ประตูเทียนอัน

ประตูเทียนอันใน ค.ศ. 2020
ประตูเทียนอัน
"เทียนอันเหมิน" ในอักษรตัวย่อ (บน) และอักษรตัวเต็ม (ล่าง)
ชื่อภาษาจีน
อักษรจีนตัวย่อ天安门
อักษรจีนตัวเต็ม天安門
ฮั่นยฺหวี่พินอินTiān'ānmén
ความหมายตามตัวอักษร"ประตูสันติภาพสวรรค์"
ชื่อภาษาแมนจู
อักษรแมนจู ᠠᠪᡴᠠᡳ
ᡝᠯᡥᡝ
ᠣᠪᡠᡵᡝ
ᡩᡠᡴᠠ
เมิลเลินดอร์ฟabkai elhe obure duka
(วีดีโอ) ภาพประตูเทียนอันจำนวน 2 ภาพ ตามด้วยภาพภายในจัตุรัสเทียนอันเมินบริเวณใกล้กับประตู ถ่ายใน ค.ศ. 2017

ประตูเทียนอัน หรือ เทียนอันเหมิน (จีน: 天安门; พินอิน: Tiān'ānmén; แปลตรงตัว: "ประตูสันติภาพสวรรค์") เป็นประตูทางเข้าพระราชวังต้องห้ามและนครจักรพรรดิ ตั้งอยู่ใจกลางกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในฐานะสัญลักษณ์ประจำชาติ

ประตูเทียนอันสร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยราชวงศ์หมิงเมื่อ ค.ศ. 1420 เพื่อเป็นประตูทางเข้าพระราชวัง ซึ่งผู้มาเยือนพระราชวังทุกคนจะต้องผ่านประตูนี้ ใน ค.ศ. 1949 เหมา เจ๋อตงได้ประกาศก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนจากระเบียงของประตูแห่งนี้ ปัจจุบันมีภาพเหมือนขนาดใหญ่ของเขาประดับอยู่ ประตูเทียนอันตั้งอยู่ทางทิศเหนือของจัตุรัสเทียนอันเหมินและถูกคั่นกลางจากลานจัตุรัสโดยถนนฉางอาน

ชื่อ

ชื่อภาษาจีนของประตูนี้ (天安门/天安門) ประกอบด้วยอักษรจีนที่หมายถึง "สวรรค์" "สันติภาพ" และ "ประตู" ตามลำดับ เป็นเหตุว่าทำไมจึงแปลตามธรรมเนียมได้ว่า "ประตูสันติภาพสวรรค์" กระนั้น การแปลดังกล่าวอาจคลาดเคลื่อนไปบ้างเพราะชื่อในภาษาจีนนั้นมาจากวลีที่ยาวกว่า ซึ่งมีความหมายว่า "อาณัติจากสวรรค์ รักษาความสงบสุขของแผ่นดิน" (受命于天,安邦治國)[1] คำแปลภาษาแมนจูว่า Abkai elhe obure duka นั้นสอดคล้องกับความหมายดั้งเดิมของประตูมากที่สุด และสามารถแปลตรงตัวได้ว่า "ประตูสันติภาพจากสวรรค์"[2] ประตูนี้มีประตูคู่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของนครจักรพรรดิ มีชื่อว่าตี้อันเหมิน (地安門, Dì'ānmén; แมนจู: Na i elhe obure duka) ซึ่งแปลได้โดยประมาณว่า "ประตูสันติภาพโลก"

ประตู

ประวัติศาสตร์

ในสมัยราชวงศ์หมิง ประตูนี้มีชื่อเดิมว่า เฉิงเทียนเหมิน (จีนตัวเต็ม: 承天門; จีนตัวย่อ: 承天门; พินอิน: Chéngtiānmén) หรือ "ประตูรับอาณัติแห่งสวรรค์" ต่อมาได้ถูกทำลายและสร้างขึ้นใหม่หลายครั้ง เดิมสร้างขึ้นครั้งแรกใน ค.ศ. 1420 โดยมีต้นแบบมาจากประตูชื่อเดียวกันของพระราชวังในนครหนานจิง ต่อมาได้ถูกเพลิงไหม้จากฟ้าผ่าในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1457 ต่อมาใน ค.ศ. 1465 จักรพรรดิเฉิงฮว่าได้มีพระราชโองการให้จื้อกุย (自圭) รัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการในขณะนั้นดำเนินการบูรณะขึ้นใหม่ ด้วยเหตุนี้รูปแบบจึงถูกปรับเปลี่ยนจากซุ้มประตูมาเป็นป้อมประตูดังที่เห็นในปัจจุบัน ประตูนี้ได้รับความเสียหายอย่างหนักอีกครั้งในช่วงสงครามปลายราชวงศ์หมิง เมื่อใน ค.ศ. 1644 กลุ่มกบฏที่นำโดยหลี่ จื้อเฉิงได้ทำการเผาทำลายประตูจนหมดสิ้น ภายหลังการสถาปนาราชวงศ์ชิงและการพิชิตดินแดนจีนของชนชาติแมนจู ประตูนี้ก็ได้ถูกสร้างขึ้นใหม่อีกครั้ง โดยเริ่มขึ้นใน ค.ศ. 1645 และได้รับการตั้งชื่อใหม่ดังเช่นปัจจุบันเมื่อแล้วเสร็จใน ค.ศ. 1651 ประตูนี้ได้รับการซ่อมแซมและปรับปรุงโครงสร้างใหม่ทั้งหมดในช่วง ค.ศ. 1969 ถึง 1970 ณ เวลานั้นประตูแห่งนี้มีอายุกว่า 300 ปีและอยู่ในสภาพทรุดโทรมอย่างหนัก สาเหตุหนึ่งมาจากการใช้งานอย่างหนักในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950 และ 1960 เนื่องจากประตูแห่งนี้เป็นสัญลักษณ์ประจำชาติ นายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล จึงสั่งให้การบูรณะครั้งนี้เป็นความลับ ประตูทั้งหลังถูกหุ้มด้วยนั่งร้าน และโครงการนี้มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า "การบูรณะใหม่" การบูรณะครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาสภาพภายนอกของประตูให้คงเดิม ขณะเดียวกันก็เสริมความแข็งแรงให้โครงสร้างสามารถต้านแผ่นดินไหวได้ดีขึ้น และติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกทันสมัย อาทิ ลิฟต์ ประปา และระบบทำความร้อน[3]

ประตูเทียนอันใน ค.ศ. 1901
ประตูเทียนอันใน ค.ศ. 1901 
ประตูเทียนอันใน ค.ศ. 2006
ประตูเทียนอันใน ค.ศ. 2006 
ภาพระยะใกล้ของหลังคา
ภาพระยะใกล้ของหลังคา 
ประตูเทียนอันยามค่ำคืน
ประตูเทียนอันยามค่ำคืน 
ประตูเทียนอันจากด้านข้างในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2011
ประตูเทียนอันจากด้านข้างในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2011 
แผนที่ที่รวมถึงประตูเทียนอัน (ระบุชื่อว่า T’ien-an Men 天安門) ในคริสต์ทศวรรษ 1950
แผนที่ที่รวมถึงประตูเทียนอัน (ระบุชื่อว่า T’ien-an Men 天安門) ในคริสต์ทศวรรษ 1950 
ห้องภายในประตู
ห้องภายในประตู 

รายละเอียด

เสาหิน (หฺวาเปี่ยว) สลักลวดลายมังกรและฟีนิกซ์ประดับตกแต่งอยู่หน้าประตูเทียนอัน

ประตูมีความยาว 66 เมตร (217 ฟุต) กว้าง 37 เมตร (121 ฟุต) และสูง 32 เมตร (105 ฟุต) เช่นเดียวกับประตูอื่นในพระราชวัง ประตูแห่งนี้ก็มีการตกแต่งหลังคาในวังหลวงที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ

สิงโตคู่หนึ่งประจำอยู่เบื้องหน้าประตู และอีกคู่หนึ่งคอยเฝ้าสะพาน ในวัฒนธรรมจีนเชื่อกันว่าสิงโตสามารถปกป้องมนุษย์จากวิญญาณชั่วร้ายได้

หน้าประตูมีเสาหินสองต้นเรียกว่า หฺวาเปี่ยว (华表) แต่ละต้นมีสัตว์ประเภทหนึ่งที่เรียกว่า โห่ว (犼) ประดับอยู่บนยอด เดิมสิ่งนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นที่ให้สามัญชนได้ยื่นเรื่องร้องเรียนโดยการเขียนหรือติดคำร้องไว้ที่เสา อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างที่ปรากฏหน้านครจักรพรรดินั้นมีไว้เพื่อประดับตกแต่งเพียงอย่างเดียว และสื่อถึงความยิ่งใหญ่ของราชวงศ์เท่านั้น

บนผนังด้านทิศตะวันตกและออกของประตูมีป้ายขนาดใหญ่ประดับอยู่ด้านละหนึ่งป้าย ด้านซ้ายมีข้อความว่า "สาธารณรัฐประชาชนจีนจงเจริญ" (中华人民共和国万岁; Zhōnghuá Rénmín Gònghéguó wànsuì) ส่วนด้านขวามีข้อความว่า "ความสามัคคีของประชาชนโลกจงเจริญ" (世界人民团结万岁; Shìjiè rénmín dà tuánjié wànsuì) ป้ายด้านขวาเคยมีข้อความว่า "รัฐบาลประชาชนกลางจงเจริญ"[4] (中央人民政府万岁; Zhōngyāng Rénmín Zhèngfǔ wànsuì) ในพิธีก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่ต่อมาได้มีการเปลี่ยนมาใช้ป้ายปัจจุบัน ป้ายทั้งสองถูกเปลี่ยนมาใช้อักษรจีนตัวย่อแทนตัวเต็มใน ค.ศ. 1964 การใช้สำนวนนี้มีความหมายเชิงสัญลักษณ์อันลึกซึ้ง เพราะคำที่ใช้เพื่ออวยพรให้มีอายุยืนยาวนั้นในอดีตเคยสงวนไว้เฉพาะสำหรับจักรพรรดิจีนเช่นเดียวกับนครจักรพรรดิ แต่ปัจจุบันเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปใช้ได้แล้ว

แท่นอัฒจันทร์ด้านหน้าใช้ในวันแรงงานสากล (1 พฤษภาคม) และวันชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีน (1 ตุลาคม) ด้านหน้าอัฒจันทร์คือคูเมืองของนครจักรพรรดิซึ่งยังคงมีน้ำอยู่เต็ม แต่ปัจจุบันมีการประดับด้วยน้ำพุส่องสว่างเพื่อความสวยงาม

ในสมัยโบราณ ประตูเทียนอันถือเป็นประตูสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งเมื่อเข้าสู่นครหลวงปักกิ่งร่วมกับประตูหย่งติ้ง ประตูเฉียน และประตูจงหฺวา เมื่อเดินเข้าไปด้านใน ประตูที่อยู่ถัดไปคือ "ประตูตวน" ซึ่งมีการออกแบบเหมือนกับประตูเทียนอันทุกประการ ด้านหลังประตูนั้นคือทางเข้าด้านใต้ของพระราชวังต้องห้ามซึ่งมีชื่อเรียกว่าประตูอู่

ภาพเหมือน

ประวัติศาสตร์

ด้วยประตูแห่งนี้อยู่ในตำแหน่งด้านหน้าของพระราชวังต้องห้าม และเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์สำคัญหลายเหตุการณ์ได้เกิดขึ้นที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ประตูนี้จึงมีความสำคัญทางการเมืองอย่างมาก ใน ค.ศ. 1925 ขณะที่ประเทศจีนอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลชาตินิยม ได้มีการแขวนภาพเหมือนขนาดใหญ่ของซุน ยัตเซ็นหลังเขาถึงแก่อสัญกรรม ใน ค.ศ. 1945 มีการแขวนภาพเหมือนของเจียง ไคเชกเพื่อฉลองชัยชนะเหนือญี่ปุ่น[5]

วันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1949 มีการแขวนภาพเหมือนของจู เต๋อและเหมา เจ๋อตงเพื่อเป็นการรำลึกถึงสงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง[6] นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1949 วันก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นต้นมา มีเพียงภาพเหมือนเหมาเท่านั้นที่ถูกแขวนไว้บนประตูนั้น ภาพนี้จะถูกเปลี่ยนใหม่เป็นประจำทุกปีก่อนถึงวันชาติ มีเพียงครั้งเดียวในวันที่ 9 มีนาคม ค.ศ. 1953 ที่ภาพดังกล่าวถูกแทนที่ชั่วคราวด้วยภาพของโจเซฟ สตาลิน เพื่อเป็นการรำลึกถึงการอสัญกรรม[6]

ใน ค.ศ. 2011 อเล็กซานเดอร์ แพนน์ ฮัน-ทัง ประธานสมาคมอุตสาหกรรมและการค้าไต้หวันแห่งเอเชียแปซิฟิก ผู้มีความสนิทสนมกับประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่วของไต้หวัน ได้เสนอให้มีการนำภาพของซุน ยัตเซ็นไปติดตั้งที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีการก่อตั้งสาธารณรัฐจีน[7] อย่างไรก็ตามข้อเสนอนี้ถูกปฏิเสธ[7]

เหตุการณ์

ภาพเหมือนนี้มีน้ำหนัก 1.5 เมตริกตัน (2 ชอร์ตตัน) และจะถูกแทนที่ด้วยภาพสำรองทันทีที่มีผู้กระทำการให้เสียหาย[8] ใน ค.ศ. 1989 ผู้เห็นต่างสามรายรวมถึงยฺวี่ ตงยฺเว่ ได้ร่วมกันโจมตีภาพเหมือนด้วยไข่ไก่ระหว่างการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ยฺวี่ถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกตลอดชีวิต แต่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวภายหลังจากถูกคุมขังเป็นเวลา 17 ปีใน ค.ศ. 2006 วันที่ 12 พฤษภาคม ค.ศ. 2006 ภาพเหมือนของเหมาถูกเพลิงไหม้ ชายว่างงานวัย 35 ปีจากเมืองอุรุมชีถูกจับกุมหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ภาพเหมือนได้รับความเสียหายประมาณร้อยละ 15 และได้รับการซ่อมแซมในภายหลัง[9] วันที่ 5 เมษายน ค.ศ. 2010 ผู้ประท้วงรายหนึ่งได้ก่อเหตุโยนหมึกใส่ขวดพลาสติกแล้วปาไปยังผนังบริเวณใกล้ภาพบุคคล และต่อมาได้ถูกเจ้าหน้าที่จับกุม[ต้องการอ้างอิง]

สัญลักษณ์ประจำชาติ

เนื่องจากมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ประตูเทียนอันจึงปรากฏอยู่บนตราแผ่นดินของสาธารณรัฐประชาชนจีน และยังปรากฏอยู่บนแบบของแสตมป์และเหรียญกษาปณ์ที่ออกโดยสาธารณรัฐประชาชนจีน

ตราแผ่นดินสาธารณรัฐประชาชนจีน

การเข้าถึง

รถบัสสาย 1 วิ่งผ่านเทียนอันเหมิน

ประตูเทียนอันเปิดให้ประชาชนเข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 08:30 น. ถึง 17:00 น.[10] ผู้เข้าชมต้องทำการจองตั๋วล่วงหน้าผ่านวีแชต (WeChat) อย่างน้อยหนึ่งวันก่อนวันเข้าชม ไม่สามารถซื้อตั๋วได้ในวันเข้าชมหรือจุดจำหน่ายตั๋ว ณ สถานที่

รถไฟใต้ดินปักกิ่งสาย 1 จอดที่สถานีเทียนอันเหมินตะวันตกและเทียนอันเหมินตะวันออกซึ่งตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกและตะวันออกของประตูเทียนอันตามลำดับ

รถประจำทางสาย 1, 2, 5, 52, 82, 120, 观光1, 观光2, 夜1, 夜2 และ夜17 จอดใกล้กับประตูเทียนอัน

อ้างอิง

  1. Lu Bingjie, Tian'anmen (Jinan: Shandong huabao chubanshe, 2004) p. 40.
  2. Cf. Erich Hauer. "Why the Sinologue Should Study Manchu." Journal of the North-China Branch of the Royal Asiatic Society 61 (1930): 156–64.
  3. Xinhua News Agency, Secret reconstruction of Tiananmen 35 years ago, 04/21/05
  4. Meng Zhaorui, 親歷震撼時刻——老記者鏡頭下的紅色中國, p. 133
  5. NYtimes. "NYtimes.com." Chameleon Mao, the face of Tiananmen square. Retrieved on 2011-04-11.
  6. 6.0 6.1 中國評論新聞:20世紀以來 天安門掛過哪些人的畫像?. Chinareviewnews.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-26. สืบค้นเมื่อ 2011-04-12.
  7. 7.0 7.1 "Call for reassessment of Sun Yat-sen from 'pioneer' to 'father of the nation'". South China Morning Post. 2011-03-29. สืบค้นเมื่อ 2020-05-28.
  8. Foster, Peter. Chinese protestor throws ink at portrait of Chairman Mao. The Daily Telegraph. 8 April 2010.
  9. 2007年05月13日 – 中國‧天安門廣場城樓遭縱火 毛澤東畫像部份燒焦 – 國際 – 星洲日報. Sinchew.com.my. 2007-05-13. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-18. สืบค้นเมื่อ 2011-04-12.
  10. (Chinese) "参观天安门城楼时刻表及门票价格和乘车路线" Accessed 2012-02-06

 

Prefix: a b c d e f g h i j k l m n o p q r s t u v w x y z 0 1 2 3 4 5 6 7 8 9

Portal di Ensiklopedia Dunia