นิรันดร์ราตรี
นิรันดร์ราตรี คือ ภาพยนตร์สารคดีเชิงทดลองปี พ.ศ. 2560 กำกับโดยวรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย เล่าเรื่องของสัมฤทธิ์ ชายผู้ทำหน้าที่ควบคุมการฉายภาพยนตร์ประจำโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนแห่งสุดท้ายในกรุงเทพฯ ที่ต้องเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงและความสิ้นหวังในการดำเนินชีวิตหลังจากที่โรงภาพยนตร์ดังกล่าวปิดตัวลง ที่มาของภาพยนตร์เรื่องนี้มาจากความผูกพันและความทรงจำที่ตัววรรจธนภูมิมีต่อประสบการณ์การชมภาพยนตร์ในวัยเด็กและพื้นที่โรงภาพยนตร์เก่า รวมถึงความต้องการที่จะบันทึกภาพโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนในประเทศไทยเพื่อเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์สำหรับคนรุ่นต่อไป โดยในการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ เขาได้ใช้เวลา 3 ปีในการติดตามชีวิตของสัมฤทธิ์และอีก 1 ปีในการตัดต่อภาพยนตร์ ภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2560 ในเทศกาลภาพยนตร์สารคดีนานาชาติโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก โดยได้รับรางวัลสเปเชียลเมนชัน จากสายประกวดเน็กซ์:เวฟอวอร์ด ประจำเทศกาลดังกล่าว และเข้าฉายอย่างเป็นทางการในประเทศไทยเมื่อวันที่ 17 สิงหาคมของปีเดียวกัน เนื้อเรื่องย่อภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าเรื่องของสัมฤทธิ์ ชายผู้ใช้เวลา 25 ปีทำหน้าที่เป็นผู้ฉายภาพยนตร์ประจำโรงภาพยนตร์ธนบุรีรามา ซึ่งเป็นโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนแห่งสุดท้ายของกรุงเทพมหานครฯ เมื่อโรงภาพยนตร์แห่งนี้ปิดตัวลง เขาได้ผันตัวไปเป็นผู้ดูแลอาคารของโรงภาพยนตร์ร้างและใช้เวลาว่างไปกับหนังสือธรรมะ ก่อนที่เขาจะตัดสินใจเดินทางกลับบ้านเพื่อไปช่วยทำสวนยางร่วมกับครอบครัว และพบว่าความเชี่ยวชาญด้านการฉายภาพยนตร์ที่สั่งสมมา แทบไม่มีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตรูปแบบอื่นเลย การผลิตภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้เกิดขึ้นจากความผูกพันและความทรงจำที่วรรจธนภูมิ (ผู้กำกับภาพยนตร์) มีต่อการชมภาพยนตร์ร่วมกับครอบครัวในวัยเด็กและพื้นที่ของโรงภาพยนตร์เก่าที่เขาได้สัมผัส[1] และความต้องการที่จะบันทึกภาพบรรยากาศของโรงภาพยนตร์สแตนอโลนในประเทศไทย รวมถึงชีวิตและชะตากรรมของคนที่แวดล้อมโรงภาพยนตร์เหล่านั้นที่ค่อย ๆ จางหายไป เพื่อเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์แก่คนรุ่นต่อไป[2] วรรจธนภูมิพัฒนาเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่องนี้จากภาพยนตร์สารคดีขนาดสั้นปี พ.ศ. 2558 ที่กำกับโดยตัวเขาเอง เรื่อง ยามเมื่อแสงดับลา ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับความทรงจำต่อโรงภาพยนตร์สแตนอโลนในกรุงเทพฯ ที่กำลังล่มสลาย[3] โดยในเบื้องต้น วรรจธนภูมิต้องการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ในรูปแบบของภาพยนตร์ทดลองขนาดสั้น ที่เล่าเรื่องโดยใช้เรื่องที่แต่งขึ้นมาจากความทรงจำเกี่ยวกับพ่อและแม่ของเขาเป็นหลัก แต่เมื่อเขาได้ลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลตามโรงภาพยนตร์ทั่วกรุงเทพฯ เขาก็ได้พบกับสัมฤทธิ์ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่โรงภาพยนตร์ธนบุรีรามากำลังจะปิดกิจการพอดี ด้วยความสนิทสนมและความสนใจในตัวตนของสัมฤทธิ์ วรรจธนภูมิจึงตัดสินใจเปลี่ยนวิธีเล่าเรื่องของภาพยนตร์ให้กลายเป็นแบบสารคดี โดยมีสัมฤทธิ์เป็นซับเจกต์หลักของเรื่องแทน โดยใช้เวลาติดตามถ่ายทำชีวิตของสัมฤทธิ์เป็นเวลา 3 ปี และตัดต่ออีก 1 ปี[2] สำหรับวิธีการนำเสนอภาพยนตร์เรื่องนี้ วรรจธนภูมิเลือกใช้การทดลองด้านภาพด้วยการผสมผสานระหว่างฟุตเตจภาพยนตร์เก่ากับฟุตเตจที่ถ่ายทำขึ้นมาใหม่เพื่อเล่าเรื่องและสื่อถึงความผูกพันที่บุคคลหนึ่งมีต่อภาพยนตร์และโรงภาพยนตร์[3] การเข้าฉายนิรันดร์ราตรีเข้าฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2560 ในสายประกวดรางวัลเน็กซ์:เวฟ ของเทศกาลภาพยนตร์สารคดีนานาชาติโคเปนเฮเกน ณ ประเทศเดนมาร์ก[4] และเข้าฉายอย่างเป็นทางการในประเทศไทยเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2560 ณ โรงภาพยนตร์เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า เซ็นทรัลเวิลด์ และวันที่ 31 สิงหาคมปีเดียวกัน ณ โรงภาพยนตร์เฮาส์[5] นอกจากนี้ ยังได้รับเชิญให้ฉายในเทศกาลภาพยนตร์สารคดีนานาชาติศาลายา ครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2560[6][7] และเทศกาลภาพยนตร์ไทเป ครั้งที่ 19 ณ ประเทศไต้หวัน เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2560[8] ปี พ.ศ. 2563 นิรันดร์ราตรีได้รับเลือกจากหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ให้ฉายในโปรแกรม "La Scala ลา สกาลา" ร่วมกับภาพยนตร์เรื่อง Blowup (มิเคลันเจโล อันโตนิโอนี, 1966) The Scala (อาทิตย์ อัสสรัตน์, 2559) และ Cinema Paradiso (จูเซปเป ตอร์นาโตเร, 1988) เมื่อวันที่ 4-5 กรกฎาคม 2563 ณ โรงภาพยนตร์สกาลา กรุงเทพฯ เพื่อส่งท้ายโรงภาพยนตร์สกาลาก่อนปิดกิจการอย่างเป็นทางการ[9] รางวัลและคำวิจารณ์ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลสเปเชียลเมนชัน จากสายประกวดเน็กซ์:เวฟอวอร์ด ประจำเทศกาลภาพยนตร์สารคดีนานาชาติโคเปนเฮเกน ประจำปี ค.ศ. 2017 เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2560 ณ ประเทศเดนมาร์ก[10] โดยเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของเทศกาลดังกล่าวกล่าวถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า ด้วยการนำเสนอบางสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติไปพร้อมกับปรัชญาพุทธศาสนาว่าด้วยการเสื่อมสลายและการเปลี่ยนแปลง ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ที่พูดถึงเรื่องของ "ภาพยนตร์" ได้อย่างไม่ธรรมดา[11] นอกจากนั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังได้รับคำวิจารณ์ในเชิงบวกจากนักวิจารณ์ภาพยนตร์ในประเทศไทย เช่น ในงานวิจารณ์ของผู้ใช้นามปากกาว่า "คนมองหนัง" ได้กล่าวถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า เป็นภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดและเล่าเรื่องราวชีวิตของซับเจกต์ (สัมฤทธิ์) ได้อย่าง "สนุก มีอารมณ์ขัน น่าติดตาม แฝงอารมณ์เศร้าหม่นอยู่ลึก ๆ และละเอียดลออมากพอสมควร" โดยตัวภาพยนตร์มีองค์ประกอบที่น่าสนใจสองส่วน ได้แก่ 1) ความสามารถในการใช้ "แสง" ร่วมกับภาพเคลื่อนไหวได้อย่างยอดเยี่ยมของวรรจธนภูมิ จนทำให้เกิด "ภาวะภาพฝันอันแปลกประหลาดและเป็นปริศนา" ปรากฏอยู่ตลอดทั้งเรื่อง และ 2) การเล่าเรื่องของซับเจกต์ด้วยวิธีการที่ไม่สลับซับซ้อนจนเกินไป ทำให้ผู้ชมสามารถติดตามเรื่องราวได้อย่างง่ายดาย อย่างไรก็ตาม "คนมองหนัง" ก็มองว่า องค์ประกอบที่สองนี้เองที่ทำให้ภาพยนตร์ลดทอนเสน่ห์รวมถึงความซับซ้อนในชีวิตและการมองโลกของซับเจกต์ลงไป[12] รางวัลที่ได้รับการเสนอชื่อ
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น |
Portal di Ensiklopedia Dunia