การเสียดินแดนของไทยการเสียดินแดนของไทย เป็นแนวคิดทางประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยที่อ้างถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ไทยสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อประเทศไทย (หรือสยาม) ถูกบีบบังคับให้สละดินแดนแก่ต่างชาติ โดยเฉพาะการสูญเสียให้แก่ประเทศมหาอำนาจตะวันตกอันได้แก่ฝรั่งเศสและอังกฤษในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) แนวคิดดังกล่าวแพร่หลายเป็นครั้งแรกในช่วงพุทธทศวรรษ 2480 โดยเป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์ชาตินิยมไทยที่ส่งเสริมโดยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามในสมัยนั้น ความคิดนี้ถูกเผยแพร่ผ่านชุดแผนที่ชื่อ แผนที่ประวัติศาสตร์ไทย และ แผนที่ประวัติอาณาเขตไทย ซึ่งระบุว่าแสดงอาณาเขตของอาณาจักรไทยต่างๆ ในอดีต และดินแดนที่สูญเสียไปในภายหลัง แผนที่เหล่านี้ได้ถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในหนังสือ แผนที่ภูมิศาสตร์ของทองใบ แตงน้อย ซึ่งเป็นหนังสือเรียนที่ใช้เป็นมาตรฐานในโรงเรียนมาตั้งแต่ พ.ศ. 2506 แม้ว่านักประวัติศาสตร์ยุคหลังได้โต้แย้งว่าข้อมูลในแผนที่เหล่านี้ไม่สะท้อนความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ แต่แนวคิดเรื่องการเสียดินแดนก็ยังคงเป็นวาทกรรมสำคัญในขบวนการชาตินิยมของไทย และยังถูกนำมาทำซ้ำเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงคดีพิพาทปราสาทพระวิหารกับกัมพูชา ต้นกำเนิดแนวคิดเรื่องการเสียดินแดนของไทยเริ่มแพร่หลายเป็นครั้งแรกในช่วงพุทธทศวรรษ 2480 โดยเป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์ชาตินิยมไทยต่อต้านตะวันตก ซึ่งส่งเสริมโดยรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในสมัยนั้น การสูญเสียดินแดนในอดีตถูกหยิบยกมาเป็นหัวข้อสำคัญใน "วาทกรรมความอัปยศอดสูของชาติ" (ตามที่เรียกโดย เชน สเตรท (Shane Strate) นักประวัติศาสตร์ไทยชาวอเมริกัน) ซึ่งถูกนำมาอ้างเพื่อสนับสนุนรัฐบาลและอุดมการณ์การขยายดินแดนเพื่อก่อตั้งมหาอาณาจักรไทย[1][2] แนวคิดดังกล่าวถูกเผยแพร่ผ่านชุดแผนที่ชื่อ แผนที่ประวัติศาสตร์ไทย และแผนที่อีกแผ่นหนึ่งชื่อ แผนที่ประวัติอาณาเขตไทย โดยแผนที่ประวัติศาสตร์ไทยเป็นชุดแผนที่หกแผ่น แผ่นแรกแสดงการอพยพของคนไท/ไทยจากเทือกเขาอัลไต (ซึ่งเป็นทฤษฎีที่แพร่หลายในขณะนั้น) และแผ่นอื่นๆ แสดงอาณาเขตของอาณาจักรไทยต่างๆ ในอดีต ได้แก่ อาณาจักรน่านเจ้า (ซึ่งทฤษฎีดังกล่าวเชื่อว่าเป็นไทย) อาณาจักรสุโขทัยสมัยพ่อขุนรามคำแหง อาณาจักรอยุธยาสมัยสมเด็จพระนเรศวร อาณาจักรธนบุรีสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน และอาณาจักรรัตนโกสินทร์สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก[3] ส่วนแผนที่ประวัติอาณาเขตไทยเป็นแผนที่แผ่นเดียว ระบุดินแดนที่ประเทศไทยสูญเสียไปในคราวต่างๆ จนเหลือเป็นอาณาเขตของประเทศไทยในปัจจุบัน แผนที่นี้ถูกทำขึ้นหลายแบบหลายรุ่น โดยต่างก็นับการสูญเสียแตกต่างกันไป แต่ทุกแบบล้วนระบุถึงการสละดินแดนประเทศลาวและกัมพูชาในปัจจุบันแก่ฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2436, 2447 และ 2450 และหัวเมืองมลายูทั้งสี่แก่อังกฤษในปี พ.ศ. 2452[3] ประวัติการตีพิมพ์ชุดแผนที่ประวัติศาสตร์ไทย จัดพิมพ์ครั้งแรกโดยกรมแผนที่ทหารเมื่อประมาณ พ.ศ. 2478-2479[4] ส่วนแผนที่ประวัติอาณาเขตไทยก็พิมพ์ขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. 2478 เช่นกัน แต่ฉบับที่แพร่หลายเป็นอีกฉบับหนึ่งซึ่งตีพิมพ์ใน พ.ศ. 2483 ในช่วงที่อุดมการณ์มหาอาณาจักรไทยที่สนับสนุนโดยรัฐบาลจอมพล ป. กำลังแพร่หลาย และมีกระแสเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส แผนที่นี้ถูกแจกจ่ายไปยังโรงเรียนและหน่วยงานของรัฐเป็นวงกว้าง จนทูตของอังกฤษและฝรั่งเศสออกมาคัดค้าน รัฐบาลจึงได้ปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับการพิมพ์แผนที่ดังกล่าว แต่หลังจากนั้นลูกน้องคนสนิทของจอมพล ป. คนหนึ่งก็เข้ามาจัดการแจกจ่ายแผนที่แทน[3] ขบวนการเรียกร้องดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากภาคประชาชนอย่างกว้างขวาง และประเทศไทยภายใต้รัฐบาลจอมพล ป. ก็ได้ส่งทหารเข้าสู้รบในกรณีพิพาทอินโดจีนใน พ.ศ. 2483 เพื่อยึดดินแดนที่เสียไปคืน ประเทศไทยได้ประโยชน์จากการเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง โดยได้ผนวกดินแดนดังกล่าวบางส่วน แต่ก็ต้องสละการอ้างสิทธิ์ไปหลังญี่ปุ่นแพ้สงคราม แม้บรรยากาศทางการเมืองจะเปลี่ยนแปลงไป แต่แผนที่เหล่านี้ก็ยังคงอยู่ได้จากการนำมาเผยแพร่ผ่านสื่อการสอนในโรงเรียน ใน พ.ศ. 2500 พ.อ.พูนพล อาสนจินดา อดีตเจ้าหน้าที่กรมแผนที่ทหารและศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดทำชุดแผนที่ที่คล้ายกัน (ซึ่งรวมทั้งชุดแผนที่ประวัติศาสตร์ไทย และแผนที่ประวัติอาณาเขตไทย) ให้กับสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช โดยใช้ชื่อว่า บันไดประวัติศาสตร์ไทยแต่โบราณ แผนที่ชุดนี้ถูกพิมพ์ขายเป็นแผ่นขนาดประมาณหน้าหนังสือพิมพ์ และถูกนำไปใช้ตามโรงเรียนอย่างแพร่หลาย[5] ใน พ.ศ. 2506 แผนที่ชุดนี้ถูกทำขึ้นอีกแบบหนึ่ง เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือเรียนแผนที่ภูมิศาสตร์ที่วาดโดยนายทองใบ แตงน้อย ครูใหญ่โรงเรียนจากปราจีนบุรี แผนที่ของทองใบถูกจัดพิมพ์โดยไทยวัฒนาพานิชเช่นกัน และเป็นแบบเรียนที่ได้รับความนิยมอย่างมากและถูกใช้อย่างแพร่หลายในโรงเรียนทั่วประเทศมาหลายสิบปี โดยพิมพ์ครั้งที่ 45 ซึ่งเป็นการตีพิมพ์ครั้งล่าสุดไปใน พ.ศ. 2559[6] คนไทยส่วนใหญ่ทุกวันนี้ต่างคุ้นเคยกับแผนที่ชุดนี้จากหนังสือของนายทองใบ[3][7] หลังจากนั้นแผนที่ชุดนี้ โดยเฉพาะแผนที่ประวัติอาณาเขตไทย ก็ยังถูกทำขึ้นใหม่อีกหลายแบบหลายครั้ง บางฉบับทำขึ้นโดยนักประวัติศาสตร์เพื่อกล่าวถึงประเด็นทางประวัติศาสตร์[3] บางฉบับก็ทำขึ้นโดยองค์กรหรือกลุ่มที่นำมาใช้ในทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีข้อพิพาทด้านดินแดนกับกัมพูชา ใน พ.ศ. 2546 หลังเกิดเหตุโจมตีสถานทูตไทยในการจลาจลในพนมเปญ กรมแผนที่ทหารได้จัดทำแผนที่แสดงการเสียดินแดนของสยามขึ้นมาใหม่ ซึ่งอ้างเหตุการณ์สูญเสียดินแดนถึง 13 ครั้ง เพิ่มขึ้นจากแผนที่ก่อนๆ หน้าที่มักระบุประมาณ 8 ครั้ง และเมื่อเหตุพิพาทปราสาทพระวิหารปะทุขึ้นอีกใน พ.ศ. 2551 ก็มีวิดีโอที่ไม่ระบุผู้จัดทำถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวางบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งนำเสนอแผนที่อีกแบบหนึ่งที่นับการสูญเสียดินแดนถึงสิบสี่ครั้ง[5] ปัญหาแผนที่เหล่านี้ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ชุดแผนที่ประวัติศาสตร์ไทยต่างระบุขอบเขตดินแดนภายใต้การควบคุมของสยามมากเกินจริง และเลือกเฉพาะช่วงเวลาที่อาณาเขตขยายไปกว้างที่สุดมาแสดง โดยไม่กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงเพิ่มลดระหว่างนั้น นอกจากนี้การใช้แผนที่ระบุเขตแดนก็นับว่าผิดยุคสมัย เนื่องจากแนวคิดเรื่องเขตแดนทางภูมิศาสตร์ยังไม่เป็นที่รู้จักในสมัยนั้น และไม่สะท้อนถึงระบบประเทศราชแบบมณฑลของภูมิภาคนี้[4] การแสดงถิ่นกำเนิดของคนไทยตามทฤษฎีเทือกเขาอัลไตสะท้อนให้เห็นว่าชุดแผนที่ประวัติศาสตร์ไทยใช้ข้อมูลอิงจากหนังสือหลักไทยของขุนวิจิตรมาตรา ซึ่งเป็นงานเขียนสมัยนิยมที่กลายมาเป็นงานเขียนประวัติศาสตร์ตามแบบฉบับสมัยต่อมา แนวคิดในหลักไทยนั้นอิงมาจากทฤษฎีที่ว่าน่านเจ้าเป็นรัฐของชาวไท ซึ่งนักประวัติศาสตร์ต่างปฏิเสธไปแล้วตั้งแต่พุทธทศวรรษ 2520 แต่ยังคงถูกทำซ้ำผ่านหนังสือแผนที่ของทองใบ[7] ในทำนองเดียวกัน แผนที่ประวัติอาณาเขตไทยก็ไม่มีหลักเกณฑ์รองรับว่าใช้อะไรตัดสินให้พื้นที่ใดนับเป็นเขตแดนของสยาม และชวนให้เข้าใจผิดว่าสยามเคยมีรูปร่างทางภูมิศาสตร์ที่ชัดเจนก่อนที่จะสูญเสียดินแดนเหล่านั้นไป ขณะที่ในความเป็นจริงแล้วเขตแดนเหล่านั้นต่างไม่เคยมีการปักปันอย่างชัดเจน[3] นักประวัติศาสตร์รุ่นหลัง เริ่มจากธงชัย วินิจจะกูลใน พ.ศ. 2537 มองว่าแผนที่เหล่านี้เป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ใช้สนับสนุนมุมมองประวัติศาสตร์ตามคติชาตินิยมไทย โดยธงชัยระบุว่า "แผนที่เหล่านี้มิได้มีไว้สำหรับศึกษาภูมิศาสตร์ในอดีต แต่มีไว้สำหรับสร้างสำนึกทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับชีวิตของชาติ"[3] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กล่าวถึงแผนที่ของทองใบว่าเป็นตัวอย่างของแนวคิดที่ล้าสมัยไปแล้วแต่ยังคงถูกผลิตซ้ำในตำราเรียน เป็นการสร้างอคติให้กลุ่มการเมืองสามารถปลุกกระแสชาตินิยมขึ้นได้อยู่เรื่อยๆ[8] แนวคิดเรื่องการเสียดินแดนยังคงเป็นหัวข้อสำคัญในวาทกรรมชาตินิยมไทย และยังคงปรากฏให้เห็นโดยเฉพาะในช่วงกรณีพิพาทปราสาทพระวิหาร ซึ่งกรณีนั้นเองก็ถูกระบุเป็นการเสียดินแดนครั้งล่าสุดในแผนที่แบบล่าสุดที่ปรากฏขึ้นหลัง พ.ศ. 2550[5] เปรียบเทียบการเสียดินแดนที่ระบุในแผนที่ต่างๆ
อ้างอิง
อ่านเพิ่มเติม
|
Portal di Ensiklopedia Dunia