ขนมปังขิง
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ในภาษาไทย อาจเรียก ขนมขิง ว่า ขนมปังขิง ตามความคุ้นเคย เนื่องจากแปลตรงตัวมาจากคำภาษาอังกฤษที่ว่า Ginger bread (ginger หมายถึง ขิง และ bread หมายถึง ขนมปัง แปลเป็นภาษาไทยจึงได้คำรวมว่า ขนมปังขิง) แต่ขนมขิงเองมีลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างจากขนมปังที่เรารู้จักกันทั่วไปโดยสิ้นเชิง โดยเป็นขนมอบคนละรูปแบบกับขนมปัง (bread) ขนมขิง หรือที่เรียกว่า ขนมขิงพริกไทย ขนมขิงเครื่องเทศ หรือขนมขิงน้ำผึ้ง เป็นขนมอบที่มีรูปแบบหลากหลาย และมักอบรับประทานกันโดยเฉพาะในช่วงหนึ่งเดือนก่อนเทศกาลคริสต์มาสและในเทศกาลคริสต์มาส ส่วนผสมนอกจากจะใช้น้ำผึ้งเป็นสารให้ความหวานและมีเครื่องเทศจากโลกตะวันออกเป็นส่วนผสมแล้ว (โดยมากคือ อบเชย กานพลู โป๊ยกั๊ก หรือน้อยครั้งที่ใช้กระวาน ผักชี ขิง ลูกจันทน์เทศ) ขนมขิงยังแตกต่างจากขนมปังอื่น ๆ ตรงที่ไม่มียีสต์เป็นส่วนผสมเลย การอบขนมขิงจะใช้เกลือจากเขากวางแดง (Hirschhornsalz) หรือสารโพแทสเซียม (หรืออาจใช้ทั้งสองอย่าง) แทนผงฟู ซึ่งสารเหล่านี้จะทำให้แป้งดิบที่ยังไม่ได้อบนั้นมีรสขมเล็กน้อย บ่อยครั้งที่มีการตกแต่งขนมขิงด้วยอัลมอนด์ ถั่ว ผงเปลือกส้ม ผงเปลือกมะนาว หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ช็อกโกแลต แป้งเป็นส่วนผสมหนึ่งที่ไม่ได้ใช้กับขนมขิงทุกประเภทเสมอไป ตัวอย่างเช่น ขนมขิงตำรับเมืองนูเรมเบิร์ก ซึ่งตามเกณฑ์คุณภาพแล้วจะไม่ใช้แป้งเลย หากแต่ใช้น้ำมันเมล็ดพืชแทน สูตรขนมขิงส่วนใหญ่จะมีปริมาณแป้งน้อยมาก ประมาณร้อยละ 10 ถึง 50 ของส่วนผสมเท่านั้น ตำรับอาหารเยอรมันส่วนมากมักประกอบด้วยแป้งสาลี ในขณะที่ตำรับอาหารฝรั่งเศสและหลายประเทศในยุโรปตะวันออกกลับใช้ข้าวไรย์แทน ในปัจจุบันมีการนำเครื่องเทศหลักที่ใช้ในการอบขนมขิงมาผสมสำเร็จรูปโดยเรียกว่า เครื่องเทศขนมขิง ในเยอรมนีมีข้อกำหนดขั้นต่ำทางกฎหมายเกี่ยวกับคุณภาพและคุณลักษณะของขนมขิง โดยมีการกำหนดสูตรต้นตำรับเฉพาะต่าง ๆ เช่น ขนมขิงตำรับเอลิเซ (Elisenlebkuchen) ตามที่กฎหมายอาหาร สินค้าโภคภัณฑ์ และอาหารสัตว์ของเยอรมนีกำหนด ขนมขิงที่จะใช้ชื่อตำรับนี้ได้จะต้องมีอัลมอนด์ และ/หรือถั่วชนิดอื่น ๆ รวมกันอย่างน้อยร้อยละ 25 ของส่วนผสมทั้งหมด มวลรวมของส่วนผสมจะต้องประกอบด้วยผลิตภัณฑ์จากธัญพืชไม่เกินร้อยละ 10 หรือมีความเข้มข้นของธัญพืชเพียงแค่ร้อยละ 7.5 เท่านั้น ด้วยรายละเอียดอันพิถีพิถันทำให้ขนมขิงตำรับเอลิเซเป็นขนมอบชั้นเลิศตามมาตรฐานของกฎหมายอาหาร สินค้าโภคภัณฑ์ และอาหารสัตว์ของเยอรมนี และอนุญาตให้ใช้เพียงช็อกโกแลตที่มีคุณภาพสูงในการผลิต ห้ามใช้เนยโกโก้เทียมคุณภาพต่ำโดยเด็ดขาด ชื่อเรียกต่าง ๆ ของขนมขิงขนมขิงเองก็เหมือนกับอาหารชนิดอื่น ๆ ที่มีชื่อเรียกในภาษาเยอรมันแตกต่างกันออกไปตามแต่ละภูมิภาค ในทางตอนใต้ ตะวันตก และตอนเหนือของเยอรมนีจะใช้คำว่า เลบคูเคน (Lebkuchen) ขณะเดียวกันในภูมิภาคทางใต้และตะวันตกของเยอรมนีก็อาจพบชื่อเรียกขนมขิงที่แตกต่างกันออกไป ได้แก่ ลาเบอคูเคน (Labekuchen) เล็คคูเคน (Leckkuchen) หรือ เลเบนส์คูเคน (Lebenskuchen) ในบางพื้นที่ของรัฐบาวาเรียและรัฐบาเดน-เวิร์ทเทมเบิร์กเรียกขนมขิงว่า มาเก็นโบรท (Magenbrot) แม้ว่าโดยรวมแล้วจะหมายถึงขนมอบรูปแบบที่ต่างออกไปก็ตาม ตรงกันข้ามกับทางตะวันออกของเยอรมนีที่เรียกขนมขิงกันว่า เฟฟเฟอร์คูเคน (Pfefferkuchen) หรือขนมขิงพริกไทย การวิจัยถึงที่มาและความหมายของคำว่า เลบคูเคน (Lebkuchen) ซึ่งแปลว่าขนมขิงในภาษาเยอรมันนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด แม้ว่าคำว่า เลบคูเคน จะมีการออกเสียงคล้ายกับคำว่า เลเบน (Leben) ที่หมายถึงชีวิต แต่ก็น่าจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกันเลย เพราะคาดว่าคำว่า เลบคูเคน มาจากคำภาษาละตินที่ว่า ลิบุม (libum) ซึ่งหมายถึง ขนมอบรูปร่างแบน หรือขนมเซ่นไหว้ มีการตีความทางศัพทมูลวิทยา (ศาสตร์แห่งที่มาของคำศัพท์) ว่าที่มาของคำดังกล่าวมาจากคำว่า ไลบ์ (Laib) ในภาษาชนเผ่าเจอร์มานิคโบราณ ซึ่งหมายถึงก้อนขนมปัง ชื่อเรียก เฟฟเฟอร์คูเคน (Pfefferkuchen) หรือขนมขิงพริกไทย มีที่มาจากยุคกลาง ในยุคที่เรียกเครื่องเทศจากต่างประเทศซึ่งใช้เป็นส่วนผสมในการอบขนมรวมกันว่า พริกไทย คำเรียกขนมขิงในภาษาอังกฤษที่ว่า จินเจอร์เบรด (gingerbread) หรือในภาษาฝรั่งเศสที่ว่า แปง เด ปีส (pain d’épices) รวมถึงคำว่า อิงแกวร์โบรท (Ingwerbrot : ขนมปังขิง) หรือ เกเวิร์ซโบรท (Gewürzbrot : ขนมปังเครื่องเทศ) ในภาษาเยอรมัน ล้วนสื่อความหมายที่บ่งถึงเครื่องเทศแห่งโลกตะวันออกได้อย่างชัดเจน ส่วนคำว่า โฮนิกโบรท (Honigbrot : ขนมปังน้ำผึ้ง) ในภาษาเยอรมัน นั้นก็สื่อถึงส่วนผสมหลักอย่างต่อไปของขนมขิงซึ่งก็คือ น้ำผึ้ง นั่นเอง ประวัติหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรชิ้นแรก ๆ ซึ่งบันทึกเกี่ยวกับขนมขิงน้ำผึ้งที่ผสมเครื่องเทศ นั้นมีอายุราว ๆ 350 ปีก่อนคริสตกาล ชาวอียิปต์โบราณมีขนมอบที่ใช้น้ำผึ้งเป็นสารให้ความหวาน และเป็นขนมที่ต้องใช้ในพิธีศพ ชาวโรมันมีขนมที่เรียกว่า พานุส เมลลิทุส (panus mellitus) ซึ่งก็คือขนมที่ทาหน้าด้วยน้ำผึ้ง แล้วนำไปอบ ในสมัยก่อนนั้นต่างจากปัจจุบันคือ การรับประทานขนมขิงไม่เพียงเป็นที่นิยมเฉพาะในช่วงเทศกาลคริสต์มาสเท่านั้น แต่รวมไปถึงในช่วงเทศกาลอีสเตอร์ (เทศกาลฉลองการคืนชีพของพระเยซู) หรือช่วงเวลาอื่น ๆ ด้วย ขนมขิงนั้นจัดเป็นหนึ่งในอาหารที่นิยมรับประทานในช่วงเวลาถือศีลอด และอาจเสิร์ฟพร้อมกับเบียร์ดีกรีสูง เป็นต้น ขนมขิงในรูปแบบที่รู้จักกันในปัจจุบันมีต้นกำเนิดจากเมืองดิแนนท์ในเบลเยี่ยม จากนั้นชาวเมืองอาคเคนได้รับมาดัดแปลง (อ้างอิงจากประวัติขนมขิงตำรับเมืองอาคเคน หรือ Aachener Printen) และท้ายที่สุดคณะนักบวชในฝรั่งเศสก็รับขนมชนิดนี้มา และดัดแปลงอีกเล็กน้อย คณะแม่ชีในสมัยนั้นจะอบขนมขิงเพื่อใช้เป็นของหวาน ชื่อเรียกว่า เฟฟเฟอร์คูเคน หรือขนมขิงพริกไทยนั้นมีมาแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ. 1296 ที่เมืองอูล์ม ประเทศเยอรมนี และในศตวรรษที่ 14 ขนมอบชนิดนี้ก็เป็นที่รู้จักในเมืองนูเรมเบิร์กและบริเวณใกล้เคียง โดยผู้รับมาคือคณะพระนักบวช ต้นตำรับของเมืองนูเรมเบิร์กนี้มีที่มาจากอารามคริสตจักรที่เมืองไฮลส์บรอนน์ซึ่งอยู่ไม่ไกลออกไป ขนมขิงนั้นเป็นที่นิยมเนื่องจากไม่เสียง่ายและสามารถเก็บไว้รับประทานได้นาน เหล่านักบวชมักจะนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชนในช่วงเวลาอดอยากแร้นแค้น เนื่องจากการอบขนมขิงจำเป็นต้องใช้เครื่องเทศหายากจากแดนไกล เมืองต่าง ๆ ที่เป็นศูนย์กลางการค้าสำคัญจึงมีประเพณีการทำขนมขิงที่มีประวัติอันยาวนาน นอกจากเมืองนูเรมเบิร์กและพุลสนิทซ์แล้ว ยังรวมไปถึงเมืองเอาก์สบูร์ก โคโลญจน์ และบาเซลด้วย ที่เมืองมิวนิกมีรายชื่ออาชีพ “เลบเซลเทอร์ (Lebzelter)” ในทะเบียนภาษีมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1370 ซึ่งก็คือ คนทำขนมขิงนั่นเอง ที่เมืองนี้จะมีการทำขนมขิงให้เป็นรูปร่างต่างๆกัน และแต่งหน้าด้วยน้ำตาลหลากสี ในขณะที่ขนมขิงตำรับเมืองนูเรมเบิร์กจะตกแต่งด้วยอัลมอนด์และผงเปลือกมะนาว ขนมขิงตำรับเมืองธอร์นหรือที่รู้จักกันในชื่อ ธอร์นเนอร์ ฟลาสเตอร์ชไตน์เนอ (Thorner Pflastersteine) ก็มีชื่อเสียงเช่นกัน ขนมขิงตำรับนี้มาจากเมืองทางอาณาเขต ปรัสเซียตะวันตกที่ชื่อ ธอร์น ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นเมืองโตรัน (Toruń) ของโปแลนด์มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1919 ขนมขิงตำรับนี้ยังมีอีกสองฉายา คือ คาทรินเช็น (Kathrinchen) ซึ่งมีที่มาจากชื่อโบสถ์ของนักบุญคาธารินาแห่ง อเล็กซานเดรีย และฉายาว่า ไนซ์เซอร์ คอนเฟคท์ (Neisser Konfekt) ซึ่งมีที่มาจากชื่อเมืองไนซ์เซ ในเขตซิเลเซียที่ถูกเยอรมนียึดครองมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 ในสมัยก่อนขนมขิงซึ่งเรียกว่า เลบคัวเค (Lebkuoche) ในภาษาเยอรมันยุคกลาง จะอบโดยวางบนแป้นพิมพ์ในโรงอบขนมปังของโบสถ์ ซึ่งเป็นสถานที่อบขนมปังกลมที่เรียกว่า แผ่นศีล อยู่แล้ว ในตอนใต้ของเยอรมนีและประเทศออสเตรียจะเรียกขนมปังนี้ว่า เซลเทอ (Zelte) และเรียกคนอบขนมปังว่า เลบเซลเทอร์ (Lebzelter) ซึ่งไม่ว่าจะเป็นคนทำขนมขิง หรือ เลบเซลเทอร์ ก็จัดอยู่ในกลุ่มสายอาชีพเดียวกันนั่นเอง การคิดค้นผงฟูในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 มีบทบาทต่อวิวัฒนาการของขนมขิง ผงฟูทำให้ส่วนฐานที่เป็นแป้งนั้นพองฟูขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดขนมอบขึ้นหลายชนิดที่มีรสชาติและความเหนียวทั้งเหมือนและไม่เหมือนกับขนมขิงต้นแบบ ตัวอย่างเช่น ขนมขิงน้ำผึ้งและขนมขิงเครื่องเทศในรูปแบบต่าง ๆ หลายชนิด ขนมขิงรูปแบบต่าง ๆ ทั่วโลกทุกวันนี้ขนมขิงจัดเป็นขนมอบยอดนิยมสำหรับช่วงเทศกาลคริสต์มาสโดยมีชื่อเรียกและรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปมากมายตามแต่ละภูมิภาค มีทั้งขนมขิงทั้งแบบที่เคลือบและไม่เคลือบช็อกโกแลต ทั้งแบบที่มีถั่วต่าง ๆ และอัลมอนด์ มากหรือน้อยแตกต่างกันไป หรือแบบที่สอดไส้แยม เป็นต้น ขนมขิงลายภาพขนมขิงลายภาพก็คือขนมขิงที่มีการตัดหรือกดทับให้เป็นลาย ขนมขิงรูปแบบนี้มีมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 15 มีทั้งแบบดั้งเดิมที่มีรูปภาพทางศาสนา และหลังจากนั้นก็เริ่มมีแบบที่เป็นรูปภาพทั่วไป ในปัจจุบันขนมขิงลายภาพเหล่านี้เป็นที่แพร่หลายในนานาประเทศ และไม่ได้ผลิตเพียงแค่ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสอีกต่อไป ขนมขิงรูปหัวใจที่ตกแต่งด้วยน้ำตาลไอซิ่งนั้นค่อนข้างเป็นที่รู้จักกันดี และซื้อหาได้ทั่วไปในงานรื่นเริง งานประจำปี และแม้กระทั่งบนแผงขายขนมในตลาดคริสต์มาส หนึ่งในขนมขิงลายภาพซึ่งเป็นที่รู้จักทั่วโลกก็คือ “มนุษย์ขนมขิง หรือ จินเจอร์เบรดแมน (Gingerbread Man)” จากประเทศแถบที่ใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งมีรูปร่างเป็นคนแบบปั้นง่าย ๆ โดยไม่มีรายละเอียดของมือและเท้า เจ้ามนุษย์ขนมขิงมีชื่อเรียกว่า “เพ็พพาร์คาคอร์ (pepparkakor)” ในภาษาสวีเดน และ “เซแวร์นิเย โคซูลี (северные козули)” ในภาษารัสเซีย เชื่อกันว่าเจ้ามนุษย์ขนมขิงนี้นำมาซึ่งโชคดีและความร่ำรวย บ้านขนมขิงในภาษาเยอรมัน สิ่งที่เรียกว่า บ้านขนมขิงพริกไทย หรือ เฟฟเฟอร์คูเคนฮอยส์เช็น (Pfefferkuchenhäuschen) ที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า บ้านขนมปังกรอบ หรือ คนุสเปอร์ฮอยส์เช็น (Knusperhäuschen) ในนิทานเรื่องบ้านขนมปัง (นิทานเรื่องแฮนเซลกับเกรเทล) ก็ทำมาจากขนมขิงเช่นกัน บ้านขนมขิงเหล่านี้นอกจากจะเป็นที่แพร่หลายในประเทศที่ใช้ภาษาเยอรมันแล้ว ยังหาซื้อได้ในแถบยุโรปตะวันออกและประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษอีกด้วย ขนมขิงสูตรเฉพาะของเยอรมนีขนมขิงสูตรเฉพาะของเยอรมนีหลายตำรับเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ตัวอย่างเช่น ขนมขิงตำรับเมืองนูเรมเบิร์กและขนมขิงตำรับเมืองอาคเคน สูตรขนมขิงเฉพาะตามภูมิภาคต่าง ๆ ยังได้แก่ ขนมขิงตำรับรอสเนอร์ (Rosner Lebkuchen) จากเมืองวาลด์ซาสเซน (Waldsassen) ขนมขิงตำรับเบนท์ไฮม์เมอร์ มอพเพ็น (Bentheimer Moppen) ขนมขิงพริกไทยตำรับเมืองพุลสนิทซ์ หรือ พุลสนิทเซอร์ เฟฟเฟอร์คูเคน (Pulsnitzer Pfefferkuchen) ไนซ์เซอร์ คอนเฟคท์ (Neisser Konfekt) และ ขนมขิงถั่วพริกไทยแห่งรัฐเม็คเลนบูร์ก หรือ เม็คเลนบูร์กเกอร์ เฟฟเฟอร์นึซเซอ (Mecklenburger Pfeffernüsse) ขนมขิงในรัสเซียขนมขิงตำรับรัสเซียที่มีชื่อในภาษารัสเซียว่า ปริยานิกี (ปริยานิกี หรือ Пряники เป็นคำเรียกแบบพหูพจน์ หากเป็นชิ้นเดียวจะเรียกว่า ปริยานิก หรือ Пряник) ประกอบด้วย แป้งสาลี น้ำตาล มาร์การีน เนย น้ำมัน น้ำ นม และเกลือ บางครั้งอาจใส่น้ำผึ้งและเครื่องเทศลงไปด้วยก็ได้ ขนมขิงตำรับนี้มักเสิร์ฟคู่กับชารัสเซีย ที่เมืองตูลาได้พบว่ามีการนำขนมขิงปริยานิกีมาทำเป็นรูปร่างต่าง ๆ และเติมรสชาติที่แตกต่างกันออกไปมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 เป็นอย่างช้า ในปัจจุบันมีพิพิธภัณฑ์ขนมขิงตั้งอยู่ที่เมืองนี้ด้วย ผู้เข้าชมจะมีโอกาสได้ลิ้มรสขนมขิงปริยานิกีที่อบมาสด ๆ ใหม่ ๆ ขนมขิงในเขตเทือกเขาแอลป์ในสวิตเซอร์แลนด์ ขนมขิงรูปซานตาคลอสเป็นที่นิยมแพร่หลาย บนชิ้นขนมขิงจะมีกระดาษรูปซานตาคลอสแปะอยู่โดยใช้น้ำยางกัมอารบิกซึ่งเป็นยางไม้ธรรมชาติเป็นกาวติด ประเพณีนี้มีมาตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่19 ขนมขิงตำรับสวิตเซอร์แลนด์ที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกคือ ขนมขิงตำรับบาสเลอร์ เล็คเคอลี (Basler Leckerli) จากเมืองบาเซล และขนมขิงตำรับบิเบอร์ลี (Biberli) จากเทือกเขาแอพเพ็นเซล ขนมขิงที่มีความหลากหลายคล้าย ๆ กันนี้ก็เป็นที่แพร่หลายไปทั่วในออสเตรียเช่นเดียวกับในเยอรมนี ขนมขิงชนิดอื่น ๆ ในยุโรปประเทศอื่น ๆ ในยุโรปก็มีขนมขิงตำรับเฉพาะที่มีประวัติความเป็นมายาวนานเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ขนมขิงตำรับฝรั่งเศสแห่งเมืองดิโจ (Dijon) ขนมขิงตำรับคริสเตียนส์เฟลด์ (Christiansfeld) ของเดนมาร์ก หรือ ขนมขิงตำรับธอร์นเนอร์ คาทรินเช็น (Thorner Kathrinchen) จากเมืองธอร์นซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองโตรันของโปแลนด์ตั้งแต่ ค.ศ. 1919 ตุ๊กตาขนมขิงและบ้านขนมขิงที่มาจากเมืองพาร์ดูบิซในสาธารณรัฐเช็กนั้นจะแต่งหน้าด้วยน้ำตาลไอซิ่งจำนวนมากเป็นพิเศษ ขนมขิงที่ใช้ทำน้ำซอสขนมขิงที่ใช้ทำน้ำซอส ซึ่งในภาษาเยอรมันเรียกว่า โซเซนคูเคน (Soßenkuchen) หรือ โซเซนเลบคูเคน (Soßenlebkuchen) เป็นขนมขิงธรรมดา ๆ ชนิดหนึ่ง มีอยู่ในบางภูมิภาคของเยอรมนี โดยจะมีการผลิตขนมขิงชนิดนี้ในทุกฤดูกาลเพื่อใช้ในการทำน้ำซอส รายละเอียดอื่น ๆ
บ้านขนมขิงในประเทศไทยในเมืองไทย มีบ้านโบราณหลายแห่งที่ตกแต่งด้วยลายขนมปังขิง โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเคยเป็นแหล่งสถาปัตยกรรมอันหลากหลาย ก็มีบ้านขนมปังขิง ใกล้กับเสาชิงช้า เยื้อง ๆ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร มีบ้านหลังหนึ่ง สร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบดังกล่าว และเขียนชื่อเอาไว้ว่า บ้านขนมปังขิง ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานเอาไว้ ดูเพิ่มอ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่นวิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ ขนมปังขิง
|
Portal di Ensiklopedia Dunia