ประภาพันธุ์ กรโกสียกาจ
รองศาสตราจารย์ ประภาพันธ์ุ กรโกสียกาจ (เดิม: หม่อมเจ้าประภาพันธุ์ ภาณุพันธุ์; 3 ธันวาคม พ.ศ. 2472 – 24 มีนาคม พ.ศ. 2563) เป็นพระธิดาในพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นภาณุพงศ์พิริยเดช กับหม่อมมาลี ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา เป็นพระราชปนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และอดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พระประวัติหม่อมเจ้าประภาพันธุ์ ภาณุพันธุ์ มีพระนามลำลองว่า ท่านหญิงภา[2] เป็นพระธิดาในพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นภาณุพงศ์พิริยเดช กับหม่อมมาลี ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา (สกุลเดิม สุขเจริญ) ประสูติเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2472 ณ พระตำหนักญี่ปุ่น วังบูรพาภิรมย์[2] เป็นพระนัดดาในสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช และเป็นพระราชปนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อมีชันษาได้ 4 ปี พระบิดาได้สิ้นพระชนม์ หม่อมเจ้าประภาพันธุ์มีเจ้าพี่เจ้าน้องร่วมพระมารดาสององค์คือ คือหม่อมเจ้าสุริยพันธุ์ ภาณุพันธุ์ และพันธุ์วโรภาส เศวตรุนทร์ หม่อมเจ้าประภาพันธุ์ได้ขอพระราชทานกราบบังคมทูลลาออกจากฐานันดรศักดิ์เพื่อสมรสกับพลอากาศตรี โกสีย์ กรโกสียกาจ บุตรพลอากาศตรี หลวงกรโกสียกาจ (กอน โสมนะพันธ์) กับอบ กรโกสียกาจ[1] เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2504[3] มีโอรสธิดาด้วยกันสามคน แม้ประภาพันธุ์จะลาออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์แล้ว แต่ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรให้ดำรงพระฐานะเป็นพระราชวงศ์ฝ่ายใน และได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดจากพระคลังข้างที่เป็นประจำทุกปี ตลอดจนใช้คำราชาศัพท์ชั้นหม่อมเจ้าตามเดิม[4] ทั้งยังมีความสนิทสนมกับพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้น 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก และเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นมหาวชิรมงกุฎ แก่ท่านหญิงประภาพันธุ์เป็นกรณีพิเศษ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดาทรงเรียกท่านหญิงประภาพันธุ์อย่างสนิทสนมว่า "ยายชวด"[5] ประภาพันธุ์ กรโกสียกาจสิ้นชีพิตักษัยด้วยโรคมะเร็งตับ เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2563 ณ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ สิริชันษา 90 ปี 3 เดือน[4] ในการนี้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำหลวงสรงพระศพ และทรงรับศพไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ 3 วัน ตั้งศพบำเพ็ญพระกุศล ณ ศาลาภาณุรังษี วัดเทพศิรินทราวาส ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานโกศแปดเหลี่ยมประกอบศพ และพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ในการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพโดยตลอด และในวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปในการพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส การทำงานหม่อมเจ้าประภาพันธุ์ทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย, โรงเรียนราชินี และโรงเรียนราชินีบน ทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาบัณฑิตจากคณะอักษรศาสตร์และคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[2] ระดับปริญญามหาบัณฑิต สาขาจิตวิทยาพัฒนาการ จากวิทยาลัยวิชาการศึกษา (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ) เมื่อปี พ.ศ. 2500 ทรงเริ่มรับราชการเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒตั้งแต่ปี พ.ศ. 2499 ทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิตด้านการศึกษา (DODT.) จากประเทศฟิลิปปินส์ และเกษียณอายุราชการเมื่อปี พ.ศ. 2533 ในตำแหน่งรองศาสตราจารย์ ระดับ 9[6][7] ประภาพันธุ์ได้ทรงงานด้านสาธารณกุศล เช่น เป็นองค์ประธานมูลนิธิหม่อมเจ้าพิจิตรจิราภา เทวกุล ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เพื่อประทานทุนการศึกษาให้แก่นักเรียน นิสิต นักศึกษาที่ใฝ่เรียน แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์[ต้องการอ้างอิง] เป็นแบบอย่างของการปฏิบัติตนที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาการศึกษาของชาติ จนเป็นที่ประจักษ์ชัดและเป็นที่ยอมรับของสังคม ทำให้ได้รับการประกาศเกียรติคุณเป็น "ผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาของชาติ" ประเภทบุคคลในปี พ.ศ. 2558[8] นิพนธ์
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
ลำดับสาแหรก
อ้างอิง
|
Portal di Ensiklopedia Dunia