คณะที่ปรึกษาทางการทหารสหรัฐ ประจำประเทศไทย
คณะที่ปรึกษาทางการทหารสหรัฐ ประจำประเทศไทย (อังกฤษ: Joint United States Military Advisory Group, Thailand: JUSMAGTHAI) หรือ จัสแมกไทย คือองค์กรความช่วยเหลือด้านความมั่นคงของกระทรวงกลาโหมสหรัฐในประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2496[1] ซึ่งหัวหน้าของจัสแมกไทยคือเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านกลาโหม (SDO) ของหน่วยบัญชาการทหารสหรัฐภาคอินโดแปซิฟิก (USPACOM)[2] และรับหน้าที่ผู้ช่วยทูตด้านกลาโหมประจำประเทศไทยของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย[2] ประวัติหลังจากการหยุดยิงในสงครามเกาหลีซึ่งไทยและสหรัฐได้ปฏิบัติการร่วมกันอย่างแข็งขันในสมรภูมินั้น ทำให้สหรัฐให้ความสนใจที่จะสนับสนุนด้านการทหารแก่ประเทศไทย[3] และได้ส่งคณะทูตทหารของสหรัฐเดินทางมาเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2493 เพื่อสำรวจความต้องการยุทโธปกรณ์และอุปกรณ์ต่าง ๆ นำกลับไปเป็นข้อมูลในการเพิ่มสมรรถนะของกองทัพไทย หลังจากคณะทูตได้สำรวจข้อมูลและเดินทางกลับประเทศแล้ว ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2493 คณะที่ปรึกษาให้ความช่วยเหลือของสหรัฐชุดแรกได้เดินทางเข้ามาประจำการในประเทศไทย ในฐานะของเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย และมีการลงนามในสัญญาความตกลงว่าด้วยการช่วยเหลือทางทหารของสหรัฐแก่ประเทศไทยในวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2493 โดยนายกรัฐมนตรีและเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยเป็นผู้ลงนาม ซึ่งจากสัญญาความตกลงดังกล่าว จึงได้มีการตั้งกองบัญชาการของสำนักงานที่ปรึกษาให้ความช่วยเหลือทางทหาร ประจำประเทศไทย (Military Assistance Advisory Group Thailand: MAAG Thailand) ขึ้นที่บริเวณมุมถนนสาทรในพื้นที่ของกองบัญชาการกองทัพไทย เขตสาทร กรุงเทพมหานคร[4] ถัดจากสถานเอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย อยู่ห่างจากสถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทยประมาณ 2 กิโลเมตร[5] จากนั้นประมาณเดือนมีนาคม พ.ศ. 2496 ได้เกิดเหตุการณ์เหวียตมิญได้บุกเข้ามาในประเทศลาว ทำให้สหรัฐถือว่าลัทธิคอมมิวนิสต์ได้แผ่ขยายขอบเขตเพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศไทยในขณะนั้น กองบังคับการของสำนักงานที่ปรึกษาให้ความช่วยเหลืองทางทหาร (MAAG) จึงได้ปรับรูปแบบของหน่วยงาน เป็นคณะที่ปรึกษาทางการทหารสหรัฐ (Joint United States Military Advisory Group: JUSMAG) เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2496 มีชื่อเต็ม ๆ ว่า คณะที่ปรึกษาทางการทหารสหรัฐ ประจำประเทศไทย เรียกย่อว่า จัสแมกไทย (JUSMAGTHAI) สำหรับให้การช่วยเหลือประเทศไทยได้คล่องตัวยิ่งขึ้นตามรูปแบบที่เคยใช้ในประเทศกรีซ โดยปรับโครงสร้างจนสมบูรณ์เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2479[4] ในปี พ.ศ. 2504 ได้เกิดวิกฤตการณ์ขึ้นอีกครั้งในประเทศลาว ทำให้ประเทศในโลกเสรีกลัวจะเกิดทฤษฎีโดมิโน[3] และมองว่าไทยนั้นเปรียบเสมือนรัฐกันชนของโลกเสรี ทำให้มีการเพิ่มเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้อาคารเดิมที่ปฏิบัติงานไม่เพียงพอจึงได้ทำการรื้อถอนและสร้างขึ้นใหม่และเปิดใช้งานอาคารเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2514 และใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน[4] ในช่วงจุดสูงสุดของสงครามเวียดนาม ผู้เชี่ยวชาญทางหทารของอเมริกาจำนวนมากได้รับคำสั่งให้มาประจำการเพื่อปฏิบัติหน้าที่ที่จัสแมกไทย ในกรุงเทพมหานคร โดยมีทหารสหรัฐประจำการในประเทศไทยมากถึง 45,000 นาย การดำเนินงานปัจจุบันจัสแมกไทยได้สนับสนุนภารกิจต่าง ๆ มากมาย รวมถึงโครงการฝึกซ้อมทางการทหารแบบทวิภาคีที่มีการฝึกร่วมกันประมาณ 40 ครั้งต่อปีซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาและฝึกทางทหารระหว่างประเทศ (The International Military Education and Training: IMET) อย่างเช่น การฝึกคอบร้าโกล์ดเป็นประจำทุกปี ซึ่งมีการฝึกร่วมกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 จนถึงปัจจุบัน นับเป็นการฝึกทางทหารที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีกำลังพลเข้าร่วมฝึกมากกว่า 13,000 นาย จาก 7 ประเทศ และมีผู้ร่วมสังเกตการณ์อีก 20 ประเทศ[1] จัสแมกไทยได้มีส่วนร่วมในการเตรียมกำลังของกองทัพไทยในการปฏิบัติการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติในกัมพูชา ติมอร์ตะวันออก อาเจะฮ์ และซูดาน รวมไปถึงปฏิบัติการต่อต้านโจรสลัดในอ่าวเอเดน และเป็นผู้สนับสนุนไทยในการเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาคในการบรรเทาสาธารณภัยและการบรรเทาทุกข์จากเหตุการณ์สึนามิในปี พ.ศ. 2547 เหตุการณ์พายุหมุนนาร์กิสในปี พ.ศ. 2551 แผ่นดินไหวในประเทศเนปาล พ.ศ. 2558 และประสานกองทัพสหรัฐในการจัดทีมช่วยเหลือกู้ภัยในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย[1] นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการดำเนินการโครงการขายทางทหารแก่ต่างประเทศ (FMS) ของสหรัฐ ภารกิจเก็บกู้ทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม และการปราบปรามยาเสพติด[5] การแทรงแซงประเทศไทยขบวนการนักศึกษาหลังจากการเคลื่อนไหว 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 มองว่าการมีอยู่ของจัสแมกเป็นการครอบงำประเทศไทย ทั้งในด้านของนโยบายต่างประเทศที่ไทยดำเนินตามสหรัฐมาตลอด โดยในปี พ.ศ. 2516 มีฐานทัพสหรัฐในประเทศไทยจำนวน 12 แห่งคือ อู่ตะเภา ตาคลี อุบลราชธานี อุดรธานี นครพนม น้ำพอง สัตหีบ ลพบุรี เขื่อนน้ำพุง โคราช และกาญจนบุรี มีศูนย์บัญชาการใหญ่คือหน่วยจัสแมกไทยที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร และใช้ประเทศไทยในการเป็นฐานของเครื่องบิน บี-52[6] ไปทิ้งระเบิดในประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว กัมพูชา และเวียดนาม และมีภารกิจโดยตรงในการส่งกำลังบำรุงให้ทหารสหรัฐในเวียดนาม ในทางเศรษฐกิจคือบริษัทข้ามชาติของสหรัฐมีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงมาก และการรับสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของฐานทัพอเมริกาในประเทศไทย จนมีกรณีการประหารชีวิต นายเทพ แก่นกล้า ซึ่งมีความผิดฐานยิงนายทหารสหรัฐเสียชีวิต โดยคดีไม่ผ่านกระบวนการพิจารณาในศาลไทยแต่อย่างใด ขบวนการนักศึกษาจึงมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นการทำให้ประเทศไทยไม่มีเอกสารสมบูรณ์และเรียกร้องให้ถอนทหารและฐานทัพสหรัฐออกจากประเทศ[7] ประเทศลาวจัสแมกไทยถูกระบุว่าเป็นผู้ดำเนินการฝึกอาวุธให้กับพระราชอาณาจักรลาวผ่านการประสานงานและส่งกำลังซีไอเอและตำรวจตระเวนชายแดน หน่วยตำรวจพลร่ม (PARU) ที่ได้รับการฝึกโดยใช้เงินทุนจากจัสแมกเข้าไปเป็นครูฝึกพร้อมกับปฏิบัติการ[8] เพื่อต่อต้านฝ่ายคอมมิวนิสต์คือฝ่ายปะเทดลาว[9] รวมไปถึงการจัดส่งเสบียงและยุทโธปกรณ์ให้กับกองทัพลาวในการต่อต้านคอมมิวนิสต์[10]หลังจากคณะที่ปรึกษาให้ความช่วยเหลืองทางทหาร ประจำประเทศลาว (MAAG Laos) ถูกยุบสำนักงานที่เวียงจันท์ลงและรวมเข้ากับจัสแมกไทย[11] โดยเปลี่ยนหน่วยงานดูแลในลาวเป็นหน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐ (USAID) ตามความตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยความเป็นกลางของลาว อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น |
Portal di Ensiklopedia Dunia