การถ่ายโอนความรู้สึกในสรีรวิทยา การถ่ายโอนความรู้สึก[1] (อังกฤษ: sensory transduction) เป็นการแปลงตัวกระตุ้นความรู้สึกจากรูปแบบหนึ่ง ไปเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง การถ่ายโอนในระบบประสาทโดยปกติหมายถึงการส่งสัญญาณเพื่อแจ้งการตรวจพบตัวกระตุ้น โดยที่ตัวกระตุ้นเชิงกล ตัวกระตุ้นเชิงเคมี หรือเชิงอื่นๆ แปลงไปเป็นศักยะงานประสาท แล้วส่งไปทางแอกซอน ไปสู่ระบบประสาทกลางซึ่งเป็นศูนย์รวบรวมสัญญาณประสาทเพื่อประมวลผล เซลล์รับความรู้สึก (receptor cell) เปลี่ยนพลังงานของตัวกระตุ้นไปเป็นความต่างศักย์ไฟฟ้าระหว่างภายในภายนอกของเซลล์ ข้ามเยื่อหุ้มเซลล์[2] ซึ่งนำไปสู่การลดขั้ว (depolarization) ของเยื่อหุ้มเซลล์ และนำไปสู่การสร้างศักยะงานประสาทที่ส่งไปยังสมองเพื่อประมวลผล[3] การถ่ายโอนในประสาทรับความรู้สึกระบบการเห็นในระบบการเห็น เซลล์รับความรู้สึกคือตัวรับแสง (photoreceptor) ในจอตาที่เรียกว่า เซลล์รูปแท่ง (rod cell) และเซลล์รูปกรวย (cone cell) เปลี่ยนพลังงานทางกายภาพของแสงไปเป็นพัลส์ไฟฟ้า (electrical impulse) ที่เดินทางไปสู่สมอง พลังงานแสงก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในโปรตีนเยื่อหุ้มเซลล์ที่เรียกว่า rhodopsin เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เริ่มกระบวนการระดับโมเลกุล ที่ส่งผลให้มีการลดระดับความต่างศักย์ไฟฟ้าของตัวรับแสง ซึ่งนำไปสู่การลดระดับสัญญาณไฟฟ้าที่ส่งไปยังสมอง เพราะฉะนั้น เมื่อมีแสงมากขึ้นมากระทบตัวรับแสง ก็จะมีการถ่ายโอนสัญญาณที่นำไปสู่การส่งพลังไฟฟ้าในระดับความถี่ที่ต่ำลงไปยังสมอง ให้สังเกตว่า ระบบหน่วยส่งสัญญาณที่สอง (second messenger system[4]) เป็นสื่อความเปลี่ยนแปลงในการปล่อยสารสื่อประสาท (neurotransmitter) ซึ่งมีอยู่ในเซลล์รูปแท่ง ไม่มีอยู่ในเซลล์รูปกรวย ดังนั้น การตอบสนองของเซลล์รูปแท่งต่อความเปลี่ยนแปลงของระดับแสง จึงมีความรวดเร็วช้ากว่าการตอบสนองทั่วๆ ไปในระบบประสาท[3] ระบบการได้ยินในระบบการได้ยิน ความสั่นสะเทือนคือเสียง ซึ่งเป็นพลังงานเชิงกล รับการถ่ายโอนเป็นพลังงานไฟฟ้าในเซลล์ขนภายในหูชั้นใน เสียงจากวัตถุหนึ่งทำให้เกิดความสั่นสะเทือนในโมเลกุลของอากาศ อันเป็นตัวเหตุในการสั่นสะเทือนในแก้วหู การเคลื่อนไหวของแก้วหูทำให้กระดูกหูชั้นกลาง (กระดูกหู) สั่นสะเทือน ซึ่งเดินทางต่อไปยังหูชั้นในรูปหอยโข่ง (cochlear) อันเป็นอวัยวะแห่งการได้ยิน ภายในอวัยวะรูปหอยโข่ง เซลล์ขนบนเนื้อเยื่อบุผิวของ organ of Corti ก็จะงอทำให้เกิดการเคลื่อนไหวในเยื่อกั้นหูชั้นใน (basilar membrane) ซึ่งเคลื่อนโดยเป็นคลื่นมีขนาดต่างๆ ตามความถี่ของเสียง จากนั้น เซลล์ขนจึงสามารถเปลี่ยนการเคลื่อนไหวซึ่งเป็นพลังงานเชิงกลให้เป็นพลังงานไฟฟ้า (คือศักยะงาน) ที่เดินทางตามเส้นประสาทการได้ยิน ไปยังศูนย์การได้ยินในสมอง[5] ระบบการได้กลิ่นในระบบการได้กลิ่น โมเลกุลมีกลิ่นที่อยู่ในเมือกจมูกเข้าไปยึดกับหน่วยรับความรู้สึกแบบจีโปรตีนของเซลล์รับกลิ่น ตัวจีโปรตีนนั้นก่อให้เกิดกระบวนการส่งสัญญาณสืบต่อกันไป และนำไปสู่การเพิ่มระดับของ cyclic-AMP (cAMP) ซึ่งกระตุ้นเซลล์ประสาทให้ปล่อยสารสื่อประสาท[6] ระบบการรับรสชาติในระบบการรับรสชาติ การรับรู้รส 5 อย่าง คือ รสหวาน เค็ม เปรี้ยว ขม และอุมะมิ อาศัยวิถีประสาทที่ถ่ายโอนรสชาติโดยโครงสร้างต่างๆ รวมทั้งเซลล์รับรส จีโปรตีน ประตูไอออน (ion channel) และเอ็นไซม์หน่วยปฏิบัติงาน (effector enzyme)[7] หมายเหตุและอ้างอิง
|
Portal di Ensiklopedia Dunia