นานูเมอา
นานูเมอา (อังกฤษ: Nanumea) เป็นอะทอลล์ตั้งอยู่สุดทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศตูวาลู ซึ่งเป็นประเทศเกาะในภูมิภาคพอลินีเซีย อะทอลล์แห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของอะทอลล์และเกาะจำนวน 9 แห่ง ที่กระจายตัวเป็นระยะทาง 400 ไมล์ (640 กิโลเมตร) ทางตอนใต้ของเส้นศูนย์สูตรและตะวันตกของเส้นแบ่งเขตวันสากลในมหาสมุทรแปซิฟิก นานูเมอามีพื้นที่ 4 km2 (1.5 sq mi) และมีประชากรจำนวน 512 คน (สำมะโน ค.ศ. 2017)[1] ภูมิศาสตร์นานูเมอาตั้งอยู่ขอบของสามเหลี่ยมพอลินีเซีย โดยอยู่ทางใต้ของหมู่เกาะกิลเบิร์ต ซึ่งมีลักษณะทางภาษาและวัฒนธรรมแบบไมโครนีเซีย มีสภาพพื้นที่เป็นอะทอลล์ ประกอบด้วยเกาะพื้นที่ต่ำบนไหล่ของพืดหินปะการังล้อมรอบลากูน ขนาดของอะทอลล์ยาวประมาณ 12 กิโลเมตรและกว้างประมาณ 2.5 กิโลเมตรและมีพื้นที่แห้งประมาณ 3.9 ตารางกิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีพื้นที่อนุรักษ์นานูเมอา ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 2 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยพื้นที่ลากูนกลางและพื้นที่ปะการังร้อยละ 10 ของอะทอลล์ รวมถึงเกาะเล็ก 2 เกาะด้วย[2][3] หมู่บ้านที่ใหญ่ที่สุดคือเฮามาเอฟา มีประชากร 187 คน (ค.ศ. 2012) และโลลูอา มีประชากร 187 คน (ค.ศ. 2012)[1] โดยมีโรงเรียนประถมศึกษาประจำอะทอลล์คือโรงเรียนเกาไมเล ครัวเรือนในนานูเมอาตั้งอยู่อย่างกระจัดกระจายจากลากูนด้านหนึ่งสู่อีกด้านหนึ่ง เกาะเล็กขนาดใหญ่ 2 เกาะ ได้แก่ นานูเมอาและลาเกนาครอบคลุมพื้นที่แห้งร้อยละ 90 ของพื้นที่ทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีเกาะเล็กขนาดเล็กอีก 3 เกาะ ได้แก่ เตโมตูโฟลีกี ลาโฟงากีและเตอาตัวอาตาเอโปอา หลุมปลูกปูลากา (กลีชนิดหนึ่ง) ตั้งอยู่ที่ลาเกนา เนื่องจากชาวนานูเมอาต้องการให้พื้นที่นานูเมอาปราศจากยุง การปลูกปูลากาจะทำในหลุมขนาดใหญ่ที่มีดินปุ๋ยหมัก โดยให้พื้นที่หลุมอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำ[4] ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2015 นานูเมอาได้รับผลกระทบจากไซโคลนปาม ทำให้บ้านเรือน พืชการเกษตรและโครงสร้างพื้นฐานได้รับความเสียหาย[5][6] ภาษาและวัฒนธรรมชาวนานูเมอาเป็นส่วนหนึ่งของชาวพอลินีเซีย ภาษาย่อยนานูเมอาซึ่งเป็นภาษาย่อยของภาษาตูวาลูมีความใกล้ชิดกับกลุ่มภาษาพอลินีเซียตะวันตกอื่น ๆ ซึ่งรวมถึง ภาษาตองงา ภาษาโทเคอเลา ภาษาซามัวและภาษาในบริเวณพอลินีเซียเอาท์ไลเออร์ แม้ว่าชุมชนทั้งแปดของตูวาลูจะมีสำเนียงและคำศัพท์เฉพาะ ทว่าภาษาย่อยต่าง ๆ ของตูวาลูนั้นสามารถพูดแล้วเข้าใจร่วมกันได้ ยกเว้นภาษาของชาวนูอี ซึ่งเป็นชุมชนที่มีการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มที่พูดภาษากิลเบิร์ต แหล่งข้อมูลอื่น
อ้างอิง
|
Portal di Ensiklopedia Dunia