นกหัวโตทรายใหญ่
![]() นกหัวโตทรายใหญ่ (Charadrius leschenaultii ) เป็นนกชายเลนในสกุลนกหัวโต และเป็นนกอพยพในกลุ่มที่ผลัดขนในฤดูผสมพันธุ์ และมีความแตกต่างระหว่างเพศในฤดูผสมพันธุ์ โดยฤดูผสมพันธุ์มีถิ่นอาศัยบริเวณกึ่งทะเลทรายในประเทศตุรกี ต่อเนื่องถึงเอเชียกลาง ส่วนฤดูหนาวจะอพยพมาทางเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[2] สำหรับในประเทศไทย พบได้ในแหล่งน้ำใกล้ป่าชายเลน ทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามันช่วงประมาณเดือน พฤศจิกายน ถึง มกราคม ชื่อสกุล Charadrius เป็นคำในภาษาละตินยุคปลายซึ่งกล่าวถึง นกสีค่อนข้างเหลือง ในพระคัมภีร์วัลเกต ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 4 ซึ่งกลายมาจากคำในภาษากรีกโบราณว่า คาราดริออส (กรีกโบราณ: Χαραδριος) ซึ่งหมายถึงผู้อยู่ในร่องธาร ชื่อชนิดทางวิทยาศาสตร์ leschenaultii นำมาจากชื่อของบุคคลคือ Jean Baptiste Leschenault de la Tour (ค.ศ. 1773-1826)[3] นักพฤกษศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ผู้พบและจำแนกชนิดได้ครั้งแรก ที่เมืองพอนดิเชอร์รี ในประเทศอินเดีย นกหัวโตทรายใหญ่ เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ในข้อตกลงเกี่ยวกับการอนุรักษ์นกน้ำอพยพแอฟริกัน-ยูเรเชีย (The Agreement on the Conservation of African-Eurasian Migratory Waterbirds; AEWA) อนุกรมวิธานชนิดพันธุ์นี้มักจะแบ่งออกเป็นสามชนิดย่อย ที่มีการกระจายดังต่อไปนี้:
ลักษณะทางกายภาพนกหัวโตทรายใหญ่ มีลักษณะโดยทั่วไปเหมือนกับนกชนิดอื่นในสกุลนกหัวโตเล็ก โดยลักษณะพิเศษประจำพันธุ์คือ เป็นนกขนาดเล็ก ความยาวจากปลายปากจรดปลายหาง ยาว 19-22 เซนติเมตร[4] คล้ายนกหัวโตทรายเล็ก แต่ ตัวโตกว่าเล็กน้อย ปากมีสีดำ สันขากรรไกรบน ยาวมากกว่า 2 ซม. ขาและนิ้วสีเทาออกเขียว หรือ ออกเหลือง โดยขาท่อนบน ยาวเท่ากับ หรือเกือบเท่ากับขาท่อนล่าง ขนคลุมลำตัวด้านบนมีสีน้ำตาล ขนคลุมหน้าผากจะมีสีน้ำตาลอ่อน และมีขีดคล้ายคิ้วสีขาวลากเหนือตาไปถึงตอนบนของขนคลุมหู มีแถบสีน้ำตาลลากจากโคนปาก ลากผ่านใต้ตาไปจนถึงขนคลุมหู หน้าอกมีแถบคาดอกสีน้ำตาล แต่ไม่ต่อกันตรงกลาง ด้านล่าง ใต้คอถึงอกตอนบน และ ท้องลงไปจนถึงขนคลุมใต้หาง สีขาว ปีกมีสีน้ำตาล แต่ขนปลายปีกจะมีสีดำ ขณะบินจะเห็นแถบสีขาวที่ปีกเช่นเดียวกับนกหัวโตทรายเล็ก แต่แถบจะใหญ่และชัดกว่า ในตอนต้นฤดูผสมพันธุ์ นกตัวผู้จะมีการผลัดขนหน้าผากเป็นสีดำ และมีแต้มสีขาวล้อมรอบด้วยเส้นสีดำ แถบคาดตาสีขาว กระหม่อมและคอด้านบนสีน้ำตาลแดง ใต้คอและคอตอนล่างสีขาว อกสีแถบสีน้ำตาลแดง แต่ตอนกลางฤดูผสมพันธุ์จะมองไม่เห็นแต้มสีขาวที่หน้าผาก แต่กระหม่อม หน้าผาก และ แถบคาดอก จะเป็นสีส้ม หรือ น้ำตาลแดงเข้มชัดเจน แถบคาดอกจะต่อเป็นแถบเดียวกัน นิสัยประจำพันธุ์พบการรวมฝูงเป็นฝูงขนาดเล็กหรือกลาง ตั้งแต่ 2-50 ตัว แต่อาจพบการสะสมฝูงได้ถึง 1,000 ตัวในจุดแวะพัก[1] หากินในช่วงน้ำลงทั้งกลางวันและกลางคืน บินได้ดีมากและเร็ว เมื่อถูกรบกวนจะบินหนีในทันที อาจหากินอยู่รวมกับนกชายเลนอื่น ๆ โดยเฉพาะนกหัวโตทรายเล็ก ส่วนอาหาร ได้แก่ แมลง ตัวหนอน สัตว์น้ำต่าง ๆ เช่น หอย ปู ปลา กุ้ง บางครั้งกินผล ยอด และต้นอ่อนของพืชที่ขึ้นในน้ำเค็มบางชนิด กินอาหารด้วยการวิ่งในระยะทางที่สั้น ๆ และหยุด แล้วเก็บอาหารด้วยปากแทนที่จะใช้เทคนิคการจับเหยื่อแบบทั่วไป ทำรังอยู่บนพื้นโดยตรง โดยวางไข่หนึ่งครั้งต่อฤดูการผสมพันธุ์ โดยมากมักจะมี 3 ฟองโดยวางบนพื้นในหลุมที่ขุดขึ้น ไข่จะถูกฟักเป็นเวลา 24 วันโดยเฉลี่ย ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะคอยดูแลตัวรังด้วยกัน[5] อ้างอิง
บรรณานุกรม
แหล่งข้อมูลอื่นวิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ นกหัวโตทรายใหญ่
|
Portal di Ensiklopedia Dunia