ซีอุย
ซีอุย (จีน: 細偉; พินอิน: Xì wěi; พ.ศ. 2470 – 16 กันยายน พ.ศ. 2502) เป็นชื่อของชาวจีนที่ถูกประหารชีวิตฐานฆ่าเด็ก เขาถูกจับกุมฐานฆ่าเด็กชายสมบูรณ์ บุญยกาญจน์ที่จังหวัดระยองในปี 2501 ต่อมาตำรวจสืบสวนจนได้คำรับสารภาพจากซีอุยว่าก่อคดีอีกอย่างน้อย 6 คดีในช่วงปี พ.ศ. 2497–2501 แบ่งเป็นที่ประจวบคีรีขันธ์ 4 คดี กรุงเทพมหานครและนครปฐมแห่งละ 1 คดี ศาลอุทธรณ์ตัดสินประหารชีวิตเฉพาะคดีฆ่าเด็กชายสมบูรณ์บุญยกาญจน์ อย่างไรก็ดี สื่อมวลชนในขณะนั้นเขียนว่าศพในคดีที่ซีอุยรับสารภาพมีการหั่นศพและอวัยวะภายในหายไป ทำให้มีข่าวว่าซีอุยเป็นมนุษย์กินคน ต่อมาผู้ใหญ่มักขู่เด็กว่า "ซีอุยจะมากินตับ" เพื่อให้อยู่ในโอวาท[2] ศพของซีอุยเดิมถูกเก็บไว้ที่โรงพยาบาลศิริราช ภายในพิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ สงกรานต์ นิยมเสน ซึ่งมีชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า "พิพิธภัณฑ์ซีอุย"[3][2] มีการนำชีวิตของเขามาสร้างเป็นละครโทรทัศน์รวมถึงภาพยนตร์ในภายหลัง พ.ศ. 2562 มีกระแสเรียกร้องทางอินเทอร์เน็ตให้มีการนำศพซีอุยออกจากโรงพยาบาลศิริราช เพราะเห็นว่าซีอุยไม่ใช่ฆาตกรตัวจริงของเหยื่อทั้งหมด[4] รวมถึงมีการรณรงค์ทาง change.org เพื่อนำศพออกจากที่จัดแสดง[5] โรงพยาบาลศิริราชได้ประกาศตามหาญาติซีอุยเพื่อจัดการศพ[6] สุดท้ายมีการฌาปณกิจใน พ.ศ. 2563[7] ประวัติชีวประวัติของซีอุยได้มาจากคำให้การต่อตำรวจผ่านล่ามหลังถูกจับในคดีฆ่าเด็กเมื่อปี 2501[1] ปฐมวัยซีอุย มีชื่อจริงว่า หลีอุย แซ่อึ้ง (จีน: 黃利輝; พินอิน: Huáng Lìhuī) แต่คนไทยเรียกเพี้ยนเป็น ซีอุย เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2470 ตำบลฮุนไหล จังหวัดซัวเถา ประเทศจีน[8] โดยเป็นลูกคนสุดท้องจากจำนวนพี่น้องทั้งหมด 4 คน ของนายฮุนฮ้อกับนางไป๋ติ้ง แซ่อึ้ง[8] ครอบครัวมีอาชีพทำไร่ และมีฐานะยากจน เขาตระเวนตามที่ต่าง ๆ อยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง มักถูกเด็กด้วยกันทำร้ายและเอาเปรียบจนเกิดความแค้นในใจ[8] หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ ลงว่า ซีอุยวัยเด็กไปพบกับนักบวชรูปหนึ่งที่แนะนำให้เขากินหัวใจและตับมนุษย์เพื่อให้มีพละกำลัง ทำให้เขาหันมาฆ่าสัตว์เพื่อกินเนื้อดิบโดยเฉพาะเครื่องในนับแต่นั้น[8] ซีอุยวัย 18 ปี ถูกเกณท์ทหารที่มณฑลเอ้หมึง ในสงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง ระหว่างสงครามมีครั้งหนึ่งซีอุยตกอยู่ในวงล้อมญี่ปุ่นพร้อมกับทหารจีนคนอื่น เมื่อเสบียงเริ่มหมดลง ซีอุยใช้มีดกรีดศพเพื่อนทหารเพื่อควักหัวใจ ตับและไส้ออกมาต้มกิน[8] หลังสงครามยุติ บ้างว่าซีอุยกลับบ้านเกิดที่ซัวเถา แต่ด้วยมีฐานะยากจน จึงพยายามดิ้นร้นเพื่อย้ายเข้ามาทำงานในประเทศไทย บ้างว่าต่อมาเพื่อนทหารรุ่นเดียวกันชวนซีอุยสมัครเข้าทำงานกับบริษัทเดินเรือทะเล ทำได้อยู่ปีเศษ ก็ลอบหนีเข้าประเทศไทยตามเพื่อน[9] บ้างก็ว่าซีอุยถูกเกณฑ์ไปรบกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนอีก จึงหนีทหารเข้ามาในประเทศไทย[10] ย้ายเข้าประเทศไทยก่อนจะหนีเข้ามาประเทศไทย ในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2489 ทางเรือโปรดิว[8] เมื่อซีอุยขึ้นฝั่งประเทศไทย ก็ถูกกักตัวอยู่ที่กองตรวจคนเข้าเมือง 10 วัน ก่อนที่นายทินกี่ แซ่อึ้ง จะมารับรองออกไปได้[8] จากนั้นก็พักอยู่จังหวัดพระนครที่โรงแรมเทียนจิน ตรอกเทียนกัวเทียน ประมาณ 5-6 วัน ก่อนจะเดินทางไปทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตรงกับคำให้การวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2501 ยืนยันว่า "มาอยู่เมืองไทยครั้งแรกที่ตำบลทับสะแก ประจวบคีรีขันธ์"[8] หลังจากนั้นซีอุยก็เดินทางไปมาทำงานรับจ้างอยู่หลายที่ ก็ย้ายที่อยู่ไปไม่มีหลักแหล่ง และยากที่จะจัดลำดับได้เนื่องจากคำให้การแต่ละครั้ง ซีอุยระบุชื่อเจ้าของบ้านที่ไปพักไม่ค่อยตรงกัน และมักจะเป็นการอยู่ชั่วคราวสั้นๆ ขึ้นอยู่กับอายุงาน[8] ในระยะ 8 ปีแรกที่พำนักในประเทศไทย ซีอุยไม่ได้ก่อคดีร้ายแรงใด ๆ นอกจากคดีทะเลาะวิวาทบ้างเป็นบางครั้ง แต่เงื่อนงำที่สำคัญก็คือ เส้นทางและแหล่งพักพิงของซีอุย ตรงสถานที่เกิดเหตุของคดีทั้ง 7 อย่างเหลือเชื่อ คือ ประจวบคีรีขันธ์ 5 คดี กรุงเทพฯ นครปฐม และระยอง แห่งละ 1 คดี[8] การก่อคดีฆาตกรรมซีอุยถูกจับขณะกำลังพยายามเผาทำลายศพเด็กชายสมบุญ บุญยกาญจน์ เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2501 นาวา บิดาของเด็กชายสมบุญ เคยให้สัมภาษณ์ว่า "ตอนเห็นศพลูกชายนอนจมกองเลือดอยู่อย่างน่าอเนจอนาถ มีฟางกลบยังไม่ทั่วตัว เท่าที่รู้เขากำลังจะเผาลูกชายผม [...] ผมระงับอารมณ์ไม่อยู่ ผมเข้าไปรุมสกรัมฆาตกรโดยไม่ฟังเสียงอะไรทั้งสิ้น ถึงขนาดที่ว่ารองเท้าบูตยางเต็มไปด้วยเลือด"[8] ซีอุยถูกจับได้พร้อมกับหลักฐานอวัยวะในถ้วยชาม แต่แพทย์ไม่ได้ยืนยันว่าเป็นของมนุษย์ หลังถูกจับได้ สื่อเผยแพร่ภาพเขาหาวอ้าปากกว้างโดยนำไปสร้างความสยดสยอง[11] บันทึกคำให้การซีอุยถูกจับในคดีเด็กชายสมบุญ ที่ระยอง คดีดังกล่าวถูกเชื่อมโยงเข้าคดีเก่าอีก 2 คดี คือ คดีฆาตกรรมที่สถานีรถไฟสวนจิตรลดา เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2489 ที่จังหวัดพระนคร และคดีฆาตกรรมที่องค์พระปฐมเจดีย์ ที่นครปฐม เมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2500 โดยรูปแบบและการฆาตกรรมลักษณะเดียวกัน ตำรวจจึงมุ่งเป้าไปที่ซีอุย ซีอุยถูกนำตัวมาสอบสวนตั้งแต่คืนวันที่ 27 มกราคม 2501 มีการบันทึกคำเป็นหลักฐานลงในวันที่ 30 มกราคม เนื่องจากซีอุยพูดและอ่านเขียนไทยไม่ได้การสอบสวนแต่ละครั้งจึงมีล่ามจีนอยู่เสมอ เนื้อหาของบันทึกปากคำฉบับวันที่ 30 มกราคม มี 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ ยอมรับคดีที่ระยอง และปฏิเสธข้อกล่าวหาคดีพระนครและคดีนครปฐม ซีอุยยอมรับคดีที่ระยองว่าเป็นการกระทำผิดครั้งแรก[8] โดยกล่าวนัยว่า "ไม่เคยฆ่าคนเพื่อจะเอาตับและหัวใจมากินเลย"[12] และคดีที่กรุงเทพ ซีอุยได้กล่าวทำนองว่า "ที่กรุงเทพฯ ข้าฯ เคยได้ยินคนพูดกันว่ามีคนฆ่าเด็กแล้วเอาสมอง เมื่อประมาณ ๑ ปีเศษๆ ขณะนั้น ข้าฯ พักอยู่จังหวัดพระนคร โดยอยู่บ้านนายบักเทียม แซ่ไล้ แต่ข้าฯ ไม่ได้ไปดู” และซีอุยยังให้การปฏิเสธในบันทึกปากคำครั้งนี้ “การฆ่าเด็กรายนี้ ข้าฯ ไม่ได้ทำร้าย ใครทำร้าย ข้าฯ ไม่ทราบ… " และ "ในการที่มีคนฆ่าเด็กแล้วผ่าท้องที่นครปฐมนั้นทราบข่าวเหมือนกัน โดยขณะนั้นอยู่ที่จังหวัดนครปฐม โดย ข้าฯ ค้างที่นครปฐม ๑ คืน [...] ได้ยินชาวบ้านพูดกัน แต่ไม่ได้ไปดูเพราะรอรถไฟด่วนจะกลับทับสะแก แต่ใครจะเป็นคนฆ่า ข้าฯ ไม่ทราบ…"[12] รายชื่อผู้เสียหายที่รับสารภาพตำรวจได้คำรับสารภาพจากซีอุยในคดีฆ่าเด็กทั้งหมด 7 คน ดังนี้[9][12]
อย่างไรก็ดี ศาลอุทธรณ์พิพากษาประหารชีวิตเฉพาะคดีฆ่าเด็กชายสมบุญ บุญยกาญจน์ ซึ่งซีอุยถูกจับได้ในที่เกิดเหตุเท่านั้น การพิจารณาและคำพิพากษาเริ่มการพิจารณาคดีซีอุยเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2501 เขารับสารภาพทุกข้อกล่าวหา มีน้องของผู้เสียหายที่มีอายุ 6 ขวบให้การว่าเห็นเขาพาน้องสาวจากงานตรุษจีนในไชนาทาวน์ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2497 ซึ่งเป็นคืนก่อนพบศพเธอ[1] การพิจารณาคดีเขากินเวลา 9 วัน ศาลชั้นต้นพิพากษาประหารชีวิต แต่ลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิตเพราะจำเลยยอมรับสารภาพ แต่ตำรวจอุทธรณ์เพราะเห็นว่ามีหลักฐานเพียงพอ[1] เขาจึงถูกศาลอุทธรณ์ตัดสินให้ประหารชีวิต ซีอุยถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2502 เวลา 6.13 น.[10] โดยเพชฌฆาตเพี้ยน คนแรงดี[13][14] และหลังจากถูกประหารชีวิต ศพของซีอุยถูกนำมาดองเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ ภายในโรงพยาบาลศิริราชนับแต่นั้น สิ่งสืบเนื่องร่างศพศาสตราจารย์นายแพทย์สงกรานต์ นิยมเสน หัวหน้าภาควิชานิติเวชศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช ขอรับศพซีอุยมาผ่าตรวจสมอง ส่วนร่างถูกเก็บรักษาในลักษณะดองแห้งโดยการฉีดฟอร์มาลินเข้าหลอดเลือด แช่น้ำยารักษาทั้งร่างไว้ 1 ปี และทำการทาขี้ผึ้งทุก ๆ 2 ปี เพื่อป้องกันเชื้อรา ร่างของซีอุยยังถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราช ("พิพิธภัณฑ์ซีอุย") หลังจากนั้นคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้รับมอบร่างนายซีอุยมาจัดแสดง โดยเขียนข้อความว่า "นายซีอุย แซ่อึ้ง (มนุษย์กินคน)"[10] ศาสตราจารย์พิเศษ นายแพทย์สรรใจ แสงวิเชียร อดีตหัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ให้สัมภาษณ์กับไทยรัฐออนไลน์ไว้เมื่อปี พ.ศ. 2552 ว่า "ถ้าอาจารย์หมอสงกรานต์ไม่ขอมาไว้ที่นี่ ก็จะไม่มีใครทำบุญให้เขาเลย มาอยู่ที่นี่มีการทำบุญให้อาจารย์ใหญ่ทุกปี อวัยวะ ร่าง โครงกระดูกทุกชิ้นถือเป็นอาจารย์ใหญ่"[10] วันที่ 31 พฤษภาคม 2562 มีข่าวว่าโรงพยาบาลศิริราชปลดป้าย "มนุษย์กินคน" ออกไปแล้ว พร้อมทั้งเตรียมจัดทำบอร์ดให้ความรู้แก่สาธารณะเกี่ยวกับคดี[15] ด้านฟาโรห์ จักรภัทรานน เจ้าของเว็บไซต์ Change.org ที่รณรงค์เรื่องซีอุย ให้สัมภาษณ์ว่า อยากให้ฌาปณกิจร่าง แล้วอาจจะนำหุ่นขี้ผึ้งมาจัดแสดงแทน และมีความเห็นว่า "ไม่ได้ตัดสินว่าซีอุยไม่ได้เป็นมนุษย์กินคน แต่อยากให้ประชาชนที่มาอ่านข้อมูลได้ตัดสินเองว่าซีอุยเป็นมนุษย์กินคนหรือไม่"[16] วันที่ 23 กรกฎาคม 2563 คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ร่วมกับกรมราชทัณฑ์ทำพิธีฌาปนกิจร่างนายซีอุย แซ่อึ้ง[17][18] พร้อมกับร้อยเอก คง สุเพือน อดีตนายทหารผ่านศึกชาวกัมพูชาซึ่งถูกประหารชีวิตในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2545 จากคดีฆาตกรรมตัวประกันที่จับไปเรียกค่าไถ่ที่บริเวณป่าใกล้กับช่องโชคเมื่อปีพ.ศ. 2539 โดยร่างของทั้งสองถูกฌาปนกิจที่วัดบางแพรกใต้ จังหวัดนนทบุรี[19] วัฒนธรรมร่วมสมัย
รวมถึงในวงการมวยไทย มีนักมวยไทยใช้ชื่อ ซีอุย ส.สุนันท์ชัย ในการขึ้นชก[20] ดูเพิ่มอ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น |
Portal di Ensiklopedia Dunia