คำสั่งผู้บังคับบัญชาคำสั่งผู้บังคับบัญชา (อังกฤษ: Superior orders) หรือเรียก ข้อต่อสู้เนือร์นแบร์ก (อังกฤษ: Nuremberg defense) หรือ แค่ทำตามสั่ง (อังกฤษ: just following orders) เป็นคำให้การแก้ฟ้องในศาลว่าบุคคล ไม่ว่าเป็นสมาชิกกองทัพ หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย หรือพลเรือนก็ตาม ไม่ควรถือว่ามีความผิดจากการลงมือปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา[1][2] คำสั่งผู้บังคับบัญชามักถือเป็นส่วนประกอบของหลักความรับผิดทางอาญาของผู้บังคับบัญชา (command responsibility)[3] การใช้คำให้การแก้ฟ้องดังกล่าวที่มีชื่อเสียงมากที่สุดครั้งหนึ่ง ได้แก่ คำให้การแก้ฟ้องของผู้ถูกกล่าวหาในการพิจารณาคดีเนือร์นแบร์ก ค.ศ. 1945–1946 ดังนั้นจึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ข้อต่อสู้เนือร์นแบร์ก" คดีนี้เป็นคดีที่ฝ่ายสัมพันธมิตรผู้ชนะสงครามโลกครั้งที่สองดำเนินคดีต่อผู้นำการเมือง ทหารและเศรษฐกิจของนาซีเยอรมนี การพิจารณาคดีเหล่านี้ภายใต้กฎบัตรกรุงลอนดอนว่าด้วยคณะตุลาการทหารระหว่างประเทศที่จัดการพิจารณาคดีขึ้น ตัดสินว่าข้อต่อสู้เรื่องคำสั่งผู้บังคับบัญชาไม่เพียงพอทำให้หลบเลี่ยงการลงโทษได้ เพียงแต่อาจบรรเทาบทลงโทษได้เท่านั้น[4] อย่างไรก็ดี คำให้การแก้ฟ้องเรื่องคำสั่งผู้บังคับบัญชานี้มีใช้กันมาตั้งแต่ก่อนการพิจารณาคดีเนือร์นแบร์ก และศาลก็วินิจฉัยไว้ไม่ตรงกัน คือมีทั้งที่ถูกตัดสินว่าผิดและไม่ผิด อ้างอิง
|
Portal di Ensiklopedia Dunia