื้อหาในสนธิสัญญาจะอนุญาตให้ฮาวายสามารถส่งน้ำตาลและข้าวเข้าสหรัฐอเมริกาได้โดยไม่มีภาษี ในช่วงแรกของรัชสมัย พระองค์ได้ใช้อำนาจสูงสุดเท่าที่พระองค์มีในการแต่งตั้งและถอดถอนคณะรัฐมนตรีบ่อยครั้ง โดยพระเจ้าคาลาคาอัวเชื่อว่าชนชั้นสูงมีสิทธิอันชอบธรรมในการปกครอง การกระทำเช่นนี้ของพระองค์ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มมิชชันนารีซึ่งต้องการเห็นการปฏิรูปการปกครองของฮาวาย โดยใช้พื้นฐานราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญของสหราชอาณาจักรซึ่งลดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ กลุ่มคณะมิชชันนารีกลุ่มนี้ยังเชื่อว่าผู้ที่จะควบคุมคณะรัฐบาลควรเป็นรัฐสภาไม่ใช่พระมหากษัตริย์ การถอดถอนและแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีได้ดำเนินการต่อไปตลอดรัชสมัยของพระองค์ ในปี ค.ศ. 1881 พระองค์ก็ได้เสด็จเยือนประเทศต่าง ๆ เพื่อนำแนวทางมาพัฒนาฮาวาย พัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและเรียนรู้วิธีการปกครองของแต่ละประเทศ เมื่อพระเจ้าคาลาคาอัวได้เสด็จออกจากฮาวาย พระองค์ได้มอบหมายให้เจ้าฟ้าหญิงลีลีโอกาลานีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (แทนเจ้าชายเลเลอีโอโฮกูที่ 2 ที่สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1877) พระองค์เริ่มการเสด็จเยือนต่างประเทศของพระองค์ที่ซานฟรานซิสโกซึ่งพระองค์ได้รับการต้อนรับที่ดี จากนั้นพระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยือนจักรวรรดิญี่ปุ่นและเข้าพบจักรพรรดิเมจิ หลังจากนั้นพระองค์ได้เสด็จเยือนจักรวรรดิชิง สยามในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พม่า บริติชราช อียิปต์ อิตาลี เบลเยียม จักรวรรดิเยอรมัน จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 3 สเปน โปรตุเกส สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ และเดินทางไปต่อที่สหรัฐอเมริกาเพื่อจะเดินทางกลับฮาวาย ในการเดินทางครั้งนี้ทำให้พระองค์มีโอกาสพบผู้นำประเทศหลายพระองค์และคน เช่น สมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 13 สมเด็จพระเจ้าอุมแบร์โตที่ 1 แห่งอิตาลี เตาฟิก ปาชา อุปราชแห่งอียิปต์ จักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 1 แห่งเยอรมนี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เชสเตอร์ เอ. อาเทอร์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาและสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย การเดินทางในครั้งนี้ส่งผลให้พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่เดินทางรอบโลก[7] [8]วิลเลียม อาร์มสตรองได้เขียนบันทึกการเดินทางในครั้งนี้ไว้ในหนังสือ Around the World With a King[9][10] ![]() พระเจ้าคาลาคาอัวได้สร้างพระราชวังอิโอลานี ซึ่งเป็นพระราชวังเพียงแห่งเดียวที่มีอยู่ในสหรัฐอเมริกาปัจจุบัน โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 300,000 ดอลลาร์ สิ่งของตบแต่งในพระราชวังมาจากการสั่งซื้อของพระเจ้าคาลาคาอัวระหว่างเดินทางในทวีปยุโรป นอกจากนี้พระเจ้าคาลาคาอัวได้ตัดสินพระทัยที่จะสร้างพระบรมราชานุเสาวรีย์ของพระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 1 แห่งฮาวาย พระมหากษัตริย์พระองค์แรกของราชอาณาจักร โดยพระบรมราชานุเสาวรีย์แรกเริ่มนั้นจมลงไปพร้อมกับเรือที่บรรทุกมาบริเวณหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ ดังนั้นพระองค์จึงมีพระราชโองการสร้างทดแทนในปี ค.ศ. 1883 ในปี ค.ศ. 1912 ได้มีการส่งพระบรมราชานุเสาวรีย์เดิมที่จมลงไปและซ่อมแซมแล้วสู่ฮาวาย ในปี ค.ศ. 1969 ได้มีการสั่งสร้างพระบรมราชานุเสาวรีย์เพิ่มเติม ซึ่งพระบรมราชานุเสาวรีย์เหล่านี้กลายเป็นสิ่งที่ระลึกถึงเอกราชของฮาวาย พระเจ้าคาลาคาอัวได้มีแนวความคิดในการสร้างจักรวรรดิโพลินีเซีย ในปี ค.ศ. 1886 รัฐสภาได้ผ่านงบประมาณ 30,000 ดอลลาร์ (787,000 ดอลลาร์ในปัจจุบัน) สำหรับการสถาปนาสหพันธรัฐโพลินีเซีย พระเจ้าคาลาคาอัวได้ส่งผู้แทนไปซามัวเพื่อเข้าเฝ้ามาลีเอตัว เลาเปปา ซึ่งมาลีเอตัวได้ตกลงที่จะร่วมสหพันธรัฐ อย่างไรก็ตามสหพันธรัฐนี้ต้องสิ้นสภาพลงไป เนื่องจากพระองค์สูญเสียพระราชอำนาจจากการผ่านรัฐธรรมนูญบาโยเนต์และพรรครีฟอร์มขึ้นมามีอำนาจในรัฐบาล ซึ่งรัฐธรรมนูญบาโยเนต์เกิดจากกลุ่มมิชชันารีได้วิพากษ์วิจารณ์พระองค์เกี่ยวกับหนื้สินของราชอาณาจักรและความสุรุ่ยสุร่ายของพระองค์ ในช่วงเวลานั้นมีชาวต่าวชาติกลุ่มหนึ่งต้องการบีบบังคับให้พระองค์สละราชสมบัติและสถาปนาเจ้าฟ้าหญิงลีลีโอกาลานีขึ้นครองราชสมบัติ ในขณะที่บางกลุ่มต้องการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์และเปิดทางให้สหรัฐอเมริกาเข้ามาผนวกเข้าเป็นดินแดนของสหรัฐ กลุ่มบุคคลที่ต้องการให้สหรัฐอเมริกาผนวกดินแดนได้ก่อตั้ง สันนิบาตฮาวาย โดยสมาชิกของกลุ่มนี้ได้นำกำลังพร้อมอาวุธบังคับพระเจ้าคาลาคาอัวให้ลงพระนามในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยธรรมนูญบาโยเนต์นี้เป็นรัฐธรรมนูญที่ลดพระราชอำนาจส่วนใหญ่ของพระมหากษัตริย์และริดรอนสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งของชนพื้นเมืองชาวฮาวาย ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้ 75 % ของชาวฮาวายไม่สามารถลงคะแนนเลือกตั้งได้ ด้วยเกิดจากข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญทางด้านเพศ การรู้หนังสือ ทรัพย์สินและอายุ อย่างไรก็ตามได้มีความพยายามก่อการเพื่อฟื้นฟูพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ภายใต้การนำของโรเบิร์ต วิลคอกแต่ล้มเหลว สวรรคตในปี ค.ศ. 1890 พระพลานามัยของพระองค์เริ่มแย่ลง พระองค์จึงเดินทางไปรักษาที่ซานฟรานซิสโกตามคำแนะนำของแพทย์ และเสด็จสวรรคตที่นั่นเมื่อวันที่ 20 มกราคม 1891 พระราชดำรัสสุดท้ายของพระองค์คือ "Aue, he kanaka au, eia i loko o ke kukonukonu o ka maʻi!," หรือ "ฉันเป็นคนที่ป่วยหนัก" คำคมที่มีชื่อเสียงของพระองค์ "บอกประชาชนของฉันว่าฉันพยายามแล้ว" เป็นคำที่คิดค้นขึ้นโดยยูจัน เบิร์นในงานเขียนเกี่ยวกับพระราชประวัติของพระเจ้าคาลาคาอัวของเขาเมื่อปี ค.ศ. 1952 The last king of Paradise[11] พระราชดำรัสของพระองค์ก่อนสิ้นพระชนม์ได้รับการบันทึกไว้ใน phonograph cylinder ซึ่งปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์บิชอป[12] พระบรมศพของพระองค์ได้ส่งกลับมาฮาวายโดยเรือของสหรัฐอเมริกา ด้วยเหตุที่พระองค์ไม่มีพระราชโอรสและพระราชธิดา ส่งผลให้ เจ้าฟ้าหญิงลีลีโอกาลานี พระขนิษฐาของพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระองค์ ตราประจำพระองค์
พระราชพงศาวลี
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่นวิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ พระเจ้าคาลาคาอัวแห่งฮาวาย
|
Portal di Ensiklopedia Dunia