ปลาสวยงาม![]() ปลาสวยงาม หรือ ปลาตู้ (อังกฤษ: ornamental fish) คือ ปลาที่มนุษย์เลี้ยงไว้เป็นสัตว์เลี้ยงเพื่อความเพลิดเพลินหรือเพื่อความสวยงาม ไม่ใช่เพื่อการบริโภค หรือสัตว์น้ำจำพวกอื่น ที่ไม่ใช่ปลาแต่มีการนำมาเลี้ยงเพื่อการเดียวกัน เช่น เครย์ฟิช นิยมเลี้ยงไว้ในสถานที่ต่าง ๆ ในบ้านพักอาศัย อาทิ ตู้ปลา, บ่อ หรือสระ ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการประมง ความเป็นอยู่ของปลามีความแตกต่างจากสัตว์บกหรือสัตว์เลือดอุ่นค่อนข้างมาก การเลี้ยงสัตว์บกสามารถปรับปรุงคอกเลี้ยง ทำให้สามารถทำความสะอาดกำจัดเศษอาหาร และมูลสัตว์ออกจากคอกได้อย่างง่ายดาย แต่ปลามีน้ำเป็นบ้านอย่างถาวรและจำเป็นต้องอยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ อีกหลายชนิด คุณภาพน้ำอาจเปลี่ยนแปลงได้ทั้งสาเหตุจากสภาพแวดล้อมและจากตัวปลาเอง เพราะปลาก็มีการขับถ่ายอยู่ตลอดเวลา แต่ในแหล่งน้ำธรรมชาติจะเกิดการปรับปรุงหรือปรับสภาพให้น้ำมีคุณสมบัติที่เหมาะสม โดยขบวนการต่าง ๆ จากสิ่งมีชีวิตหลายชนิด เพื่อให้สิ่งมีชีวิตทั้งหลายในน้ำอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล ประวัติไม่มีหลักฐานใดที่ยืนยันแน่ชัดว่า มนุษย์เริ่มรู้จักเลี้ยงปลามาตั้งแต่เมื่อใด โดยนักโบราณคดีได้ค้นพบบ่อปลาที่เก่าแก่ที่สุดในยุคสุเมเรียนซึ่งมีอายุกว่า 4,400 ปีมาแล้ว และปลาชนิดแรกที่เชื่อว่าเป็นปลาที่มนุษย์ได้เลี้ยงคือ ปลาคาร์ป ซึ่งทั้งหมดนี้มีไว้เพื่อการบริโภค[1] สำหรับการเลี้ยงไว้เพื่อความสวยงาม ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มต้นขึ้นเมื่อใดอีกเช่นกัน ในประเทศจีนและญี่ปุ่นได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ปลาทอง รวมถึงปลาคาร์ป ให้มีรูปร่างและสีสันที่สวยงามแตกต่างไปสายพันธุ์ดั้งเดิมที่มีอยู่ในธรรมชาติ มาแล้วไม่ต่ำกว่า 300-400 ปี โดยมีการส่งออกไปทวีปยุโรปตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 และถูกส่งมาเป็นบรรณาการในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในศตวรรษที่ 19 ด้วย[2][3] หลักการเลี้ยงปลา![]() การเลี้ยงปลาไว้เพื่อความเพลิดเพลินนั้น มิได้ต่างไปจากหลักการเลี้ยงปลาเศรษฐกิจเพื่อการบริโภคเท่าใดนัก เพียงแต่มีอัตราส่วนที่ย่อขนาดลงมา โดยอุปกรณ์การเลี้ยงหลัก ๆ ได้แก่[4]
ชนิดของปลา
ชนิดของปลาแบ่งออกได้ตามประเภทของปลาใหญ่ ๆ ได้ 3 ประเภท คือ ปลาน้ำจืด, ปลาน้ำกร่อย และปลาน้ำเค็ม ปลาแปลก![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ปลาแปลก คือ ปลาสวยงามจำพวกหนึ่งที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากปลาสวยงามปกติทั่วไป โดยมากเป็นปลาพิการ แต่มีลักษณะเด่นเฉพาะตัว จึงได้รับความนิยมจากผู้เลี้ยง ปลาแปลกจะมีราคาที่ค่อนข้างสูงกว่าปลาปกติ ในบางประเภทจะแพงกว่าปลาปกติหลายเท่า เช่น ปลาแพล็ตตินั่ม เป็นต้น ประเภทของปลาแปลก
ในธรรมชาติ ยากที่จะพบปลาที่มีลักษณะผิดปกติเช่นนี้ เท่าที่มีการสำรวจพบ ที่ น้ำตกคลองนารายณ์ จังหวัดจันทบุรี มีรายงานโดย ชัยวุฒิ กรุดพันธุ์ นักวิชาการประมง ในปี พ.ศ. 2545 ว่า ปลาพลวงจำนวนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในนั้นมีลักษณะกระดูกลำตัวคดงอ เชื่อว่าเกิดจากการที่ปลาผสมกันเองในสายเลือดชิด (inbreed) ทำให้ลูกปลาที่เกิดใหม่มีความผิดปกติเช่นนี้[5] ปลาที่มีลักษณะชอร์ตบอดี้ สามารถเกิดขึ้นได้กับปลาทุกชนิด ซึ่งปลาแต่ละตัวก็จะมีลักษณะชอร์ต บอดี้แตกต่างออกไป ในวงการปลาสวยงาม ได้มีการจำแนกปลาชอร์ตบอดี้ ออกเป็นเกรด แต่ละเกรดแบ่งตามลักษณะความสั้น โดยปลาที่สั้นมากจนแทบไม่มีข้อหาง หรือบริเวณส่วนหัวหดสั้นกว่าปกติ และไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดคดงอหรือบุบ จะเรียกว่า เบอร์ 0 ซึ่งจะมีราคาขายแพงที่สุด ปลาที่มีข้อหางยาวออกมา จะเรียกว่า เบอร์ 1 ถ้าเลยจากนี้จะมีถือว่าไม่มีราคาแล้ว ในปัจจุบัน ได้มีการเพาะปลาบางชนิดจนกลายเป็นปลาชอร์ตบอดี้ เป็นสายพันธุ์ที่ได้ผลผลิตแน่นอนไปแล้ว เช่น ปลาบอลลูน ซึ่งก็คือปลาสอดชอร์ต บอดี้, ปลากระดี่มุก, ปลาหมอสีประเภทครอสบรีด เป็นต้น การเลี้ยงปลาชอร์ตบอดี้ให้สวยนั้น ผู้เลี้ยงจะนิยมเลี้ยงให้อ้วน ท้องป่องมากที่สุด โดยถือว่าเป็นลักษณะที่สวยที่สุด และมีความเชื่อกันว่าหากเลี้ยงปลาประเภทนี้แล้วจะนำมาซึ่งโชคลาภหรือเงินทองแก่ผู้เป็นเจ้าของ จนมีชื่อเรียกกันว่า "ปลาแบกเงิน แบกทอง"[6] โดยปลาชอร์ตบอดี้ ที่รู้จักกันดีที่สุดและถือว่าเป็นปลาสวยงามที่ได้รับความนิยมมาอย่างยาวนาน มีประวัตินับเป็นร้อย ๆ ปีแล้ว ก็คือ ปลาทอง ซึ่งเป็นปลาที่มนุษย์เพาะขยายพันธุ์ขึ้นมาเองจนมีทั้งรูปร่างและสีสันผิดไปจากสายพันธุ์ดั้งเดิมในธรรมชาติ[7]
ในปลาแปลกนี้ บางตัวอาจพบลักษณะแปลกที่มากกว่าหนึ่งอย่าง ก็เป็นได้ [8] ปลาสวยงามในประเทศไทย![]() ในประเทศไทย การเลี้ยงปลาสวยงามนั้นมีมานานแล้วตั้งแต่ยุคโบราณ คนไทยนิยมเลี้ยงปลาที่เป็นปลาพื้นบ้าน อาทิ ปลากัดหรือปลาเข็มที่ได้พัฒนาสายพันธุ์ให้ใหญ่กว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมที่มีอยู่ในธรรมชาติ เพื่อการต่อสู้กันถือเป็นการละเล่นพื้นบ้านชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับการชนไก่ โดยมีการพนันผสมอยู่ด้วย[9] สมัยรัชกาลที่ 5 ปลาหางนกยูงได้ถูกนำเข้ามาเลี้ยงในอ่างบัวเป็นครั้งแรก ตามบ้านของเศรษฐีและผู้มีฐานะในสังคม ดั่งปรากฏความอยู่ในนวนิยายเรื่อง "สี่แผ่นดิน" ของ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ความตอนหนึ่งบรรยายถึง แม่พลอย ตัวละครเอกของเรื่อง นั่งดูปลาหางนกยูงในอ่างบัว[10] ต่อมา ในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 และหลังสงครามยุติไม่นาน ได้มีผู้ประกอบการส่งออกปลาสวยงามไปสู่ต่างประเทศ โดยทำการรวบรวมพันธุ์ปลาพื้นบ้านจากแหล่งน้ำในธรรมชาติเป็นหลัก และจากการเพาะพันธุ์บางส่วน คือ นายสมพงษ์ เล็กอารีย์ และนายพิบูลย์ ประวิชัย[11] ซึ่งร่วมกันในนาม "สมพงษ์ อะควาเรี่ยม" จัดได้ว่าเป็นผู้ประกอบการค้าปลาสวยงามอย่างเป็นล่ำเป็นสันรายแรก ๆ โดยเฉพาะนายสมพงษ์นั้น เป็นผู้ค้นพบพันธุ์ปลาชนิดใหม่ของโลกด้วยอย่างน้อย 3 ชนิด ซึ่งสมพงษ์ อะควาเรี่ยม นั้นปัจจุบันได้ปิดกิจการลงไปแล้ว[12] ขณะที่ปลาทอง ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย จากเบื้องต้นเป็นชาวจีนหรือชาวไทยเชื้อสายจีนที่นิยมเลี้ยงไว้เพื่อความเชื่อว่านำพาความโชคดีหรือโชคลาภมาสู่ผู้เลี้ยง ในราวปี พ.ศ. 2500-2501 ยังเป็นการเลี้ยงกันในแวดวงแคบ ๆ ก่อนที่จะมีผู้พบว่า สามารถเพาะขยายพันธุ์เพื่อทำการค้าได้ จึงขยายความนิยมในการเลี้ยงตามมา ร้านค้าหรือแหล่งที่เป็นแหล่งซื้อขายปลาทองและปลาสวยงาม อยู่ที่ตลาดนัดสนามหลวง และเยาวราช รวมถึงย่านคลองถมหรือสะพานเหล็ก[13] ซึ่งในยุคนั้นซึ่งยังไม่มีตลาดนัดสวนจตุจักรหรือร้านขายปลาสวยงามมากมายอย่างในปัจจุบัน เมื่อมีการซื้อขายกันแล้ว ผู้ขายจะเทปลาลงในกระป๋องนมข้นหวานที่ทำจากดีบุก โดยไม่ได้ใส่ถุงพลาสติกอย่างในปัจจุบัน แม้แต่การบรรจุออกซิเจนก็ไม่มี ต่อมาเมื่อมีถุงพลาสติก ก็ใช้วิธีการมัดถุงแบบถุงกาแฟแล้วใช้เชือกกล้วยมัด[14] ปัจจุบัน การเลี้ยงปลาสวยงามนั้นได้รับความนิยมอย่างมาก โดยถือเป็นสัตว์เลี้ยงที่นิยมเลี้ยงกันมากเช่นเดียวกับ สุนัขและแมว โดยมีหลักค้าขายใหญ่ที่เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี คือ ตลาดซันเดย์ในบริเวณตลาดนัดสวนจตุจักร และอีกที่ คือ ตลาดธนบุรี หรือที่นิยมเรียกกันว่า สนามหลวง 2 ซึ่งเป็นสัดส่วนของตลาดนัดฝั่งธนบุรี จนเกิดเป็นอุตสาหกรรมการเพาะขยายพันธุ์และการค้าขายอีกประเภทหนึ่ง โดยที่แหล่งเพาะพันธุ์ใหญ่ที่สุดของประเทศ อยู่ที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีการจัดตั้งขึ้นเป็นสหกรณ์ โดยการรวมกลุ่มกันของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยง [15] สำหรับอุตสาหกรรมปลาสวยงามในประเทศไทยแล้ว ถือได้ว่าเป็นแหล่งเพาะพันธุ์และส่งออกไปขายยังต่างประเทศมากที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง โดยมีมูลค่าการส่งออกปีหนึ่งประมาณ 2,000 ล้านบาท แต่ปลาที่เพาะพันธุ์ได้และจับจากแหล่งธรรมชาติภายในประเทศมีสัดส่วนค้าขายภายในประเทศเพียงแค่ร้อยละ 1 เท่านั้น[16] และยังมีการจัดงานนิทรรศการเกี่ยวกับปลาสวยงามขึ้นเป็นประจำ เช่น งานประมงน้อมเกล้าฯ ที่จัดโดย กรมประมง และ งานปลาสวยงามแห่งชาติ ที่จัดโดย บริษัท เดอะมอลล์กรุ๊ป ร่วมกับ สมาคมปลาสวยงามแห่งประเทศไทย เป็นต้น ซึ่งภายในงานจะมีทั้งการแสดงพันธุ์ปลาชนิดต่าง ๆ การประกวด การจัดตกแต่งตู้ปลา การขายปลาสวยงามและอุปกรณ์ รวมทั้งการให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องปลาและสัตว์ประเภทต่าง ๆ อีกด้วย ปลาสวยงามในต่างประเทศสำหรับกิจการปลาสวยงามในต่างประเทศหรือระดับสากลนั้น จะมีศูนย์กลางอยู่ที่เอเชียอาคเนย์เป็นหลัก[17] เพราะมีภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการเพาะเลี้ยงและเลี้ยงดู หลายประเทศในภูมิภาคแถบนี้จึงมีฟาร์มเพาะพันธุ์ปลาสวยงามอยู่มากมาย ทั้ง ประเทศไทย, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ โดยเฉพาะที่สิงคโปร์มีฟาร์มเพาะพันธุ์ปลามังกรหรือปลาอะโรวาน่าในระดับชั้นนำอยู่มากมาย และจัดได้ว่าเป็นประเทศที่เป็นผู้ส่งออกปลาสวยงามสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก กินส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ร้อยละ 20.71 ของโลก ในปี พ.ศ. 2550 มีมูลค่าการส่งออกมากถึง 319.093 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[17] อีกทั้งเป็นประเทศที่ทุกปีจะมีงานนิทรรศการปลาสวยงามระดับโลก คือ Aquarama ซึ่งจะจัดเป็นประจำในปลายเดือนพฤษภาคมของทุกปี นับได้ว่าเป็นงานที่รวมของผู้ที่สนใจและนักธุรกิจในแวดวงปลาสวยงามทั่วโลกอย่างแท้จริง โดยเริ่มจัดครั้งแรกในปี พ.ศ. 2532 จนถึงปัจจุบัน[17] ที่ฮ่องกง มีตลาดค้าปลาสวยงามแห่งใหญ่ อยู่ย่านมงก๊ก ซึ่งเป็นแหล่งช้อปปิ้งที่ขึ้นชื่อ มีชื่อว่า Goldfish Market โดยเดินทางใช้รถไฟใต้ดิน ลงที่สถานีมงก๊ก ออกทางสถานี B3 ตลาดจะอยู่ห่างออกไปประมาณ 500 เมตร ของถนนถ่งไช่ ที่ตลาดแหล่งนี้จะเป็นอาคารพาณิชย์ขนานกันสองฝั่งยาวไปตามทางถนน ซึ่งการขายปลาสวยงามที่นี่ส่วนใหญ่ด้วยเหตุจำกัดเรื่องเนื้อที่ที่มีอยู่ไม่มาก ผู้ค้าจึงมักนำปลาบรรจุใส่ถุงแล้วแขวนไว้โชว์สำหรับลูกค้า ผิดไปจากการค้าขายปลาสวยงามในหลาย ๆ ประเทศ ไม่เว้นแม้กระทั่งปลามังกรที่มีราคาแพง ซึ่งธุรกิจปลาสวยงามของที่นี่จะมีผู้ค้าส่งนำปลาชนิดใหม่ ๆ เข้ามาทดลองตลาดก่อน ก่อนจะกระจายไปสู่ผู้ค้าปลีกรายอื่น ๆ รวมถึงในหลายประเทศด้วย ที่นี่จึงมักมีปลาชนิดใหม่เข้าสู่ตลาดก่อนที่อื่นเสมอ แต่ราคาของอาหารปลาแบบสดนั้น เช่น ไรทะเลมีราคาขายที่สูงมาก [18] ดูเพิ่มอ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น![]() วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ ปลาสวยงาม |
Portal di Ensiklopedia Dunia