พระที่นั่งบรมพิมาน
พระที่นั่งบรมพิมาน เป็นพระที่นั่งองค์หนึ่งภายในพระบรมมหาราชวัง ทางด้านใต้ของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม อยู่เหนือสวนศิวาลัย บริเวณคลังสรรพาวุธเดิม ประวัติพระที่นั่งองค์นี้มีชื่อเดิมว่า พระที่นั่งภาณุมาศจำรูญ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อพระราชทาน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร แต่เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เสด็จสวรรคตเสียก่อน จึงพระราชทานให้เป็นที่ประทับของ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ จึงเสด็จมาประทับเป็นครั้งคราว ต่อมาในปี พ.ศ. 2467 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามพระที่นั่งเป็น พระที่นั่งบรมพิมาน ตามนามพระที่นั่งองค์ใหญ่ อันเป็นพระวิมานที่ประทับในพระอภิเนาว์นิเวศน์ของสมเด็จพระบรมอัยกาธิราชที่รื้อไป[1] ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประทับที่พระที่นั่งองค์นี้ก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ได้เสด็จประทับเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินนิวัตพระนคร เมื่อปี พ.ศ. 2488 และเสด็จสวรรคตอย่างกะทันหัน ณ พระที่นั่งองค์นี้ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ปัจจุบัน พระที่นั่งบรมพิมานเป็นเขตพระราชฐานส่วนพระองค์ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ใช้เป็นที่ประทับเป็นการถาวรหลังจากนิวัตประเทศไทย ควบคู่กับพระตำหนักพลอยปทุม จังหวัดปทุมธานี สถาปัตยกรรมพระที่นั่งบรมพิมาน เป็นอาคาร 2 ชั้น หลังคารูปโค้ง มุงด้วยกระเบื้องหินชนวน ลักษณะแบบเฟรนซ์เรเนซองซ์ ออกแบบโดยสถาปนิกชาวยุโรป ผู้ทำการก่อสร้างคือ พระยาประดิษฐ์อมรพิมาน (หม่อมราชวงศ์ชิต อิศรศักดิ์) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้นาย อี.มันเฟรดี สถาปนิก และนาย ซี. ริโกลี จิตรกรชาวอิตาลี ดัดแปลงเพดานพระที่นั่ง และเขียนภาพสีประดับ ตามตัวอย่างภาพเขียนของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เมื่อ พ.ศ. 2502 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแซมและต่อเติมมุขด้านทิศใต้ และสร้างอาคารรับ 2 อาคารด้านทิศใต้ เพื่อใช้เป็นที่ประทับและพักรับรองพระราชอาคันตุกะชั้นประมุข และพระราชวงศ์ชั้นสูงของต่างประเทศ โดยหม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร ทรงเป็นสถาปนิกออกแบบต่อเติม ทางด้านหลังพระที่นั่งองค์นี้ ได้สร้างเรือนรับรองเป็นเรือนทรงไทย สำหรับผู้ติดตาม ปัจจุบันได้รื้อลงแล้ว อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
|
Portal di Ensiklopedia Dunia