ชาตรี
ชาตรี เป็นวงดนตรีเพลงโฟล์กที่มีชื่อเสียงในประเทศไทย ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2517 โดยเป็นนักศึกษาของแผนกวิชาการถ่ายภาพและภาพยนตร์ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพ (ปัจจุบัน คือ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาเทคโนโลยีการถ่ายภาพและภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ) มีสมาชิก 3 คน คือ นราธิป กาญจนวัฒน์, ประเทือง อุดมกิจนุภาพ (ภายหลังเปลี่ยนนามสกุลเป็น "อุดมธนาวัฒน์") และคทาวุธ สท้านไตรภพ ทั้งสามคนเล่นกีตาร์โปร่ง ต่อมาได้ชักชวนอนุสรณ์ คำเกษม เพื่อนร่วมห้องอีกคนหนึ่งมาเล่นในตำแหน่งกลอง และหลังจากออกผลงานมาได้ 4 ชุด ก็ได้ประยูร เมธีธรรมนาถ มาเล่นในตำแหน่งคีย์บอร์ด ในส่วนชื่อของ "ชาตรี" มาจากชื่อหนังสือพระเครื่องของ ประชุม กาญจนวัฒน์ (บิดาของนราธิป) ประวัติวงชาตรีหลังจากเริ่มรวมวงก็ได้แสดงครั้งแรกในงานเลี้ยงต้อนรับน้องใหม่ของแผนกช่างภาพ ต่อมาได้แสดงในหอประชุมใหญ่ ของวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ และเข้าร่วมแข่งขันการประกวด วงโฟล์คซอง จากนั้นทางวงรวบรวมเงินกันซื้อกลองเก่ามาหนึ่งชุด ซึ่งสมาชิกทุกคนในวง ต้องช่วยกันขนกลองจากบ้านของ อนุสรณ์ ที่มีนบุรี และขึ้นรถเมล์ไปวิทยาลัยเพื่อฝึกซ้อมดนตรีในช่วงเย็น ต่อมาวงชาตรีมีโอกาสบันทึกเสียงครั้งแรกทางรายการวิทยุ "120 นาที มัลติเพล็กซ์" โดยการชักชวนของครูไพบูลย์ ศุภวารี หนึ่งในกรรมการตัดสินงานประกวดโฟล์คซอง ซึ่งเห็นความสามารถ และทางวงก็ได้บันทึกแผ่นเสียงผลงานชุดแรกชื่อ จากไปลอนดอน ในปี พ.ศ. 2518 ซึ่งประสบความสำเร็จในระดับ และได้ออกผลงานถัดมาชุดที่สอง แฟนฉัน ในปี พ.ศ. 2519 อัลบั้มชุดนี้ทำให้วงชาตรีเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ทั้งสองชุดอยู่ในสังกัด เมโทร แผ่นเสียง-เทป ในปี พ.ศ. 2520 ถึง พ.ศ. 2521 วงชาตรีได้ทำดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่อง สวัสดีคุณครู ที่กำกับโดยพันคำ นำแสดงโดย สุเชาว์ พงษ์วิไล และ จารุณี สุขสวัสดิ์ จากนั้นได้ทำเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง รักแล้วรอหน่อย กำกับโดยพันคำ นำแสดงโดย สรพงศ์ ชาตรี และ จารุณี สุขสวัสดิ์ ต่อมาได้ทำเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง ครูขา..หนูเหงา กำกับโดยพันคำ นำแสดงโดย สมบัติ เมทะนี และ จารุณี สุขสวัสดิ์ และทำเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง จ๊ะเอ๋เบบี้ กำกับโดยพจน์ ศิริพันธ์ นำแสดงโดย สมบัติ เมทะนี และ ลลนา สุลาวัลย์ ระหว่างนั้นวงชาตรีทำผลงานชุดที่สาม หลงรัก ซึ่งผลงานเพลงบางส่วนในอัลบั้มเป็นเพลงที่ ชาตรี ศรีชล แต่งขึ้นมาใหม่ แม้ผลงานชุดนี้จะบันทึกเสียงก่อนแต่ได้วางจำหน่ายหลังชุด ฝนตกแดดออก ซึ่งทั้งสองชุดก็วางจำหน่ายในปี พ.ศ. 2521 ถัดมาก็ออกผลงานชุดที่สี่ ฝนตกแดดออก ที่ได้ออกจำหน่ายก่อนชุด หลงรัก และต่อมาเพลง ฝนตกแดดออก ก็ได้เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง ฝนตกแดดออก กำกับโดยชาลี อินทรวิจิตร นำแสดงโดยสรพงศ์ ชาตรี, ลลนา สุลาวัลย์ และ เศรษฐา ศิระฉายา ซึ่งฉายในปี พ.ศ. 2523 ต่อมาวงชาตรีเพิ่มตำแหน่งนักดนตรีคีย์บอร์ด โดยได้ประยูร ซึ่งทำระบบเสียงให้กับวงมาเล่นให้ และในปี พ.ศ. 2522 ได้ทำเพลงประกอบละครเรื่อง นางสาวทองสร้อย ของทางช่อง 9 นำแสดงโดย อัศวิน รัตนประภา และ เนาวรัตน์ ซื่อสัตย์ จากนั้นออกผลงานชุด รัก 10 แบบ เป็นอัลบั้มแรกในสังกัด EMI ในปี พ.ศ. 2523 ก็มีผลงานชุด ชีวิตใหม่ โดยเกิดขึ้นเมื่อทางวงได้เข้าไปเยี่ยมชมสำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก และได้แต่งเพลงชื่อ หลงผิด มีเนื้อหาเกี่ยวกับผู้ติดยาเสพติด จากนั้นได้ทำเพลงประกอบละครเรื่อง ชื่นจิตพเนจร ของทางช่อง 9 นำแสดงโดย อัศวิน รัตนประภา และ เนาวรัตน์ ซื่อสัตย์ ภายหลังก็นำรายได้จากผลงานชุดนี้มอบให้กับสำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก และก็ยังได้รับรางวัล "ศิลปินผู้ทำผลงานดีเด่นแก่เยาวชนประจำปี 2524" และปลายปีได้ออกผลงานชุด รักครั้งแรก ซึ่งเป็นอัลบั้มที่ทำยอดขายได้หนึ่งล้านตลับ ทำให้วงชาตรีโด่งดังในวงกว้างมากที่สุด และในปี พ.ศ. 2524 ได้ออกผลงานชุด สัญญาใจ โดยเพลง สัญญาใจ เป็นเพลงที่ระลึกในโอกาสที่ ประเทือง สมาชิกวง กำลังจะเข้าพิธีแต่งงาน ในปี พ.ศ. 2525 ได้ออกผลงานชุด ชะตารัก โดยที่วงชาตรีได้ส่ง คทาวุธ ไปบันทึกเสียงเพลง ที่ประเทศฮ่องกงด้วยตัวคนเดียว ซึ่งอัลบั้มชุดนี้ได้ คริส บาบีด้า เป็นผู้ทำดนตรีให้ ต่อมาในวันที่ 11 เมษายน วงชาตรีได้เปิดการแสดงสดครั้งใหญ่ที่โรงแรมดุสิตธานี โดยได้วงพิงค์แพนเตอร์ มาบรรเลงแบ็คอัพ และออกผลงานบันทึกการแสดงสด ชาตรีอินคอนเสิร์ต ตามด้วยชุด รักไม่เป็น ซึ่งได้ วิชัย ปุญญะยันต์ (ต๋อย พิงค์แพนเตอร์) เป็นผู้ทำดนตรีให้ และยังได้รับรางวัล "ตุ๊กตาทองมหาชน" จากเพลง ภาษาเงิน ในปี พ.ศ. 2526 ก็มีผลงานชุดใหม่ รักที่เธอลืม ซึ่งมีเพลง วันรอคอย และ ใต้ร่มเย็น ประพันธ์โดยพลเอกหาญ ลีลานนท์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้น โดยเนื้อหากล่าวให้คนไทยมีความสามัคคีและรักชาติ หลังจากชุดนี้วงชาตรีได้จัดตั้งกิจกรรม ชาตรีแฟนคลับรุ่น 1 ขึ้นมา เพื่อติดต่อพูดคุยระหว่างวงชาตรีและแฟนเพลงและยังได้ทำเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง กำนันสาว กำกับโดยพันคำ นำแสดงโดย ทูน หิรัญทรัพย์ และ จารุณี สุขสวัสดิ์ ต่อมาในวันที่ 20 มีนาคม วงชาตรีได้มีโอกาส แสดงสดในรายการโลกดนตรี ซึ่งแสดงในลานกว้างเป็นครั้งแรก จากนั้นได้ออกผลงานชุดถัดมาชื่อ แอบรัก โดยได้บันทึกเสียงที่ห้องบันทึกเสียงชาตรี ซึ่งตั้งชื่อเป็นเกียรติให้กับทางวง และในปี พ.ศ. 2527 ก็ได้ออกผลงานชุด ชาตรีทศวรรษ ในโอกาสครบรอบ 10 ปีวงชาตรี ซึ่งได้ โทนี่ อากีล่า (บิดาของ คริสติน่า อากีล่า) เป็นผู้ทำดนตรีให้ และผลงานชุดที่ 15 ชุดสุดท้ายของวง วางจำหน่ายเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 ในชื่อชุด อธิษฐานรัก โดยคอนเสิร์ตครั้งสุดท้ายของพวกเขาได้จัดขึ้นที่รายการโลกดนตรีเมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2528 และ นราธิป ได้ประกาศยุบวงในวันนั้น นับตั้งแต่อยู่สังกัด EMI ผลงานเกือบทุกชุดของวงชาตรี จะมียอดจำหน่ายเกินหนึ่งแสนตลับ ทำให้วงชาตรีมักจะได้รับรางวัล "แผ่นเสียงทองคำขาว" แทบทุกครั้ง อัลบั้มแรกที่ได้รับคือชุด รัก 10 แบบ หลังจากยุบวงไป วงชาตรีก็ยังมีผลงานบางชุดออกวางจำหน่าย โดยเป็นรูปแบบอัลบั้มรวมเพลงฮิตแต่มีการทำดนตรีขึ้นมาใหม่ เช่น อมตะชาตรี นันสต๊อป, รักอีกครั้ง, ชาตรี Remix ฯลฯ รวมทั้งสองสมาชิกหลักอย่าง นราธิปและคทาวุธ ก็ยังมีอัลบั้มเดี่ยวของตัวเองออกมา และในปี พ.ศ. 2532 นราธิปก็ได้ออกบวชครองผ้าเหลืองยาวนานหลายปี จนสึกในปี พ.ศ. 2548 หลังจากห่างหายไปนานกว่า 20 ปี วงชาตรีก็ได้กลับมารวมตัวกันใหม่อีกครั้ง เพื่อให้แฟนคลับหายคิดถึง และได้จัดคอนเสิร์ต 33 ปี ชาตรี The Memory Concert ในวันที่ 10-11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 ณ อิมแพค อารีน่า เมืองทองธานี ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2551 ถึง พ.ศ. 2556 ก็ยังมีการรวมตัวกันตามงานคอนเสิร์ตต่าง ๆ จนกระทั่งมีการประกาศแยกตัวและแยกวงกันในปี พ.ศ. 2563 ผลงานอัลบั้มวงชาตรี
นราธิป กาญจนวัฒน์
คทาวุธ สท้านไตรภพ
ประเทือง อุดมธนาวัฒน์
อัลบั้มรวมเพลง
เพลงพิเศษ
แสดงภาพยนตร์
เพลงประกอบภาพยนตร์
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น |
Portal di Ensiklopedia Dunia